เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์ /เรื่องเล่าจากหิ่งห้อย

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์

เรื่องเล่าจากหิ่งห้อย

 

มีการแสดงหนึ่งที่ผมพลาดชมไป และยังนึกเสียดายที่ไม่มีเวลาว่างไปชม

ต่อเมื่อการแสดงนี้กลับมาใหม่ในที่แห่งใหม่ และมีคนเอ่ยชวนให้ไปดู…จึงรับปากทันที

การแสดงนี้ชื่อ “เรื่องเล่าจากหิ่งห้อย” เป็นละครเวทีครับ แต่ไม่ใช่ละครเวทีธรรมดา แต่พะยี่ห้อไว้ว่า “ละครเวที 6 มิติ”

ยังไงเหรอที่ว่า 6 มิติ?

เพราะการแสดงนี้ เป็นการแสดงที่ผู้ชมต้องปิดตาดู ปิดตาแล้วจะดูได้อย่างไร ตอบว่าดูด้วยโสตประสาทอื่น ไม่ว่าจะเป็น การฟัง, สัมผัส, ดมกลิ่น…จริงๆ นะครับ มีกลิ่นด้วย

ผู้จัดนิยามการแสดงนี้ว่าเป็น “Blind Experience” ผู้ชมจะได้รับประสบการณ์เต็มเปี่ยมของการเป็น “คนตาบอด”

 

น่าสนุกตั้งแต่ยังไม่ได้เข้าสู่โรงละครเลย โดยผู้ชมจะต้องปิดตาจากผ้าปิดตาที่ผู้จัดเตรียมไว้ให้ ซึ่งผู้ชมจะถูกจัดเรียงแยกกันเป็นแถวๆ แต่ละแถวจะมีสตาฟฟ์คอยดูแลนำเข้าสู่โรงละคร 1 คน

เราได้รับการฝึกถึงวิธีการเกาะแขนคนข้างหน้าเพื่อพาเราเดิน เป็นวิธีที่ถูกต้องของคนตาบอดเมื่อมีคนเดินนำ ไม่ใช่จูงหรือเกาะข้างๆ แต่ต้องเดินนำ โดยผู้ตาบอดจะเกาะที่ข้อศอกของผู้จูง

เราได้สัมผัสถึงการเป็น “คนตาบอด” ชั่วคราว ตั้งแต่เดินเข้าโรงละคร ที่เมื่อมาเห็นภายหลังก็พบว่าระยะทางไม่ได้มากเลย แต่ตอนที่เดินเกาะกันไปนั้นเหมือนเดินอยู่ในเขาวงกต ไม่ถึงที่หมายคือเก้าอี้สักที

ก่อนจะได้สัมผัสการแสดง คิดว่าเวลาชั่วโมงกว่าๆ จะเอาเราอยู่ไหม หรือจะมีง่วงมีเบื่อ หรือถ้าแอบหลับก็คงจะง่าย เพราะมีผ้าปิดตาปิดอยู่

แต่พบว่า การแสดงนั้นตรึงความสนใจเราได้ตั้งแต่ต้นจนจบ

เสียงของผู้แสดงที่สวมบทบาทต่างๆ ดังขึ้นรอบๆ ตัวเรา และมีการเคลื่อนไหวตามเรื่องราว ไม่แต่เสียงพูด แต่จะมีเสียงดนตรี เสียงเพลงที่เรียงร้อยเข้าไปด้วยกันอย่างลงตัว

สำหรับบทตัวเอกคือ “เด็กหญิงพิมพลอย” นั้น ได้นำเอาคนตาบอดมาร่วมแสดงด้วย เป็นการสร้างสรรค์ศิลปะที่งดงามร่วมกันระหว่างความแตกต่างของกายภาพ

