สุรชาติ บำรุงสุข | ลิขิตสงครามรัฐมหาอำนาจ การหวนคืนของกับดักสงครามกรีก?

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“อำนาจทางทหารของเอเธนส์ที่เพิ่มมากขึ้นกลายเป็นภัยคุกคามที่ชัดเจนต่อสปาร์ตา… แม้ว่ารัฐสภาสปาร์ตาจะไม่ยอมรับต่อคำขออนุมัติการทำสงครามในเบื้องต้น แต่เมื่ออำนาจของเอเธนส์เติบโตมากขึ้น อิทธิพลของสายเหยี่ยวในสปาร์ตาก็เพิ่มมากขึ้นด้วย”

Graham Allison

Destined for War, 2018

สงครามโลกครั้งที่ 1 เริ่มขึ้นในวันที่ 28 มิถุนายน 1914 และจบลงด้วยการลงนามหยุดยิงของเยอรมนีในวันที่ 11 พฤศจิกายน 1918

แต่การยุติศึกยังไม่ใช่จุดสิ้นสุดของสงคราม จนกระทั่งเยอรมนียอมลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพแวร์ซายส์ในวันที่ 28 มิถุนายน 1919 สงครามจึงยุติอย่างสมบูรณ์

น่าสนใจว่าสงครามเริ่มต้นจากการลอบปลงพระชนม์มกุฎราชกุมารของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีที่เมืองซาราเยโวในวันที่ 28 มิถุนายน 1914 และจบลงด้วยสนธิสัญญาสันติภาพในวันเดียวกันในอีก 5 ปีถัดมา

ดังนั้น ปีนี้จึงเป็นวาระครบรอบ 100 ปีของการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 อย่างสมบูรณ์ หรืออาจจะต้องเรียกว่าวาระครบรอบหนึ่งศตวรรษของสนธิสัญญาแวร์ซายส์ด้วย

และท้าทายอย่างมากที่ในอีก 20 ปีถัดมาหลังจากการมีสันติภาพ สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เริ่มต้นขึ้นจากความขัดแย้งของรัฐในยุโรปอีกครั้ง…

ไม่น่าเชื่อว่าอาณาบริเวณของยุโรปตกเป็น “พื้นที่สงครามโลก” ถึงสองครั้ง

ฉะนั้น บทความนี้จะขอชวนท่านผู้อ่านให้ลองย้อนกลับไปสู่อดีตของสงครามโลกครั้งที่ 1 เพื่อทำความเข้าใจในฐานะของการเป็นบทเรียนของความขัดแย้งของรัฐมหาอำนาจใหญ่ เพราะคำถามที่เป็นปัญหาอย่างมีนัยสำคัญกับสถานการณ์ปัจจุบันก็คือ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีนจะกลายเป็น “มหาสงครามครั้งต่อไป” หรือไม่?

(หรือเรียกด้วยสำนวนภาษาอังกฤษว่า “The Next Great War?”)

ฤดูร้อน 1914

การสังหารมกุฎราชกุมารของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (ต่อไปในบทความจะเรียกว่า “ออสเตรีย”) ในเมืองของบอสเนีย-เฮอร์เซโกวินาที่อยู่ห่างไกลจากเมืองหลวงที่เวียนนาได้กลายเป็นเหตุการณ์ที่พลิกโฉมหน้าของโลกอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน จากวันที่ 28 มิถุนายน 1914 ที่การลอบปลงพระชนม์เกิดขึ้นนั้น

ในอีกหนึ่งเดือนถัดมาในวันที่ 28 กรกฎาคม ออสเตรียประกาศสงครามกับเซอร์เบีย ซึ่งเป็นประเทศสัญชาติของบุคคลผู้ก่อเหตุ

และหลังจากนี้แล้วเหตุการณ์ก็ดำเนินไปตามแรงขับเคลื่อนของสงคราม

กล่าวคือ ในวันที่ 1 สิงหาคม เยอรมนีประกาศสงครามกับรัสเซีย

วันที่ 3 สิงหาคม เยอรมนีประกาศสงครามกับฝรั่งเศส

และในวันที่ 4 สิงหาคม อังกฤษประกาศสงครามกับเยอรมนี

และในวันเดียวกันนี้ สหรัฐประกาศความเป็นกลาง

ในอีกสามวันต่อมา กำลังทหารอังกฤษชุดแรกก็เดินทางถึงฝรั่งเศส และในวันที่ 12 สิงหาคม อังกฤษประกาศสงครามกับออสเตรีย

