ในประเทศ : คืนคำพิพากษา ให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรม ให้ประชาชน

คือข้อความที่นายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดยะลาได้โพสต์คำแถลงการณ์ของตนเองผ่านเฟซบุ๊ก

พร้อมระบุ

“คำแถลงของผม อาจมีน้ำหนักเบาบางเหมือนขนนก แต่หัวใจผู้พิพากษาหนักแน่นปานขุนเขา จึงมอบหัวใจชั่งบนตราชู ยืนยันคำแถลง ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ทุกท่าน”

ได้รับความสนใจจากสังคมอย่างสูง

เนื่องจากหลังเผยแพร่แถลงการณ์ ที่มีความยาว 25 หน้า

นายคณากรได้ใช้อาวุธปืนพกสั้นก่อเหตุพยายามฆ่าตัวตาย เป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส หลังพิพากษายกฟ้องคดียิงชาวบ้านใน อ.บันนังสตา จ.ยะลา เสียชีวิต 5 ราย ณ ห้องพิจารณา 4 ศาลจังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา

ในคำแถลงการณ์ดังกล่าว ได้เปิดเผยถึง “ใจความสำคัญ” ซึ่งระบุว่า “ถูกแทรกแซงอย่างหนักในการพิจารณาคดีครั้งนี้” และยังอ้างอิงถึงการพิจารณาคดีต่างๆ ก่อนหน้านี้อีกด้วย

ล่าสุด แม้โพสต์ทั้ง 2 ถูกลบทิ้งออกจากเฟซบุ๊กอย่างมีเงื่อนงำ

แต่ต่อมามีผู้บันทึกและเผยแพร่ต่อ

ยิ่งทำให้ทวีความสนใจขึ้นอีกหลายเท่า

 

แถลงการณ์ระบุว่า

คดีนี้ถูกเลื่อนการอ่านคำพิพากษาจากวันที่ 19 สิงหาคม มาเป็นวันที่ 4 ตุลาคม

เนื่องจากได้รับคำสั่งจากอธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 ให้ส่งร่างคำพิพากษาและสำนวนที่เขียนขึ้นไปให้ตรวจ

หลังผมพิจารณาแล้วเห็นว่าให้ยกฟ้องจำเลยทั้ง 5 คนเนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ

แต่อธิบดีผู้พิพากษาฯ มีคำสั่งให้แก้คำพิพากษาเป็นประหารชีวิตจำเลย 3 คน ส่วนอีก 2 คนให้จำคุก

คำสั่งแก้ไขคำพิพากษาเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เนื่องจากไม่ได้ทำตามระเบียบ

สั่งเป็นบันทึกลับ มาถึงผมโดยตรง จึงไม่ปฏิบัติตาม

เพราะกระบวนการยุติธรรมนั้นให้ความเป็นธรรมทั้งผู้เสียหายและจำเลย

ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐาน ปราศจากอคติทั้งปวง

ไม่ใช่กระทำโดยความรู้สึกส่วนตัวหรือตามคำสั่งของใคร

ถ้าหากทำเช่นนี้ได้ ต่อไปผู้พิพากษาก็ไม่ต้องเขียนคำพิพากษา

ไต่สวนคดีเสร็จแล้ว ก็ให้ส่งสำนวนให้อธิบดีเขียน

อธิบดีก็จะได้เป็นผู้มีอำนาจชี้ชะตาชีวิตผู้อื่นแต่เพียงผู้เดียว

 

แถลงการณ์ระบุอีกว่า

การตรวจร่างคำพิพากษา

การแก้ไขถ้อยคำในคำพิพากษาของผู้พิพากษาจนแทบไม่เหลือสำนวนเดิม

ย่อมทำให้ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นทั่วประเทศไม่มีอิสระในการพิจารณาคดี

เป็นการเหยียดหยามศักดิ์ศรีของผู้พิพากษา

ให้เป็นเพียง “นิติกรบริการ”

คล้ายกับว่าเป็นการจับเอาผู้พิพากษาทุกคนในภาคมาฝึกจัดระเบียบแถว

ให้ซอยเท้า ฝึกซ้ายหันขวาหันให้ชิน โดยอ้างว่าเพื่อความเป็นระเบียบ

เป็นการพยายามทำให้ผู้พิพากษาขาดความมั่นใจ

และให้เห็นว่าคำสั่งอธิบดีเป็นสิ่งที่ต้องกระทำตาม

 

แถลงการณ์ระบุอีกว่า ขณะนี้มีเพื่อนๆ ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นถูกกระทำเจ็บช้ำระกำใจไม่ต่างกัน

เพียงแต่มีความอดทนสูงและอาจไม่รุนแรงเท่าที่ผมพบเจอ

สิ่งที่ผมทำในวันนี้ ผมอาจถูกตั้งกรรมการสอบและคงถูกไล่ออกโดยไม่ได้รับเงินบำเหน็จ

เพราะผมเป็นไม้ซีกแต่ บังอาจไปงัดไม้ซุง

แต่ในช่วงนี้เป็นช่วงที่เกิดวิกฤต

ประชาชนเสื่อมศรัทธาในศาลยุติธรรมอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นทั่วประเทศไม่ได้รับความเป็นธรรมทางด้านเกียรติภูมิ

