E-DUANG : อนาคตใหม่ ในฐานะ “เหยื่อ” ปัญหา ความขัดแย้ง สะสม

ไม่ว่าบทสรุปของนักสังคมวิทยายุค ดร.วิบูลย์ ธรรมวิทย์ ว่าด้วยช่องว่างระหว่างวัย Generation Gap หรือความห่วงใยว่าด้วย การปะทะระหว่างรุ่น Clash of Generation ในปัจจุบัน

เหมือนกับเป็นเรื่องระหว่าง “รุ่น” เหมือนกับเป็นเรื่องระหว่าง “วัย”

ทั้งๆที่ในความเป็นจริงล้วนเป็นเรื่องในทาง “ความคิด”

หากตัดคำว่ารุ่น หากตัดคำว่าวัยออกไป ในที่สุดแล้วก็เป็นเรื่องอันเป็นช่องว่าง เป็นเรื่องอันเป็นการปะทะในทาง”ความคิด”ที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่อย่างเด่นชัด

เพียงแต่เมื่อปรากฎ “ช่องว่าง” ถี่และห่างมากขึ้น มากขึ้น ก็จะพัฒนาไปสู่ “การปะทะ”อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

ยืนยันกระบวนการพัฒนาจาก”ปริมาณ”ไปสู่”คุณภาพ”

 

กว่าที่สังคมไทยจะเกิดการลุกขึ้นสู้และเปลี่ยนแปลงการปกครองในเดือนมิถุนายน 2475 มิใช่ว่าเป็นเรื่องจู่ๆ ตรงกันข้าม ได้มีการสะสมทั้งในเชิงปริมาณและในเชิงคุณภาพ

สะสมปัจจัยทางเศรษฐกิจตั้งแต่ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ก่อรูปในทางความคิดตั้งแต่บทกวีของ”สุนทรภู่” บทความและข้อเรียกร้องของ ต.ส.ว.วัณณาโภ เทียนวรรณ ปะทุเป็นร.ศ.130 และการเติบโตผ่านรูปของหนังสือพิมพ์และนวนิยายยุค”ศรีบูรพา”

ที่สุดก็เกิดปรากฏการณ์”คณะราษฎร”ที่นำโดย นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา(พจน์ พหลโยธิน”

นั่นคือผลจากการต่อสู้กันในทาง”ความคิด”

นั่นคือผลจากการปะทะกันระหว่างความคิด”เก่า”ระบอบเดิม กับความคิด”ใหม่”ระบอบใหม่

2475 เป็นเช่นนี้ 2516 ก็เป็นเช่นนี้

 

สภาพการณ์ที่เกิดช่องว่างอันนำไปสู่การปะทะระหว่างรุ่นซึ่งสำแดงผ่านอุบัติแห่งพรรคอนาคตใหม่ภายในกระบวนการเลือกตั้งเมื่อเดือน มีนาคม 2562

จึงมิใช่เรื่องที่อยู่ๆก็มารวมศูนย์อยู่ที่พรรคอนาคตใหม่อย่างที่หลายฝ่ายเกิดความตระหนก

แท้จริงแล้ว คือผลึกแห่งการสะสมปัญหา สะสมความขัดแย้ง

เด่นชัดคือดำรงอยู่ในห้วงก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 เด่นชัดคือดำรงอยู่ในห้วงก่อนรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

ความคิดในแบบ”อนาคตใหม่”คือเหยื่อของสถานการณ์