ต่อมาในวันที่ 23 สิงหาคม ญี่ปุ่นประกาศสงครามกับเยอรมนี

ญี่ปุ่นจึงเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ประกาศการเข้าร่วมในสงครามครั้งนี้

สงครามจากเดือนกันยายนและเดือนตุลาคมมีความรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ

และในวันที่ 2 พฤศจิกายน รัสเซียประกาศสงครามกับจักรวรรดิออตโตมัน (ซึ่งเป็นจักรวรรดิของโลกมุสลิม)

วันที่ 5 อังกฤษก็ประกาศสงครามกับจักรวรรดินี้

พัฒนาการของการประกาศสงครามเช่นนี้จากเหตุการณ์ในฤดูร้อนช่วงปลายเดือนมิถุนายนจนถึงต้นเดือนพฤศจิกายน 1914 นั้น เพียงพอแล้วที่จะลากรัฐต่างๆ ในเวทีโลกเข้าสู่สงครามร่วมกัน

แม้สงครามครั้งนี้จะเป็นเสมือนกับความขัดแย้งใหญ่ของรัฐมหาอำนาจยุโรปเท่านั้น

แต่ด้วยสถานะของความเป็นรัฐมหาอำนาจ ขณะเดียวกันก็เป็นเจ้าอาณานิคม ทำให้พื้นที่สงครามครอบคลุมพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของรัฐต่างๆ แทบทั่วโลก และการต่อสู้ขยายตัวกลายเป็น “สงครามโลก” ในที่สุด

จากวันที่ 28 มิถุนายน 1914 จนถึง 11 พฤศจิกายน 1918 ค่าใช้จ่ายสงครามทั้งชีวิตและทรัพย์สินที่สูญเสียไปกับอำนาจการทำลายล้างที่เกิดขึ้นนั้น มีมหาศาลอย่างที่โลกไม่เคยเห็นมาก่อน

เช่นที่สงครามขยายครอบคลุมไปทุกภูมิภาคของโลก และการสิ้นสุดของสงครามพัดพาสี่จักรวรรดิใหญ่ของโลกสิ้นสุดตามไป ได้แก่ จักรวรรดิเยอรมัน ออสเตรีย-ฮังการี รัสเซีย และออตโตมัน ผลที่ตามมาในทางการเมืองระหว่างประเทศคือ การลากเส้นแบ่งเขตแดนใหม่ของรัฐยุโรปและตะวันออกกลาง

ทั้งยังเห็นถึงการมาของการปฏิวัติสังคมนิยมในรัสเซียและในเยอรมนี

แม้ผลที่เกิดขึ้นในสองประเทศจะแตกต่างกันก็ตาม

อีกทั้งสงครามยังมีส่วนโดยตรงต่อการทำลายความเข้มแข็งของสองจักรวรรดิเก่าคืออังกฤษและฝรั่งเศส

ขณะเดียวกันก็ส่งสัญญาณถึงการก้าวขึ้นเป็นรัฐมหาอำนาจของสหรัฐและญี่ปุ่น

แม้กระทั่งรัฐเล็กๆ อย่างสยามยังมีส่วนได้จากการเป็นรัฐผู้ชนะสงครามครั้งนี้

อันนำไปสู่ผลตอบแทนอย่างใหญ่หลวงคือ การแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และการเข้าเป็นสมาชิกสันนิบาตชาติของสยาม

ผลแห่งสงคราม

ผลของสงครามได้เปลี่ยนแปลงโลกอย่างขนานใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นสู่อำนาจของพรรคนาซีและพรรคฟาสซิสต์ การสร้างจักรวรรดิของญี่ปุ่น จนนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ในเวลาต่อมา

และยังขยายตัวจนกลายเป็นสงครามเย็นในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

