วิรัตน์ แสงทองคำ : ผู้นำ “เบียร์” อาเซียน

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ไทยเบฟ เปิดฉากความเคลื่อนไหวใหญ่ครั้งใหม่ ในฐานะผู้นำธุรกิจเบียร์ระดับภูมิภาค

บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือไทยเบฟเพิ่งเปิดงานแถลงต่อสื่อครั้งใหญ่อีกครั้งเมื่อสัปดาห์ก่อน ตามหัวข้ออย่างกว้างๆ กำหนดวิสัยทัศน์ใหม่ แผนทางธุรกิจสู่เป้าหมายปี 2025 นำโดย ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ มาพร้อมกับทีมผู้บริหารคับคั่ง

ซึ่งผมสนใจเป็นพิเศษ เป็นชาวสิงคโปร์ 2 คน

หากมองเฉพาะกลุ่มทีซีซี หรือพี่น้อง “สิริวัฒนภักดี” ถือเป็นขบวนการเคลื่อนไหวอันคึกคักอย่างยิ่งอย่างต่อเนื่องไม่น้อยหน้ากัน (โปรดเชื่อมโยงกับข้อเขียนก่อนหน้านั้น โดยเฉพาะกรณี บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC และ Frasers Property (Thailand) หรือ FPT)

เมื่อมองเฉพาะไทยเบฟในฐานะบริษัทแกนสำคัญที่สุดก็ว่าได้ของกลุ่มทีซีซี ถือว่าเป็นความเคลื่อนไหวใหญ่อย่างต่อเนื่อง จากเมื่อปลายเดือนก่อนหน้านั้น (25 กันยายน 2562) ด้วยก็ย่อมได้ นั่นคือการเดินเครื่องโรงงานผลิต “เบียร์ช้าง” ครั้งแรกในประเทศเมียนมา

(ตามถ้อยแถลงเรื่อง Commencement of Production of Chang Beer in Emerald Brewery in Myanmar Strengthens ThaiBev”s Position in Southeast Asia, ต่อตลาดหุ้นสิงคโปร์)

 

เปิดฉากในนาม Emerald Brewery ซึ่งเป็นแผนลงทุนและบริหารผ่าน Fraser and Neave (F&N) แห่งสิงคโปร์ ตามแผนลงทุนถึง 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือมากกว่า 2,000 ล้านบาท) ตั้งโรงงานในกรุงย่างกุ้ง

โรงงานแห่งใหม่นี้จะสามารถผลิต “เบียร์ช้าง” ได้ปีละ 50 ล้านลิตร โดยจำหน่ายใน 5 รูปแบบ ได้แก่ เบียร์กระป๋องขนาด 330 และ 500 มิลลิลิตร เบียร์ขวดขนาด 320 และ 620 มิลลิลิตร และเบียร์สดขนาดถัง 30 ลิตร

ฐาปน สิริวัฒนภักดี ได้กล่าวในถ้อยแถลงข้างต้นอย่างมีนัยยะสำคัญว่า เป็นไปตามแผนการสร้างความเข้มแข็งธุรกิจเบียร์ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่การเปิดตัว “เบียร์ช้างคลาสสิค” ในบรรจุภัณฑ์แบบใหม่ในปี 2558 การลงทุนในผู้นำธุรกิจเบียร์เวียดนามในปี 2560

กรณีข้างต้นนับเป็นแผนการขยายธุรกิจที่แตกต่างสำหรับไทยเบฟเป็นกรณีแรกๆ ว่าด้วยการบุกเบิกธุรกิจ (Green field) ทั้งพยายามอรรถาธิบายแผนการดังกล่าวไว้อย่างตั้งใจ แม้เป็นตามแคมเปญ QUALITY AND SUSTAINABILITY แต่ก็เป็นข้อมูลที่น่าสนใจ ไม่ว่าการนำวัตถุดิบสำคัญจากยุโรป ใช้น้ำสะอาดตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก เป็นโรงงานที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในสัดส่วนถึง 30%

ใช้เครื่องจักรทันสมัยซึ่งประหยัดพลังงานของ Krones แห่งเยอรมนี ไปจนถึงใช้ระบบการจัดการน้ำของ Kubota แห่งญี่ปุ่น

กรณีไทยเบฟกับกิจการเบียร์เวียดนามเมื่อปี 2560 ผมเคยนำเสมอไว้ว่าเป็นการปรับยุทธศาสตร์ธุรกิจครั้งใหญ่ แผนการมุ่งมั่นในธุรกิจดั้งเดิมมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจเบียร์ ด้วยเชื่อว่ามีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต

