อภิญญา ตะวันออก : โบแด็ง-มาตุคามแห่งความรัก (จบ)

อภิญญา ตะวันออก

“อา ดวงใจเอย

โปรดจงเฉลยคำสัญญาว่า รักของเราจะไม่พรากจาก

ไม่ว่าเวลานั้น จะบีบคั้นทรมาน

จวบจนวาระสุดท้าย ที่เราต้องพรากจากกัน

ณ สายน้ำแห่งชีวา

โปรดจงรับรู้ว่า และเป็นพยาน

ว่าใจดวงหนึ่ง ซึ่งไม่อาจขับขาน

ความเดียวดายอาดูร ที่มีต่อเธอคนนี้

ซึ่งไม่มีวัน ที่ฉันจะลืมเขาได้…”

 

มนต์เสียงแสนโศกที่กัดกร่อนหัวใจของรัวะ เสรีสุดเทีย ยังติดตรึงใจไม่ว่าใครก็ตามที่ได้ยิน โดยเฉพาะเมื่อมันถูกนำไปใส่ไว้ในภาพยนตร์สารคดี “ฉันเห็นเธอยิ้มชื่นเมื่อคืนนี้” (ย่บ-มึญ-บอง-เฆิน-โอน-ยอยึม / Last Night I Saw You Smiling) โดยฝีมือกำกับฯ ของเนียง กวิช (กวิช เนียง) ผู้ถือกำเนิดจากตึกโบแด็ง

และนั่นยิ่งทำให้พลังของภาพยนตร์เรื่องนี้ขับขานไปด้วยวิถีแห่งการเล่าเรื่อง โดยมีลำนำของรัวะ เสรีสุดเทีย นำพาไปสู่ผู้คนและชีวิตของโบแด็ง ตั้งแต่ผู้ตั้งรกรากในรุ่นแรกๆ จนถึง ณ วันสุดท้ายที่โบแด็งมีอันเป็นไป ซึ่งไม่มีใคร ชาวเขมรรุ่นไหน ที่จะไม่รู้จักราชินีนักร้องชาวเขมรคนนี้

และเป็นเวลาเนิ่นนานสักแค่ไหนแล้ว ที่บทเพลงเก่าของรัวะ เสรีสุดเทีย วนเวียนอยู่ในชีวิตประจำวันทั่วไปของชาวเขมร ไม่ตอนใดก็ตอนหนึ่ง

ทำไมถึงกล่าวเช่นนั้น

สำหรับรัวะ เสรีสุดเทีย (1948-1977) ผู้เติบโตในช่วงยุคสีหนุคิสต์ (สังคมราษฎร์/ราชานิยม) โด่งดังอย่างขีดสุดยุคลอนนอล (1970-1974) เธอเสียชีวิตสมัยพล พต (1975-1979) ทว่าบทเพลงอมตะนับร้อยเพลงที่โลดแล่นกลมกลืนตามยุคสมัยเหล่านั้น ยังฝังมวลอวลไออยู่ในความทรงจำผู้คน และเป็นตำนานทุกห้วงกาลที่ผ่านมา

จิตวิญญาณทางภาษาและบทกวีที่อยู่ในบทเพลงไพเราะ แต่เปราะบางทุกความหมายในด้านใดด้านหนึ่งของผู้คน มีปรากฏพบพานเสมอ ไม่ว่าจะเป็นท่วงทำนองถวิลหา ความบันเทิงเริงใจ ร้าวรานหม่นเศร้า และขับขานที่ไม่ต่างจากสายน้ำ หมุนวนเหมือนครรลองบางชีวิตผู้คนชาวโบแด็งที่ถูกนำมาบอกเล่าใหม่ด้วยฟุตเทจของเนียง กวิช

ที่สร้างมิติสุดท้ายในความมีชีวิตของโบแด็ง

 

ก่อนหน้านี้ ในปี 1997 โบแด็งเคยเป็นโลเกชั่นถ่ายทำของภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่กำกับฯ โดยพาน ฤทธี (หรือฤทธิ พาน)

