นิธิ เอียวศรีวงศ์ | ตลกประยุทธ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

“คุณประยุทธ์เป็นคนตลก” หลายคนพูดอย่างนั้น ดูเหมือนคุณประยุทธ์เองในบางครั้งก็อยากเสนอตัวเองให้มีภาพอย่างนั้นด้วย เพราะตลกสร้างความเป็นกันเองได้ง่ายที่สุดในวัฒนธรรมไทย (ถ้าสามารถทำให้คู่สนทนาขำได้ ซึ่งยากที่สุด) แต่ความสามารถในการเป็นคนตลกของคุณประยุทธ์นั้นมีหลายความหมายมาก ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนพูด เพราะคำว่า “ตลก” ในภาษาไทยก็มีหลายความหมายมากเหมือนกัน

ทำไมตลกของคุณประยุทธ์จึงมีหลายความหมายเช่นนั้น พอมีทางอธิบายให้เป็นเรื่องเดียวกันหรือความหมายเดียวกันได้หรือไม่ ผมคิดว่าพอทำได้นะครับ และผมจะลองพยายามทำดูในที่นี้

นักปราชญ์กรีกคนหนึ่งพูดเป็นทำนองว่า ตลกคือช่องว่างของระเบียบ กว่าผมจะเข้าใจความหมายของมันก็เล่นเอาแก่ไปเลย

ตัวอย่างหนึ่งที่มักจะยกขึ้นอธิบายคำกล่าวนี้ก็คือ คนเดินเหยียบเปลือกกล้วยล้มก้นจ้ำเบ้า (ผมไม่พบคำนี้ในพจนานุกรมฉบับมติชน แต่ความหมายตามความเข้าใจของผมคือล้มหงายหลังก้นกระแทกพื้น) ก่อให้เกิดความขบขันแก่ผู้พบเห็น

อะไรคือ “ช่องว่าง” ของระเบียบที่เกิดขึ้น คิดง่ายสุดก็คือคนเดินด้วยขา จะหยุดพักก็หยุดอยู่บนขาหรือนั่งลง นี่คือ “ระเบียบ” ที่เราเคยชิน การลื่นไถลลงก้นกระแทกพื้น ไม่อยู่ใน “ระเบียบ” ดังกล่าว เป็นช่องว่างของระเบียบที่ไม่มีใครคาดคิด จึงน่าขบขัน แต่ถ้าเข้าใจ “ระเบียบ” เพียงเท่านี้ ตลกคือสิ่งที่ไม่คาดคิดเท่านั้น ที่จริงแล้ว “ระเบียบ” มีความซับซ้อนกว่านั้นมาก

ลองคิดอย่างนี้นะครับ หากเด็กวิ่งเล่นแล้วเหยียบเปลือกกล้วยล้มก้นกระแทก ก็ตลกเหมือนกันแต่ไม่มากเท่าผู้ใหญ่ ถ้าผู้ใหญ่ที่เป็นชาวบ้านทั่วไป ถึงจะขำมากขึ้นก็จริง แต่ก็ไม่ขำเท่ากับที่เกิดกับคนมีตำแหน่งสูงๆ ในสังคม อาจอยู่ในชุดสูตรครบชุด หรืออยู่ในชุดปรกติขาวของราชการ นั่นกลับจะขำกันทั่วไปทั้งสังคม คงมีคลิปให้ดูในสื่อโซเชียลไปหลายวัน

แต่ตรงกันข้าม หากเป็นคนแก่งกเงิ่น ผู้หญิงท้อง ผู้หญิงอุ้มลูกเล็ก ล้มก้นจ้ำเบ้าต่อหน้า ไม่มีใครขำอีกแล้ว กลับกุลีกุจอไปช่วยพยุงด้วยความห่วงใยว่าเจ็บตรงไหน จะไปโรงพยาบาลหรือไม่

ถ้าตลกคือช่องว่างของ “ระเบียบ” ระเบียบดังกล่าวไม่ได้เป็นไปตามกฎธรรมชาติ (เช่น คนเคลื่อนที่บนขา) แต่เป็นระเบียบทางสังคมซึ่งถูกกำหนดขึ้นด้วยวัฒนธรรม ทำให้แต่ละสังคมมองเรื่องอะไรว่าตลกหรือไม่ต่างกัน หรือแม้ในสังคมเดียวกัน แต่ละยุคสมัยก็มองตลกไม่เหมือนกัน เพราะวัฒนธรรมเปลี่ยนไปแล้ว

