ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4 - 10 ตุลาคม 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | การเมืองวัฒนธรรม |
ผู้เขียน | เกษียร เตชะพีระ |
เผยแพร่ |
หวังเฉาฮัววิเคราะห์การประท้วงใหญ่ในฮ่องกง (2)
(เรียบเรียงจากบทวิเคราะห์เบื้องหลังสถานการณ์ขัดแย้งทางการเมืองในฮ่องกงระยะใกล้ของ ดร.หวังเฉาฮัว นักเขียนและนักวิจัยอิสระ อดีตแกนนำการชุมนุมประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินของนักศึกษาจีนเมื่อปี ค.ศ.1989 ที่ลี้ภัยการเมืองมาอยู่ตะวันตก เรื่อง “Hong Kong v. Beijing”, London Review of Books, 41:16 (15 August 2019), 11-12.)
เรา (หมายถึงหวังเฉาฮัวกับแกนนำขบวนการนิยมประชาธิปไตยของฮ่องกงบางคน) พบกันในการประชุมระหว่างประเทศเพื่อรำลึกวาระครบรอบการประท้วงเทียนอันเหมินสามสิบปีก่อน
ดิฉันได้รับเชิญให้ไปร่วมการประชุมคล้ายๆ กันนี้ที่จะจัดขึ้นในฮ่องกง ดิฉันบอกผู้จัดว่าทางการฮ่องกงไม่น่าจะต้อนรับอดีตนักกิจกรรมเทียนอันเหมินที่ปักกิ่งขึ้นบัญชีดำแม้ว่าตอนนี้ดิฉันจะมีหนังสือเดินทางสหรัฐแล้วก็ตาม
ดิฉันบอกว่าเขาควรตรวจสอบเรื่องนี้กับหน่วยงานควบคุมชายแดนก่อนจะดีกว่า
ไม่กี่วันให้หลังเขาติดต่อกลับมาหลังค้นพบสิ่งที่ดิฉันรู้ตัวอยู่ก่อนแล้ว
มาปีนี้ด้วยความพยายามที่จะทำให้การประชุมดังกล่าวคู่ควรกับชื่องานที่ว่า “ฟื้นคืนคุณค่าใหม่และแสวงหาหนทางสำหรับขบวนการนิยมประชาธิปไตยของจีน” จึงตัดสินใจกันว่าจะจัดการประชุมขึ้นในที่ที่พ้นเงื้อมอำนาจปักกิ่งออกไป
ไต้หวันย่อมเป็นสถานที่เหมาะแก่การจัดงานอย่างเห็นได้ชัด อย่างน้อยก็เนื่องจากแนวคิด “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ซึ่งถือว่าภูมิภาคต่างๆ ภายในจีนสามารถสงวนรักษาระบบเศรษฐกิจเอกเทศของตนไว้ได้นั้น
แรกเริ่มเดิมทีมุ่งเล็งใส่ไต้หวันเป็นเป้าหมายในตอนต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1980 ภายใต้เติ้งเสี่ยวผิง
และมาถูกกล่าวย้ำโดยประธานาธิบดีสีจิ้นผิงในคำปราศรัยว่าด้วยนโยบายไต้หวันของเขาเมื่อต้นปีนี้
ผู้เข้าร่วมประชุมสองคนเป็นอดีตประธานพรรคประชาธิปไตยของฮ่องกง ได้แก่ อัลเบิร์ต โฮชุนยาน ผู้เสนอตัวช่วยเหลือ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ทางกฎหมายเมื่อเขาซ่อนตัวอยู่ในฮ่องกงปี ค.ศ.2013
และเอมิลี เลาไวฮิง ผู้เป็นหญิงคนแรกที่ได้รับเลือกตั้งเข้าสู่สภานิติบัญญัติของฮ่องกงเมื่อปี ค.ศ.1991
ทั้งคู่เรียกร้องให้ไต้หวันอย่าได้วางใจคำมั่นสัญญาของปักกิ่ง
ทว่า ที่พวกเขาห่วงกังวลจริงๆ คือฮ่องกง
ซึ่งเห็นชัดว่าสถานการณ์การเมืองที่นั่นได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงขั้นชี้ขาดตั้งแต่ปี ค.ศ.2014 เมื่อพวกผู้ประท้วงแห่งขบวนการร่มยึดครองพื้นที่สาธารณะและถนนรายรอบสำนักงานรัฐบาลเขตบริหารพิเศษฮ่องกงไว้นาน 79 วัน
