การเมืองอียิปต์ : เมื่อนักศึกษาไทย (เป็นเหยื่อ) โดนจับคดีความมั่นคงที่อียิปต์

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

จากรายงานข่าวไทยและอียิปต์รายงานข่าวว่านักศึกษาไทยในอียิปต์จำนวน 1 คน (อิบรอฮีม มะลี) ได้ถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของอียิปต์จับกุมตัวไปเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2562 เนื่องจากพบภาพถ่ายในโทรศัพท์มือถือจำนวนหนึ่ง ซึ่ง (ถูกกล่าวหา) อาจเชื่อมโยงกับกลุ่ม IS ได้

ประกอบการปรากฏคลิปนักศึกษาไทยผู้นั้นให้การรับสารภาพว่าเป็นผู้สนับสนุนการปฏิวัติอิสลามผ่านสื่อสังคมออนไลน์ของสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง

นั้นทำให้ได้รับความสนใจจากรัฐบาลไทย ประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะประชาชนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้

การเมืองอียิปต์

ตามที่เกิดการประท้วงหลายแห่งโดยเฉพาะกรุงไคโร เมืองหลวงของอียิปต์ โดยประชาชนเรียกร้องให้ประธานาธิบดีอับดุลฟาตะห์ อัซซีซี ก้าวลงจากตำแหน่งจากผู้นำเพราะไม่สามารถบริหารประเทศอียิปต์ให้พ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจ ปล่อยให้ปัญหาคอร์รัปชั่นยิ่งรุนแรงขึ้น

ประธานาธิบดีอับดุลฟาตะห์ อัซซีซี คือผู้นำประเทศอียิปต์ที่ยึดอำนาจจากรัฐบาลการเลือกตั้งของประชาชนอย่างประธานาธิบดี ดร.มุฮัมมัด มุรซีย์ ในเดือนกรกฎาคม ปี 2556 ในขณะนั้นอัซซีซีดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพ

มุรซีย์ดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนที่ 5 ของอียิปต์จากกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) เข้าสาบานตนในวันที่ 30 มิถุนายน ปี 2555 ในฐานะประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยของประเทศอียิปต์เป็นครั้งแรก

การประท้วงอัซซีซี โดยเฉพาะเมื่อ 21 กันยายน จากรายงานบีบีซี “การประท้วงขับไล่ประธานาธิบดีอัซซีซี โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจนำกำลังเข้าสลายการชุมนุมด้วยการฉีดแก๊สน้ำตาและจับกุมผู้ประท้วงบางส่วนอย่างรวดเร็ว แม้การชุมนุมที่เกิดขึ้นนั้นมีผู้เข้าร่วมไม่ถึงร้อยคนก็ตาม ผู้ชุมนุมใช้พื้นที่สาธารณะบริเวณจัตุรัสตาห์รีร์ ซึ่งเคยเป็นจุดเริ่มการชุมนุมโค่นล้มประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัก เมื่อปี 2554 และลุกลามไปทั่วชาติตะวันออกกลางกลายเป็นกระแสอาหรับสปริงส์

รายงานระบุว่า การประท้วงดังกล่าวเกิดขึ้นได้ยากมากในอียิปต์ หลังการผ่านกฎหมายห้ามชุมนุมประท้วง โดยรัฐบาลทหารนำโดย พล.อ.อับเดล ฟัตทาห์ อัล-ซีซี ที่ยึดอำนาจจากประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซี เมื่อปี 2556 ผู้ชุมนุมถูกตำรวจนอกเครื่องแบบ เจ้าหน้าที่ปราบจลาจลและฝ่ายความมั่นคงจำนวนมากเข้าล้อมแล้วจับกุมไปเกือบทั้งหมด

ขณะที่คลิปการชุมนุมเผยให้เห็นผู้ชุมนุมตะโกนว่า “ซีซีออกไป” ถูกแชร์ไปในโลกออนไลน์และมีผู้เข้าชมจำนวนมากจากทั่วโลก

จากการประท้วงครั้งนี้ไม่เพียงจับกุมคนอียิปต์เท่านั้น แต่ยังมีคนต่างชาติอีกจำนวนถึง 140 คน ไม่ว่ามาจากตุรกี จอร์แดน ปาเลสไตน์ ซูดานและประเทศอื่นๆ รวมทั้งนักศึกษาไทยคนดังกล่าว (โปรดดู https://www.facebook.com/187062254656817/posts/2870094383020244/)

เป็นที่น่าสังเกตว่า คนเห็นต่างด้านการเมืองกับรัฐที่ออกมาประท้วงหรือไม่ก็ตาม จะถูกกล่าวหาว่าเป็นแนวร่วม IS ทำไม