ตลกเล่นคำเล่นสำนวน ซึ่งคนไทยถนัด ก็เป็นช่องว่างของระเบียบอย่างเห็นได้ชัด เพราะภาษาเป็นระเบียบอันใหญ่ซึ่งทุกคนต้องถูกบังคับให้อยู่ในอำนาจของมัน ไม่อย่างนั้นก็สื่อสารกับใครไม่ได้ ระเบียบที่ใครๆ ก็ต้องใช้เช่นนั้น ย่อมเป็นธรรมดาที่มีช่องว่างแยะ และสามารถเอามาทำตลกได้ต่างๆ นานา

ฉะนั้น เมื่อพูดถึงตลกเมื่อไร ก็มักส่อนัยยะถึง “ระเบียบ” อันใดอันหนึ่งเสมอ

และด้วยเหตุดังนั้น เท่าที่ผมเข้าใจ ตลกจึงจัดการกับ “ระเบียบ” ได้สองวิธี หนึ่งคือตกจาก “ระเบียบ” อันเป็นที่ยอมรับไป เช่นลื่นหกล้มก้นกระแทก หรือจำอวดตีหัวหน้าม่าน ซึ่งอาจตั้งใจ “ตก” จากระเบียบตั้งแต่เครื่องแต่งกาย ไปจนถึงภาษาพูด อีกวิธีหนึ่งคือ การเอาระเบียบซึ่งเป็นที่ยอมรับกันนั่นแหละมาพลิกกลับให้เห็นช่องว่างอันใหญ่ ซึ่งตรงตามความเป็นจริงของชีวิตกว่า หรือตรงตามบางส่วนของความปรารถนาในใจคน (เราปรารถนาและใฝ่ฝันสิ่งที่ตรงข้ามกันเสมอ แต่หลายครั้งมักไม่แสดงความใฝ่ฝันที่ไม่ตรงกับ “ระเบียบ” ตามความคาดหวังของคนอื่น)

ในทางปฏิบัติ ตลกในการแสดงต่างๆ ในปัจจุบัน มักผสมปนเปการจัดการกับ “ระเบียบ” ทั้งสองวิธี เช่น ชาร์ลี แชปลิน แต่งกายและมีบุคลิกภาพที่ “ตก” ระเบียบอย่างชัดเจน แต่ในขณะเดียวกัน เขามักเสี่ยงภัยช่วยเหลือผู้อ่อนแอ, ผดุงความยุติธรรม และเป็นตัวแทนของคนเล็กๆ ที่น่าเยาะหยัน ซึ่งต่อสู้กับ “ระเบียบ” ที่ไม่ให้ความเป็นธรรมแก่คนเหล่านี้

ตลกไทยเช่น “ก่อนบ่ายคลายเครียด” ก็เล่นกับช่องว่างของ “ระเบียบ” ไปพร้อมกันกับการ “ตก” ระเบียบ แต่ระเบียบในเมืองไทยได้รับการคุ้มกันจากรัฐอย่างหนาแน่นเสียจนตลกไทยไม่ค่อยกล้าล้อเล่นกับ “ระเบียบ” ไปได้ไกลนัก

ทั้งหมดนี้นำผมมาสู่เรื่องของตัวตลกในหนังชวาตัวหนึ่ง ซึ่งรู้จักกันดีและเป็นเรื่องที่นักวิชาการศึกษากันมามาก (จึงทำให้ผมสามารถพูดถึงได้ เพราะผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญหนังชวา) ผมขอเล่าเรื่องของตลกตัวนี้เพื่อทำให้ประเด็นที่ผมพูดข้างต้นนั้นกระจ่างขึ้น

ตัวตลกดังกล่าวนั้นชื่อเสอะมาร์ (Semar) เป็นที่รู้จักคุ้นเคยของชาวชวาเหมือนกับ “อ้ายเท่ง” ในหนังตะลุงไทย และก็เป็นตัวตลกตามพระตามนางเหมือนกัน แต่เสอะมาร์ถูกเสนอในหนังเหมือนเป็นคน “โง่” คือไม่เข้าใจ “ระเบียบ” อันเป็นที่รู้จักคุ้นเคยและยอมรับของคนทั่วไปสักที ดังเช่นพระอรชุนในมหาภารตยุทธซึ่งพร้อมจะผดุงความเป็นธรรมอย่างไม่มีข้อแม้ในทุกกรณี แม้ต้องเสี่ยงชีวิตหรือสูญเสียอย่างไรก็ตาม แต่เสอะมาร์ซึ่งเป็นตัวตลกตามพระกลับท้วง, ถาม, หรือแทรก ให้ผู้ชมคิดถึงประโยชน์ส่วนตนมากกว่าการผดุงความเป็นธรรม เช่น ระหว่างการทำสงครามกับการนอนกกเมียอยู่บ้าน นอนกกเมียไม่มีใครต้องตายสักคน

