เราอยู่ในโลกคู่ขนาน? หลังเหตุการณ์ผู้พิพากษายิงตัว วิวาทะเดือด สะท้อนสังคมแตกแยกสุดขั้ว!

ความคิดคู่ขนาน หลังเหตุการณ์ผู้พิพากษายิงตัว วิวาทะเดือด สะท้อนสังคมแตกแยกสุดขั้ว

สัปดาห์ที่ผ่านมา เว็บไซต์ข่าวสำคัญระดับโลกหลายสำนักต่างเผยแพร่ข่าวผู้พิพากษายิงตัวเองที่จังหวัดยะลา เพื่อประท้วงต่อการถูกแทรกแซงคำวินิจฉัยอย่างแพร่หลาย

เพราะไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ กับการเอาชีวิตเข้าแลก เพื่อประกาศจุดยืนของตัวเองต่อความไม่เป็นธรรม

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ สะท้อนปัญหาหรือแก่นของกระบวนการยุติธรรมในระดับสำคัญ

ยิ่งในกรณีที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเรื่องของความมั่นคง

ก่อให้เกิดผลกระทบทางการเมืองสูง ประเด็นค่อนข้างอ่อนไหวหลังคำพิพากษา

ความแตกแยกทางการเมืองของไทยร้าวลึก สะท้อนออกมาผ่านการถกเถียงของคนในสังคม

เห็นได้จากวิวาทะของผู้คนในโลกออนไลน์ ที่ออกมาให้ความเห็นหรือแสดงท่าทีต่อกรณีดังกล่าว

โดยน่าจะจำแนกได้ประมาณ 3 กลุ่ม

ประกอบด้วย กลุ่มสนับสนุนชื่นชม

กลุ่มคัดค้านต่อต้านไม่เห็นด้วย

และกลุ่มหลักการ

ในฝ่ายที่ชื่นชมยกย่องนั้น หลังเกิดเหตุการณ์ ได้มีการตั้งแฮชแท็ก #ผู้พิพากษายิงตัวตาย จนกลายเป็นลำดับที่ 1 ในโลกออนไลน์ มีผู้รีทวีตต่อหลายแสนครั้ง

เช่นเดียวกับนักการเมืองโดยเฉพาะฝั่งตรงข้ามกับรัฐบาล นำโดยพรรคอนาคตใหม่และพรรคเพื่อไทย ที่ออกมาเรียกร้องให้มีการสอบสวนสืบสวนกรณีดังกล่าว ตามที่ผู้พิพากษาได้ให้รายละเอียดไว้อย่างถี่ถ้วน ก่อนที่จะตัดสินใจลั่นไก

เพราะวันเกิดเหตุการณ์ยังมีหลายเรื่องราวที่ยังค้างคาใจ

พรรคอนาคตใหม่ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการเปิดเผยกล้องวงจรปิดอย่างน้อย 1 ตัวในห้องในวันพิจารณาคดี อ้างว่ามีผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่า ทันทีที่เกิดเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่ของ กอ.รมน. ได้วิ่งเข้าไปเอาโทรศัพท์ของผู้พิพากษา และมีการกระทำการบางอย่างกับโทรศัพท์ ต่อมาโพสต์และเฟซบุ๊กไลฟ์หลักฐานถูกลบออก

“จึงขอถามว่า เจ้าหน้าที่ กอ.รมน.เข้าไปยุ่มย่ามกับโทรศัพท์มือถือของผู้พิพากษาและลบเฟซบุ๊กไลฟ์รวมทั้งโพสต์ต่างๆ อีกอย่างน้อย 2 โพสต์ที่เกี่ยวกับปัญหาข้อเรียกร้องเรื่องการแทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดีจริงหรือไม่? มีเหตุผลจำเป็นอะไร? และมีอำนาจตามกฎหมายหรือไม่?” แถลงการณ์ระบุ

ด้านนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ออกมาเปิดเผยในช่วงแรกว่ามีความพยายามจากนายคณากรในการติดต่อและบอกข้อมูลการแทรกแซงการทำคำพิพากษาของผู้พิพากษา

ซึ่งช่วงหลังนายปิยบุตรชี้แจงเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้มีการติดต่อกันแต่อย่างใด กรณีดังกล่าวอยู่ระหว่างการตรวจสอบของพรรค และไม่เคยนัดหมายกันจนกระทั่งเกิดเหตุการณ์วันที่ 4 ตุลาคม

หลังเกิดการตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรม ที่ระดับผู้พิพากษายังถูกแทรกแซงได้ ตามรายละเอียดของคำพิพากษากว่า 25 หน้า

