ธงทอง จันทรางศุ | ว่าด้วย ‘ศาสตราภิชาน’

ธงทอง จันทรางศุ

วันที่ผมเขียนบทความชิ้นนี้เป็นวันสิ้นปีงบประมาณคือวันที่ 30 กันยายน

ผู้ที่รับราชการในตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ หลายท่านมีอายุครบเกณฑ์ที่จะเกษียณอายุอย่างเกษมได้แล้ว นับตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไปก็จะได้ใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่ที่เป็นนายของตัวเอง ไม่มีผู้บังคับบัญชามาเป็นเจ้าหัวใจอีกต่อไป

แต่ขณะเดียวกันบางท่านก็อาจจะมีหน้าที่การงานใหม่ที่มีผู้มาติดต่อทาบทามเอาไว้

เพราะยุคสมัยนี้อายุเพียงแค่ 60 ปีหรือ 60 อีกนิดๆ ยังมีเรี่ยวแรงสติปัญญาทำอะไรได้อีกมากครับ

ผู้ที่ผมนับถือและรู้จักคุ้นเคยมาช้านานกว่า 50 ปีท่านหนึ่ง วันนี้ท่านจะเกษียณอายุจากตำแหน่งอัยการสูงสุด

ท่านที่ผมกล่าวถึงนี้คือท่านอัยการสูงสุด เข็มชัย ชุติวงศ์

ผมเรียกท่านว่าพี่เข็มมาตั้งแต่ไหนแต่ไร เพราะท่านเป็นรุ่นพี่ของผมที่โรงเรียนสาธิตปทุมวัน เรียนหนังสือก่อนผมหนึ่งรุ่น

แล้วผมก็เดินตามรอยเท้าของท่านเข้ามาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปเมืองนอกเพื่อเรียนหนังสือระดับปริญญาโทก็ในเวลาใกล้เคียงกัน ทำให้ได้อาศัยบ้านพักของอีกฝ่ายหนึ่งเป็นที่ค้างอ้างแรมเวลาไปเยี่ยมเมืองของกันและกันอยู่เสมอ

มาช่วงหลังนี่แหละครับที่เราอาจจะไม่ได้พบกันบ่อยนักเพราะต่างคนต่างยุ่งกับภารกิจหน้าที่

แต่นับจากวันพรุ่งนี้เป็นต้นไปผมน่าจะได้พบกับพี่เข็มบ่อยขึ้น เพราะเราทั้งสองคนมีตำแหน่งเป็นศาสตราภิชานของคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วยกัน แต่ละคนมีห้องทำงานเล็กๆ อยู่ในอาคารเรียนของคณะแห่งนั้น

คราวนี้ล่ะหนีไม่รอด ต้องพบกับแน่ครับ

คําว่า “ศาสตราภิชาน” ที่กล่าวมานี้ เป็นคำที่อยู่นอกพจนานุกรมแห่งราชบัณฑิตยสถาน และพจนานุกรมทั้งปวงในเมืองไทย

ผมขออนุญาตใช้เวลาอธิบายถึงคำคำนี้และคำที่เกี่ยวข้องกันอีกจำนวนหนึ่งนะครับ

ขึ้นต้นต้องเข้าใจเสียก่อนว่าผู้ที่สอนหนังสือเป็นอาจารย์ประจำในระดับอุดมศึกษาหรือระดับมหาวิทยาลัยนั้น เขามีระบบความก้าวหน้าที่เรียกว่าตำแหน่งวิชาการ

เริ่มต้นตั้งแต่เป็นอาจารย์ธรรมดา ถัดขึ้นไปก็เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ ตามลำดับ

การจะขยับเลื่อนจากตำแหน่งหนึ่งไปสู่อีกตำแหน่งหนึ่งนั้นมีเงื่อนไขหลายอย่าง เช่น ระยะเวลา และที่สำคัญกว่าระยะเวลาคือผลงานทางวิชาการ เช่น ได้แต่งหนังสือหรือตำรับตำราซึ่งมีคุณภาพ มีผลงานวิจัยซึ่งทำถูกต้องตามหลักวิชา มีผลงานบริการทางวิชาการแก่สังคมเป็นที่ประจักษ์ชัด อะไรทำนองนี้

ตำแหน่งทางวิชาการสูงสุดที่เรียกว่าศาสตราจารย์และแปลเป็นภาษาฝรั่งว่า Professor เป็นตำแหน่งที่มีเกียรติยศยิ่ง และต้องนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