การที่คนเห็นต่างจากรัฐจะถูกเหมารวมว่าเป็น IS เพราะกลุ่มนี้จะไม่ถูกยอมรับจากผู้นำศาสนาอิสลามสายกลาง โดยเฉพาะจากสถาบันที่ทรงอิทธิพลต่อสังคมอียิปต์และโลกมุสลิมอย่างอัลอัซฮัร แม้แต่พรรคที่ทำกิจกรรมด้านการเมืองอย่างสันติอย่างขบวนการภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) ที่เคยชนะการเลือกตั้งทั้งประธานาธิบดีและรัฐสภาอียิปต์ อันจะส่งผลทางการเมืองเรื่องมวลชน

นักศึกษาเป็นเหยื่อในการเมืองอียิปต์

จากเหตุผลการเหมารวมคนเห็นต่างจากรัฐว่าเป็น IS จึงสร้างความชอบธรรมในการจับกุมผู้ประท้วง และนักศึกษาไทยที่ถูกจับก็เพียงถูกกล่าวหาและเขายังมีสิทธิในการได้รับการคุ้มครองตามกระบวนการยุติธรรมอียิปต์และนานาชาติ

ดังนั้น การที่วันที่ 29 กันยายน 2562 นายกรัฐมนตรีไทยให้สัมภาษณ์ที่จะช่วยดูแลคดีนี้ในฐานะพลเมืองไทยในต่างแดนจึงเป็นเรื่องที่ถูกต้องและชื่นชม

นายชัยณรงค์ กีรติยุตวงศ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร ซึ่งได้พบหารือนาย Hazem El Tahry รองผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของอียิปต์เพื่อหาทางให้ความช่วยเหลือแก่นักศึกษาไทยคนนี้ โดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร ได้ขอใช้สิทธิเข้าเยี่ยมและให้ความช่วยเหลือทางกงสุลแก่นักศึกษาไทยคนดังกล่าวตามหลักอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางกงสุล (Vienna Convention on Consular Relations)

และได้แสดงความห่วงใยต่อกรณีการจับกุมดังกล่าว และหวังว่านักศึกษาไทยจะได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรมตามกระบวนการยุติธรรม และการปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสมตามแนวปฏิบัติสากล

สำหรับข่าวนี้นั้นขอให้ผู้อ่านอย่ารีบตัดสินต่อนักศึกษาคนนี้ว่าใช่หรือไม่ใช่คนร้ายจริงหรือไม่ ต้องต่อสู้ในทางศาล (ตามที่หลายคนคอมเมนต์เสียๆ หายๆ ในโลกโซเชียลแล้วไปเหมารวมกับเหตุการณ์ไฟใต้)

นายดลหม่าน ผ่องมหึง นักศึกษาไทยในกรุงไคโร (และรุ่นน้องผู้เขียน) ให้ทัศนะต่อเรื่องนี้ผ่านเฟซบุ๊กว่า

“แม้จะเป็นข่าวดังที่สุดในรอบ 50-60 ปีของนักศึกษาไทยในอียิปต์…ก็อย่าด่วนโจมตีกันหน้าม่าน หลังฉาก เกินกว่าที่เราจะคาดเดา

สำหรับผมแล้วให้ความเคารพในการเป็นตัวของตัวเองทุกคน และทุกคนย่อมรู้ตัวเองดีว่าเป็นคนแบบไหน และทำอะไรอยู่ แม้ว่าใครจะชอบฝ่ายไหนพรรคไหนในเรื่องการเมืองอียิปต์ หรือเรื่องการเมืองของไทย ก็เป็นเรื่องส่วนบุคคลที่จะชอบหรือไม่ชอบ

แต่เมื่อวันหนึ่ง คนคนหนึ่งกลับไปตกอยู่ในกระแสที่กำลังเดือดและเป็นเรื่องการแบ่งแยกทางความคิดของคนสองกลุ่ม พร้อมนำมาตีแผ่ออกสื่อ และการยอมรับหน้าจอทีวี ที่กลายเป็นฉนวนของภาพลักษณ์ที่ดูโหดร้าย ด้วยหลักฐานจากมือถือ เราคนที่ดูอยู่ ต่างก็ตกใจและพูดกันไปตามที่สื่อเล่า

สื่อบอกชัดเจนด้วยหลักฐาน เหมือนจะมัดตัวอยู่หมัด

แต่เว้นพื้นที่ดีๆ ไว้ให้น้องที่กำลังถูกสังคมมองไปในทางไม่ดีด้วยนะครับ

เพราะให้เชื่อเถอะว่า การจัดฉาก สร้างข่าวนั้นมีอยู่จริง นักข่าวอาจพูดจริงตามเนื้อหาที่ได้รับมา ในขณะที่ผู้ต้องหาเราได้ฟังแค่คลิปและไม่รู้สถานการณ์ในตอนนั้นเป็นแบบไหน มีใครห้อมล้อมไว้บ้าง หรืออะไรอย่างไร

