วิกฤติศตวรรษที่ 21 | สงครามการค้าสหรัฐ-จีน : สงครามเศรษฐกิจดิจิตอลที่มีลักษณะชี้ขาด

สงครามการค้าสหรัฐ-จีน : สู่ขั้นใช้ยาแรง (19)

การรบลักษณะชี้ขาดในสงครามเศรษฐกิจดิจิตอล

สงครามการค้าสหรัฐ-จีนครั้งนี้ เป็นที่เห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่า เป็นส่วนหนึ่งของสงครามที่ใหญ่กว่า นั่นคือ สงครามเศรษฐกิจหลายมิติ กล่าวคือ

ก) เศรษฐกิจการเงิน

ข) เศรษฐกิจดิจิตอล

และ ค) เศรษฐกิจอุตสาหกรรมการผลิต ไปจนถึงสงครามทางภูมิรัฐศาสตร์ เพื่อชิงความเป็นใหญ่ในภาคพื้นแปซิฟิก-อินเดีย และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

จึงทั้งรุนแรง หักมุม ยืดเยื้อ และเสี่ยงต่อการลุกลามกลายเป็นการปะทะกันทางกำลังได้ง่าย

สงครามนี้จึงเป็นยุคใหม่ทั้งยุค เรียกได้ว่า เป็นสงครามเย็น 2.0 ระหว่างสหรัฐกับจีน-รัสเซีย

และเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมดำเนินไปตามแรงขับเคลื่อนและ เหตุปัจจัยของมันจนถึงที่สุด ไม่มีใครสามารถยุติได้ แม้แต่ทรัมป์ผู้ก่อสงครามนี้

สงครามการค้าซึ่งเป็นข่าวครึกโครมในเรื่องการกีดกันสินค้าอุตสาหกรรมนั้น เมื่อวิเคราะห์แล้ว จุดที่มีลักษณะชี้ขาดอยู่ที่สงครามดิจิตอลด้วยเหตุปัจจัยเบื้องต้น

กล่าวคือ เมื่อแบ่งเศรษฐกิจออกเป็นสามส่วนใหญ่ดังกล่าวข้างต้น คือ เศรษฐกิจการเงิน เศรษฐกิจดิจิตอล และเศรษฐกิจอุตสาหกรรมการผลิต จะพบว่าสหรัฐได้เปรียบด้านเศรษฐกิจการเงินเด่นชัด และจีนต้องใช้เวลานานเป็นสิบปีกว่าจะขึ้นมาคุกคามได้

แต่ในด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมการผลิต จีนได้เปรียบมาก จากการได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐแก่จีนปีละหลายแสนล้านดอลลาร์

และจากการทำสงครามการค้าที่ผ่านมาแล้ว กว่าหนึ่งปีก็ยังไม่เห็นว่าสหรัฐจะกลับมาได้เปรียบดุลการค้าจีนได้เมื่อใด

ผลสำเร็จมีเพียงการลดการค้ากับจีนเท่านั้น ฐานอุตสาหกรรมสหรัฐไม่ว่าจะเป็นเหล็กกล้า พลังงาน รถยนต์ ก็ไม่ได้ฟื้นตัวเข้มแข็งขึ้นแต่อย่างใด

ซ้ำยังเกรงว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยอีก

ดังนั้น จึงเหลือส่วนที่เป็นเศรษฐกิจดิจิตอล ที่สหรัฐเหนือกว่าเล็กน้อย ขณะที่จีนไล่เบียดใกล้เข้ามาแบบสูสี เกิดความก้ำกึ่ง ผู้ชนะที่นี่ก็เหมือนชนะหมดทั้งสามส่วน

ถ้าจีนชนะสงครามดิจิตอล ซึ่งบางทีเรียกสงครามเทคโนโลยี ก็จะรุกไปเอาชนะสงครามเศรษฐกิจการเงินได้อย่างรวดเร็ว ถ้าสหรัฐชนะในที่นี้ ก็สามารถรวมพลังกับความเหนือกว่าทางการเงิน รุกคืบไปเอาชนะในเศรษฐกิจอุตสาหกรรมการผลิตได้