แต่ทั้งหมดนี้สรุปได้ว่า สงครามที่เริ่มในฤดูร้อนของปี 1914 ทำลายโลกเก่า แน่นอนว่าเส้นทางนี้มีความรุนแรง อันตราย เป็นความมืดมนทั้งชีวิตของผู้คนและรัฐ และเป็น “จุดเปลี่ยนสำคัญ” ของประวัติศาสตร์โลก

ฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกใจนัก ที่เรายังคงเห็นข้อถกเถียงในเรื่องของสงครามโลกครั้งที่ 1 ยังไม่จบ ขณะเดียวกันก็เห็นการตีความครั้งแล้วครั้งเล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตีความที่มีนัยกับการกำเนิดของมหาสงครามครั้งนี้

จนกลายเป็นคำถามว่าโลกจะเผชิญกับ 1914 อีกหรือไม่ (หรือในสำนวนภาษาอังกฤษว่า “Could 1914 happen again?”)

หรือนัยของคำถามคือ ปัจจัยที่ผลักดันให้รัฐมหาอำนาจเดินหน้าเข้าสู่สงครามในฤดูร้อนปี 1914 นั้น จะยังคงย้อนรอยกลับมาเกิดขึ้นอีกในโลกศตวรรษที่ 21 อีกหรือไม่

ผลการศึกษาส่วนหนึ่งให้ความสำคัญกับปัจจัยการตัดสินใจของผู้นำ ชนชั้นนำ และผู้นำทหารของรัฐมหาอำนาจมีส่วนอย่างมากที่พาโลกเข้าสู่สงคราม

แม้พวกเขาในเบื้องต้นจะไม่ตระหนักถึงผลสืบเนื่องขนาดใหญ่ที่จะตามมาจากการตัดสินใจเช่นนั้น

พวกเขาอาจจะคิดเพียงว่าสงครามครั้งนี้เป็นการรบของรัฐยุโรป และคงจะเป็นเหมือนอดีตที่สงครามก็จำกัดอยู่เพียงในพื้นที่นี้ ไม่ขยายออกไปมากกว่าสงครามของยุโรปในอดีต

และขณะเดียวกันก็มองไม่เห็นผลกระทบของพัฒนาการทางเทคโนโลยีอาวุธ ทั้งยังมองไม่เห็นสงครามนอกยุโรปที่อาวุธสมัยใหม่ได้เปลี่ยนโฉมหน้าของสงครามไปจากเดิมอย่างมาก

อีกนัยหนึ่ง ชนชั้นนำและบรรดาผู้นำทหารขาดวิสัยทัศน์ที่จะช่วยการมองสงครามในอนาคต

พวกเขายึดมั่นในจินตนาการเดิมที่สงครามมีระยะเวลาสั้น สงครามจะไม่กินเวลานาน เช่น ไม่เหมือนกับสงครามกลางเมืองอเมริกัน หรือไม่เหมือนกับการรบติดพันที่ลากไปยาวของสงครามในแอฟริกาใต้

เมื่อมองว่าสงครามจะไม่ขยายตัวใหญ่และกินเวลานาน สงครามจึงเป็นเครื่องมือที่ “ยอมรับได้”

ทั้งยังทำให้สงครามกลายเป็น “ความปรารถนา” ของรัฐที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาท

ถ้าสงครามเป็นสิ่งที่ “หลีกเลี่ยงไม่ได้” ในความขัดแย้งของรัฐใหญ่ ทั้งสงครามก็ไม่ใช่ “สิ่งที่ควรจะหลีกเลี่ยง” และพวกเขายังเชื่ออีกว่ารัฐตนจะเป็นผู้ชนะสงคราม ทัศนะเช่นนี้ก็คือการปูทางไปสู่สงครามระหว่างประเทศในตัวเอง

ผลจากทัศนะเช่นนี้จึงมิใช่คำถามว่า สงครามควรจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้หรือไม่

หากแต่คำถามกลับเป็นว่า “ถ้าสงครามเกิดแล้วจะรบอย่างไร” (คำตอบเรื่องของการทำแผนสงคราม หรือ “war plan” อันเป็นปัจจัยสำคัญของการเกิดสงคราม)