Un soir apr?s la guerre (คืนหนึ่งหลังสงคราม) ปักหลักถ่ายทำด้วยโปรดักชั่นไม่กี่คน แต่ภาพยนตร์ฟิล์มเรื่องแรกของกัมพูชา (หลังยุคเขมรแดง) เรื่องนี้ก็เผยถึงตัวตน ความเป็นโบแด็งในรูปภาพยนตร์อย่างทรงพลังเรื่องหนึ่งและสดเอี่ยมไปด้วยชีวิตชีวาของอาคารหนึ่ง ซึ่งหล่อเลี้ยงผู้คนหลายยุคสงคราม

แม้บริบทการเมืองหลังรัฐประหารในปีนั้นจะทำให้ “คืนหนึ่งหลังสงคราม” อ่อนเปลี้ยไปตามภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งซับซ้อนและยากขึ้นไป สำหรับ การฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ที่พบว่า พนมเปญเวลานั้น เหลือแต่โรงหนังเก่าๆ เพียงโรงเดียวและทรุดโทรมจนเกินกว่าจะฟื้นฟูให้กลับไปสู่กระแสเดิมได้

นี่อาจเป็นเพียงบางส่วนที่ทำให้ “คืนหนึ่งหลังสงคราม” ไม่เป็นที่รู้จักในประเทศตัวเอง

แต่อีกด้านหนึ่งก็กลับพบว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้มีมิติที่ซับซ้อนต่อความเป็นโบแด็งอย่างร่วมสมัย ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิตคนชั้นล่าง การอพยพของชาวชนบทเพื่อตั้งถิ่นฐานในเมืองหลวงซึ่งครั้งล่าสุดนั้นคือปี 1992

พาน ฤทธี กำหนดตัวละครของตนจากสมรภูมิสู้รบของเขมร 2 ฝ่ายบริเวณชายแดนฝั่งตะวันตกของประเทศ และโบแด็งคือที่พักพิงดำรงชีพสำหรับสมรภูมิชีวิตใหม่ในเมืองหลวง เช่นเดียวกับตัวละครบทลงเซ-หญิงเชียร์ดื่ม (พริตตี้พนมเปญยุคแรกๆ) รวมทั้งดนตรีประกอบของรัวะ เสรีสุดเทีย ที่โด่งดังในผับบาร์พนมเปญทุกหนแห่งเวลานั้น

และมีส่วนทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้มีความร่วมสมัย

 

ความจริงแล้วชาวโบแด็งเคยถูกกล่าวหาว่า สกปรก ไม่ถูกสุขลักษณะและทรุดโทรมเกินกว่าจะมีดนตรีและเสียงเพลง จนมีคำพูดที่ว่า

“ไม่มีเสียละที่จะได้ยิน “เพลงการ์” ขึ้นที่นี่”

อา เพลงการ์หรือเพลงแต่งงานสินะที่เป็นดัชนีชี้วัดสถานะความเป็นอยู่ผู้คนชาวเมืองหลวง?

เช่นเดียวกัน สำหรับโบแด็ง กว่าทศวรรษแล้วที่ผู้ว่ากรุงพนมเปญ พยายามหาทางขับผู้ตั้งถิ่นฐานให้ออกจากตึกนี้

เพื่อให้โบแด็งกลับมามีพื้นที่หายใจอย่างเหมาะสมกับขนาดจำนวนประชากร ในปี ค.ศ.2002 เจีย สุเพียรา คือผู้ว่าคนแรกที่ทำสำเร็จ มีผู้อาศัยโบแด็งจำนวนถึง 27,000 ราย ที่ถูกย้ายไปชานเมืองเป็นกลุ่มแรกและเหลือเพียงราว 700 ครอบครัวที่มีสิทธิ์ไปต่อกับโบแด็ง

แต่ภาพลักษณ์โบแด็งก็ไม่ใช่หญิงแก่ๆ ที่ไร้ค่า เพราะถึงจะทรุดโทรม จนต้องรักษากายภาพของสังขาร แต่โบแด็งก็ยังมีราคาแพงลิบถึง 200 เหรียญสหรัฐ/ตารางเมตรในปีนั้น

ดังนั้น ข้อพิพาทระหว่างผู้ร่วมถือกรรมสิทธิ์โบแด็งกับทางการ จึงยืดเยื้อยาวนานอีกทศวรรษครึ่ง!