ขบวนการร่มปรากฏขึ้นระหว่างเกิดข้อพิพาทเรื่องการจัดระเบียบการเลือกตั้งหัวหน้าผู้บริหารของฮ่องกง สำหรับสีจิ้นผิงผู้ขึ้นสู่อำนาจในปี ค.ศ.2012 นั้น นี่เป็นธุระที่ค้างคาอยู่
ตอนนั้นคนในฮ่องกงไม่ได้ตระหนักว่าสีจิ้นผิงคิดเตรียมการอะไรไว้ให้พวกเขา
พวกเขาจึงทึกทักว่าแผนการที่มีก็ยังคงเป็นการยึดถือปฏิบัติตามกฎหมายพื้นฐานอันเป็นรัฐธรรมนูญของฮ่องกงที่ประกาศใช้ในปี ค.ศ.1990 ซึ่งระบุว่า
“เป้าหมายท้ายที่สุด” คือให้เลือกตั้งหัวหน้าผู้บริหารตามหลัก “สิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วไป” (universal suffrage) “โดยพิจารณาจากสถานการณ์ที่เป็นจริง” ในฮ่องกงภายหลังช่วงของ “ความก้าวหน้าอย่างมีระเบียบและค่อยเป็นค่อยไป” ระยะหนึ่งแล้ว
เรื่องการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติก็ใช้ภาษาแบบเดียวกัน ในภาคผนวกของกฎหมายพื้นฐานว่าด้วยวิธีการเลือกตั้งนั้น ได้เอ่ยถึงปี ค.ศ.2007 ไว้ว่าคือเส้นตายที่เป็นไปได้สำหรับการเปลี่ยนแปลงกระบวนการเลือกตั้ง อันเป็นหลักหมายสิ้นสุดยุติขั้นตอนเปลี่ยนผ่านภายหลังการถ่ายโอนอำนาจจากอังกฤษให้แก่จีน (ซึ่งเกิดขึ้นในปี ค.ศ.1997 – ผู้แปล)
บรรดาพรรคการเมืองหลักทั้งที่นิยมปักกิ่งและนิยมประชาธิปไตยล้วนเห็นตรงกันว่าควรใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วไปในการเลือกตั้งหัวหน้าผู้บริหารในปี ค.ศ.2007 และการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติในปี ค.ศ.2008 แต่แล้วสิ่งนี้ก็มิได้เกิดขึ้น
ด้วยความตื่นตระหนกต่อกระแสสูงของการประท้วงทางการเมืองในปี ค.ศ.2003 คณะกรรมการประจำของสภาประชาชนแห่งชาติอันถือว่าทรงอำนาจหน้าที่สูงสุดทางรัฐธรรมนูญของจีน ได้ออกประกาศตีความกฎหมายพื้นฐานซึ่งกำหนดว่าฮ่องกงต้องได้ความเห็นชอบจากปักกิ่งก่อนที่จะพยายามแก้ไขเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งใดๆ
และบทแก้ไขเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่เสนอมาต้องผ่านความเห็นชอบโดยเสียงข้างมากสองในสามในสภานิติบัญญัติ
หลังจากนั้น ข้อเสนอแบบอนุรักษนิยมซึ่งรัฐบาลฮ่องกงยื่นเข้าสภานิติบัญญัติก็ถูกคว่ำไปโดยสมาชิกนิยมประชาธิปไตยทั้งหลายซึ่งเรียกร้องต้องการให้นำหลักสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วไปมาใช้ในปี ค.ศ.2007 หรืออย่างน้อยก็ให้มีโรดแม็ปและตารางเวลาในการบรรลุถึงมัน
ไม่มีความก้าวหน้าในเรื่องนี้แต่อย่างใดในสองสามปีถัดมาซึ่งในระหว่างนั้นได้เกิดการแตกแยกกันขึ้นในค่ายประชาธิปไตย
เพื่อบรรเทาความหงุดหงิดขัดเคืองของมหาชน หูจิ่นเทา ประธานาธิบดีของจีนตอนนั้น และโดนัลด์ เจิง หัวหน้าผู้บริหารฮ่องกง ต่างก็สัญญาว่าจะดำเนินการปฏิรูปต่อไปด้วยกันทั้งคู่
มติของคณะกรรมการประจำของสภาประชาชนแห่งชาติของจีนเมื่อตอนสิ้นปี ค.ศ.2007 แถลงไว้อย่างแจ้งชัดว่าถึงแม้จะปรับแก้การเลือกตั้งหัวหน้าผู้บริหารและสภานิติบัญญัติฮ่องกงในปี ค.ศ.2012 แต่เพียงประเด็นปลีกย่อยก็ตาม
