“นัต” ร้ายหรือดี ผีหรือเทพ?

เพ็ญสุภา สุขคตะ

“เด็กเอ๋ยอย่าร้องไห้ อย่างอแง ไม่เช่นนั้น “นัต” จะโกรธเจ้าเอาหนา”

หนึ่งในเพลงกล่อมลูกตั้งแต่ทารกยังนอนอยู่ในเปล จวบจนถึงวัยเยาว์ พ่อแม่ก็ยังชอบเตือนแกมขู่ลูกอีกว่า

“เด็กๆ ตั้งใจเรียนหนังสือให้ดีนะ ใครเกเรจะเรียก “นัต” มาสอนแทน” หรือ

“ตั้งใจกินข้าวให้เรียบร้อยหน่อย รู้ไหมว่า “นัต” ไม่ชอบเด็กที่กินไปเล่นไป”

ไฉน “นัต” ช่างมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตจิตใจของคนพม่ามากมายเช่นนี้หนอ ตั้งแต่แรกเกิดจนตาย ไม่มีใครสามารถหนีวงจรของ “นัต” ไปได้สักย่างก้าวเลยหรือ?

 

นัตคือใคร เทพหรือผี?

นัตคือวิญญาณของคนที่จบชีวิตลงด้วยโศกนาฏกรรมในทางร้าย

พูดง่ายๆ คือ ตายไม่ปกติ ตายไม่ดี ที่คนไทยนิยมเรียกว่า “ตายโหง-ตายเฮี้ยน”

เป็นธรรมดาของคนที่เสียชีวิตแบบปุบปับไม่ทันตั้งตัว เชื่อกันว่าดวงวิญญาณของคนเหล่านั้นยังสิงสถิตเฝ้าเวียนวนอยู่ในโลก ไปไหนไม่ถูก ไม่ว่านรกหรือสวรรค์

อันเนื่องมาจากความทุกข์ทรมานในวาระสุดท้ายของชีวิต

“นัต” จึงหมายถึง การยกเอาวิญญาณของผู้ตายแบบไม่ปกติขึ้นเป็น “สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ” ที่สามารถให้ทั้งคุณและโทษ เพราะนัตมีทั้งความดีและความชั่วร้าย

จุดเริ่มแรกของนัตมาจากไหน ชาวพม่ากล่าวว่า ต้นวงศ์ของนัตแท้จริงแล้วมิใช่ใครอื่นไกล “องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า” นั่นเอง

โดยระบุว่า พระพุทธองค์เป็น “มหานัต” ที่มีชื่อว่า Mae Taw Mi Nat-Tha คำหลังนี่เอง นารถ หรือ นาถ แปลว่าที่พึ่งแก่โลกมนุษย์ อันเป็นที่มาของคำว่า Nat

พระพุทธองค์ไปเกี่ยวข้องอะไรกับ “นัต”?

ปราชญ์พม่าเล่าว่า ดวงวิญญาณของเจ้าชายสิทธัตถะก่อนลงมาจุติในครรโภทรของพระนางสิริมหามายานั้น เคยสถิตอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มาก่อน

และช่วงที่อยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั่นเอง พระอินทร์และเหล่าเทวาได้เคารพกราบไหว้ “มหานัต” มาก่อนแล้ว

แม้เราจักรับรู้กันอย่างกว้างขวางว่า การบูชานัตของชาวพม่าเป็นความเชื่อในลัทธิ Animism อย่างชัดเจน แต่ในที่สุดชาวพม่าซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นพุทธมามกะ (และแทบทุกคนก็นับถือนัตคู่ขนานกันไปด้วย) พยายามโยงใยให้คนเชื่อว่า การบูชานัตไม่ใช่เรื่องผีสางงมงาย

เพราะแม้แต่อดีตชาติของเจ้าชายสิทธัตถะก่อนลงมาสู่ครรภ์มารดาก็เป็น “มหานัต” เฉกเช่นเดียวกันกับนัตองค์อื่นๆ อีกทั้ง “พระอินทร์” ผู้บูชามหานัตบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ก็ยังกลายมาเป็นนัตองค์แรกในบรรดานัตทั้งหมด 37 องค์ที่ชาวพม่านับถือ

คติการบูชา “พระอินทร์” พบว่าเป็นความเชื่อของชาวอุษาคเนย์ในลักษณะ “คู่ตรงข้าม” กับกลุ่มที่นับถือ “พระราม-พระวิษณุ” สายฮินดู

จากนัตองค์แรกคือพระอินทร์ ก็ค่อยๆ เพิ่มจำนวนของนัตมากขึ้นทีละองค์สององค์ กระจายแยกย่อยไปตามสถานที่ต่างๆ การเกิดขึ้นของนัตมีความสอดคล้องกับพฤติกรรมของมนุษย์