อย่างไรก็ตาม สงครามดิจิตอลหรือสงครามเทคโนโลยีนั้นมีความซับซ้อนยากที่สาธารณชนจะเข้าใจและประเมินผล เนื่องจากเป็นความรู้ระดับสูง ต้องศึกษาอบรมยาวนาน ทั้งสามารถนำมาใช้ได้อย่างกว้างขวางในทุกปริมณฑลของกิจกรรมทางสังคม

และที่สำคัญมีลักษณะผูกขาด ปฏิบัติได้โดยองค์กรขนาดใหญ่ อย่างเช่น บรรษัท รัฐบาล และหน่วยงานของรัฐเป็นสำคัญ

ยุคที่ผู้ประกอบการใช้โรงรถเป็นจุดตั้งต้นธุรกิจดังที่เคยเกิดขึ้นในสหรัฐช่วงต้นยุคดิจิตอล อย่างเช่น ฮิวเลตต์-แพ็กการ์ด (1939) แอปเปิล (1976) กูเกิล (1998) ได้สิ้นสุดลงแล้ว บรรษัทประกอบการด้านแพลตฟอร์มของโลกขณะนี้ ถูกผูกขาดโดยไม่กี่สิบบริษัท เรื่องสงครามดิจิตอลจึงเป็นเรื่องที่กล่าวกันไปต่างๆ ตามทัศนะของผู้เชี่ยวชาญ ผลกระทบจากเทคโนโลยีดิจิตอลก็เห็นต่างกัน

เช่น แจ๊ก หม่า ผู้ก่อตั้งบริษัทอาลีบาบาของจีน เห็นว่า ปัญญาประดิษฐ์จะช่วยให้มนุษย์เข้าใจตนเองและพัฒนาไปถึงขีดสุด

ส่วนอีลอน มัสก์ นักประดิษฐ์และผู้ประกอบการฝ่ายตะวันตกแสดงความกังขา เห็นว่าปัญญาประดิษฐ์มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วมาก เกิดโลกเสมือนขึ้นมาคู่กับโลกจริง จนกระทั่งผู้คนแยกออกไม่ได้ หรือไม่ก็ทำให้อารยธรรมมนุษย์สิ้งสุดลง

ดังนั้น สาธารณชนควรสนใจติดตามสงครามเทคโนโลยีให้มาก เพราะมันกระทบต่อตัวเราอย่างลึกซึ้ง ไม่ว่าจะเป็นด้านบวกหรือด้านลบ พึงฝึกฝนทักษะในการประเมินผลเหล่านี้

ที่เศรษฐกิจดิจิตอลมีลักษณะชี้ขาดในสงครามการค้า อีกประการหนึ่งก็คือ การแปรเป็นดิจิตอลได้เข้าครอบงำกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมด เป็นแกนของสิ่งที่เรียกการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (บางทีเรียก “การปฏิวัติดิจิตอล”) เนื่องจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ผ่านมาถึงขีดสูงสุด จะก้าวต่อไปได้ก็โดยผ่านการปฏิวัติดิจิตอล ดังนั้น จึงมีการระดมทุนและทรัพยากรต่างๆ เพื่อเร่งการแปรเป็นดิจิตอลให้เร็วยิ่งขึ้น

เศรษฐกิจดิจิตอลได้เติบโตอย่างรวดเร็ว แม้แต่ในประเทศไทยก็มีการเพิ่มความสำคัญของเศรษฐกิจดิจิตอลในการพัฒนาสังคม โดยมีวิสัยทัศน์ในการสร้างประเทศไทยให้เป็นแบบดิจิตอล เพื่อแก้ปัญหาการท้าทายต่อชาติ เช่น การทำให้พ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง การลดทอนความเหลื่อมล้ำ ต่อต้านคอร์รัปชั่น

ซึ่งดูดีแต่ทำให้สำเร็จบรรลุผลนั้น ไม่ใช่ง่าย

(ดูเอกสารชื่อ Thailand Digital Economy and Society Development Plan ใน itu.int)

ความเข้าใจบางประการเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิตอล

“รายงานเศรษฐกิจดิจิตอล 2019” ของการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังก์ถัด) กล่าวถึงเศรษฐกิจดิจิตอลในความหมายกว้างว่าประกอบด้วย 3 ส่วนคือ

