เราจะคาดหวังว่าข้าราชการจะทำเพื่อประชาชนได้มากน้อยแค่ไหน ?

ปัญหาเรื้อรังของชาติ

เหมือนเป็นเรื่องที่ไม่ต้องพูดอะไรก็ย่อมรู้ๆ กันอยู่แล้ว ว่า “ข้าราชการ” คืออาชีพหนึ่งของคนเรา มีหน้าที่ทำงานตอบสนองภารกิจของรัฐ

“รัฐ” ในความหมายขององค์กรที่มีหน้าที่จัดการประเทศให้เป็นไปอย่างที่ควรจะเป็น

และ “ประเทศ” ในความหมายที่ตรงตัวที่สุดคือ ความตกลงที่จะอยู่ร่วมกันของคนกลุ่มหนึ่ง จำนวนหนึ่ง อาจจะเป็นชนชาติหนึ่งหรือหลายชนชาติก็ได้ เรียกกว่า “ประชาชน”

“รัฐ” มีหน้าที่จัดการให้การอยู่ร่วมกันนั้นเป็นไปตามเจตนารมณ์ของคนในประเทศ มี “ข้าราชการ” เป็นกลไก เป็นเฟืองที่จะทำหน้าที่ต่างๆ เพื่อให้ประเทศเป็นไปอย่างที่ประชาชนมีมติร่วมกันให้เป็น

“ข้าราชการ” ที่ถือว่าภักดีต่อหน้าที่ เป็นข้าราชการที่ดี ที่ถูก คือผู้ที่ทำงานตามเจตนารมณ์ของประชาชน

หากเป็น “ข้าราชการ” ที่ทำหน้าที่เพื่อรับใช้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นลาภ ยศ อำนาจ ย่อมถือว่าเป็นผู้ที่ไม่ทำหน้าที่ตามภารกิจของตัวเอง

ใครสักคนจะเป็น “ข้าราชการที่ดี” หรือไม่ ตัวชี้วัดแรกคือ ใครคือผู้เอื้อประโยชน์ให้ ด้วยเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่มักพร้อมรับใช้คนที่ให้ประโยชน์กับตัวเองมากกว่าคนที่ไม่ให้

คนที่ประเคนผลประโยชน์ให้แบบตรงๆ ย่อมได้รับการสนองตอบมากกว่าคนที่เอื้อให้โดยอ้อม

“ภาษี” แม้จะถูกใจเป็นเงินเดือนให้ “ข้าราชการ”

แต่คนที่มีอำนาจแต่งตั้งให้ตำแหน่งใหญ่ขึ้น และคนที่จ่ายโดยตรงให้เป็นการเฉพาะย่อมมีอิทธิพลต่อการทำงานของข้าราชการมากกว่า

อำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายจึงมีอิทธิพลต่อการทำงานของข้าราชการว่าทำเพื่อใคร

เมื่อเร็วๆ นี้ “นิด้าโพล” ได้สำรวจความคิดของข้าราชการกลุ่มหนึ่ง เกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้าย ผลออกมาน่าสนใจทีเดียว

เมื่อถามถึง “องค์ประกอบที่คิดว่าสำคัญที่สุดในการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้าย” ร้อยละ 33.95 ตอบว่า ความสามารถและประสบการณ์ที่เหมาะสมกับตำแหน่งใหม่ ร้อยละ 24.36 ตอบว่า ความสามารถและผลงานที่ผ่านมา ร้อยละ 24.36 เลือกความอาวุโสในตำแหน่ง

นั่นหมายความว่า ข้าราชการส่วนใหญ่รู้ว่า ความเหมาะสมนั้นอยู่ที่ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์

แต่เมื่อถามว่า ในหน่วยงานมีการใช้ระบบอุปถัมภ์และเส้นสายในการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายหรือไม่ ร้อยละ 13.58 ตอบว่าใช้อย่างมาก ร้อยละ 33.07 ตอบว่าใช้ค่อนข้างมาก ร้อยละ 23.72 ตอบว่าไม่ค่อยใช้ ร้อยละ 25.80 ตอบว่าไม่มีการใช้ ที่เหลือร้อยละ 3.83 ไม่ตอบ

สะท้อนว่า แม้จะรู้อยู่ว่าควรแต่งตั้งโยกย้ายด้วยพิจารณาความรู้ ความสามารถ แต่ในความเป็นจริง การแต่งตั้งใช้ระบบอุปถัมภ์และเส้นสายนั้นมากกว่า

ระบบอุปถัมภ์และเส้นสายย่อมเป็นปกติที่แต่งตั้งเพื่อประโยชน์จะย้อนกลับมาที่ตัวเอง

อาจจะเป็นเพราะเหตุนี้ เมื่อถามว่า การพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ผลจึงออกมาว่า ที่เห็นว่าเป็นธรรมมาก ร้อยละ 13.10 ค่อนข้างเป็นธรรม ร้อยละ 32.67 ขณะที่ร้อยละ 37.86 เห็นว่าไม่ค่อยเป็นธรรม และร้อยละ 12.78 ตอบว่าไม่มีความเป็นธรรมเลย ที่เหลือร้อยละ 3.59 ไม่ตอบ

คำตอบนี้ชี้ว่า ที่เห็นว่าไม่เป็นธรรมนั้นมีมากกว่า

อย่างที่กล่าวมาแล้ว “ข้าราชการ” มีบทบาทอย่างสูงยิ่งในภารกิจของประเทศ

“ประชาชน” จะอยู่ดีมีสุขในประเทศต้องมีข้าราชการที่ทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยรวม

แต่เมื่อ “ประโยชน์ของข้าราชการ” ขึ้นอยู่กับ “เส้นสาย” และ “ผู้อุปถัมภ์” เสียแล้ว

ย่อมคาดหวังว่าข้าราชการจะทำหน้าที่ตามภารกิจเพื่อประชาชนโดยรวมได้ยาก

“ภาษี” ที่ประชาชนจ่ายมาเป็นเงินเดือน ย่อมเป็นความสูญเปล่าสำหรับข้าราชการที่มุ่งเอื้อประโยชน์ให้ผู้มีพระคุณ