ครอบคลุมความต้องการของคนทุกกลุ่มลัทธิ ทุกศาสนา ทุกเพศทุกวัย ทุกชนชั้นวรรณะ และทุกอาชีพ

 

จากนิรรูป สู่ร่างสัญลักษณ์

ในยุคแรกหอบูชานัต (หิ้งผี) จะทำเป็นบ้านจำลองหลังเล็กๆ ภายในว่างเปล่า ไม่มีรูปเคารพ เป็นสิ่งที่มองไม่เห็น แต่คนสัมผัสรับรู้ได้ว่านัตอาศัยอยู่ปะปนกับพวกเขา ในทุกอณู ทุกย่างก้าว ในทุกๆ รายละเอียดของกิจวัตรประจำวันเต็มไปด้วยคำพูด คำขู่ คำพังเพย คำปลอบ คำให้กำลังใจ ไม่พ้นที่จะเอ่ยอ้างเรื่องราวของนัตทั้งสิ้น

ชื่อของนัตลอยวนอยู่รอบกายผู้คน ทั้งในห้องครัว ห้องนอน ที่ต้นไม้ใหญ่ ท้องทุ่ง ทุกตรอกซอกซอยของหมู่บ้าน

จนเสมือนว่า “นัต” เป็นทั้งเพื่อนร่วมทาง สามารถหยอกล้อต่อกระซิก เป็นทั้งครูผู้ชี้นำเส้นทางสว่างไสว และเป็นทั้งศัตรูคู่อาฆาตที่คอยกลั่นแกล้งลงโทษทุกคนได้ หากใครพลั้งเผลอ

สมัยก่อนการรำลึกบูชานัต แสดงออกด้วยการให้ร่างทรงหรือม้าขี่ (มักมีบุคลิกเป็นคน 2 เพศ ถือว่าเป็นการเปิดพื้นที่ให้คนข้ามเพศ) ดื่มสุราแล้วฟ้อนถวาย คล้ายกับพิธีฟ้อน “ผีมต-ผีเม็ง” ของชาวล้านนา ยังไม่มีการทำรูปเคารพของนัตแต่อย่างใด

นัตแต่ละตน (จะเรียก “ตน” หรือ “องค์” สุดแท้แต่ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ หากมองว่าเป็นเทพก็อาจใช้ “องค์” หากมองว่าเป็นผี ก็อาจใช้ “ตน” ในบทความนี้จะใช้ทั้งสองคำ) มีการบูชาต่างกรรมต่างวาระต่างเหตุผลต่างเงื่อนไขตางสถานที่

 

นัตมักเกี่ยวข้องกับพระเจ้าอนิรุทธ
และพระเจ้าอนิรุทธก็เป็นนัต

ในยุคของพระเจ้าอนิรุทธมหาราช (อโนรธามังช่อ) ราวพุทธศตวรรษที่ 16 แห่งกรุงพุกาม เริ่มมีการจัดหมวดหมู่นัตที่เคยสะเปะสะปะ เกลื่อนกล่นมากล้นเกินร้อยตน ขมวดให้เหลือเพียง 37 ตนหลักๆ เท่านั้น อันเป็นตัวเลขที่ยืนพื้นมาจนบัดนี้

กล่าวให้ง่ายคือ “นัตหลวง” มีแค่ 37 ตน ส่วน “นัตราษฎร์” หรือ “นัตเชลยศักดิ์” คือที่เหลืออีกหลายร้อยตน

สถานที่อยู่ของนัตหลวงคือ “มหาคีรีโปปา” Mt. Popa ตั้งอยู่ตอนกลางของประเทศพม่าใกล้กรุงพุกาม โดยมีประธานใหญ่ชื่อ Min Maha Giri (เจ้าพ่อแห่งขุนเขา) “มินมหาคีรี” เป็นอารักษ์ที่ถูกอัญเชิญให้สถิต ณ ปล่องภูเขาไฟที่ดับแล้ว

นัตมินมหาคีรีได้รับการยกย่องให้เป็น “อารักษ์แห่งเมืองพุกาม” และเป็น “ผีบ้านผีเรือน” สำหรับคนพม่าโดยทั่วไป การบูชานัตตนนี้กระทำขึ้นปีละ 4 ครั้ง มีการเซ่นสรวงด้วยน้ำมะพร้าวผูกผ้าสีแดง ต้นกล้วย และพัดใบตาล โดยวางเครื่องประกอบเหล่านี้ไว้ใกล้ “หอนัต” ซึ่งมักอยู่เคียงคู่กับ “หิ้งพระ” ภายในบ้าน

