จรัญ พงษ์จีน : เมื่อ “ซีพีเอช” เจอแรงกดดัน จากรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

จรัญ พงษ์จีน

แทบไม่น่าเชื่อ แต่ต้องเชื่อ โลกกลมๆ อะไรก็เกิดขึ้นได้ ขนาดกับ “บริษัทในเครือซีพี หรือเจริญโภคภัณฑ์” ยักษ์ใหญ่หมายเลข 1 แห่งสยามเมืองยิ้ม ก็โดน “ลองของ” เสียรังวัดไปไม่ใช่น้อยๆ เป็นเหมือนกัน

ขนาด “ธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ ยังสะอึก

กรณี “บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร” ในนาม “กลุ่ม CPH” ที่ชนะการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คือ “ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา”

ระยะทาง 220 กิโลเมตร มูลค่าเงินลงทุนกว่า 2.24 แสนล้านบาท เวลา 50 ปี ในรูปแบบการลงทุน PPP Net Cost คือให้เอกชนลงทุนทั้งหมด โดยรัฐทยอยจ่ายคืนค่างานก่อสร้างโยธา เพื่อลดปริมาณหนี้สาธารณะของรัฐ และให้เอกชนผู้ลงทุน

โดยพันธมิตรของกลุ่มซีพีเอช ไม่ได้ขี้ๆ นอกจากบริษัทซีพี หรือเจริญโภคภัณฑ์เป็นตัวยืนแล้ว ยังมียักษ์ใหญ่รjวมแจมคับคั่ง ทั้ง บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ, บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น, บมจ.ช.การช่าง, บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นต้น

“เจ้าสัวธนินท์” ปลื้มเป็นนักเป็นหนา ที่ผู้ร่วมทุน จับคู่ปรปักษ์ บริษัทจาก “ประเทศจีน” มาลงเรือลำเดียวกับ “ญี่ปุ่น” ได้

ตามไทม์ไลน์ ผู้ชนะการประมูลคือ “ซีพีเอช” จะต้องมาเซ็นสัญญาสัมปทานกับการรถไฟแห่งประเทศไทย และลงนามเดินหน้าก่อสร้างภายในวันที่ 15 ตุลาคม 2562

แต่ตั้งแต่ชนะการประมูลมาเป็นเวลาเกือบ 1 ปีแล้วที่ซีพีเอชยังไม่ได้จรดปากกาลงนามในสัญญาเพื่อก่อสร้างแต่ประการใด จนล่าสุดคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ทนไม่ไหว ได้มีหนังสือแจ้งไปยังกลุ่มซีพีเอช เพื่อให้มาลงนามในวันที่ 15 ตุลาคม 2562 ตามเส้นตาย ก่อนที่จะหมดระยะเวลายืนราคาในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2562

ประเด็นที่ทำให้ “กลุ่มซีพีเอช” ยังเล่นบทกำนันเฉย ไม่ยอมลงนามเซ็นสัญญา เพราะติดขัดปัญหาส่งมอบพื้นที่ของ ร.ฟ.ท.ที่จะใช้ในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน รวมทั้งสิ้น 4,421 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ก่อสร้าง 3,151 ไร่ และพื้นที่เวนคืน 850 ไร่

ที่ทางผู้ชนะประมูลเห็นว่า การส่งมอบพื้นที่เป็นเรื่องสำคัญสุดสำหรับกลุ่มซีพีเอช เบื้องต้น ร.ฟ.ท.อ้างว่ามีความพร้อมส่งมอบได้เพียง 72 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่ไม่ชัดเจนว่าจะส่งมอบให้นั้น มีอุปสรรคเกี่ยวกับการบุกรุก 210 ไร่ พื้นที่เช่า 80 กว่าสัญญา และพื้นที่ที่ยังมีสาธารณูปโภคสำคัญ ซึ่งรื้อถอนยาก ทั้งเสาไฟฟ้าแรงสูง ระบบบำบัดน้ำเสีย ท่อน้ำมัน-ท่อก๊าซ-ท่อระบายน้ำ

ถือว่ามีความเสี่ยงสูง มีผลกระทบต่อแผนก่อสร้าง เครดิตในการหาแหล่งเงินกู้จะลำบากมากขึ้น

ผู้ชนะประมูล ได้แก่ “กลุ่มซีพีเอช” ไม่ยอมเซ็นสัญญาส่งมอบเพื่อเริ่มต้นโครงการ หากยังไม่มีความพร้อมเรื่องการส่งมอบพื้นที่ ซึ่งทาง ร.ฟ.ท.เจ้าของพื้นที่จะต้องรับปากและเคลียร์พื้นที่ให้เรียบร้อยก่อน เพื่อจะได้เริ่ม “นับหนึ่ง” ตามเงื่อนไขของการก่อสร้าง ที่กำหนดกรอบไว้ 5 ปี โดยมีแผนเปิดให้บริการปี 2567

