วรศักดิ์ มหัทธโนบล : สิ้นสุย-เกิดถัง

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

สุยในช่วงปลาย (ต่อ)

อย่างไรก็ตาม สุยหยังตี้นับเป็นจักรพรรดิที่มีประวัติอื้อฉาวองค์หนึ่งของจีน บทบาทของพระองค์ไม่เป็นที่ยอมรับของนักประวัติศาสตร์ในสายที่สมาทานลัทธิขงจื่อ ด้วยถือเป็นจักรพรรดิที่ “เลวสุด” (bad last) องค์หนึ่งของจีน

และจากบทบาทที่ว่าได้ทำให้เรื่องราวของสุยหยังตี้ถูกบอกเล่าผ่านนิทาน ละคร และนิยายที่มากด้วยสีสัน สุดแต่ผู้เขียนบทจะใช้วิธีเล่าเรื่องอย่างไรให้เกิดผลสะเทือนทางอารมณ์ให้มากที่สุด ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะสุยหยังตี้มิใช่จักรพรรดิที่เลวที่สุดในประวัติศาสตร์จีน มิใช่จักรพรรดิที่โหดเหี้ยมที่สุดเมื่อเปรียบกับจักรพรรดิบางองค์ที่โหดเหี้ยมกว่า

แต่เป็นจักรพรรดิที่ยังมีอีกมิติหนึ่งที่สร้างสรรค์และมีพรสวรรค์ในบางเรื่อง หลายเรื่องที่ทรงทำไปก็เป็นการสืบทอดนโยบายของราชบิดา

และเรื่องที่ตลกร้ายที่สุดเรื่องหนึ่งคือ โครงการคลองขุด ที่ต่อมาถูกเรียกว่าต้าอวิ้นเหอ ที่หมายถึงคลองขุดขนาดใหญ่หรือมหาคลองขุด (The Grand Canal) ซึ่งถูกขุดเพื่อสนองความสำราญของสุยหยังตี้เป็นการเฉพาะนั้น นับแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบันกลับเป็นคลองที่มีคุณูปการต่อเศรษฐกิจจีนอย่างมาก จนได้รับการยกย่องว่าเป็นโครงการคลองขุดที่ดีเลิศ

โครงการนี้จึงมีสองภาวะที่ย้อนแย้งกันเอง คือภาวะหนึ่งถูกประณามหยามเหยียด อีกภาวะหนึ่งกลับได้รับการยกย่องสรรเสริญ

พ้นไปจากประเด็นดังกล่าวแล้ว การล่มสลายของสุยยังมีหลักคิดเกี่ยวกับกรรมในศาสนาพุทธเข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วย ประเด็นนี้หมายถึงกรณีที่สุยตั้งวงศ์ขึ้นได้ก็ด้วยการโค่นล้มอี่ว์เหวินไท่แห่งโจวเหนือ แต่แล้วสุยก็กลับถูกโค่นล้มโดยอี่ว์เหวินฮว่าจี๋ซึ่งอยู่ในสกุลอี่ว์เหวินเช่นกัน

แต่กรรมที่วนมาเช่นนี้ก็มิได้กลายเป็นวงจรที่สืบเนื่องอีกต่อไป ทุกอย่างจบลงเมื่อสุยสิ้นวงศ์ และอี่ว์เหวินฮว่าจี๋ที่แม้จะเป็นกบฏที่ทรงอิทธิพลขบวนการหนึ่ง แต่ก็ไม่อาจไปถึงฝั่งแห่งความสำเร็จได้

เพราะผู้ที่มีชัยในบั้นปลายคือ หลี่ยวน

 

กำเนิดถัง

สิ่งที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติประการหนึ่งของวัฒนธรรมจีนคือการสืบสายสกุลของวงศ์ตระกูลต่างๆ การกล่าวถึงราชวงศ์ถังมักจะเริ่มต้นจากจุดนี้ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะถังเป็นราชวงศ์ที่ถือเป็นหนึ่งในสองยุคทองของจีน โดยอีกราชวงศ์หนึ่งที่จัดอยู่ในยุคทองคือฮั่น

และเมื่อต้องศึกษาประวัติของถังก็พบว่า บุคคลอันเป็นที่มาของราชวงศ์นี้มิได้มีภูมิหลังที่มีต้นทุนสูงในทางอำนาจมาก่อน แต่ก็ได้สะสมต้นทุนที่ว่าอย่างช้าๆ จนสามารถก้าวขึ้นจุดสูงสุดของจักรวรรดิจีนได้ในที่สุด

ที่มาของถังในแง่นี้จึงนับว่าน่าสนใจ

 

ที่มาของถังมาจากสกุลหลี่ที่อาจกล่าวได้เป็นสองทาง ทางหนึ่ง เป็นที่มาที่สืบย้อนกลับไปถึงต้นทางของสกุล