กล่าวมาถึงเพียงนี้ท่านผู้อ่านหลายท่านคงอยากถามต่อไปว่า แล้วตำแหน่งศาสตราจารย์กิตติคุณและตำแหน่งศาสตราจารย์พิเศษคืออะไร

คำตอบต้องแยกเป็นสองส่วนครับ

ตำแหน่งศาสตราจารย์กิตติคุณนั้นเป็นตำแหน่งที่มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งประกาศยกย่องผู้ที่ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ประจำของมหาวิทยาลัยแห่งนั้นมาแล้ว

ต่อมาพ้นจากราชการของมหาวิทยาลัยไปด้วยเหตุเกษียณอายุบ้าง ย้ายไปอยู่ที่อื่นบ้าง แต่ยังคงวนเวียนกลับมาทำประโยชน์ทางวิชาการให้กับมหาวิทยาลัย เพื่อตอบแทนความดีและยกย่องให้เกียรติ มหาวิทยาลัยก็จะประกาศยกย่องศาสตราจารย์ผู้นั้นเป็นศาสตราจารย์กิตติคุณ

ตำแหน่งนี้ไม่ต้องทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

เพราะได้ทรงแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์มาแล้วแต่เดิม

ยกตัวอย่างเช่น ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ท่านผู้นี้เป็นศาสตราจารย์ประจำของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาแต่ดั้งเดิม

ต่อมาท่านย้ายจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปรับราชการที่อื่น แต่ก็ยังคงกลับมาสอนหนังสือและทำอะไรต่อมิอะไรอยู่ในมหาวิทยาลัยอยู่เสมอมิได้ขาด

วันหนึ่งจุฬาฯ ก็ประกาศยกย่องให้ท่านเป็นศาสตราจารย์กิตติคุณ

และได้ใช้เป็นคำนำหน้านามของท่านอยู่จนทุกวันนี้

ส่วนอีกคำหนึ่งคือศาสตราจารย์พิเศษ

เรื่องนี้ผมคุ้นเคยมากครับ เพราะเป็นเรื่องที่ได้กับตัวเอง ตำแหน่งวิชาการที่เรียกว่าศาสตราจารย์พิเศษนี้ เป็นตำแหน่งสำหรับบุคคลที่มิได้เป็นอาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัย แต่ได้สอนหนังสือและมีผลงานทางวิชาการจนถึงขีดขั้นที่สมควรจะเป็นศาสตราจารย์ได้แล้ว

แต่เนื่องจากมิได้เป็นอาจารย์ประจำ จึงจะดำเนินการเพื่อแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์ประเภทธรรมดามิได้ ต้องแยกออกมาเป็นอีกแผนกหนึ่งที่เรียกว่าศาสตราจารย์พิเศษ

และเป็นตำแหน่งที่ต้องทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเช่นเดียวกันกับศาสตราจารย์ครับ

ตรรกะหรือเหตุผลเดียวกันนี้ใช้สำหรับผู้ที่เป็นอาจารย์พิเศษ มิได้มีตำแหน่งประจำรับเงินเดือนอยู่ในมหาวิทยาลัย แต่ไปสอนหนังสือเป็นกิจจะลักษณะเป็นเวลาเท่านั้นเท่านี้ปี

มีผลงานทางวิชาการเพียงพอที่เปรียบได้กับตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์หรือรองศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยก็อาจแต่งตั้งผู้นั้นให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษหรือรองศาสตราจารย์พิเศษได้

ตำแหน่งวิชาการที่ผมกล่าวมาข้างต้นทั้งหมด คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ รองศาสตราจารย์พิเศษ และศาสตราจารย์พิเศษ มีกฎหมายเขียนรับรองว่าสามารถใช้เป็นคำนำหน้านามได้

และเมื่อได้รับตำแหน่งวิชาการเช่นนั้นแล้วก็สามารถใช้ตำแหน่งวิชาการเป็นคำนำหน้านามได้ตลอดไป แม้ต่อมาจะมิได้สอนหนังสือแล้วก็ตาม

คราวนี้กลับย้อนไปพูดถึงคำว่า ศาสตราภิชาน

มีความหมายว่าเป็นผู้ที่มีความรู้อย่างยิ่งในวิชา หรือบางทีก็มีผู้แปลว่าเป็นผู้ที่เป็นบ่อเกิดแห่งความรู้ในวิชา

