เล็งเป้างบทหาร / ฉบับประจำวันที่ 18-24 ตุลาคม 2562

ความตึงเครียดระหว่างทหารกับฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะ 7 พรรคฝ่ายค้าน
นับตั้งแต่การที่ กองทัพภาคที่ 4 ส่งตัวแทนในนามกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) แจ้งความจับแกนนำ 7 พรรคการเมือง และนักวิชาการ ผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 116 ฐานะยุยงปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบ วุ่นวายในหมู่ประชาชน ในกรณีไปเสวนาทางการเมืองที่ จ.ปัตตานี โดยนักวิชาการที่ร่วมเสวนากับฝ่ายค้าน เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 1 รวมถึงประเด็นที่นำไปสู่ความเข้าใจผิดอื่นๆ จึงเข้าแจ้งความดังกล่าว
จนทำให้ฝ่ายค้านแจ้งความกลับว่ากระทำมิชอบตามมาตรา 157 และมีเป้าหมายปิดปากฝ่ายค้าน
และยิ่งมาร้อนฉ่า เมื่อ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้บรรยายพิเศษ “แผ่นดินของเราในมุมมองความมั่นคง” ที่กองบัญชาการทหารบก กล่าวหาพรรคการเมือง ปลุกปั่น ล้างสมองคนรุ่นใหม่ โดยได้รับแนวความคิดจากคอมมิวนิสต์ และจากต่างชาติ
ความตึงเครียดดังกล่าว
นำมาสู่ความคาดหมายว่า การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่จะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 17 ตุลาคมนี้
จะเป็นสมรภูมิการเมืองเดือด โดยพรรคฝ่ายค้านจะเอาคืนกองทัพ ฝ่ายความมั่นคง และรัฐบาล
โดยวางเป้าหมายจะชำแหละงบประมาณกระทรวงกลาโหม และงบฯ ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง หนักเป็นพิเศษ

ทั้งนี้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 มีวงเงินทั้งสิ้น 3,200,000 ล้านบาท
เพิ่มขึ้น 200,000 ล้านบาท จากงบฯ ปี 2562 ที่ 3,000,000 ล้านบาท
เป็นการตั้งงบฯ ขาดดุลบัญชี 469,000 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าปีก่อนที่ตั้งงบฯ ขาดดุล 450,000 ล้านบาท
สะท้อนถึงเศรษฐกิจที่ไม่ฟื้นตัว
กระนั้น ในส่วนงบฯ กระทรวงกลาโหม ยังได้เพิ่ม 2.7% หรือคิดเป็น 233,353.4 ล้านบาท
ขณะที่กระทรวงสำคัญอื่นๆ กลับลดลง เช่น
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 6,071.3 ล้านบาท ลดลง 428 ล้านบาท
กระทรวงคมนาคม 178,840.1 ล้านบาท ลดลง 758.5 ล้านบาท
กระทรวงศึกษาธิการ 368,660.3 ล้านบาท ลดลง 386.8 ล้านบาท
ส่วนกระทรวงสาธารณสุขได้รับงบฯ น้อยกว่ากระทรวงกลาโหม โดยได้งบฯ 138,735.3 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นน้อยกว่างานมั่นคง โดยได้เพิ่ม 3,346.6 ล้านบาท

ตัวเลขที่งบฯ ทหารและงบฯ ความมั่นคง ได้มากและได้เพิ่มนี้เอง
ทำให้เป็นเป้าหมายที่พรรคฝ่ายค้านจะหยิบขึ้นมาโจมตี
อย่างคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่ากระทรวงดานความมั่นคง มีการตั้งงบประมาณไว้สูงมาก เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม เพิ่มขึ้นมาโดยไม่มีความจำเป็น
เช่นเดียวกับการตั้งงบฯ กลางไว้สูงถึง 5 แสนล้านบาท ที่เปรียบเหมือนการตีเช็คเปล่า
และถูกเอาไปใช้ในสิ่งที่ไม่สมควร
เช่น นำไปซื้อรถถัง ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน
ขณะที่งบประมาณรายจ่ายปี 2563 ที่ตั้งไว้ 3.2 ล้านล้านบาท กลับพบว่าตั้งงบฯ ลงทุนเอาไว้เพียง 20% น้อยกว่าปีก่อนที่ตั้งไว้ 21% เมื่องบฯ ที่จะนำไปลงทุนลดลง คงทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจได้น้อย

ขณะที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า จะต้อง “ปฏิรูป กอ.รมน.” ที่ใช้งบประมาณแต่ละปีสูง แต่กลับมีกรอบความคิดที่มองประชาชนเป็นศัตรู
นายธนาธรชี้ว่า แม้ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) หายไปแล้วหลังการเลือกตั้ง
แต่วันนี้ยังแฝงตัวอยู่ในรัฐบาลชุดนี้ บางส่วนแฝงอยู่ใน กอ.รมน. รูปแบบใหม่ที่มีเงินและมีอำนาจเพิ่มขึ้น
กอ.รมน.ในช่วง 5 ปีหลังรัฐประหารปี 2557 ถูกวิจารณ์ว่าเป็น “เครื่องมือทางการเมือง” ของรัฐบาล คสช.
ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ชี้ว่าที่จริง กอ.รมน.ถูกยุบไปนานแล้ว แต่หลังมีการปฏิวัติเมื่อปี 2549 ทำให้มี กอ.รมน.กลับมาอีกครั้ง
ในปี 2551 จะพบว่า กอ.รมน.จะมีงบประมาณซ่อนไว้ในสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ปีนี้การจัดงบประมาณงบฯ บุคลากรถูกแยก เหลือเงิน กอ.รมน.อยู่ 6,000 กว่าล้าน
โดยมีผู้ใช้งบฯ ก้อนนี้คือนายกรัฐมนตรี ทำให้ความมั่นคงอยู่เหนือกว่ารัฐธรรมนูญ อย่างที่ กอ.รมน.ไปแจ้งความ 7 พรรคฝ่ายค้านที่ภาคใต้
น่าสังเกตว่า พนักงานสอบสวนถูกบรรจุเป็นกำลังพลของ กอ.รมน.ทั้งที่พนักงานสอบสวนที่รับแจ้งความต้องพิจารณาตามพยานหลักฐาน แต่เมื่อ กอ.รมน.ไปแจ้งความกับลูกน้องของตนเอง ความยุติธรรมก็จะไม่บังเกิด ดังนั้น กอ.รมน.ต้องปฏิรูปให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม

สำหรับงบประมาณกระทรวงกลาโหมตั้งแต่ปี 2557-2562 มีดังนี้ ปี 2557 ได้รับงบประมาณ 183,819 ล้านบาท ปี 2558 ได้รับงบประมาณ 192,949 ล้านบาท ปี 2559 ได้รับงบประมาณ 206,461 ล้านบาท ปี 2560 ได้รับงบประมาณ 213,544 ล้านบาท ปี 2561 ได้รับงบประมาณ 218,503 ล้านบาท และปี 2562 ได้รับงบประมาณ 227,126 ล้านบาท
ตัวเลขเพิ่มขึ้นตลอดซึ่งนี่คือตัวอย่าง
ที่พรรคฝ่ายค้านเล็งเป้าและจะมอบภารกิจให้ผู้แทนฝ่ายค้านในสภา ไปกระหน่ำยิงฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายความมั่นคง ในสภา
ที่คาดหมายว่าจะดุเดือด
ไม่ต่างจากการซักฟอกเท่าใดนัก
———————