อีกทางหนึ่ง เป็นที่มาของสกุลที่สืบสาวไปเฉพาะระยะใกล้ก่อนถังจะตั้งราชวงศ์ หากเป็นทางแรก จะสืบสาวที่มาของถังจะย้อนกลับไปถึงหลี่ตันหรือเหลาจื่อผู้เป็นเจ้าสำนักลัทธิเต้า และขุนศึกคนหนึ่งของราชวงศ์ฮั่นที่ชื่อหลีกว่าง

หากเป็นทางที่สอง จะสืบสาวไปถึงยุคห้าชนชาติสิบหกรัฐ นั่นคือรัฐซีเหลียง (เหลียงตะวันตก) ดังที่งานศึกษานี้ได้กล่าวไปแล้วในบทก่อน ว่าผู้ก่อตั้งรัฐนี้คือหลีเก่า (ค.ศ.351-417) หลังจากที่หลีเก่าเสียชีวิต รัฐนี้ยังมีผู้นำสืบต่ออีกสองคน จากนั้นก็ถูกรัฐเป่ยเหลียง (เหลียงเหนือ) ที่หลีเก่าเคยเป็นขุนนางมาก่อนโค่นล้ม

แต่นั้นมาบทบาทของสกุลหลี่สายนี้จึงลดลง แต่ก็ยังคงวนเวียนอยู่ในการเมืองจีนเรื่อยมา

ตราบจนถึงสมัยสุย บุคคลในสกุลหลี่ก็ก้าวขึ้นเป็นขุนนางระดับสูงสืบต่อกันมาจนถึงยุคของหลี่ยวนในที่สุด

 

กล่าวเฉพาะหลี่ยวน (ค.ศ.566-635) กับบทบาททางการเมืองแล้ว อาจเริ่มได้ที่ปู่ของเขาซึ่งเป็นขุนศึกของอี่ว์เหวินไท่ ที่มีส่วนสำคัญในการช่วยอี่ว์เหวินไท่ในการตั้งโจวเหนือขึ้นมา โดยภูมิหลังของผู้เป็นปู่ไม่มีความชัดเจนมากนัก นอกเสียจากการอ้างไปถึงอดีตดังได้กล่าวไปแล้ว ซึ่งก็เป็นการอ้างหลังจากตั้งราชวงศ์ถังไปแล้ว

แต่ที่มีหลักฐานยืนยันได้เรื่องหนึ่งคือ สกุลหลี่ของสายนี้มีสายสัมพันธ์ที่แน่นอนกับชนชาติเซียนเปย และมีความเกี่ยวดองกับหยังเจียนหรือจักรพรรดิสุยเหวินตี้

อย่างหลังนี้คือ บุตรคนหนึ่งของปู่ของเขาได้แต่งงานกับหญิงในสกุลตู๋กูเช่นเดียวกับหยังเจียน ปู่ของเขากับหยังเจียนจึงเป็นคู่เขยกัน และบุตรของปู่ที่แต่งงานกับหญิงสกุลตู๋กูนี้ต่อมาก็คือบิดาของหลี่ยวน

ดังนั้น สกุลหลี่สายนี้จึงมีสายเลือดผสมของชนชาติจีน เซียนเปย กับเติร์ก และเป็นสกุลชนชั้นสูงที่มีอิทธิพลอยู่ในบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของจีนในเวลานั้น โดยปู่ของเขาได้รับยศศักดิ์เป็นเจ้าพระยาแห่งรัฐถัง (ถังกว๋อกง, Duke of Tang) ใน ค.ศ.558 ยศนี้ได้สืบทอดมาถึงบิดาของเขา และเมื่อสิ้นบิดาไปแล้ว หลี่ยวนก็สืบต่อยศนี้ในฐานะบุตร

คำว่าถัง ในคำเรียกของยศศักดิ์นี้ก็คือที่มาของชื่อราชวงศ์ในเวลาต่อมา

 

จากความใกล้ชิดที่มีกับมเหสีของสุยเหวินตี้ ได้ช่วยส่งเสริมให้หลี่ยวนมีความก้าวหน้าในตำแหน่ง โดยเริ่มจากการเป็นหนึ่งในองครักษ์ส่วนพระองค์ของสุยเหวินตี้ใน ค.ศ.581 จากนั้นก็ไต่เต้าขึ้นไปเป็นผู้ปกครองในเมืองที่มีความสำคัญในทางยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะเมืองที่มีชนนานาชาติเข้ามาอาศัยอยู่หรือผ่านไปมา และเมืองที่อยู่ในบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือ

พอถึงสมัยของสุยหยังตี้ก็ยังคงได้รับแต่งตั้งให้มีตำแหน่งสำคัญ เช่น รองเสนาบดีกรมราชสำนัก สำนักงานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แห่งราชสำนัก กรมศาสตราวุธและปืนใหญ่ประจำเมืองหลวง หรือกรมพลาธิการเมื่อครั้งที่สุยหยังตี้เปิดศึกกับเกาหลี เป็นต้น

ครั้นเมื่อสุยคราวเสื่อมถอย ชีวิตทางการเมืองของหลี่ยวนก็ถึงคราวเปลี่ยนแปลง

 