ดังที่กล่าวแล้วว่า “ระเบียบ” คือสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น โดยพระเจ้าหรือมนุษย์ก็ตาม เพื่อประโยชน์โดยรวมของมนุษยชาติ “ระเบียบ” จึงไม่ใช่ธรรมชาติของมนุษย์ “ระเบียบ” เป็นสิ่งที่ตลกเมื่อมองจากความเป็นคน หรือกลับกัน ความเป็นคนก็เป็นเรื่องตลก เมื่อมองจาก “ระเบียบ”

ตลกของเสอะมาร์เตือนผู้ชมให้คิดถึงอีกด้านหนึ่งของอุดมคติเสมอ

ตลกของเสอะมาร์เผยให้เห็นความเป็นจริงทั้งสองด้านของชีวิต โดยเฉพาะด้านที่เป็นช่องว่างของระเบียบ ดังนั้นชาวชวาจึงเชื่อว่าเสอะมาร์เป็นพระเจ้า (ตามตำนานคือเป็นน้องของภัทรคุรุหรือพระศิวะ)

ตลกในหนังตะลุงไทยทำอย่างเดียวกันหรือไม่ ผมไม่ทราบครับ เท่าที่ผู้รู้เขียนไว้ มักวิเคราะห์ไปในทางการเสนอบุคลิกภาพตลกของบุคคล ถึงขนาดบอกได้ว่าตลกตัวไหนเอามาจากบุคคลจริงชื่อเรียงเสียงไร ผมไม่รู้เรื่องหนังตะลุงพอจะวิเคราะห์ไปทางอื่นได้ ท่านว่าอย่างไรก็อย่างนั้น เพียงแต่ออกจะสงสัยว่า บุคลิกภาพของตัวตลกเช่นอ้ายเท่งหรืออ้ายหนูนุ้ยนั้น มักมีอะไรที่ย้อนแย้งอยู่ในตัวเสมอ เช่น อ้ายเท่งกร่างแต่แหยในความเป็นจริง อ้ายหนูนุ้ยดูจะโง่ๆ แต่บางครั้งก็ใช้ตรรกะอันพิกลพิการของตัวเอาชนะอ้ายเท่งได้ ดังนั้น จะวิเคราะห์ตลกหนังตะลุงไปทางอื่นไม่ได้บ้างเลยหรือ

กลับมาเรื่องตลกประยุทธ์ เหตุที่ทำให้ตลกของเขาน่าขบขันแก่ทุกฝ่ายก็เพราะ ต่างมองเห็นตลกของเขาเป็นการเล่นกับช่องว่างของระเบียบด้วยกันทุกฝ่าย เพียงแต่ว่าระเบียบที่ทำให้เกิดช่องว่างนั้น เป็นระเบียบที่ต่างกัน

ผมจะไม่ยกตัวอย่างการผูกเชือกรองเท้าเอง, กูเกิล, หรือที่น่าขำอื่นๆ แต่ขอยกเพียงสองเรื่องที่อาจช่วยให้ความกระจ่างว่าระเบียบที่เกิดช่องว่างขึ้นนั้น เป็นคนละระเบียบกัน

คุณประยุทธ์บอกชาวสวนยางว่า ถ้าอยากได้ยางราคาดีอย่างที่เรียกร้อง ก็ต้องไปขายยางที่ดาวอังคาร คนเชียร์คุณประยุทธ์ก็ว่าเออใช่ตลกดี คนไม่ชอบคุณประยุทธ์พากันฮากลิ้ง เพราะเห็นว่าตัวคุณประยุทธ์เองนั่นแหละที่เป็นช่องวางของระเบียบ

ระเบียบดังกล่าวคืออะไร ผมคิดว่าทั้งสองฝ่ายต่างคิดถึงเรื่องเดียวกัน คือรัฐและหน้าที่ของมัน ฝ่ายเชียร์คุณประยุทธ์คิดว่าระเบียบในเรื่องนี้คือ รัฐมีหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง อย่าให้เกิดความวุ่นวายที่อาจบั่นรอนความสงบสุขในชีวิตของผู้คน เหตุที่ยางราคาตกเกิดจากปัจจัยนานัปการ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของรัฐจะไปแก้ไขอะไรได้ หรือถึงแก้ไขได้ก็ต้องใช้เวลา ชาวสวนยางต้องทนรับไปก่อน อย่าเคลื่อนไหวอะไรให้เกิดความวุ่นวายขึ้น อันจะกระทบต่อความสงบสุขซึ่งรัฐมีหน้าที่โดยตรงต้องรักษาไว้ ถึงเรียกร้องไปก็พ้นวิสัยที่รัฐจะทำอะไรได้ ช่องว่างของระเบียบคือพื้นที่นอกรัฐและนอกโลกอย่างดาวอังคารเท่านั้น