ทว่า หลัก “สิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วไป” จะมีผลบังคับใช้ในการเลือกตั้งหัวหน้าผู้บริหารปี ค.ศ.2017 แล้วจะขยายไปครอบคลุมการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติต่อไป
พรรคประชาธิปไตยอันเป็นพรรคการเมืองใหญ่ที่สุดของฮ่องกงยอมรับโรดแม็ปที่ว่านี้และตัดสินใจเจรจากับรัฐบาลฮ่องกงและปักกิ่งในเรื่องข้อเสนอการปฏิรูปกระบวนการเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งปี ค.ศ.2012
ทว่า ถึงตอนนี้ก็มีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามากระทบการเมืองฮ่องกง
ที่สำคัญที่สุดได้แก่การผงาดขึ้นของจีนซึ่งเป็นที่รู้สึกถึงได้อย่างมีพลังหลังปี ค.ศ.2008 อันเป็นปีแห่งการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ณ กรุงปักกิ่งและวิกฤตการเงินโลก ในปี ค.ศ.2009 อันเป็นวาระครบรอบหกสิบปีแห่งการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ชานคุนฉง นักเขียนนิยายและนักวิจารณ์วัฒนธรรมชาวฮ่องกงผู้พำนักอยู่ในปักกิ่งก็ตีพิมพ์นิยายทุกโขทยาน (dystopia) เรื่อง ปีแห่งความอ้วนพี (The Fat Years) เกี่ยวกับประเทศจีนที่ผงาดขึ้นมาภายใต้การปกครองพรรคเดียวอันแข็งกร้าวราวเหล็กไหล
พอถึงปี ค.ศ.2012 ชานคุนฉงก็กำลังถกเถียงกับบรรดาปัญญาชนจีนผู้รับใช้สถาบันอำนาจทั้งหลายเรื่องทฤษฎีล่าสุดของพวกนั้นที่อ้างว่าหลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” หาได้ออกแบบมาสำหรับฮ่องกงแค่นั้นไม่
หากแต่จะนำมาซึ่งการปลุกอารยธรรมจีนทั้งมวลให้ฟื้นคืนเยาวภาพโดยรวม
ความคิดดังกล่าวนี้เชื่อมโยงการปกครองของปักกิ่งเข้ากับแนวคิด “เทียนเสี้ย” หรือ “ใต้ฟ้า” อันดึงมาจากลัทธิขงจื่อคลาสสิค
ซึ่งเสนอว่าอาณาบริเวณชายขอบพึงยอมสยบต่ออำนาจหน้าที่ของอธิปัตย์ศูนย์กลาง ขณะที่อธิปัตย์ศูนย์กลางก็จะรับผิดชอบภาระด้านความมั่นคงและการพัฒนาของอาณาบริเวณชายขอบ
ในปีเดียวกันนั้น สีจิ้นผิงก็ขึ้นเถลิงอำนาจ
เขาอดรนทนไม่ได้กับใครก็ตามที่ไม่อยากตระหนักรับอำนาจหน้าที่สัมบูรณาญาสิทธิ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ หากการคลี่คลายขยายตัวของเหตุการณ์หลังจากนั้นจะเป็นเครื่องบ่งชี้ประการใดๆ แล้ว ก็พอกล่าวได้ว่าปักกิ่งสมาทานการคิดใหม่เกี่ยวกับฮ่องกงไว้แล้วเรียบร้อย
ขณะเดียวกัน ในฤดูร้อนปี ค.ศ.2012 ก่อนพิธีเข้ารับตำแหน่งของสีจิ้นผิง โจชัว หว่อง วัยรุ่นชาวฮ่องกง ก็ได้เริ่มรณรงค์ต่อต้านโครงการ “การศึกษาทางศีลธรรมแห่งชาติ” ที่ถูกเสนอมา และจัดการชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วมกว่าแสนคน การเคลื่อนไหวกิจกรรมแบบขุดรากถอนโคนของหว่องกับสหายเป็นการประกาศการมาถึงของคนรุ่นหนุ่มสาวในฐานะพลังใหม่ที่น่าเกรงขามในการเมืองฮ่องกง
เมื่อฝุ่นตลบจางลงหลังการเลือกตั้งปี ค.ศ.2012 ความวิตกกังวลหงุดหงิดขัดเคืองก็เพิ่มพูนขึ้นในฮ่องกง
เนื่องจากขาดการก้าวหน้าไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง
ตกลงปักกิ่งจะบิดพลิ้วคำมั่นสัญญาอีกครั้งไหม?