จนเกิดกระแสกดดันให้มีการสอบสวน ทำความจริงให้ปรากฏ

จู่ๆ ก็เกิดกระแสจับผิด เหตุการณ์ผู้พิพากษายิงตัวเอง เริ่มจากเพจการเมือง ที่ไม่สามารถระบุผู้รับผิดชอบได้ ดิสเครดิตเรื่องส่วนตัวนายคณากร

ไปจนถึงการจุดประเด็นว่าเป็นคนเลือกข้างทางการเมือง และวิจารณ์กรณีการร้องเรียน ว่าส่งเอกสารราชการให้นักการเมืองที่ตนเองฝักใฝ่ รวมถึงการพกปืนเข้าในห้องพิจารณา

ก่อนขมวดประเด็นจบท้ายว่ามีเจตนาไม่บริสุทธิ์

โพสต์ดังกล่าวมีคนไลก์และแชร์ต่อจำนวนมาก ต่อมามีสำนักข่าวออนไลน์ที่เป็นสื่อหลักนำโพสต์ไปเผยแพร่ต่อ

หลังจากนั้นก็มีประชาชนและนักการเมืองซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ยืนตรงข้ามกับพรรคอนาคตใหม่จับประเด็นดังกล่าวไปขยายต่อ

บางรายออกไปในลักษณะสุดโต่งสุดขั้ว

เริ่มจาก นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่วิจารณ์กรณีดังกล่าวว่าเป็นความผิดพลาดของพรรคอนาคตใหม่ในการให้ความเห็นเรื่องผู้พิพากษายิงตัวเอง โดนวิจารณ์ว่าพรรคอนาคตใหม่กำลังแทรกแซงกรรมการตุลาการทั้งที่ตัวเองไม่มีหน้าที่ พร้อมเรียกร้องให้หยุดเบี่ยงเบนประเด็น กล่าวหาเจ้าหน้าที่ กอ.รมน.

ก่อนทิ้งท้าย มองว่าการกระทำดังกล่าวของพรรคอนาคตใหม่ถือเป็นภัยต่อการปกครอง

เช่นเดียวกับนายกนก รัตน์วงศ์สกุล พิธีกรายการข่าวชื่อดัง ที่โพสต์ข้อความว่า ยิงตัวไม่ตาย แต่ความเป็นผู้พิพากษา คณากร ตายคาที่! พร้อมตั้งคำถามความสัมพันธ์ของนายปิยบุตรกับนายคณากร ที่ติดต่อกัน ว่าเป็นไปได้อย่างไร ทำแบบนี้ได้อย่างไร

ด้านกรณีนางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.จังหวัดราชบุรี พลังประชารัฐ โพสต์ข้อความระบุว่า “เมื่อมีคนพยายามเปลี่ยน แต่เปลี่ยนไม่ได้ เพราะสังคมมีความฉลาด คนหนึ่งจัดฉากยิงตัวตาย ไม่ตาย ไม่เนียน เพราะเป็นคนมีความชำนาญเรื่องปืน ต้องการทำลายความน่าเชื่อถือ ต้องการทำลายสถาบันศาล โกหก ใส่ร้าย จัดฉาก แต่ไม่เนียน สังคมฉลาดพอ มันไม่ง่ายหรอกที่จะทำลายล้างสถาบันที่มีความเข้มแข็ง”

นอกจากนี้ น.ส.ปารีณายังโพสต์กล่าวหาร้ายแรง ว่าไปสมัครสมาชิกพรรคการเมืองหนึ่ง และช่วยพรรคการเมืองดังกล่าวทำร้ายแผ่นดิน แม้ น.ส.ปารีณาไม่ได้ระบุชื่อ แต่เรื่องราวดังกล่าวก็สอดรับกับประเด็นที่เกิดขึ้น

ต่อมายังโพสต์อีกว่า กระสุนซ้อมยิงสุนัขยังไม่ตายเลย แล้วคนจะตายได้อย่างไร

ข้อสังเกตของผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อกิตติธัช ชัยประสิทธิ์ ที่ได้รับการแชร์ต่ออย่างมาก ว่าจุดที่ผู้พิพากษาถูกยิงนั้นคือจุดไหนกันแน่ ทำไมไม่ต้องผ่าตัด รักษาแค่ 1 สัปดาห์ก็ออกจากโรงพยาบาลได้

โดยสเตตัสดังกล่าว น.ส.ปารีณาได้เข้าไปขออนุญาตนำมาแชร์ต่อด้วย

มีปฏิกิริยาจากขั้วความเห็นอีกฝั่งหนึ่งทันที เช่น วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ นักเขียนเจ้าของรางวัลศรีบูรพา โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง “หัวใจพวกคุณทำด้วยอะไร”