1. ส่วนที่เป็นใจกลาง ได้แก่

ก) นวัตกรรมพื้นฐานด้านเซมิคอนดักเตอร์และโปรเซสเซอร์ เป็นต้น

ข) เทคโนโลยีใจกลางคือคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์โทรคมนาคม และโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยขับเคลื่อน ได้แก่ อินเตอร์เน็ต และเครือข่ายคมนาคม เช่น เครือข่ายการสื่อสารไร้สายความเร็วสูง

2. ส่วนที่เป็นเทคโนโลยีข่าวสารที่มีรากฐานบนเทคโนโลยีใจกลาง ได้แก่ แพลตฟอร์มทางดิจิตอลหรือเศรษฐกิจแพลตฟอร์มแอพพลิเคชั่นเคลื่อนที่ บริการชำระเงิน นวัตกรรมด้านบริการทางดิจิตอลเหล่านี้ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจดิจิตอล และขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั่วไป ส่วนนี้ถือเป็นเศรษฐกิจดิจิตอลแท้

3. ส่วนที่เป็นเศรษฐกิจดิจิตอลขยาย ได้แก่ ผลผลิตและบริการทางดิจิตอล ซึ่งมีการใช้อย่างแพร่หลายยิ่งขึ้น ทั้งในด้านการค้า การเงิน การท่องเที่ยว และการขนส่ง เป็นต้น เช่น การค้าอิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรม 4.0 การเกษตรแบบแม่นยำ เศรษฐกิจแบ่งปัน เศรษฐกิจแบบกิก

นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการรู้หนังสือทางดิจิตอล (Digital Literacy) ของคนงาน ผู้บริโภค ผู้ซื้อ และผู้ใช้ ซึ่งจะช่วยการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิตอล

ผลกระทบของการปฏิวัติดิจิตอลต่ออุตสาหกรรมการผลิต

สังเกตได้ว่าจีนซึ่งก้าวสู่อุตสาหกรรมการผลิตหลังชาติมหาอำนาจอื่นเป็นผู้เก็บเกี่ยวประโยชน์จากการปฏิวัตินี้มากกว่าใคร

ส่วนหนึ่งเกิดจากที่จีนพัฒนาอุตสาหกรรมของตนรวดเร็วในยุคดิจิตอล เรียกได้ว่าเป็น “คนพื้นเมืองทางดิจิตอล” ทั้งคนงาน ผู้บริหาร และผู้บริโภค

ขณะที่สหรัฐและญี่ปุ่นพัฒนาอุตสาหกรรมของตนอย่างรวดเร็วในช่วงต้นศตวรรษที่ 20

แม้สหรัฐจะเป็นแหล่งกำเนิดของยุคดิจิตอล แต่ต้องมีภาระในการย้ายสังคมทั้งหมดมาสู่ยุคนี้ เกิดเป็นประชากรสองกลุ่ม

กลุ่มหนึ่งเป็นคนพื้นเมืองทางดิจิตอล เป็นเยาวชนอายุราว 30 ปี

อีกกลุ่มหนึ่งที่เกิดและเติบโตในยุคอะนาล็อก เข้าสู่ยุคดิจิตอลในฐานะนักท่องเที่ยว

พบว่าคนพื้นเมืองทางดิจิตอลมีการยอมรับ ความคล่องแคล่วในการใช้และการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ดีกว่าพวกนักท่องเที่ยวทางดิจิตอล

นอกจากนี้ ในการสร้างการรู้หนังสือทางดิจิตอล จีนก็ทำได้เร็วกว่าอย่างเห็นได้ชัด

บางการศึกษาระบุว่า ในปี 2000 จีนมีบัณฑิตจบปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรไม่ถึง 4 แสนคน ในปี 2014 เพิ่มเป็น 1.65 ล้านคน สูงกว่าของสหรัฐที่ผลิตได้ไม่ถึง 8 แสนคน