ไทยเบฟเข้าควบคุมกิจการผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ที่สุดในเวียดนามสำเร็จเมื่อปลายปี 2560 สาระสำคัญอยู่ที่สามารถเข้าถือหุ้นข้างมาก (53.59%) ใน Saigon Beer Alcohol Beverage Joint Stock Corporation (Sabeco) โดยผ่าน Vietnam Beverage Company Limited (หรือเรียกย่อๆ ว่า Vietnam Beverage)

ซึ่งถือได้ว่าเป็นบริษัทจดทะเบียนในเวียดนาม เป็นกิจการในเครือ Vietnam F&B Alliance Investment Joint Stock Company (หรือ Vietnam F&B)

 

Sabeco เจ้าของเบียร์แบรนด์สำคัญ-Saigon Beer และ 333 Beer ผู้ครองส่วนแบ่งตลาดเบียร์มากที่สุดในประเทศเวียดนาม ที่สำคัญให้ภาพใหญ่กว่านั้น “เวียดนามเป็นตลาดเบียร์ที่ใหญ่ที่สุดในเออีซี ซึ่งมีสมาชิก 10 ประเทศ ด้วยการผลิตมากกว่า 4 ล้านกิโลลิตร” (อ้างจาก Nikkei Asian Review, December 21, 2017 รายงานไว้โดยอ้างข้อมูลจาก Kirin Holdings research) สอดคล้องกับข้อมูลของไทยเบฟเอง ที่เพิ่มเติมด้วยว่า “ตลาดเบียร์เวียดนามใหญ่เป็นอันดับ 3 ในเอเชีย รองจากจีนและญี่ปุ่น” (รายงานของไทยเบฟฯ ต่อตลาดหุ้นสิงคโปร์ หัวข้อ Vietnam Beverage Successful in Bid in the Competitive Offering of Ordinary Shares in Saigon Beer – Alcohol -Beverage Joint Stock Corporation (Sabeco) 19 December 2017)

ในขณะนั้น ผมได้สรุปประเด็นสำคัญไว้ด้วยว่า “พออนุมานได้ว่าไทยเบฟจะกลายเป็นผู้นำตลาดเบียร์ในเออีซีโดยพลัน” ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองไทยเบฟล่าสุด

“…จากการรวมรายได้ของซาเบโก้เข้ามาในกลุ่มธุรกิจเบียร์ ส่งผลให้มีการเติบโตของรายได้ร้อยละ 64.8 เป็น 94,486 ล้านบาท และมีกําไรสุทธิ 2,805 ล้านบาท ทําให้บริษัทก้าวขึ้นเป็นผู้นําในธุรกิจเบียร์ของอาเซียน…”

สารจากกรรมการผู้อํานวยการใหญ่ (ฐาปน สิริวัฒนภักดี) ปรากฏในรายงานประจำปี 2561 บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จํากัด (มหาชน) ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (SGX-ST)

 

งานแถลงข่าวครั้งใหญ่ที่กรุงเทพฯ เมื่อสัปดาห์ก่อน แม้เป็นไปในภาพรวม มีเรื่องราวหลายแง่มุม จะด้วยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ธุรกิจเบียร์ดูโดดเด่นทั้งเรื่องราวและผู้คน

เปิดด้วยภาพรวมสำคัญ ว่าด้วยผลประกอบการ (9 เดือนแรกของปี 2019 ของไทยเบฟ) แสดงยอดขายรวม 205,277 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 18.2% มีตัวเลขสำคัญทางการเงินอื่นๆ ด้วย อย่าง EBITDA เพิ่มขึ้น 21.0% เป็น 36,265 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 21,894 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.1%

ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ สัดส่วนรายได้ที่ปรับเปลี่ยนไปอย่างมาก “มาจากกลุ่มสุรา 43.4% กลุ่มเบียร์ 44.8% กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 6.2% และกลุ่มอาหาร 5.7% เมื่อเปรียบเทียบปี 2561 สัดส่วนรายได้มาจากธุรกิจสุรา 46% ธุรกิจเบียร์ 41% ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 7% และธุรกิจอาหาร 6%”

ภาพนั้นสะท้อนบทบาทนำของธุรกิจเบียร์อย่างแท้จริง

หากย้อนกลับไปก่อนดีล Sabeco ในช่วงปี 2559 (อ้างจากรายงานประจำปี 2559) สัดส่วนรายได้จากเบียร์มีเพียงแค่ 32% ขณะที่สุรามีถึง 55% จนถึงถ้อยแถลงล่าสุด ธุรกิจเบียร์มีสัดส่วนรายได้มากที่สุด มากกว่าธุรกิจสุราเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยเบฟและประวัติศาสตร์กลุ่มทีซีซีเลยก็ว่าได้

เป็นช่วงเดียวกันที่น่าทึ่ง ในการประกาศความเป็นผู้นำธุรกิจเบียร์ในอาเซียน

 