ระบุว่า อ่านข่าวผู้พิพากษายิงตัวตาย แล้วอ่านบรรดานักสืบทั้งหลาย ตั้งข้อสงสัยว่าเป็นการจัดฉากยิงตัวเองไม่ให้ตาย หากยังมีความเป็นมนุษย์หลงเหลืออยู่ อยากถามว่า จะมีใครสติแตก บ้าพอจะเสี่ยงชีวิตยิงตัวเองไม่ให้ตาย

“ถามจริงเหอะ ใครจะมั่นใจขนาดนั้นว่ายิงตัวเองแล้วไม่ตาย เป็นพวกคุณ คุณกล้าเสี่ยงไหม แต่เก่งกันจริงในการสืบสวนเชิงเย้ยหยัน ถามจริงเหอะ ในความเป็นมนุษย์ หัวใจพวกคุณทำด้วยอะไร หรือมันหายไปนานแล้ว”

ด้านนายปิยบุตรออกมาแถลงตอบโต้ ย้ำว่า การนำข้อร้องเรียนของนายคณากรไปหารือในคณะกรรมาธิการกฎหมาย ไม่ใช่การแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม แต่เป็นอำนาจหน้าที่ กมธ.อยู่แล้ว การดำเนินงานในเรื่องนี้เป็นความพยายามเพื่อปรับปรุงและรักษาความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรม

“และที่สำคัญที่สุด อยากย้ำว่าโปรดอย่าหลงประเด็นที่บางฝ่ายพยายามโหมบิดเบือนว่า ผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ จัดฉากสร้างเรื่อง ฝักใฝ่การเมือง ทำผิดกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ มากมาย จนทำให้ข้อเรียกร้อง ข้อเท็จจริง และความตั้งใจของคุณคณากรสูญหายไปกับกระแสข่าว”

นายปิยบุตรกล่าว

สุดท้ายคือฝ่ายที่ให้ความเห็นในเชิงหลักการกลางๆ

เช่น นายไพศาล พืชมงคล อดีตสมาชิกวุฒิสภา ที่เตือนนักการเมืองและกองเชียร์ว่าอย่าเที่ยวเป็นวัวสันหลังหวะ ประเด็นมันอยู่แค่เพียงว่า มีคำสั่งลับให้เปลี่ยนคำตัดสินขององค์คณะผู้พิพากษา จากยกฟ้องปล่อย 5 จำเลย เป็นให้ประหารจำเลย 3 คน และจำคุกจำเลย 2 คนจริงหรือไม่? คณะกรรมการตุลาการท่านจะสอบสวนเอง คนนอกอย่ายุ่ง

หรือนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ก็บอกว่า ขอให้รอฟังการสอบสวน ให้คนที่เขารู้เรื่องมาทำความกระจ่างออกมา เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน อย่าไปพูดเลย เราไม่รู้จริง ผู้พิพากษาก็นอนเจ็บอยู่ ต้องให้ตัวท่านเองเป็นคนบอก พร้อมทั้งยืนยันว่าผู้บังคับบัญชาสามารถดูคำพิพากษาก่อนได้ แต่จะไปแทรกแซงไม่ได้ นี่คือหลักสากล

เช่นเดียวกับนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ความเห็นในฐานะนักเรียนกฎหมาย ยืนยันว่าแม้แต่หัวหน้าศาลก็ตรวจสำนวนได้ ให้ความเห็นแย้งได้ แนะนำได้ แต่แทรกแซงไม่ได้

ปิดท้ายที่นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้า ปชป. ที่พยายามเตือนสติว่าอย่าทำเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องการเมืองมาก อย่าไปขัดแย้งว่าผู้พิพากษาฝักใฝ่การเมืองหรือไม่ เรื่องใหญ่คือต้องไปดูว่า มันมีการแทรกแซงคำพิพากษาจนผู้พิพากษาขาดความเป็นอิสระจริงหรือเปล่า ถ้าจริงก็ต้องมีการปรับแก้กฎระเบียบ กฎหมาย

“ถามใจท่านดูว่า คำพิพากษาถูกแทรกแซงได้หรือไม่ ถ้าท่านคิดว่าไม่สามารถถูกแทรกแซงได้ ก็ปล่อยเรื่องนี้ไป แต่หากคิดว่าคำพิพากษาถูกแทรกแซงได้ ท่านในฐานะเป็นหุ้นส่วนของประเทศนี้ก็ต้องสติปัญญาในการแก้ไข อย่าใช้อารมณ์หรือความสะใจ”

นายนิพิฏฐ์กล่าว