การปฏิวัติดิจิตอลซึ่งมีผลต่ออุตสาหกรรมการผลิต ในที่นี้จะกล่าวถึง 2 เรื่องคือ

1.การยกระดับการใช้เครื่องจักรและการผลิตอัตโนมัติแบบธรรมดาเป็นเครื่องจักรที่ฉลาด

นั่นคือ มีความเร็ว แม่นยำ และทำงานได้หลากหลาย เช่น สมาร์ตโฟน ก็เป็นเครื่องจักรฉลาดที่นำมาใช้ถึงระดับส่วนบุคคล ตั้งแต่โทรศัพท์ ถ่ายภาพ การเล่นอินเตอร์เน็ตและเกม ไปจนถึงชำระเงิน การมีเครื่องจักรฉลาดนี้อาศัยเทคโนโลยีหลายอย่าง ได้แก่ เทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และการวิเคราะห์ข้อมูลและอินเตอร์เน็ตในสรรพสิ่ง เป็นต้น

ทุกวันนี้เราสร้างของใช้ที่ฉลาดขึ้นมากมาย เช่น ตู้เย็นฉลาด นาฬิกาฉลาด บ้านฉลาด ไปจนถึงเมืองฉลาด (จนทำให้ผู้คนเหมือนโง่ลง)

ในด้านเมืองฉลาดนั้น ริเริ่มโดยบริษัทไอบีเอ็มของสหรัฐ แต่ปรากฏจีนผู้มาภายหลัง ได้ก้าวสู่ระดับนำของโลก

นั่นคือ ทั่วโลกมีเมืองฉลาดอยู่กว่า 1 พันแห่ง ในจำนวนนี้อยู่ในจีนเกือบครึ่งหนึ่งราว 500 เมือง มีเมืองฉลาดที่โดดเด่นอยู่ 5 เมือง ได้แก่

ก) เมืองหางโจวที่เป็น “เมืองแห่งสมอง”

ข) เซี่ยงไฮ้ ศูนย์แห่งคลาวด์แพลตฟอร์ม และการจอดรถอัจฉริยะ

ค) ปักกิ่งเมืองไร้เงินสด

ง) กวางโจว นครหลวงของสตาร์ตอัพ

จ) ซีอาน เจ้าแห่งการจัดการผู้อพยพ โดยใช้การวิเคราะห์ข้อมูลใหญ่ของชาวชนบทที่อพยพมาสู่เมืองนี้ (ดูรายงานข่าวของ Chia Jie Lin ชื่อ Five China Smart Cities Lead the Way ใน govinsdider.com 10/07/2018)

ในด้านการผลิตอัตโนมัติและการใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรม จีนได้แซงหน้าประเทศอื่นได้ตั้งแต่ปี 2016 คาดว่าในปี 2020 จีนจะสามารถผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมได้ 150,000 ตัว และมีหุ่นยนต์อุตสาหกรรมใช้งานอยู่ 950,300 ตัว

แต่ความเข้มข้นในการใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมของจีนยังเป็นรองอยู่อันดับที่ 14 ของโลก (คิดตัวเลขปี 2017) โดยมีการใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรม 97 ตัวต่อคนงาน 10,000 คน

ขณะที่เกาหลีใต้เป็นที่หนึ่งใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรม 710 ตัว สิงคโปร์มาเป็นที่สอง

สหรัฐมาเป็นที่ 6 มีการใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรม 200 ตัวต่อคนงาน 10,000 คน ดังนั้น หนทางการพัฒนาการผลิตทางอุตสาหกรรมของจีนยังคงเปิดกว้าง

การปฏิวัติดิจิตอลยังนำมาใช้ในการผลิตทางการเกษตร ก่อให้เกิดการปฏิวัติการเกษตรครั้งที่สาม สร้างการเกษตรแม่นยำขึ้น (การปฏิวัติการเกษตรครั้งแรกเป็นการใช้เครื่องจักรกล ครั้งที่สองเป็นการปฏิวัติสีเขียว)

สหรัฐผู้ผลิตสินค้าเกษตรรายใหญ่ของโลกเป็นผู้นำอยู่ ในสหรัฐที่มีฟาร์มขนาดใหญ่ การเกษตรแม่นยำเน้นในการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมเพื่อการจัดการฟาร์ม บางทีเรียกว่าการเกษตรดาวเทียม