ฝ่ายตรงข้ามคุณประยุทธ์มองหน้าที่หลักของรัฐว่าคือการทำให้ประชาชนสามารถทำมาหากินเพื่อเลี้ยงชีพได้อย่างสุจริต ประชาชนจึงมีสิทธิ์เรียกร้องให้รัฐต้องทำอะไรบางอย่าง เพื่อช่วยให้เขามีชีวิตอยู่บนลำแข้งของตนต่อไปได้ การมีสิทธิ์เรียกร้องนี่แหละคือความสงบสุขที่รัฐอาจอำนวยให้ได้ แต่คุณประยุทธ์กลับบอกว่าพื้นที่ดังกล่าวนั้นไม่มีในรัฐหรือในโลก เป็นช่องว่างของระเบียบที่เกี่ยวกับรัฐอันน่าขำ เพราะถ้าอย่างนั้นจะมีรัฐไปทำไม

ต่างฝ่ายต่างมองระเบียบที่เกี่ยวกับรัฐคนละอย่างกัน คำพูดของคุณประยุทธ์จึงน่าขำแก่ทั้งสองฝ่าย เพราะล้วนเป็นช่องว่างของระเบียบทั้งสิ้น

อีกตัวอย่างหนึ่งเพิ่งเกิดเมื่อเร็วๆ นี้ และค่อนข้างชัดเจนกว่าตัวอย่างอันแรก

คุณประยุทธ์พูดว่า ครูทุกวันนี้สอนแต่วิชาความรู้ ไม่สอนเรื่องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ทำให้ไม่มีกรอบคิดทางศีลธรรม (เพื่อความเป็นธรรม สื่อมักพาดหัวว่าเพราะสอนแต่วิชาความรู้ทำให้คิดไม่เป็น ที่จริงคุณประยุทธ์พูดว่าไม่มี “กรอบคิด” ต่างหาก)

สิ่งที่คุณประยุทธ์พูดนี้ เป็นความคิดเก่าแก่พอสมควร อย่างน้อยเราก็ได้ยินมาในพระราชดำรัสของ ร.5 เช่น เรียนวิชาความรู้จนเก่ง ก็อาจทำให้โกงเก่งด้วย เป็นต้น

หรือจะเอาเก่ากว่านั้นก็ได้ นักคิดไทยและสังคมอื่นเกือบทั้งโลกย่อมระแวงสงสัยความรู้ทางโลกย์ (secular knowledge) ด้วยกันทั้งนั้น เพราะความรู้ทางโลกย์ที่เป็นอิสระจากความรู้ทางศาสนานั้นไม่เคยมีมาก่อน ซ้ำร้ายยิ่งกว่านั้น ความรู้ทางโลกย์ยังนำไปสู่การใช้ประโยชน์ที่ไม่เกี่ยวกับศาสนาและศีลธรรมเลย

ในทุกสังคม เมื่อความรู้ทางโลกย์เริ่มขยายตัว ก็จะมีนักคิดอนุรักษนิยมออกมาเรียกร้องให้เชื่อมโยงมันเข้ากับศาสนาและศีลธรรมเสมอ จนถึงทุกวันนี้ แนวคิดดังกล่าวก็ยังมีอยู่ในหมู่นักคิดผู้มีชื่อเสียง เพราะนับวันความรู้ทางโลกย์มักมีเป้าหมายที่แคบลงจนเหลือประโยชน์เฉพาะตนของผู้เรียน ในเมืองไทย หลายคนคงอดนึกถึงคุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ไม่ได้

มันน่าขำสำหรับคนที่ไม่ชอบคุณประยุทธ์ ก็ไหนบอกว่าเมืองไทยจะก้าวไปสู่เศรษฐกิจ 4.0 แต่กลับไม่ให้ความสำคัญแก่วิชาความรู้ (ทางโลกย์) ตรงกันข้าม คนที่เชียร์คุณประยุทธ์ก็บอกว่าใช่แล้ว มีแต่วิชาความรู้ (โดยเฉพาะสังคมศาสตร์) โดยไม่รักชาติศาสน์กษัตริย์ มีแต่จะทำให้วุ่นวายกระด้างกระเดื่อง เพราะไม่มีใครยอมใคร

ตลกจากช่องว่างของระเบียบเหมือนกัน เพียงแต่เป็นระเบียบคนละชนิดกันเท่านั้น