ประเด็นดังกล่าว คณะกรรมการคัดเลือกฯ เห็นว่า พร้อมจะส่งมอบและเคลียร์ผู้บุกรุกที่ดินเวนคืนได้ โดยให้เซ็นสัญญาไปก่อน เพื่อให้ทันกำหนดระยะเวลายืนราคาในวันที่ 7 พฤศจิกายน

 

เมื่อต่างฝ่ายต่างถือคัมภีร์คนละเล่ม ตำราคนละชุด โอกาสที่ไฮสปีด 3 สนามจะสะดุดมีแนวโน้มสูงยิ่ง และงานนี้ดูเหมือนว่า “เสี่ยหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกระทรวงคมนาคมอีกทอด กับ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประสานเสียงกันเป็นปี่เป็นขลุ่ย

ออกมาเสียงเข้มเสียงเขียว กดดัน “ซีพีเอช” ลูกข่ายของ “ซีพี” บริษัทที่ “เจ้าสัวธนินท์” นั่งแท่นประธาน ราวกับคนไม่เคยรู้จักมักคุ้นกันมาก่อนงั้นๆ

โดยประกาศเสียงดังฟังชัดประมาณว่า ต้องเร่งรัดให้ซีพีเอชลงนามพร้อมแนบหลักประกันสัญญาจำนวน 4,500 ล้านบาทภายในวันที่ 15 ตุลาคม หากไม่ลงนามจะถูกขึ้นบัญชีดำ ปิดกั้นการประมูลในอนาคต เพราะเป็นผู้ทิ้งงานและจะต้องริบเงินประกันซองราคา 2,000 ล้านบาททันที

“เสี่ยหนู” เสริมว่า กลุ่มซีพีเอช ผู้ชนะการประมูลต้องปฏิบัติตามสัญญาที่ระบุไว้ในทีโออาร์ ในฐานะยื่นราคาต่ำสุด ที่ผ่านมาได้เจรจาหลายรอบและได้ปรับปรุงเงื่อนไขที่ทำได้ รัฐบาลไทยในฐานะคู่สัญญาจะปรับปรุงเงื่อนไข,kdไปกว่าสัญญาไม่ได้แล้ว เพราะจะมีผู้เสียหายเกิดขึ้น และผู้แก้สัญญาจะมีความผิดมาตรา 157 คือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

“คิดว่าวันที่ 15 ตุลาคม กลุ่มซีพีเอชจะมาลงนามสัญญาก่อสร้างแน่นอน เพราะถ้าไม่มาจะต้องโดนแบล็กลิสต์จากรัฐ เป็นการเสียชื่อบริษัท ยิ่งกว่านั้นมันหมายถึงว่านอกจากซีพีแล้ว กลุ่มผู้ร่วมทุนจะได้รับผลกระทบในการประมูลงานของรัฐในอนาคตด้วย เรียกว่าผลเสียมีมหาศาล” เสี่ยหนูคำราม

กรณีที่ว่า หากซีพีเอชไม่ยอมมาเซ็นสัญญา ร.ฟ.ท.จะใช้สิทธิตามที่กำหนดไว้ คือดำเนินการริบหลักประกันซองวงเงิน 2,000 ล้านบาท หรือเรียกร้องจากผู้ออกหลักประกันซอง และเรียกค่าเสียหาย รวมทั้งพิจารณาให้เป็น “ผู้ทิ้งงาน” ตามระเบียบของทางราชการต่อไป

เจอเข้าเหลี่ยมนี้ ซีพีเอชกระอักเลือดเป็นลิ่มๆ นอกจากจะโดนขึ้นบัญชีดำกันถ้วนหน้าแล้ว หากการประมูล 3 สถานีล้มเหลว ทางการขึ้นกระดานไว้แล้วจะเรียกผู้ชนะประมูลลำดับถัดไปมา “เสียบแทน” ทันที

บริษัทที่จะถูกหวยคือ BSR เอกชนที่เสนอวงเงินขอให้รัฐสนับสนุนคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันเกินกรอบอยู่เล็กน้อยมาเจรจาทันที โดยที่งานนี้ซีพีเอชจะต้องจ่ายส่วนต่างที่เกินกรอบดังกล่าวด้วย

บริษัทบีเอสอาร์ที่ยืนจังก้า ค้ำถ่อรอเสียบ มีกิจการร่วมค้าประกอบด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิงส์, บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง และบริษัท :bโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น

งานนี้เรียกว่า “ใหญ่ฟัดใหญ่” ด้วยประการที่ต้องเผชิญกับของแข็งขนาดเขื่องดังกล่าว มังกรระดับ “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” หนึ่งแห่งยุทธภพ ยังโอดครวญเสียงหลง

“ระยะหลังคุณอนุทินเปลี่ยนไปเยอะ”