ลั่นฆ้องพร้อมเพย์… สู่สังคมไร้เงินสด สร้างโอกาสเอสเอ็มอี… ลุยตลาดอี-คอมเมิร์ซ

ในที่สุด…จากความร่วมมือของกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย ซึ่งมีธนาคารสมาชิก 21 แห่ง และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันผลักดัน “พร้อมเพย์” (Promptpay) ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงิน และบริการทางเลือกใหม่ให้กับประชาชน ธุรกิจและหน่วยงานต่างๆ ใช้ในการโอนเงินและรับเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้หมายเลขบัตรประชาชนหรือหมายเลขโทรศัพท์มือถือ แทนบริการแบบเดิมที่ใช้เลขบัญชีธนาคาร ได้เป็นผลสำเร็จ

“พร้อมเพย์” เป็นหนึ่งโครงการตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ หรือเนชั่นแนล อีเพย์เมนต์ ที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558 หวังสร้างระบบการชำระเงินผ่านทางอีเพย์เมนต์ให้สอดรับไปกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป

โดยเฉพาะการขยายตัวของการใช้และเข้าถึงอินเตอร์เน็ต รวมทั้งการใช้สมาร์ตโฟนที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการการเงินได้ทั่วถึง และช่วยลดต้นทุนการเงินให้กับประชาชนทั่วไปและภาคธุรกิจ ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)

นอกจากนี้ ยังมีโครงการการส่งเสริมให้เกิดการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ในการซื้อขายสินค้าทั่วประเทศและการติดตั้งเครื่องรับบัตร (อีดีซี) ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ตลอดจนร้านค้ารายย่อยต่างๆ การพัฒนาระบบภาษี เพื่อให้การจัดเก็บภาษีมีประสิทธิภาพมากขึ้น

รวมทั้งอีเพย์เมนต์ของภาครัฐ ก็จะพัฒนาระบบจ่ายคืนภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งการจ่ายสวัสดิการให้กับผู้มีรายได้น้อยหรือกลุ่มที่ได้ลงทะเบียนกับภาครัฐไว้ และการส่งเสริมให้ประชาชนใช้ระบบอีเพย์เมนต์มากขึ้น

เป้าหมายสูงสุดของเนชั่นแนล อีเพย์เมนต์ คือการผลักดันให้ไทยเป็นสังคมไร้เงินสด หรือ Cashless Society

พร้อมเพย์ เป็นบริการทางเลือกและเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญและเป็นจุดเปลี่ยน โดยตั้งแต่วันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา การโอนเงินด้วยระบบพร้อมเพย์ระหว่างบุคคลกับบุคคล สามารถโอนเงินระหว่างกันได้อย่างอิสระ ทุกที่ทุกเวลา เพราะเป็นการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งโมบายแบงกิ้ง อินเตอร์เน็ตแบงกิ้ง รวมทั้งเครื่องเอทีเอ็ม

อีกทั้ง ยังไม่ต้องกังวลเรื่องค่าธรรมเนียม เพราะคิดค่าธรรมเนียมถูกลง

โดยการโอนเงินไม่เกิน 5,000 บาท ฟรีค่าธรรมเนียม

ส่วนมากกว่า 5,000-30,000 บาท เสียค่าธรรมเนียมไม่เกิน 2 บาท

และโอนเงินมากกว่า 30,000-100,000 บาท คิดค่าธรรมเนียมการโอน 5 บาท

และมากกว่า 100,000 บาทขึ้นไป คิดค่าธรรมเนียม 10 บาท

ซึ่งจากเดิมการโอนเงินต่างธนาคาร หรือการโอนเงินไปยังสาขาธนาคารในจังหวัดอื่นต้องเสียค่าธรรรมเนียมครั้งละ 25-35 บาทต่อครั้ง

ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนใช้งานแล้วกว่า 20 ล้านบัญชี และคาดว่าภายในปีนี้จะมียอดลงทะเบียนมากกว่า 30 ล้านบัญชี จากจำนวนบัญชีเงินฝากรวมที่มีอยู่กว่า 88 ล้านบัญชี

นอกจากการโอนเงินระหว่างบุคคลกับบุคลแล้ว ภาครัฐยังใช้พร้อมเพย์เป็นช่องทางการจ่ายสวัสดิการและจ่ายเงินภาษีให้กับประชาชนผ่านหมายเลขบัตรประชาชนด้วย

“การที่ประเทศไทยจะก้าวสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจซึ่งถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ดังนั้น ภาครัฐจึงมีบทบาทที่สำคัญในการสนับสนุนทุกภาคส่วน โดยการจัดการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการพัฒนาประเทศ รัฐบาลเน้นในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตและการลงทุน เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอินเตอร์เน็ต เพื่อพัฒนาการค้าขายผ่านช่องทางออนไลน์ (อี-คอมเมิร์ซ)” สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการพร้อมเพย์

และกล่าวว่า “อีกด้านที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ภาคบริการ โดยเฉพาะบริการทางด้านการเงิน เพราะหากบริการทางการเงินไม่ดีก็จะไม่เอื้อต่อการค้า ดังนั้น จึงจำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการเงินที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ”