บ้านไหนมีหอนัตมินมหาคีรีสามารถสังเกตได้ง่าย คือผู้บูชาจะใช้ผ้าม่านกางกั้นแยกหอผีกับหิ้งพระออกจากกันคนละมุมห้อง ผ้าม่านหรือมุ้งจะช่วยป้องกันให้ “หอนัต” หลบพ้นจากแสงไฟอีกด้วย ทำไมต้องทำเช่นนั้น

เหตุเพราะมินมหาคีรีเคยเป็นช่างตีเหล็ก ทำงานรับใช้น้องเขยของเขาซึ่งเป็นกษัตริย์ ขณะที่ตีเหล็กอยู่นั้นเตาไฟโหมกองเพลิงลุกท่วมเผาร่างมินมหาคีรี ชาวพม่ามองว่านัตตนนี้ต้องตายไปเพราะเป็นเหยื่อของไฟ จึงไม่เป็นการเหมาะสมที่จะจัดวางหอนัตสิงสถิตกลางที่โล่งแจ้ง แสงไฟจ้า

แม้แต่การบูชานัตตนนี้ก็ต้องปราศจากการจุดธูปเทียนโดยเด็ดขาด

ต่อไปเป็นนัตสองพี่น้องตระกูล Taungbyon คนพี่ชื่อ Min Gyi คนน้องชื่อ Min Lay ทั้งคู่เป็นเสนาบดีในราชสำนักของพระเจ้าอนิรุทธมหาราช คนพี่ “มินคยี/มินจี” เป็นคนสุขุม เงียบขรึม เคร่งศาสนา ส่วนคนน้อง “มินเล” เป็นนักรักเจ้าสำราญ ชอบกิน เที่ยว ดื่ม (แต่อาจไม่ชอบ ชิม ช้อป ใช้ ก็ได้)

ทั้งสองพี่น้องนับถือศาสนาอิสลาม การบูชาต้องเลี่ยงการถวายหัวหมู ความตายของสองพี่น้องมาจากช่วงที่กำลังควบคุมการก่อสร้างศาสนสถานให้พระเจ้าอนิรุทธมหาราชอยู่นั้น พวกเขาจัดหาอิฐมาก่ออาคารได้ไม่ทันใจกษัตริย์ จึงถูกลงโทษด้วยการสั่งให้ตัดอัณฑะทิ้ง จนกระทั่งเสียชีวิต

สองพี่น้องได้รับการสถาปนาให้เป็นนัตลำดับที่ 9 บนเขาโปปา ดังนั้น ชาวบ้านที่อยู่รายรอบกรุงพุกามเป็นที่รู้กันโดยนัยว่า จะต้องเลี่ยงทุกอย่างที่เป็นหมายเลข 9 (Lucky Number ของพม่า)

เราจะไม่พบบ้านเลขที่ 9 หมายเลขลำดับสิ่งของต่างๆ ละแวกนี้จาก 8 จะข้ามไปเป็น 10 เลย และไปไหนมาไหนเป็นหมู่คณะ มักไม่นิยมการเดินทางจำนวน 9 คน

ในกรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ เช่น จำนวนของผู้เข้าประชุมมี 9 คน จะไปตัดไปเพิ่มใครก็ไม่ได้ มีวิธีแก้เคล็ดด้วยการเอาก้อนหินมาวางบนโต๊ะ 1 ก้อน แล้วขานชื่อก้อนหินนั้น ว่าเป็นผู้ร่วมประชุมคนที่ 10

นัตองค์สำคัญก็คือพระเจ้าอนิรุทธมหาราชนั่นเอง พระองค์สิ้นพระชนม์ด้วยถูกควายขวิดไส้ทะลัก

คนที่บูชานัตองค์นี้ ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการสายนักบริหารที่ต้องการเลื่อนขั้น ตำแหน่ง ยศถาบรรดาศักดิ์ให้สูงขึ้น

แต่ชาวบ้านร้านตลาดทั่วไปรู้สึกค่อนข้างห่างไกลจากนัตอนิรุทธ

นัต Ko Gyi Kyaw เป็นนัตที่ทรงพลังดุร้ายบ้าบิ่น ช่วงที่มีชีวิตเป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ได้รับคำสั่งจากกษัตริย์ (ไม่ระบุว่าใช่อนิรุทธมหาราชอีกด้วยหรือไม่) ให้ไปสร้างป้อมประตูเมือง ซึ่งเป็นงานโหดลำบากยากเข็ญ หลายครั้งที่เขาชอบขัดคำสั่งเจ้านาย บ่ายเบี่ยงเลี่ยงหลบไม่ค่อยอยากทำ หลังจากที่เขาสร้างป้อมหลังที่ 9 เสร็จและถวายทานให้วัดแล้ว เขารู้สึกเครียดและอึดอัดอย่างถึงที่สุด จึงตัดสินใจปลิดชีพตัวเองด้วยการผูกคอตาย

เห็นได้ว่าเป็นการตอกย้ำอาถรรพ์เลข 9 อีกครั้ง กลายเป็นเทพประจำซุ้มประตูวัดสถิตตามป้อมกำแพง เวลามีการบวงสรวง ม้าขี่จะใส่โสร่งเขียวถือขวดเหล้าในมือข้างหนึ่ง และมืออีกข้างถือไก่ทอด (?)