ในงานแถลงข่าวนั้น ผู้บริหารไทยเบฟฯ ชาวสิงคโปร์ 2 คนได้ปรากฏตัวขึ้นด้วย ดูจะเกี่ยวกับธุรกิจเบียร์ทั้งสิ้น คนหนึ่ง-เอ็ดมอนด์ นีโอ คิม ซูน (Mr. Edmond Neo Kim Soon) รองกรรมการผู้อํานวยการใหญ่ และผู้บริหารสูงสุดกลุ่มบริหารการลงทุนตราสินค้าของไทยเบฟขณะดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจเบียร์ ของFraser and Neave (F&N) สิงคโปร์ด้วย ได้ออกมากล่าวถึงแผนการผลิตเบียร์ช้างในประเทศเมียนมาอย่างเฉพาะเจาะจง (เนื้อหาโดยสรุป อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น)

อีกคนหนึ่ง เบนเนตต์ เนียว (Neo Gim Siong Bennett) General director ของ Sabeco แห่งเวียดนาม ได้กล่าวสาระสำคัญ ด้วย Keywords ต่างๆ สะท้อนการเปลี่ยนผ่านกิจการ “Sabeco ได้มีการเปลี่ยนแปลงจากรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทระดับสากลที่ดำเนินงานอย่างมืออาชีพ”

และ “Sabeco อยู่ในระหว่างการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรให้เป็นบริษัทที่มีข้อมูลเชิงลึกของท้องถิ่น เคารพในวัฒนธรรมเวียดนาม และเปิดรับแนวทางปฏิบัติและนวัตกรรมสากล”

Neo Gim Siong Bennett ถือว่าเป็นคนของ Fraser and Neave เพิ่งก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง General director ของ Sabeco เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว (2561) นี้เอง ในช่วงเวลาเดียวกันที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกรรมการบริษัท โดยมีคนของเจริญ สิริวัฒนภักดี เข้ามา 4 คน ตามที่สื่อเวียดนามใช้ถ้อยคำว่า “recommended by the Thai billionaire Charoen Sirivadhanabhakdi” (https://www.vir.com.vn)

เบนเนตต์ ผู้บริหารธุรกิจชาวสิงคโปร์ มีประสบการณ์มากว่า 22 ปี ทั้งในธุรกิจเบียร์ พลังงาน เดินเรือ และ supply chains ทั้งในเอเชีย สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ

 

ว่าด้วยยุทธศาสตร์ธุรกิจเบียร์ของไทยเบฟของกลุ่มทีซีซี ปรากฏความผกผันพอสมควรในช่วงหนึ่ง ช่วงเวลาที่กำลังออกสู่ระดับภูมิภาค ด้วยดีล Fraser and Neave (F&N) และช่วงแห่งความพยายามเข้าสู่ธุรกิจไม่มีแอลกอฮอล์

มีการวิเคราะห์กันว่า กรณีดีล Fraser and Neave มีความโน้มเอียง ให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์ก้าวไปสู่ธุรกิจอื่นๆ หรือพยายามหลีกพ้นจากธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปบ้าง บางจังหวะบางเวลาเป็นการเสียโอกาสทางธุรกิจอย่างที่ไม่ควร โดยเฉพาะกรณีธุรกิจเบียร์

ว่ากันว่าไทยเบฟมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อดีลใหญ่ ให้ Fraser and Neave ตัดสินใจขายธุรกิจเบียร์ในนาม Asia Pacific Breweries หรือ APB ให้กับ Heineken รวมทั้ง Fraser and Neave ได้ขายหุ้นข้างมากใน Myanmar Brewery ให้กับ Kirin Holdings ยักษ์ใหญ่เบียร์แห่งญี่ปุ่น ดังนั้น จึงไม่ควรแปลกใจกับถ้อยแถลงของ Fraser and Neave ต่อตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ กรณีเปิดเดินเครื่องโรงงาน “เบียร์ช้าง” ในประเทศเมียนมาดังที่กล่าวมาแล้ว เป็นการกลับคืนสู่ตลาดเมียนมาอีกครั้ง (ดังหัวข้อข่าวในสื่อสิงคโปร์ อย่าง F&N returns to Myanmar market with Emerald Brewery)

เรื่องราวไทยเบฟกับ Fraser and Neave เรื่องราวกลุ่มทีซีซี ยักษ์ใหญ่ธุรกิจไทย กับยุทธศาสตร์ภูมิภาค มีความเข้มข้นมากขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะในธุรกิจดั้งเดิม รวมทั้งเบียร์ไทย “เบียร์ช้าง” (Chang Beer) กับตำนานหน้าใหม่ในช่วง 25 ปี