รวมไปถึงการใช้โดรนวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของพืช ทั้งในพื้นที่หนึ่งและระหว่างพื้นที่ว่าจะปลูกพืชอะไร รดน้ำให้ปุ๋ยให้สารกำจัดศัตรูพืชตอนใดและเก็บเกี่ยวเมื่อใด

ในจีนที่มีฟาร์มขนาดเล็กกว่าเน้นในเรื่องการใช้เครื่องจักรฉลาดและอุปกรณ์เซ็นเซอร์ เช่น แทร็กเตอร์ไร้คนขับ ฟาร์มที่ไร้เกษตรกร ซึ่งกำลังทดลองปฏิบัติที่มณฑลเฮย์หลงเจียง เป็นต้น

สงครามการค้าครั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่าจีนยังต้องพึ่งการนำเข้าอาหารจากสหรัฐอยู่มาก

จำต้องพัฒนาการเกษตรแม่นยำอย่างจริงจัง

2.การปฏิวัติดิจิตอลในด้านการพัฒนาการบริหารการผลิตทางอุตสาหกรรมสู่ระบบใหม่ที่เรียกว่า “การบริหารแบบดิจิตอล”

ในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งก่อน ที่มีการนำเครื่องจักรแบบธรรมดามาใช้เป็นจำนวนมากนั้น ได้ก่อให้เกิดแนวทางการบริหารการผลิตใหม่ขึ้นในสหรัฐเรียกว่า “ระบบอเมริกัน” (ราวทศวรรษ 1850) ต่อมาได้เสนอ “การบริหารที่เป็นวิทยาศาสตร์” (ช่วงต้นศตวรรษที่ 20) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดการสูญเสีย โดยคำนึงถึงบทบาทของผู้บริหารและคนงาน ในราวทศวรรษ 1930 มีการพัฒนาการบริหารการผลิตอุตสาหกรรมใหม่

ในญี่ปุ่นเรียกว่า “การผลิตแบบทันเวลาพอดี” เน้นลดการสูญเสียเพิ่มประสิทธิภาพ เพื่อให้ได้ผลผลิตทั้งปริมาณ คุณภาพ และเวลาตามความต้องการของลูกค้า

นักวิชาการตะวันตกที่ศึกษาระบบการผลิตนี้เรียกชื่อว่า “การผลิตระบบลีน” (Lean Manufacturing) เป็นแบบเพรียวลม เป็นการคำนึงถึงบทบาทของลูกค้าเพิ่มขึ้น

ต่อมาในวงบริหารธุรกิจสากล มีการนำส่วนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย สำคัญแต่ถูกคิดถึงน้อยเข้ามาคิดคำนวณด้วย คือผลประโยชน์ของสังคมหรือสาธารณชนและความยั่งยืนของธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม แต่ในทางปฏิบัติการบริหารธุรกิจสมัยใหม่ ยังเน้นในเรื่องผลประโยชน์ของเจ้าของและผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญ ตลาดและลูกค้ารองลงมา

ต่อท้ายด้วยลูกจ้างคนงาน สังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นปัญหาของการบริหารธุรกิจสมัยใหม่ ที่ไม่สามารถตอบความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียอย่างทั่วถึง

การบริหารแบบดิจิตอล ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาการบริหารสมัยใหม่ทั้งหมด แต่ช่วยแก้ไขบางเรื่องในด้านการสร้างความคงทนต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผัน และการแข่งขันที่สุดดุเดือด การบริหารแบบดิจิตอลต้องการผู้นำธุรกิจแบบใหม่ที่ฉลาดในการปรับตัว ช่ำชองในการร่วมงานกับผู้อื่น ที่สำคัญมีความคิดริเริ่ม เป็นผู้นำในเศรษฐกิจนวัตกรรม เหล่านี้เป็นคุณสมบัติทั่วไปของผู้ก่อตั้งกิจการสตาร์ตอัพ

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงการปฏิวัติดิจิตอลกับการต่อสู้ทางเศรษฐกิจการเงิน การทหารและความมั่นคง ระหว่างสหรัฐ-จีน