นัต Ko Gyi Kyaw เป็นที่เคารพของนักธุรกิจ พ่อค้าแม่ขาย นักการพนัน โดยมีความหวังว่าจะมั่งคั่งร่ำรวย

นัตกะลาสีเรือ U Shin Gyi สัญลักษณ์สวมชุดขาวและถือพิณ เป็นนักดนตรี นัตตนนี้เป็นมังสวิรัติ ไม่กินเนื้อสัตว์ ต้องบูชาด้วยข้าวเหนียวและผลไม้ เขาเสียชีวิตจากเรือชนหินโสโครก วิญญาณจึงสิงสถิตบริเวณประภาคารชายฝั่งทะเล คอยช่วยเหลือชาวประมงให้รอดพ้นจากเรืออับปาง

 

นัตฝ่ายหญิง

นัตองค์สำคัญของฝ่ายหญิงคือ “แม่เจ้าแห่งขุนเขา” Popa Mae Daw แสดงออกด้วยสัญลักษณ์ของดอกไม้ที่วิ่งไล่ตะครุบผีปอบ นัตตนนี้เป็นแม่ของมินคยีและมินเล เธอแต่งงานกับเจ้าชาย Byat Ta ซึ่งเป็นชาวมุสลิม ดังนั้น เครื่องเซ่นแม่เจ้าต้องไม่มีหัวหมูเช่นเดียวกับลูกชายทั้ง 2

เธอพอใจดอกกุหลาบสีแดง เสื้อผ้าเครื่องประดับสีแดง ถ้าบูชาไม่ดีเธอจะลงโทษคนผู้นั้นอย่างรุนแรง

นัต Pegu Mae Daw เจ้าแม่มหิงสาแห่งเมืองหงสาวดี หรือ Lady Buffalo of Pegu เป็นนัตยุคดึกดำบรรพ์ที่ชาวมอญนับถือมานานเนิ่น ทำหน้าที่เป็นอารักษ์เมืองหงสา อดีตราชธานีตอนใต้ของพม่า ชาวมอญเชื่อว่าหากละเลยการปฏิบัติบูชา เมืองหงสาจะพบกับความวิบัติ

นัต Ma Ne Lay เพทธิดาน้อยเป่าขลุ่ย นัตตนนี้เป็นสาวน้อยที่ใช้ขลุ่ยปลอบประโลมตัวเองตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น หลังจากที่ต้องสูญเสียมารดา โลกของเธอเปลี่ยนสีเมื่อแม่จากไป แต่ชาวพม่าบูชาเธอในด้านตรงข้าม คือถ้าเด็กคนไหนขี้โรค ไม่แข็งแรงร่าเริง จะต้องบูชานัตตนนี้ ความสนุกสนานสดใสวัยหวานก็จักหวนคืนกลับมา บูชาเธอด้วยไข่ ขนมหวาน และบรรเลงดนตรีที่มีชีวิตชีวาถวาย

เจ้าแม่ Lay Par เป็นนัตที่รวมกลุ่มกัน 4 นาง เรียกว่า “เจ้าแม่ทั้ง 4” มาจาก Upper Chindwin ทิศตะวันตกเฉียงเหนือของพม่า เธอทั้งสี่อยู่ในร่างสตรีมีครรภ์ สวมชุดดำเสมอ ผู้หญิงมักบูชาเจ้าแม่ทั้ง 4 เพื่อขอให้คลอดลูกง่าย ทารกสุขภาพดี

รวมไปถึงภรรยาที่มีความทุกข์ถูกสามีทอดทิ้งไปมีหญิงอื่นก็เช่นกัน เชื่อว่าเจ้าแม่ทั้ง 4 จะช่วยดลจิตดาลใจให้สามีกลับคืนมาครองรักกับเธอได้ ตอนบวงสรวงต้องใช้ร่างทรง 4 คนสวมชุดดำ ถวายเครื่องเซ่นด้วย ข้าวสาร เหมี้ยง และบุหรี่ขี้โย

 

ทั้งหมดที่นำมาเสนอนี้เป็น “นัตหลวง” ส่วนหนึ่งในบรรดานัต 37 ตน (องค์) ที่ชาวพม่านับถือ ไม่ว่ากาลเวลาจะผันแปรไปนานเพียงใด ชาวพม่าจักยังคงบูชานัต ด้วยความเคารพรักและผูกพันตลอดกัลปาวสาน