จนมาถึงวันสุดท้ายที่ชาวโบแด็งกลุ่มล่าราว 400 ครอบครัวต้องจากไป

 

เป็นความอ่อนล้าโรยราของโบแด็งในห้วงปลายที่ทำให้เราได้เห็นในภาพยนตร์ “ฉันเห็นเธอยิ้มชื่นเมื่อคืนนี้”

จากสองหมื่นราตรีกาลที่ผ่านมา นับแต่วันที่ตึกขาวหลังนี้ถือกำเนิด จนวันสุดท้ายที่เนื้อตัวเปล่าดายของเธอแทบจะเป็นหนึ่งเดียวกับเถ้าถ่าน

กระนั้น อย่างมหัศจรรย์และงดงาม โบแด็งก็ยังขับขานความสราญต่อชีวิตผู้คนจำนวนหนึ่ง ซึ่งได้แต่มองเธออย่างชื่นชม ผ่านฟุตเทจเหล่านั้น

เฉกเดียวกับฉากอันเคลื่อนไหวของโบแด็งไปสู่จุดจบที่งดงามทั้งผู้คนและตึกร้าง และบางฉากสลัวรางใน “คืนหนึ่งหลังสงคราม” กระนั้น เราก็จะเห็นเช่นกันว่า ภาพฝาผนังห้องเก่าๆ ของ “ฉันเห็นเธอยิ้มชื่นเมื่อคืนนี้” ได้พัดพาให้เราเห็นถึงความรื่นรมย์ต่อชีวิตในทุกยุคสมัยของชาวเขมร

จากมุมมองที่แตกต่างของ 2 ผู้กำกับฯ ที่ต่างยุคต่างสมัย

พวกเขาได้ครอบงำ และกรำเราไว้ด้วยศิลปะแห่งภาพยนตร์ที่สมจริงและร่วมสมัยอย่างไม่เคยมีมาก่อน

แต่ในที่สุด สิทธิ์ขาดก็ตกอยู่กับนักเล่ารุ่นหลานอย่างเนียง กวิช ผู้เข้าถึงตัวตนในความเป็นโบแด็ง ห้วงแห่งสุดท้ายที่สมบูรณ์

เขาเกิดที่นี่ในปี ค.ศ.1987 ตอนที่โบแด็งกำลังจะสะพรั่งในวัยเพียง 24 ปี

แต่เนียง กวิช ก็พบว่า โบแด็งได้แก่ชราตั้งแต่วันที่เขาลืมตาและจำความได้ อาคารแห่งนี้ก็ทรุดโทรมและเกรอะกรังไม่ต่างจากหญิงชราที่มีอายุร่วมร้อยปี ทั้งๆ ที่จริงแล้วเธอน่าจะมีอายุไล่เลี่ยกับบิดาของเขาด้วยซ้ำไป

ถ้าหากโบแด็งเป็นหญิงชรา เนียง กวิช ก็น่าจะเรียกเธอว่าคุณน้า (มีง) คุณป้า (อม) หรือมากกว่านั้นคือเป็นมะดาย-มารดาที่ให้ร่มชายคาและความอบอุ่นใจ

โบแด็งจึงไม่ใช่เศษซากแห่งอาคารเก่าที่ควรแก่ทุบทิ้งทำลาย แต่เธอคือ “มาตา” อาคารแห่งกรุงพนมเปญปัจจุบัน ที่ผุดพรายไปด้วยตึกอาคารทันสมัยและปล่อยให้โบแด็งกลายเป็นสุสานแห่งความอัปลักษณ์

แต่กลับเป็นเขตคามแห่งความทุกข์สุข และทุกอย่างในความเป็นมนุษย์ตลอด 5 ทศวรรษครึ่งที่เนียงชราโบแด็งทำหน้าที่พักพิงแก่ผู้คนนับแสน ทั้งแบบถาวรและชั่วคราว ทั้งในยามสงครามและยามสันติ ยามพนมเปญทุกข์ยากและยามพนมเปญหรรษา

ต่อบทส่งท้ายแห่งการอำลา ที่เนียง กวิช ได้มอบให้เธอ-โบแด็งอย่างซื่อตรงต่อร่องรอย และจริตซากสุดท้ายที่เหลืออยู่ในสังขารของอาคารชรา

ลาก่อน…โบแด็ง

มาตุคามแห่งสังขารที่ฉันจะจดจารในชีวิต