คือต้องรับกรรมที่พวกเขาไม่ได้เป็นผู้ก่อ

ยกตัวอย่างเรื่องบ้านพักตุลาการป่าแหว่งดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นทั่วประเทศไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

แต่สายตาของประชาชนมองผู้พิพากษาศาลชั้นต้นว่าบุกรุกป่าดอยสุเทพ ซึ่งไม่เป็นความจริง

แต่ไม่มีใครแก้ต่างให้

มีคำพิพากษาที่ประชาชนเห็นว่าไม่เป็นธรรมอีกหลายเรื่อง ซึ่งไม่ใช่ความผิดของผู้พิพากษาศาลชั้นต้น

แต่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งสัมผัสกับประชาชนต้องมารับกรรมที่ไม่ได้ก่อ

 

แถลงการณ์ระบุอีกว่า ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นทั่วประเทศไม่ได้รับความเป็นธรรมทางการเงิน อันทำให้เกิดความไม่มั่นคงต่อการดำรงชีพมาเป็นเวลานาน

ประการแรก ในเวลาราชการ ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นต้องพิจารณาคดีทำการสืบพยานในห้องพิจารณาและต้องสั่งคำร้องคำขอต่างๆ ตรวจร่างคำพิพากษาและคำสั่งที่พิมพ์แล้วทั้งวัน

เมื่อคดีเสร็จ การพิจารณาสืบพยานเสร็จต้องเขียนคำพิพากษา แต่ในตารางการทำงานกลับไม่มีเวลาเพื่อการเขียนคำพิพากษา…

ดังนั้น ผู้พิพากษาต้องเขียนคำพิพากษานอกเวลางาน แต่นั่นคือการเสียสละเวลาส่วนตัวโดยที่ไม่ได้รับค่าตอบแทน

ประการที่สอง ผู้พิพากษาถูกห้ามมิให้ประกอบอาชีพอื่นเพื่อหารายได้เพิ่มเติม ดังนั้น จึงไม่อาจหารายได้เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินเพิ่มขึ้นได้

การขาดความมั่นคงทางการเงิน อาจก่อให้เกิดความอ่อนแอ ไม่มั่นใจ อาจถูกขู่ให้กลัวได้ง่ายและถูกชักจูงใจได้ง่าย

การแทรกแซงคำพิพากษาหรือคำสั่งสามารถทำได้ง่ายขึ้น

แล้วหลักประกันความอิสระของผู้พิพากษาอยู่ที่ใด

ตัวอย่างที่ผมถูกอธิบดีขู่ว่าจะย้ายออกนอกพื้นที่ ที่ผมมาทำงานที่จังหวัดชายแดนใต้เพราะต้องการได้รับค่าเสี่ยงภัยรายเดือน

หากถูกอธิบดีสั่งย้ายออกนอกพื้นที่ ผมก็จะไม่ได้รับค่าตอบแทนดังกล่าวอีก

ประชาชน หรือสภานิติบัญญัติ หรือฝ่ายบริหาร จะปล่อยให้ผู้พิพากษาไม่ได้รับความเป็นธรรมและต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวอีกนานเพียงใด

จึงขอให้ประชาชนเข้าใจผู้พิพากษาศาลชั้นต้นว่าที่จริงแล้วอยู่เคียงข้างและต่อสู้เพื่อให้ความยุติธรรมแก่ประชาชนมาโดยตลอด

โดยขอเรียกร้อง 2 ประการ คือ

1) ขอให้มีการออกกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรมเพื่อห้ามกระทำการตรวจร่างคำพิพากษาก่อนอ่านให้คู่ความฟัง และห้ามกระทำการใดๆ อันมีผลเป็นการแทรกแซงผลคำพิพากษา

2) ขอให้รัฐบาลและฝ่ายนิติบัญญัติให้ความเป็นธรรมทางการเงินแก่ผู้พิพากษาทั่วประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม การที่นายคณากรไม่เสียชีวิต

การเปิดรับเงินบิจาคให้ลูกสาว

การที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เปิดเผยว่านายคณากรได้นำเสนอเอกสารและความคิดผ่านมายังพรรคอนาคตใหม่

ทำให้เกิดข้อกล่าวหากลับคืนนายคณากร จากคนจำนวนไม่น้อย

ว่านี่เป็นการจัดฉาก

และมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่

นำไปสู่วิวาทะอย่างดุเดือดจากคนในสังคม

ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ทำให้คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (กต.) สั่งตั้ง 3 กต. เป็นอนุกรรมการวิสามัญ สอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ โดยให้เวลาสอบ 15 วัน

ซึ่งต้องรอผลสอบต่อไป

แต่ระหว่างนี้ 12 องค์กรภาคประชาสังคมชี้ว่า เรื่องที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงสภาพปัญหาการขาดความเป็นอิสระในการพิพากษาคดีของผู้พิพากษา

