คนมองหนัง | “ชะตาธิปไตย” : การเมืองไทยกับ “3 คุณหมอ” และคำถามข้ออื่นๆ

คนมองหนัง

“ชะตาธิปไตย” เป็นหนังสารคดีไทยเรื่องใหม่ที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ลิโด้ คอนเน็คท์

นี่เป็นผลงานของ “นพ.เดชา ปิยะวัฒน์กูล” คุณหมอที่หลงรักภาพยนตร์และเคยทำหนังสั้นมาไม่น้อย

ส่วน “ชะตาธิปไตย” คือหนังยาวเรื่องแรกสุดของหมอเดชา

วัตถุดิบหลักที่โดดเด่นเป็นอย่างมากของภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้คือ การมีโอกาสได้ติดตามนักการเมือง 3 ราย ไปหาเสียง พบปะชาวบ้าน และทำงานในพื้นที่ ช่วงก่อนการเลือกตั้งทั่วไปปี 2554

นักการเมือง 3 คนในหนังได้แก่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ผู้สมัคร ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย นพ.บัญญัติ เจตนจันทร์ ผู้สมัคร ส.ส.จันทบุรี พรรคประชาธิปัตย์ และ นพ.ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ ผู้สมัคร ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน (ข้อมูล ณ ขณะนั้น)

ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นเพื่อนนักเรียนแพทย์ที่ศิริราชของหมอเดชา ผู้กำกับฯ

ไม่ว่าคนทำ/ถ่ายหนังจะตั้งใจหรือไม่ แต่ไปๆ มาๆ การตามติด 3 คุณหมอนักการเมืองบนสังเวียนเลือกตั้ง ได้นำไปสู่ผลลัพธ์ 3 รูปแบบบนจอภาพยนตร์

“ชะตาธิปไตย” ประสบความสำเร็จในการฉายภาพความเป็นมนุษย์ธรรมดาสามัญของหมอชลน่าน

มนุษย์ผู้เคยผ่านการสูญเสียครั้งใหญ่ในวัยเยาว์ มนุษย์ผู้คลุกคลีเข้าถึงชาวบ้านผ่านสื่อกลาง เช่น สุราและซองทำบุญงานศพ มนุษย์ผู้ชายที่อาจไม่ได้มีแง่มุมความคิด/ทัศนคติดีงามราวพระเอกไปเสียทุกเรื่อง

หนังทำหน้าที่ได้น่าพึงพอใจในการฉายภาพหมอบัญญัติ ผ่านสถานะนักการเมืองผู้มีอดีตเป็น “นายแพทย์” ซึ่งเคยประสบกับทางแพร่งของวิชาชีพ

แม้ชีวิตทางการเมืองที่โลดแล่นอยู่ในจอของผู้สมัคร ส.ส.จันทบุรีผู้นี้จะแอบอิงอยู่ด้านหลังแกนนำพรรคประชาธิปัตย์รายอื่นๆ โดยเฉพาะอดีตนายกรัฐมนตรี อภิสิทธ์ เวชชาชีวะ มากไปหน่อยก็ตาม

ถ้าใครหวังจะมาดู “ภาพยนตร์สารคดีการเมือง” ที่ฉายภาพการต่อสู้ขับเคี่ยวผ่านการเลือกตั้งอันดุเดือดเข้มข้น “ชะตาธิปไตย” ก็เล่าเรื่องราวในแง่มุมนี้ได้อย่างสนุก เมื่อกล่าวถึงความพยายามในการหวนคืนสภาผู้แทนราษฎรของหมอภูมินทร์ เพื่อนคนแรกของรุ่นซึ่งได้รับเลือกเป็น ส.ส.

“ชะตาธิปไตย” เป็นหนังที่ถ่ายทำกันเมื่อ 8 ปีก่อน ซึ่งคุณภาพงานโปรดักชั่น-โพสต์โปรดักชั่นโดยเฉลี่ยยังไม่สมบูรณ์ และอุปกรณ์-โปรแกรมต่างๆ ยังเข้าถึงไม่ง่าย เหมือนในปัจจุบัน

หนังจึงมีปัญหาพอสมควรเรื่องการบันทึกเสียง ยิ่งพอดนตรีประกอบถูกแทรกเสริมเข้ามาอย่างฟุ่มเฟือย ผู้ชมจึงอาจรับฟังเสียงพูดของคุณหมอ 3 รายได้ไม่ชัดเจนนักในหลายๆ ซีน

