กินข้าว-ซาวเสียง กว่าจะเป็น “กฎหมาย” ควบคุม-ออกใบอนุญาต “สื่อ”

วงการสื่อที่สงบปากคำมายาวนานนับจากรัฐประหาร 2557 ออกมาส่งเสียงอีกครั้ง

เป็นเสียงจากการเคลื่อนไหวของ 30 องค์กรสื่อ ที่ออกมาคัดค้านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน นำโดยนายกสมาคมนักข่าวฯ นายวันชัย วงศ์มีชัย จากแนวหน้า เมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา

หลายๆ คนที่ออกมาปรากฏตัว ถ่ายรูปขึ้นหน้า 1 หนังสือพิมพ์ และเป็นข่าวในออนไลน์ เป็นสื่อที่มีบทบาทเป่านกหวีดชัตดาวน์ ขับไล่รัฐบาล อันเป็นเงื่อนไขรัฐประหาร

การออกโรงรอบนี้ บ่งบอกว่าโลกของความจริงกำลังอยู่ยากสำหรับสื่อ โดยเฉพาะสื่อที่ตั้งความหวังกับการรัฐประหาร เพื่อให้อำนาจพิเศษเข้ามาปฏิรูปสื่อ

การปฏิรูปที่มาในรูปของร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสื่อ หากเกิดขึ้นจริง จะทำให้วงการสื่อไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ความเสื่อมถอยจะเกิดขึ้น การปรับตัวอย่างขนานใหญ่เป็นเรื่องจำเป็น พร้อมๆ กับการมาถึงและปักหลักชัดเจนของ “นิวมีเดีย”

วงกินข้าว

ร่าง พ.ร.บ. อันเป็นเป้าหมายการคัดค้านและเรียกร้องให้ทบทวน-ยกเลิกฉบับนี้ ยกร่างโดยสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. อันมาจากการแต่งตั้งของ คสช. และมาแทนที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. ที่สิ้นสภาพไปหลังจากโหวตร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “บวรศักดิ์” เมื่อปี 2558

ปฏิเสธไม่ได้ว่า คนจากวงการสื่อที่เข้าไปมีบทบาทในเครือข่ายของ คสช. มีส่วนอย่างมาก ทำให้เกิดร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ขึ้นมา

จะเรียกว่า เป็น “ผลงาน” ที่คนจากวงการสื่อมีส่วนสร้างขึ้น ก็ไม่ผิด

เมื่อหลักการ ที่จะให้มี “สภาวิชาชีพสื่อมวลชน” เพื่อควบคุม และออกใบอนุญาตทำงานให้สื่อ ปรากฏชัดขึ้น ก็เริ่มมีเสียงคัดค้าน

กระทั่งหลักการชัดขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งมี “ปลัดกระทรวง” 4 กระทรวง เข้าไปนั่งเป็นกรรมการสภาวิชาชีพ ส่อแสดงถึงความ “เอาจริง” ในการควบคุมสื่อ

และขัดแย้งกับหลักการ “ควบคุมตนเอง” ที่วงการสื่อชูมาตลอด และต่อสู้มาตลอด

กลายเป็นภาระใหญ่ให้คนในวงการ ต้องมาตามล้างตามเช็ด

เหตุผลที่ต้องคัดค้านร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ไม่มีอะไรมากไปกว่า เป็นการแทรกแซงสื่อ ที่จะเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบเมื่อกฎหมายบังคับใช้

ที่แปลกคือ เสียงจากสื่อบางกลุ่ม ว่าการออกกฎหมายฉบับนี้ เท่ากับเตรียมเครื่องมือควบคุมสื่อ ใส่พานให้ “นักการเมือง” ที่จะเข้ามาหลังจากการเมืองกลับสู่สภาพปกติ

แทนที่จะพุ่งเป้าการต่อต้านไปยัง “ผู้ยกร่าง” และ “ผู้สนับสนุน” อันได้แก่ สปช. และ คสช. และคนในวงการสื่อด้วยกันเอง

กลับยิงโค้งข้ามไปยังนักการเมือง ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับกฎหมายฉบับนั้ แถมยังต้องสงบนิ่งภายใต้สถานการณ์พิเศษ

เป็น “ตรรกะ” ที่แปลกประหลาด และถูกวิจารณ์มาตลอดว่า เป็นอาการ “ร้อนตัว” เพราะอาจมีส่วนสนับสนุนร่างกฎหมายนี้ โดยอาจไม่ได้คิดว่า จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของวงการ

ทั้งยังสะท้อนถึงทัศนะเกรงอกเกรงใจผู้มีอำนาจ ถึงขนาดต้องไปดึงเอา “นักการเมือง” มาเป็น “เหตุผล” ในการคัดค้าน

ในความเป็นจริง ภายใต้ระบบการเมืองปกติ กฎหมายฉบับนี้ จะต้องถูกคัดค้าน และจะมีปัญหาในการบังคับใช้

ปัญหาจึงอยู่ที่ปัจจุบัน อยู่ที่ความไม่แน่นอนของการเมือง ที่อาจทำให้รัฐบาลนี้ยืดเวลาอยู่ในอำนาจออกไป และกฎหมายฉบับนี้จะกลายเป็นเครื่องมือในการกำจัดสื่อที่เห็นต่าง

สุดท้ายแต่ยังไม่ท้ายสุด เหตุผลและเบื้องหน้าเบื้องหลังในการผลักดันกฎหมายนี้ ก็ชัดเจนออกมาจากคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ผู้ยกร่างกฎหมายดังกล่าว

พล.อ.อ.คณิต ระบุว่า จะไม่เปลี่ยนแปลงกฎหมายฉบับนี้ เพราะที่ยกร่างกฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากคนในวงการสื่อเห็นดีเห็นงาม

โดยตนเองให้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสิ่งพิมพ์ ที่ นางประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ เป็นประธาน ไปหารือกับตัวแทนสื่อ รวมทั้งมีการกินข้าวพูดคุยกันที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง จนเกิดข้อสรุปของกฎหมายดังกล่าวออกมา

และนำมาเสนอกรรมาธิการชุดใหญ่ จนออกมาเป็นแนวทางดังกล่าว

พร้อมระบุว่าสภาวิชาชีพสื่อจะมีกรรมการ 13 คน จากตัวแทนสื่อ 5 คน จากปลัดกระทรวงจำนวน 4 คน ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ปลัดกระทรวงการคลังจะดูแลงบประมาณให้องค์กรสื่อ ส่วนตัวแทนวิชาชีพจากองค์กรต่างๆ อีก 4 คน ซึ่งออกระเบียบกติกาในการดูแลสื่อมวลชน

รวมทั้งการให้ใบอนุญาตและเพิกถอนใบอนุญาตสื่อมวลชนได้ด้วย

ร่างกฎหมายฉบับนี้ จะเสนอวิป สปท. ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ ก่อนบรรจุวาระการประชุมของ สปท.

พล.อ.อ.คณิต ยังยืนยันว่าร่างดังกล่าวได้ผ่านการหารือและการทำประชาพิจารณ์จากผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ซึ่งเห็นด้วย

และยกตัวอย่างว่า กฎหมายนี้จะส่งเสริมสวัสดิภาพและสวัสดิการให้แก่พี่น้องสื่อ ดูแลองค์กรในกรณีที่ไม่มีโฆษณา ดูแลจริยธรรมของสื่อมวลชนให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน เหมือนอาชีพอื่นก็มีสภาวิชาชีพมาดูแล อาทิ แพทย์ ทนายความ แม้แต่วินมอเตอร์ไซค์

ขอให้ทุกฝ่ายไม่ต้องกังวลสำหรับกฎหมายฉบับนี้ เพราะหากไม่ได้ทำผิดก็ไม่ต้องกังวลอะไร

ส่วนในประเด็นที่ 30 องค์กรสื่อเป็นห่วงในเรื่องการแทรกแซงสื่อหรือสั่งเพิกถอนใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพสื่อ หากมีการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ก็ต้องไปโทษ 5 กรรมการองค์กรวิชาชีพสื่อที่มาจากสื่อมวลชนว่าไม่ทำหน้าที่

 

ทางด้านองค์กรสื่อ ได้ประกาศล่าสุดว่าจะคัดค้านร่างกฎหมายนี้ โดยจะไปเคลื่อนไหวที่ สปท. ต่อไป

ก็คงจะไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะส่วนหนึ่งมาจากคนวงการสื่อด้วยกันเองไปเห็นดีเห็นงาม ดังคำยืนยันของ พล.อ.อ.คณิต

จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม แต่กฎหมายที่ออกมา จะส่งผลต่อทุกๆ คน ทุกๆ ค่ายในแวดวงสื่อ โดยถ้วนหน้า