หากข้อเท็จจริงเป็นดังเช่นแถลงการณ์ของนายคณากร

ย่อมสร้างความเสียหายให้กับระบบกระบวนการยุติธรรมและก่อความเสียหายแก่ประชาชนอย่างร้ายแรง

จำเป็นต้องมีการ “ปฏิรูป” ระบบยุติธรรมโดยด่วน

 

กระนั้น นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม ยืนยันว่า การตรวจร่างคำพิพากษา ไม่ใช่การแทรกแซง

อธิบดีผู้พิพากษาภาคมีอำนาจในการตรวจร่างคำพิพากษาและทำความเห็นแย้งได้ตามกฎหมาย

ประธานศาลฎีกาได้ออกคำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติงานคดีตั้งแต่ปี 2555

และต่อมามีระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยมาตรฐานการรายงานคดีและการตรวจสำนวนคดีในสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค พ.ศ.2560

ซึ่งต่อมามีการแก้ไขในปี 2562 และประธานศาลฎีกาได้ลงนามเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2562

เป็นวิธีการควบคุมคุณภาพคำพิพากษาที่มีระเบียบปฏิบัติรองรับชัดเจน

โดยกำหนดให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคมีอำนาจตรวจสำนวนคดีสำคัญ

ได้แก่

คดีเกี่ยวกับความมั่นคง, ความผิดเกี่ยวกับก่อการร้าย, คดีทุกประเภทที่อัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 10 ปี หรือโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต, คดียาเสพติดที่มีการครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือจำหน่ายในจำนวนที่มีปริมาณมาก หรือผลิตและนำเข้ายาเสพติด” นายสุริยัณห์กล่าว และว่า คดีแพ่งจะเป็นคดีที่มีราคาทุนทรัพย์พิพาทตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป กรณีที่สถาบันการเงินเป็นโจทก์ต้องมีทุนทรัพย์พิพาท 10 ล้านบาทขึ้นไป, คดีละเมิดอำนาจศาล, คดีไต่สวนชันสูตรพลิกศพ

นอกจากนี้ จะเป็นคดีที่มีความสำคัญเกี่ยวด้วยตัวบุคคลหรือบุคคลที่มีชื่อเสียง เช่น คดีที่มีคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือผู้เสียหายเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. นักการเมือง ผู้พิพากษา อัยการ และองค์กรอิสระต่างๆ รวมถึงข้าราชการพลเรือนระดับอธิบดีขึ้นไป หรือหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ที่เป็นระดับผู้อำนวยการ ผู้ว่าการ นายทหารหรือตำรวจที่มียศนายพลขึ้นไป

หรือเป็นคดีที่มีพฤติการณ์แห่งการกระทำเป็นที่น่าสนใจของประชาชน และคดีที่อาจกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือรูปแบบเป็นลักษณะองค์กรอาชญากรรม คดีที่เป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ คดีที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ คดีที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันเเละปราบปรามการค้ามนุษย์ ความผิดตาม พ.ร.ก.ประมง คดีเกี่ยวกับความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น

“การตรวจร่างคำพิพากษาเป็นขั้นตอนตามกฎหมาย ที่มีเจตนารมณ์ให้ผู้พิพากษาที่มีประสบการณ์มากกว่า หากองค์คณะยืนยันตามความเห็นเดิม อธิบดีผู้พิพากษาภาคก็จะบังคับให้เปลี่ยนแปลงผลไม่ได้ มีสิทธิแค่ทำบันทึกความเห็นแย้งติดสำนวนไว้ เพื่อให้เกิดสิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาต่อไปเท่านั้น” นายสุริยัณห์ระบุ

นี่ย่อมเป็นความเห็นต่างจากองค์กรยุติธรรมเอง

กระนั้น การตัดสินใจของผู้พิพากษา “ยิงตนเอง” เพื่อให้สังคมได้ยินถึงความรู้สึกถึงการแทรกแซง

ก็ไม่อาจมองข้ามและดูดาย

เพราะว่าที่จริงนับตั้งแต่สังคมไทยเกิดวิกฤตการเมือง

กระบวนการยุติธรรมถูกมองว่าเป็นเครื่องมือของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดตลอด ทำให้เกิดวิกฤตศรัทธาอย่างรุนแรง

แต่มันก็ไม่ได้แตก “ปัง” ออกมาเหมือนเสียงปืนกระบอกนั้นของนายคณากร

ซึ่งเมื่อกระสุนลั่นออกไปแล้ว ย่อมทำให้สังคมช็อกและหันมาตั้งคำถามว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่

และคุ้มค่าถึงขนาดจะเสียสละชีวิตเลยเชียวหรือ

แม้ยังไม่มีคำตอบ

แต่ถ้อยคำ

คืนคำพิพากษา

ให้ผู้พิพากษา

คืนความยุติธรรม

ให้ประชาชน

ก็ดังก้องไปทั่วประเทศแล้ว