ต้นปี ค.ศ.2013 โดยได้แรงบันดาลใจจากขบวนการยึดครองวอลสตรีต เบนนี ไถ่ยุ่ยถิง ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายแห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกง ก็ลองเสนอความคิดเรื่อง “ยึดครองเซ็นทรัล” (Occupy Central คำหลังหมายถึงย่านศูนย์กลางธุรกิจของฮ่องกง – ผู้แปล) ขึ้นมาในฐานะวิธีเร่งรัดการสร้างประชาธิปไตย
ปรากฏว่า ชานคินมัน ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยา และสาธุคุณ จูยิวหมิง เอาด้วย ตั้งแต่ปี ค.ศ.2005 เป็นต้นมา เหล่านักกิจกรรมนิยมประชาธิปไตยได้จัดการลงประชามติทำเทียมเลียนแบบขึ้นหลายครั้งเพื่อสาธิตให้เห็นว่ามหาชนชาวฮ่องกงพร้อมสำหรับการเมืองแบบมีส่วนร่วมแล้ว
พวกเขาเชื่อว่า “ความก้าวหน้าอย่างมีระเบียบและค่อยเป็นค่อยไป” สู่สิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วไปนั้นกำลังถูกถ่วงให้ล่าช้าออกไปโดยอ้างวลีในกฎหมายพื้นฐานที่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข
“โดยพิจารณาจากสถานการณ์ที่เป็นจริง” ในฮ่องกง
การเคลื่อนไหว “ยึดครองเซ็นทรัล” ลองใช้ยุทธวิธีคล้ายคลึงกันนี้ในเดือนมิถุนายน ค.ศ.2014 ในปีก่อนๆ นั้น ปักกิ่งได้โจมตีความพยายามดังกล่าวเหล่านั้นว่าขาดความน่าเชื่อถือหรือไม่ก็สิ้นเปลืองเงินทองของผู้เสียภาษีไปเปล่าๆ ในกรณีที่สมาชิกสภานิติบัญญัติพากันยกโขยงลาออกเพื่อเป็นเหตุให้จัดเลือกตั้งใหม่
อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ.2014 ปักกิ่งกลับยกระดับความก้าวร้าวให้แข็งกร้าวยิ่งขึ้น
สภารัฐกิจในปักกิ่งได้ออกสมุดปกขาวแถลงชี้แจงอย่างแจ้งชัดว่ารูปแบบสถาบันที่จีนออกแบบให้กับฮ่องกงนั้นหลักการ “สองระบบ” ต้องเป็นรองขึ้นต่อหลักการ “หนึ่งประเทศ”
และตัวหัวหน้าผู้บริหารจะต้องทั้ง “รักประเทศ (จีน)” และ “รักฮ่องกง” ด้วย วิธีการเลือกตั้งทั้งหัวหน้าผู้บริหารและสภานิติบัญญัติจักต้องพิทักษ์ปกป้อง “ความมั่นคงและผลประโยชน์ของรัฐ” จากการแทรกแซงของต่างชาติ
และในวันสุดท้ายปลายเดือนสิงหาคม ค.ศ.2014 คณะกรรมการประจำของสภาประชาชนแห่งชาติจีนก็ได้เผยแพร่มติของตนออกมาอันเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่ามติ “8.31” ว่าด้วยการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติฮ่องกงในปี ค.ศ.2016 และการเลือกตั้งหัวหน้าผู้บริหารฮ่องกงในปี ค.ศ.2017
กล่าวในทางเทคนิคแล้ว ปักกิ่งอนุมัติให้ถือหลัก “หนึ่งคนหนึ่งเสียง” ในการเลือกตั้งหัวหน้าผู้บริหารฮ่องกง แต่ในทางเป็นจริงแล้ว ปักกิ่งได้ขยับย้ายเป้าไปรวมศูนย์พุ่งใส่ประเด็นที่ว่าใครบ้างจะได้รับอนุมัติให้ลงแข่งขันเลือกตั้ง จะมีผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ไม่เกินสองหรือสามคน และเกณฑ์คุณสมบัติผู้ได้รับการเสนอชื่อจะถูกตั้งไว้สูงลิ่ว
ผู้สมัครรับเลือกตั้งจะถูกคัดเลือกโดยคณะกรรมการซึ่งแน่ใจได้เลยว่าย่อมทั้งนิยมปักกิ่งและเข้าข้างภาคธุรกิจ
ทั้งสมุดปกขาวและมติ 8.31 เป็นปัจจัยชี้ขาดให้ขบวนการร่มปรากฏขึ้นมาในปลายเดือนกันยายน ค.ศ.2014…
(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)