ขณะที่ วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ กล่าวว่า แบงก์ชาติหวังเป็นอย่างยิ่งว่าปริมาณการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์จะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะสนับสนุนให้การทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจของทุกภาคส่วนดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว เพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับระบบการเงินไทย โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ถือเป็นโอกาสอย่างยิ่งในการขยายธุรกิจผ่านช่องทางอี-คอมเมิร์ซ เพราะเป็นกระแสที่เกิดขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและเป็นบริการที่ต้นทุนต่ำ และมีความสะดวกสบาย ซึ่งผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์จากบริการพร้อมเพย์ได้ในแง่การรับชำระสินค้าและบริการ

ทั้งนี้ วันที่ 1 มีนาคมนี้ จะเริ่มเปิดให้ลงทะเบียนพร้อมเพย์ของนิติบุคคล รวมทั้งจะเริ่มให้บริการโอนเงินจากบัญชีผ่านพร้อมเพย์เข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อีวอทเลท) ในช่วงไตรมาสที่ 2 และบริการเสริมอื่นๆ อาทิ เมื่อไปใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางอี-คอมเมิร์ซ ร้านค้าสามารถส่งข้อความมาให้ผู้ซื้อจ่ายเงินได้ผ่านกลไกของพร้อมเพย์ รวมไปถึงการชำระเงินตามใบแจ้งหนี้หรือบิลเพย์เมนต์ต่างๆ ในช่วงปลายปีนี้

“การขยายช่องทางอี-คอมเมิร์ซถือเป็นโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพราะตลาดจะไม่ได้ถูกจำกัดแค่ในประเทศไทย แต่หมายถึงตลาดจากทั่วโลก ซึ่งการพัฒนาระบบเพย์เมนต์ในระยะต่อไปก็จะให้มีความเชื่อมโยงกับประเทศอื่นๆ ด้วย”

ผู้ว่าการแบงก์ชาติ กล่าว

ด้านความเห็นจาก เบญจรงค์ สุวรรณคีรี หัวหน้านักวิเคราะห์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจธนาคารทหารไทย หรือ ทีเอ็มบี อนาไลติกส์ ให้มุมมองว่า พร้อมเพย์จะเข้ามาช่วยสนับสนุนธุรกิจอี-คอมเมิร์ซของเอสเอ็มอี ซึ่งเอสเอ็มอีควรให้ความสำคัญกับช่องทางอี-คอมเมิร์ซ เพราะเป็นช่องทางที่จะช่วยขยายตลาดให้กว้างขึ้น จากที่มีหน้าร้านแค่อย่างเดียว แต่การทำการตลาดจะต้องเลือกให้เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้า

สำหรับพร้อมเพย์นั้นจะช่วยให้ผู้ประกอบการที่มีการจำหน่ายสินค้าทั้งผ่าน ไลน์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ได้ประโยชน์ เพราะหากเจ้าของมีการลงทะเบียนพร้อมเพย์ ลูกค้าสามารถโอนเงินได้โดยไม่มีค่าธรรมเนียม ซึ่งตลาดนี้ยังสามารถขยายตัวได้อีกมาก เพราะสัดส่วนการซื้อขายของรายย่อยในภาพรวมตลาดออนไลน์มีสัดส่วนเพียง 1 ใน 3 ของตลาดทั้งหมด เพราะส่วนใหญ่ยังเป็นการซื้อขายของธุรกิรกับธุรกิจเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม พร้อมเพย์ยังเป็นแพลตฟอร์มที่มีขนาดเล็ก เมื่อเทียบกับระบบเพย์เมนต์อย่างอาลีบาบา หรืออเมซอน ซึ่งเป็นโจทย์ที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการพัฒนาในระยะต่อไปเพื่อส่งเสริมการขยายตัวของอี-คอมเมิร์ซ

และเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีไทยด้วย

 

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังรายงานด้วยว่า ตลาดอี-คอมเมิร์ซของไทย ยังมีขนาดเล็กมาก คิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่า 3% ของตลาดค้าปลีกทั้งหมด ซึ่งประเทศอื่นๆ

อาทิ จีน มีสัดส่วนกว่า 10% ของมูลค่าค้าปลีก

ส่วนเกาหลีใต้อยู่ที่ 9% และสหรัฐอยู่ที่ 8%

โดยสินค้าและบริการที่ได้รับความนิยมผ่านช่องทางออนไลน์ ได้แก่ สินค้าแฟชั่น อุปกรณ์ไอที สุขภาพและความงาม บริการเดินทางและท่องเที่ยว ซึ่งช่องทางการชำระเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ใช้ธนาคารออนไลน์ 18.5% และเอทีเอ็ม 31.2% ซึ่งพร้อมเพย์ก็จะเป็นบริการที่เข้ามาเสริมและเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มมากขึ้น

ดังนั้น ธุรกิจเอสเอ็มอี ควรใช้โอกาสจากพร้อมเพย์ ให้เป็นประโยชน์ เพื่อการขยายและเพิ่มยอดขายให้กับธุรกิจ