ตามมาด้วยคำถามว่า “ถ้ารบชนะแล้ว อะไรคือผลตอบแทนจากสงคราม” (คำตอบเรื่องของการกำหนดเงื่อนไขสันติภาพหลังสงคราม ที่รัฐผู้ชนะจะเป็นผู้ควบคุมระบบระหว่างประเทศ)

รัฐคู่ขัดแย้งทั้งหลายมักเชื่อว่า “ถึงเวลาอันเหมาะสมที่จะทำสงครามแล้ว” (มีนัยว่า ทำสงครามก่อนในวันนี้ ดีกว่ารอสงครามในวันพรุ่งนี้)

ความเชื่อเช่นนี้มีนัยอีกว่า หากลงมือชิงทำสงครามก่อนก็จะเป็นฝ่ายได้เปรียบหรือที่เรียกในยุคนั้นว่า “ลัทธิแห่งการรุกรบ” (cult of the offensive) ผู้นำกองทัพยุโรปล้วนตกอยู่ใต้อิทธิพลของลัทธิทหารเช่นนี้ และเชื่ออีกว่าการรุกเป็นปัจจัยชี้ขาดชัยชนะ

นอกจากนี้ บรรดาชนชั้นนำมองเห็นคล้ายคลึงกันว่า ในภาวะที่สมดุลในเวทีระหว่างประเทศกำลังเกิดความเปลี่ยนแปลงนั้น ในทัศนะของรัฐมหาอำนาจเก่า สงครามจะเป็นเครื่องมือในการรักษาสมดุลให้กลับมาเสถียรภาพใหม่

แต่สำหรับรัฐมหาอำนาจใหม่ สงครามจะเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดสมดุลใหม่ ที่มีความหมายว่าการเปลี่ยนแปลงนี้ต้องทำลายระเบียบเดิม กล่าวคือ “สงครามเป็นเครื่องมือของการจัดระเบียบระหว่างประเทศใหม่” หลังสงครามสิ้นสุดลง

อีกทั้งหากย้อนมองอดีตของสงครามโลกครั้งที่ 1 ยังเห็นปัจจัยการเมืองภายในของจักรวรรดิใหญ่ ที่ระบอบการเมืองแบบเดิมกำลังอยู่ในภาวะถดถอย ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครองรัสเซีย ผู้ปกครองออตโตมัน ตลอดรวมถึงผู้ปกครองออสเตรีย และในบางกรณีอาจรวมทั้งผู้ปกครองเยอรมนี ที่รัฐบาลของบรรดากษัตริย์เหล่านี้กำลังเผชิญกับความท้าทายจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นเสียงวิจารณ์ต่อความชอบธรรมในอำนาจ การปกครองแบบอำนาจนิยมที่ไม่ได้รับการตอบสนองจากประชาชน

และที่สำคัญคือ ระบอบการปกครองนี้ไม่เหมาะสมกับเงื่อนไขการพัฒนาของสังคม จนไม่มีความยืดหยุ่นพอในการปรับตัวกับสภาวะแวดล้อมใหม่

ระบอบการปกครองเช่นนี้สุดท้ายแล้วตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกองทัพ

หรือตกอยู่ในกระแสของ “สายเหยี่ยว” หรือบรรดาปีกขวาที่นิยมสงคราม

ในที่สุดแล้วบรรดากษัตริย์เหล่านี้ไม่อาจทนแรงกดดันของฝ่ายทหารให้เปิดการ “ระดมพล” เพื่อเข้าสู่สงครามได้ และที่สำคัญผู้นำเหล่านี้ในอีกส่วนเชื่อว่า สงครามจะช่วยพาความสนใจของประชาชนออกไปจากปัญหาความตกต่ำและความขัดแย้งภายในจักรวรรดิ

กับดักสงคราม

สภาวะจึงเป็นดังเช่นที่ทูซิดิดิสให้คำตอบแก่เราว่า แม้รัฐสภาของสปาร์ตาอาจจะไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอในการทำสงครามในตอนแรก แต่เมื่ออิทธิพลของเอเธนส์เติบโตมากขึ้น ก็ส่งผลให้ปีกนิยมสงครามในสปาร์ตาขยายอิทธิพลมากขึ้นตามไปด้วย