และที่มากกว่าการได้ยินเสียงเหล่านี้ ยังมีกลิ่นให้ผู้ชมได้รู้สึก มีสัมผัสที่ทำให้เราเหมือนร่วมอยู่ในเหตุการณ์จริงๆ ยิ่งเรื่องสัมผัสนั้นยิ่งสนุก เพราะมีทั้งคนเดินเบียดตัวเราในฉากความโกลาหลต่างๆ มีสตาฟฟ์มาโยกเก้าอี้ให้สั่น มีใบไม้มาสัมผัสผ่านตัวเรา มีของมาวางพาดตักเราไป เป็นต้น

ซึ่งต้องใช้สตาฟฟ์ที่ร่วมในการแสดงจำนวนมาก คนหนึ่งต้องประกบผู้ชม 2-3 คน เพื่อสร้างอารมณ์ร่วมตามท้องเรื่อง ตอนท้ายที่เปิดตาแล้วจะเห็นน้องๆ ที่ร่วมอาสามาทำงานยืนกันอยู่เต็มห้อง รสชาติการชมมาจากน้องๆ เหล่านี้นี่เอง

เมื่อไม่มีภาพให้เห็น เสียงจึงเป็น “พระเอก” ในการแสดงนี้

 

ต้องขอชื่นชมผู้รับหน้าที่ Music Director & Composer คือ ศุภกานต์ ศิลป์วิสุทธิ์ ซึ่งเป็นทั้งผู้ประพันธ์เพลงและเรียบเรียงดนตรี โดยเพลงเอกของการแสดงก็นำบทเพลง “นิทานหิ่งห้อย” ของวงเฉลียงมาใช้ ซึ่งก็สามารถเรียบเรียงออกมา เสริมด้วยการร้องแบบประสานเสียง สร้างอารมณ์ของการรับฟังให้สอดรับกับเรื่องราวอย่างดี

รวมถึงการสร้างสกอร์ดนตรีเพื่อเดินเรื่องที่โดดเด่น ชวนให้เกิดจินตนาการได้อย่างยอดเยี่ยม บรรเลงสดด้วยเครื่องดนตรี 4 ชิ้น เปียโนไฟฟ้า ไวโอลิน และเครื่องเป่าอีก 2 ชิ้น

เมื่อไม่มีภาพให้ดู จินตนาการจึงได้ทำงานอย่างเต็มที่ และเมื่อไม่มีตาให้ชี้นำ จินตนาการของเราจึงโลดแล่นเป็นอิสระ สร้างภาพตามความรู้สึกได้อย่างไม่มีขีดจำกัด มากเสียยิ่งกว่าตอนลืมตาเสียอีก ป่าที่เต็มไปด้วยหิ่งห้อยในความคิดของเรา ย่อมสวยงามพิสดารมากกว่าฉากป่าหิ่งห้อยจริงถ้าต้องทำขึ้นมาให้ตาดู

ความโกลาหลของฉากสงคราม ในความคิดและจินตนาการของเรา ย่อมสมจริงและก้าวข้ามความเป็นไปได้ของการแสดงที่ทำให้ตาดู

หน้าตาของตัวละคร ยาย ของพี่ไม้ ของเด็กหญิงพิมพลอย ก็เป็นไปตามจินตนาการของเรา ที่คนแสดงจริงๆ อาจจะไม่ใช่อย่างที่เราคิดก็ได้

 

การแสดงเรื่องนี้ กำกับการแสดงโดย หลุยส์-กฤษณ์ สงวนปิยะพันธ์ ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Blind Experience ที่จัดการแสดงนี้ด้วย เขามีความมุ่งหมายที่จัดการแสดงแบบนี้ ก็เพื่อให้คนตาดีและตาบอดสามารถเรียนรู้สร้างจินตนาการ และมีความสุขร่วมกันได้

ในรอบที่ผมไปชมนั้นมีน้องๆ ที่เป็นคนตาบอดมาชมด้วย และเมื่อการแสดงจบลง เปิดผ้าปิดตาออก ก็ได้เห็นน้องเหล่านั้นบางคนร้องไห้ออกมาด้วย จินตนาการและความรู้สึกของน้องคนนั้นคงลึกซึ้ง มากกว่าคนตาดีอย่างเราๆ แน่นอน