ถ้าให้ย้อนไปแล้ว มีการประท้วงกันในวันศุกร์ และก็เงียบไปแล้ว น้องคนนี้เป็นนักศึกษาและขายนาฬิกาเก่าไปด้วย เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาน้องไปแต่งนาฬิกาที่อาตาบะห์แล้วก็โดนจับไป พร้อมขอดูมือถือแต่ไปเห็นรูปโปรไฟล์ของเพื่อนน้องที่เคยแชตกันเป็นรูป “ชูสี่นิ้ว” ตอนนี้อยู่ที่ไทย หลังจากนั้นน้องก็ถูกหิ้วไปเลย

แต่เนื้อหาข่าว ว่าไปร่วมประท้วงด้วย และคลิปของน้องออกมายอมรับว่าชอบแนวทางของพวกดาอิช ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าทั่วโลกก็เกรงกลัว ยิ่งทำให้น้องตกเป็นคนหนึ่งที่โหดร้ายเลยทีเดียว

อยู่ที่เราละครับ ว่าเราคิดและเชื่ออย่างไรกับสิ่งที่เป็นอย่างมีวิจารณญาณ”

ในขณะที่เมื่อ 29 กันยายน 2562

ที่ศูนย์กลางอิสลาม กรุงเทพมหานคร

ผู้เขียนได้นำเรื่องนี้ให้สภาเครือข่ายช่วยเหลือมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี ผ่านรองประธาน (หมออารีฟีน ไทยปาทาน) และท่านสุธรรม บุญมาเลิศ เลขานุการจุฬาราชมนตรี (30/9/62 ที่ศูนย์กลางอิสลามเช่นกัน) เข้าวาระเร่งด่วนในการหาวิธีช่วยเหลือนักศึกษาไทยอีกด้านด้วย

ซึ่งทั้งสองท่านก็ยินดีรับเรื่องจากผู้เขียนไปประชุมปรึกษาหารือในการแก้ปัญหาให้ดีที่สุด

ผลกระทบ

ผู้เขียนได้พูดคุยกับผู้ปกครองนักเรียนคนหนึ่งที่สนามบินสุวรรณภูมิ (ขอสงวนนาม) เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2562 เกี่ยวกับผลกระทบหลังจากนี้จะส่งผลต่อการไปเล่าเรียนของนักเรียนใหม่อย่างแน่นอน

โดยท่านกล่าวว่า

“ผลการจับกุมนักศึกษาไทยของหน่วยความมั่นคงอียิปต์ครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อนักศึกษาไทยคนใหม่ที่มีความตั้งใจจะไปเรียนที่อัลอัซฮัรประมาณ 400 คน (ที่กำลังดำเนินการขอวีซ่า) รวมถึงนักศึกษาที่ได้รับทุน 92 ชีวิต เพราะแน่นอนที่สุดรัฐบาลอียิปต์ต้องกวดขันอย่างสูงที่จะอนุมัติวีซ่าศึกษาต่อที่ประเทศของเขา เพราะขนาดปีที่ผ่านมาเด็กไทยเคยถูกส่งตัวกลับประเทศเพราะถูกกล่าวหาว่าใฝ่การเมืองอียิปต์ และนักศึกษาไทยที่จะไปเรียนผ่านการพิจารณาวีซ่ายากมากๆ”

บทสัมภาษณ์ของผู้ปกครองนักเรียนคนนี้สอดคล้องกับทัศนะเพื่อนผู้เขียนที่ทำงานสถานทูตอียิปต์ที่กรุงเทพมหานคร ว่า “ทางการอียิปต์ปัจจุบันมีความเข้มงวดอย่างมากที่จะอนุมัติวีซ่านักศึกษาของนักศึกษาไทย”

ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องปรามเหตุไม่พึงประสงค์ นักศึกษาและคนไทยให้เพิ่มความระมัดระวังในการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ที่มีความสุ่มเสี่ยง รวมทั้งได้ประสานงานกับสมาคมนักเรียนไทยในกรุงไคโรในพระบรมราชูปถัมภ์และสหชมรมนักศึกษาไทย ให้ช่วยประชาสัมพันธ์ข้อควรทราบเพื่อเพิ่มความตระหนักรู้ให้กับนักศึกษาไทยในการใช้ชีวิตในอียิปต์ด้วยความระมัดระวังด้วยแล้ว อาทิ การไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองภายในของอียิปต์ ตลอดจนการไม่ยุ่งเกี่ยวกับประเด็นที่มีความสุ่มเสี่ยงด้านความมั่นคง เป็นต้น

ท้ายนี้ขอบคุณรัฐบาลไทย ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เข้าเยี่ยมผู้ปกครองนักเรียน สถานทูตไทย ณ กรุงไคโรที่พร้อมช่วยเหลือนักศึกษาไทย

สำหรับผู้ปกครองและญาติก็ขอให้ตั้งสติเเละขอพรต่ออัลลอฮฺให้เรื่องร้ายๆ ผ่านไปด้วยสันติภาพ/สันติสุข