สงครามจึงไม่ใช่เพียงสิ่งที่น่าปรารถนาและไม่ควรหลีกเลี่ยงเท่านั้น หากยังเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ด้วย หรือโดยนัยของการมองภัยคุกคามก็คือ เอเธนส์ยิ่งเติบใหญ่มากเท่าใด สปาร์ตาก็ยิ่งเห็นภัยคุกคาม (จากเอเธนส์) แจ่มชัดมากขึ้นเท่านั้น

ในเงื่อนไขเช่นนี้ สงครามจึงถูกมองจากเอเธนส์ว่าเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการจัดระเบียบความสัมพันธ์ใหม่ อันจะนำไปสู่การเกิดของสมดุลใหม่ แต่สำหรับสปาร์ตาแล้ว สงครามคือเครื่องมือในการรักษาระเบียบเดิม

คำอธิบายนี้ชี้ให้เห็นว่า สภาวะในข้างต้นเป็น “กับดักสงคราม” ที่บรรดารัฐมหาอำนาจไม่อาจหลีกหนีไปได้ จนทูซิดิดิสเรียกเงื่อนไขเช่นนี้ว่า “กฎแห่งธรรมชาติ” (the law of nature) กล่าวคือ เมื่อใดที่มีรัฐมหาอำนาจเก่าเป็นผู้ควบคุมระบบ (คือเป็น hegemony) เมื่อนั้นจะเกิดรัฐมหาอำนาจใหม่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ท้าทาย

คำถามของยุคปัจจุบันคือ การแข่งขันทั้งทางเศรษฐกิจและการทหารระหว่างจีนกับสหรัฐในศตวรรษที่ 21 จะย้อนรอยของสงครามระหว่างเอเธนส์กับสปาร์ตาในยุคนครรัฐกรีกหรือไม่… จะซ้ำรอยสงครามระหว่างเยอรมนีกับอังกฤษในปี 1914 หรือไม่?

แน่นอนว่าในเวทีโลก โฆษกรัฐบาลมหาอำนาจล้วนพูดไม่แตกต่างกันว่า พวกเขาไม่ต้องการสงคราม

แต่ขณะเดียวกันโลกกลับเห็นการขยายตัวของความขัดแย้งที่เพิ่มมากขึ้น

ดังกรณีสงครามการค้าในปัจจุบัน

แม้กระนั้นก็มีความหวังว่า รัฐมหาอำนาจล้วนมีบทเรียนที่สำคัญจากประวัติศาสตร์มาแล้วกับความสูญเสียที่เกิดจากสงครามโลก

ซึ่งก็เป็นความหวังประการหนึ่งว่า บทเรียนในประวัติศาสตร์อาจจะพอเป็นปัจจัยเหนี่ยวรั้งไม่ให้ความขัดแย้งนี้ขยายตัวไปสู่ภาวะสงคราม

และทั้งยังหวังว่า บทเรียนจากยุคสงครามเย็นที่การแข่งขันระหว่างสหรัฐกับโซเวียตก็ไม่ได้ซ้ำรอย “กับดักทูซิดิดิส” แต่อย่างใด

กล่าวคือ ไม่มีสงครามโลกในสงครามเย็น และอาจต้องยอมรับว่าปัจจัยของการมีอาวุธนิวเคลียร์สมรรถนะสูงเป็นเครื่องมือของ “การป้องปราม” ที่ดีที่ทำให้สงครามไม่เกิด เพราะโดยตรรกะและความเป็นจริงก็คือ ไม่มี “รัฐผู้ชนะ” ในสงครามนิวเคลียร์

เงื่อนไขเช่นนี้อย่างน้อยก็ทำให้เกิดความหวังว่า สงครามระหว่างเอเธนส์กับสปาร์ตา เช่นเดียวกับสงครามระหว่างเยอรมนีกับอังกฤษจะไม่ย้อนรอยกลับมา

หรือ “กับดักทูซิดิดิส” จะไม่หวนกลับมาอีกในศตวรรษที่ 21!