คำคำนี้ไม่ใช่ตำแหน่งทางวิชาการที่ใช้นำหน้าชื่อได้ครับ อธิบายเพื่อความเข้าใจอย่างง่าย ก็อาจจะต้องบอกว่าแปลว่าผู้ทรงคุณวุฒิในวิชาการด้านต่างๆ

มหาวิทยาลัยหลายแห่งรวมทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีข้อบังคับของมหาวิทยาลัยที่จะยกย่องและเชิญผู้ที่มีความรู้ความสามารถในทางวิชาการ เข้ามาร่วมงานกับมหาวิทยาลัยในคณะต่างๆ แต่ไม่ใช่การเข้ามาร่วมทำงานอย่างพนักงานเต็มเวลา หรือรับเงินเดือนเป็นกิจจะลักษณะจากมหาวิทยาลัย

เพียงแต่ท่านเข้ามาช่วยทำงานทางวิชาการหรือเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้กับลูกศิษย์ลูกหาเป็นประจำสม่ำเสมอ ตามแต่ท่านจะเมตตาจัดเวลาของท่านได้

อาจมีเงินสมนาคุณเพื่อตอบแทนความกรุณาของท่านบ้าง หรือไม่มีก็ได้

เราเรียกลักษณะอย่างนี้ว่า ท่านกรุณามาเป็นศาสตราภิชานของมหาวิทยาลัย

การเป็นศาสตราภิชานนี้มีกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุด การแต่งตั้งให้ท่านผู้ใดทำหน้าที่เช่นนี้เป็นอำนาจหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัย และเมื่อครบกำหนดเวลาแล้วท่านผู้นั้นก็ไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่งศาสตราภิชานอีกต่อไป

ข้อเท็จจริงคือท่านได้เป็นอดีตศาสตราภิชานไปแล้ว

เนื่องจากคำว่าศาสตราภิชานมิใช่ตำแหน่งวิชาการอย่างตำแหน่งวิชาการชุดแรกที่กล่าวมาข้างต้น

คำนี้จึงไม่ใช่เป็นคำนำหน้านาม ยกตัวอย่างเช่น กรณีของพี่เข็มชัยที่ผมกล่าวมาตอนแรก พี่เข็มเป็นอาจารย์พิเศษสอนหนังสือในคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ มาช้านาน และมีตำแหน่งทางวิชาการเป็นศาสตราจารย์พิเศษมาร่วมสิบปีแล้วด้วย

นับจากวันพรุ่งนี้เป็นต้นไป ถ้าจะเรียกหรือกล่าวถึงพี่เข็มให้ครบกระบวนการ ก็ต้องบอกว่าเรากำลังพูดถึงศาสตราจารย์พิเศษเข็มชัย ชุติวงศ์ ศาสตราภิชานประจำคณะนิติศาสตร์

สมมุติว่าวันหนึ่งข้างหน้า พี่เข็มเลิกเป็นศาสตราภิชานเพราะครบเวลาตามข้อตกลงแล้ว ถึงวันนั้นเราก็จะกล่าวถึงพี่เข็มว่า ศาสตราจารย์พิเศษเข็มชัย ชุติวงศ์ อดีตศาสตราภิชานประจำคณะนิติศาสตร์ และอีกสารพัดอดีตที่พี่เข็มเคยเป็นเคยทำมาในอดีต

รวมทั้งอดีตอัยการสูงสุดด้วย

คราวนี้เห็นจะพอแยกแยะกันได้แล้วนะครับว่าอะไรเป็นอะไร

แต่สรุปรวมความทั้งหมด จะเป็นตำแหน่งวิชาการ ตำแหน่งหน้าที่ราชการประจำหรือตำแหน่งอะไรก็แล้วแต่ ความจริงก็คือทุกอย่างเป็นเรื่องสมมติทั้งนั้น ตัวเราก็เป็นตัวเรานี่แหละ คนอื่นจะเรียกคำนำหน้านามหรือคำตามหลังชื่อเราว่าอย่างไรก็แล้วแต่ ก็ไม่ทำให้เรากลายเป็นคนอื่นขึ้นมาได้

ถ้าใครเขาจะไม่กล่าวถึงคำนำหน้านามหรือกล่าวผิดๆ ถูกๆ เราก็ไม่เสียหายอะไรนี่ครับ

ไม่เจ็บไม่ปวด ไม่เดือดไม่ร้อน

สบายดีจะตายไป จริงไหมครับ