นอกจากคนตาบอดที่ร่วมแสดงแล้ว ยังมีคนตาบอดที่มาร่วมทำงาน และให้ความรู้กับผู้ชมถึงวิถีการใช้ชีวิตของคนตาบอดอีกด้วย

อย่างที่เกริ่นไว้ว่าผู้จัดจัดการแสดงแนวนี้ขึ้นมาก็เพื่อให้คนตาดีได้รู้สึก และได้คิดแบบคนตาบอด ซึ่งจะทำให้เรารู้จักคนตาบอดมากขึ้น ก็ต้องยอมรับว่าเรื่องที่ว่านั้นได้ไปเต็มๆ

แต่สำหรับผมแล้วที่ได้มากกว่า คือการได้ “รู้จักตัวเอง” มากขึ้น

เพราะเมื่อตาเราทำงาน เราจะไม่ได้โฟกัสกับความคิดและความรู้สึกของเราจริงๆ ภาพที่เห็นจากดวงตามักจะเป็นมายาให้เราเคลิ้มตาม แต่เมื่อตัดสิ่งนั้นไป เราจะคิดจะเห็นจะรู้สึกด้วยหัวใจและประสบการณ์ของเราจริงๆ

นั่นทำไมผมถึงบอกอย่างนั้น

 

หากใครที่อ่านข้อเขียนนี้แล้วอยากไปชม ไปให้กำลังใจผู้จัด คงต้องขอแสดงความเสียใจด้วยเพราะบัตรนั้นเต็มไปนานแล้ว นับว่าเป็นเรื่องดีที่การแสดงดีๆ จากความตั้งใจดีๆ ของคนรุ่นใหม่กลุ่มเล็กๆ ที่มีจิตอาสามาช่วยกันทำงานนับหลายสิบคน จะได้รับการตอบรับดีมากๆ เช่นนี้

รอการแสดงเรื่องใหม่ของเขาแล้วกันนะครับ

ประกาศเอาไว้แล้วว่าจะนำเรื่อง “เจ้าชายน้อย” วรรณกรรมขวัญใจของหลายๆ คนมาทำ

 

ท้ายนี้มีอีกงานหนึ่งที่ขอประชาสัมพันธ์สักหน่อย งานนี้ต่างจากงานแรกเพราะต้องใช้ตาดูครับ เป็นงานนิทรรศการของ 3 นักเขียนหญิงที่ชอบการเดินทางเป็นชีวิตจิตใจ และได้ฝากงานเขียนเกี่ยวกับการเดินทางท่องโลกของพวกเธอไว้ตามสิ่งพิมพ์มีชื่อ

งานนี้ 3 นักเขียนที่ว่านี้ได้นำ “ภาพถ่าย” และ “ภาพวาด” จากประสบการณ์การทำงานมาจัดแสดง ชื่องานว่า “นัก (เขียน) เดินทาง” เป็นผลงานของ นิศารัตน์ สีตะสุวรรณ อดีต บ.ก.นิตยสารเที่ยวรอบโลก, สิวิกา ประกอบสันติสุข นักเขียนและนักถ่ายภาพอิสระ เจ้าของร้านหนังสือ “World at The Corner” ที่ผมเคยเขียนถึง และ อรุณี ชูบุญราษฎร์ อดีตผู้ช่วย บ.ก.นิตยสารพลอยแกมเพชร

จัดแสดงที่ Yelo House ซอยเกษมสันต์ 1 ตรงข้ามสนามกีฬาแห่งชาติ จัดแสดงถึงวันที่ 27 ตุลาคมนี้

2 งาน 2 อารมณ์ แต่นำเสนอโดยคนทำงานด้วยหัวใจด้วยกันทั้งคู่

ขอชื่นชมครับ