เวลานั้นคือ ค.ศ.617 หลี่ยวนมีอายุได้ 51 ปี สุยหยังตี้ได้แต่งตั้งหลี่ยวนให้เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการรักษาเมืองไท่หยวนเพื่อต้านรับการกบฏ แต่ด้วยเหตุที่ในขณะนั้นหลี่ยวนเริ่มเป็นผู้ทรงอิทธิพลบ้างแล้ว สุยหยังตี้จึงแต่งตั้งคนสนิทสองคนให้เป็นผู้ช่วยของหลี่ยวนเพื่อคอยประกบและเฝ้าระวังเขาเอาไว้

เมื่อหลี่ยวนเห็นเช่นนั้นก็รู้โดยทันทีว่าสุยหยังตี้เริ่มไม่ไว้วางใจเขาเช่นกัน จากเหตุนี้ หลี่ยวนจึงเริ่มคิดที่จะโค่นล้มสุยหยังตี้ขึ้นมา วิธีที่เขาใช้คือ ด้านหนึ่ง ทำทีหลงระเริงในกามโลกีย์และประพฤติตนเหลวไหล อีกด้านหนึ่ง ก็แอบซ่องสุมเสนามาตย์ให้มาอยู่ฝ่ายตนอย่างลับๆ

ส่วนตัวเขากับบุตรคนรองคือหลี่ซื่อหมิน อยู่ที่เมืองไท่หยวนด้วยกัน ซึ่งเวลานั้นได้มีเสนามาตย์และบุคคลแวดวงต่างๆ เข้ามาอาศัยอยู่มากมาย เพื่อหลีกหนีภัยสงครามที่สุยหยังตี้ทำกับเกาหลีและการกบฏที่กำลังแผ่ไปทั่ว สถานการณ์นี้จึงเอื้อต่อหลี่ยวนให้เข้าไปมีสายสัมพันธ์กับบุคคลเหล่านี้

จากนั้นจึงชักชวนมาเป็นพวก

 

จากแผนการดังกล่าวทำให้หลี่ยวนสามารถสะสมกำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และเพื่อขจัดการเฝ้าระวังจากคนสนิทของสุยหยังตี้ที่ส่งมาประกบตัวเขา หลี่ยวนจึงได้วางแผนกำจัดคนทั้งสองด้วยการสร้างเรื่องกล่าวหาคนทั้งสอง ว่าได้ชักนำให้ชนชาติทูเจี๋ว์ยล่วงล้ำเขตแดนจีนเข้ามา แล้วสั่งการให้จำคุกคนทั้งสองเอาไว้

แต่แล้วหลังจากนั้นอีกสองวันต่อมาก็ให้ปรากฏว่า ทูเจี๋ว์ยได้กรีธาทัพเข้ามาประชิดไท่หยวนด้วยความบังเอิญจริงๆ หลี่ยวนจึงวางแผนศึกด้วยการที่ด้านหนึ่งให้จัดทัพเตรียมพร้อมที่จะทำศึก อีกด้านหนึ่งให้เปิดประตูเมืองไท่หยวนทั้งหมดเพื่อหลอกทัพทูเจี๋ว์ยให้ลังเลใจ

ฝ่ายทัพทูเจี๋ว์ยเห็นเช่นนั้นก็เชื่อว่าเมืองนี้ได้เตรียมการตั้งรับตนเอาไว้อย่างดีแล้วจึงยกทัพกลับไป

เหตุบังเอิญในครั้งนี้ได้ทำให้ผู้คนไพล่คิดไปว่า ข้อกล่าวหาที่หลี่ยวนระบุความผิดของคนสนิททั้งสองของสุยหยังตี้เป็นเรื่องจริง จึงได้ร้องขอให้หลี่ยวนประหารคนทั้งสอง เช่นนั้นแล้วหลี่ยวนจึงไม่มีเหตุผลใดที่จะปฏิเสธ จึงได้แต่ปฏิบัติตามคำร้องขอนั้น

 

การประหารคนสนิทของสุยหยังตี้ในครั้งนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลี่ยวนได้เท่ากับประกาศตนเป็นปฏิปักษ์กับสุยไปแล้วอย่างเปิดเผย ดังนั้น ในเดือนห้าของปีเดียวกัน หลี่ยวนจึงได้จัดวางระบบต่างๆ ขึ้นภายในกองกำลังของตนขึ้นมา

พร้อมกันนั้นก็แต่งตั้งบุคคลในกองกำลังของตนให้มีตำแหน่งต่างๆ รวมทั้งบุตรของเขา โดยมีตนเป็นขุนศึกผู้มีอำนาจสูงสุด และอ้างว่ากองกำลังที่จัดตั้งขึ้นใหม่เป็นกองกำลังปฏิบัติการเชิดชูคุณธรรม โดยเรียกทัพของตนว่าทัพถัง พร้อมกันนั้นก็ประกาศตนต่อต้านสุยอย่างเป็นทางการ

การประกาศตนครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางกบฏต่างๆ นับสิบนับร้อยขบวนการที่กำลังลุกฮือขึ้นทั่วจักรวรรดิที่กำลังเสื่อมถอย