ปัญหาเรื่องเสียงยังปรากฏในเสียงบรรยายช่วงเปิด-ปิดเรื่อง (ซึ่งน่าจะเป็นเสียงพูดของคุณหมอเดชาเอง) ที่จมหายท่ามกลางเสียงดนตรี กระทั่งจับใจความสำคัญได้อย่างยากลำบาก

(โดยยังไม่ต้องมานั่งถกเถียงกันว่าเนื้อหาสาระของเสียงบรรยายดังกล่าว มีจุดน่าสนใจหรือจุดอ่อนอยู่ตรงไหน อย่างไร)

ตามมุมมองส่วนตัว “ชะตาธิปไตย” นั้นมี “ส่วนที่หายไป” อยู่สองส่วน

ส่วนแรก คือ บริบทที่ขาดพร่องไปจาก “ชะตาธิปไตย” อย่างน่าเสียดายและน่าตั้งคำถาม

ส่วนที่สอง คือ ข้อจำกัดของภาพยนตร์สารคดีเรื่องหนึ่งที่บันทึกถ่ายทำกันเมื่อ 8 ปีก่อน ยามถูกนำมาเผยแพร่จัดวางในบริบทปัจจุบันอันผันแปร

แม้หนังสารคดีเรื่องนี้สามารถบอกเล่าสถานการณ์การเลือกตั้งปี 2554 โดยเชื่อมโยงกับบริบทรายล้อมอื่นๆ เช่น จุดเริ่มต้นของเหตุน้ำท่วมใหญ่ หรือกรณีพิพาทเขาพระวิหาร ได้อย่างน่าสนใจ ชวนขบคิดตีความ

แต่กลับมีองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งที่เกือบจะ “ล่องหน” ไปจาก “ชะตาธิปไตย” อย่างไม่น่าเชื่อ นั่นคือหนังแทบไม่แตะต้องเหตุการณ์ความขัดแย้ง-การปราบปรามทางการเมืองอันรุนแรง-เหี้ยมโหดในกรุงเทพมหานครเมื่อปี 2552-2553 อย่างจริงจัง ทั้งที่ระลอกเหตุการณ์ดังกล่าวมีความผูกพันลึกซึ้งกับผลการเลือกตั้งครั้งนั้น

(หนังเกริ่นถึงเรื่องราวปี 2552-2553 นิดหน่อย ในลักษณะบาดแผลของประเทศ ผ่านเสียงบรรยายตอนต้นเรื่อง และเราอาจสัมผัสความคุกรุ่นหรือบรรยากาศร้าวลึก ณ ห้วงเวลานั้นได้จากปฏิกิริยาเล็กๆ น้อยๆ ของบรรดาสามัญชนรอบกายสามคุณหมอ)

อีกประเด็นหนึ่งซึ่งคงกล่าวโทษ “ชะตาธิปไตย” ไม่ได้ คือสถานการณ์การเมืองจากปี 2554 มาถึงปี 2562 นั้นเปลี่ยนแปลงไปมหาศาล

ส่งผลให้เมื่อมานั่งดู “หนังสารคดีการเมือง” จาก 8 ปีที่แล้ว ในห้วงเวลานี้ เราจะพบความไม่ร่วมสมัยและคำถามที่ตอบไม่ได้ล่องลอยวนเวียนอยู่มากมาย เช่น

ทำไมรัฐประหารปี 2557 จึงเกิดขึ้น? และทำไมผลลัพธ์ของมันดูจะหยั่งรากลึกลงในสังคมการเมืองไทยจนยากรื้อถอน?

“นักการเมืองติดดิน” เช่นหมอชลน่าน กลายมาเป็นดาวสภาดวงเด่นได้อย่างไร?

หลังร่อนเร่พเนจรจากพรรคความหวังใหม่มาไทยรักไทย จากไทยรักไทยมาเพื่อแผ่นดิน/ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน แล้วลงเอยกับพลังประชารัฐในการเลือกตั้งปี 2562 หมอภูมินทร์ยังคงเป็น “นักการเมืองคนเดิม” อยู่หรือไม่?

เกิดอะไรขึ้นกับพรรคประชาธิปัตย์และอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ ของหมอบัญญัติ?

แล้วพรรคอนาคตใหม่โผล่ขึ้นมาจากไหน?

ฯลฯ

นี่ย่อมไม่ใช่คำถามที่ภาพยนตร์สารคดีอย่าง “ชะตาธิปไตย” ต้องตอบให้ได้ครบถ้วนทั้งหมด แต่เป็นคำถามสำหรับผู้คนทุกภาคส่วนในสังคมไทยมากกว่า