พิศณุ นิลกลัด : ตั้งใจทำเมียท้อง เพื่อลางานดูฟุตบอล

พิศณุ นิลกลัด

เดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนปีนี้ ที่ทวีปยุโรปเป็นโค้งสุดท้ายของการแข่งขันฟุตบอลยูโรรอบคัดเลือกเพื่อหา 20 ทีมชาติ (2 อันดับแรกของกลุ่ม A ถึง J) เข้าไปรอแข่งขัน Euro 2020 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 มิถุนายน ถึง 12 กรกฎาคม 2020

ส่วนอีก 4 ทีมจะคัดเลือกเพิ่มเติมในการแข่งขันรอบ playoffs เดือนมีนาคมปีหน้า

รวมเป็น 24 ทีม

 

ฟุตบอลยูโรครั้งนี้ไม่มีเจ้าภาพเดี่ยวหรือเจ้าภาพร่วมแค่สองประเทศแบบเมื่อก่อน แต่เป็นการเดินสายแข่งขันใน 12 สนามจาก 12 เมืองของ 12 ประเทศที่ได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพร่วม

ได้แก่…

1. สนามเวมบลีย์ (Wembley Stadium) กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

2. อลิอันซ์ อรีน่า (Allianz Arena) เมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี

3. สตาดีโอ โอลิมปีโก (Stadio Olimpico) กรุงโรม ประเทศอิตาลี

4. โอลิมปิก สเตเดี้ยม (Olympic Stadium) กรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน

5. เครสตอฟสกี สเตเดี้ยม (Krestovsky Stadium) เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย

6. เนชั่นแนล อรีน่า (Arena Na?ional?) กรุงบูคาเรสต์ ประเทศโรมาเนีย

7. โยฮัน ครอยฟฟ์ อรีน่า (Johan Cruyff Arena) กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์

8. อวีวา สเตเดี้ยม (Aviva Stadium) กรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์

9. ซาน มาเมส (San Mam?s) เมืองบิลเบา ประเทศสเปน

10. ปุสกัส อรีน่า (Pusk?s Ar?na) กรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี

11. แฮมป์เดน พาร์ก (Hampden Park) เมืองกลาสโกว ประเทศสกอตแลนด์

12. พาร์เคน สเตเดี้ยม (Parken Stadium) กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก

 

ในรอบแบ่งกลุ่ม (A ถึง F) กำหนดสนามแข่งไว้กลุ่มละ 2 สนาม

เท่ากับว่าแต่ละสนามจะได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันอย่างน้อย 2 นัดจากทั้งหมด 51 นัด

สำหรับนัดชิงชนะเลิศ Euro 2020 จะแข่งขันกันที่สนามเวมบลีย์ ประเทศอังกฤษ ซึ่งมีความจุ 90,000 ที่นั่ง

มากที่สุดในบรรดา 12 สนาม

 

ช่วงที่มีการแข่งขันกีฬารายการใหญ่ๆ อย่างโอลิมปิก ฟุตบอลโลก หรือฟุตบอลยูโร 2020 ที่กำลังจะมาในปีหน้า

บรรดาบริษัทและห้างร้านต้องเตรียมตัวที่จะเจอกับการหยุดงานของพนักงานบริษัทที่เป็นแฟนกีฬาพันธุ์แท้ หากการแข่งขันกีฬาตรงกับเวลาทำงาน

บางคนเหนื่อยล้ามาจากการเชียร์กีฬาเมื่อคืนจนเข้างานไม่ไหวก็ขอลางาน

หรือบางคนวางแผนลางานยาวๆ ตลอดช่วงเดือนที่มีการแข่งขัน

จนกระทบกับงานของบริษัท

 

ล่าสุดช่วงต้นเดือนกันยายนมีแฟนบอลทีมชาติอังกฤษบางส่วนเกิดความคิดแผลงๆ

เจตนาทำให้ภรรยาตั้งท้องให้เร็วที่สุดภายในช่วงนี้

เพื่อให้ลูกคลอดออกมาทันช่วงสัปดาห์ก่อนการแข่งขันฟุตบอล Euro 2020 (มิถุนายน-กรกฎาคม 2020)

ซึ่งจะทำให้พวกเขาสามารถขอลางานเพื่อเลี้ยงดูบุตรที่เรียกว่า Paternity leave ได้ยาวๆ

แล้วก็เอาเวลามานั่งเชียร์ฟุตบอลยูโรที่บ้านโดยไม่ต้องรู้สึกผิดต่อบริษัท

และไม่ต้องเสี่ยงโดนเจ้านายไล่ออก

 

ไอเดียดังกล่าวได้รับการแชร์ต่อๆ กันในโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะในทวิตเตอร์

ซึ่งมีคนที่เห็นด้วยกับไอเดียนี้

โดยบอกว่า ถ้าแฟนสาวชอบดูฟุตบอลอยู่ด้วยก็เป็นความคิดที่ดี จะได้ลางานมาดูบอลกันทั้งสองคน

แต่ก็มีแฟนบอลจำนวนมากดูไม่ค่อยมั่นใจว่าไอเดียนี้จะเป็นเรื่องดีสักเท่าไร

โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงความเหน็ดเหนื่อยในการต้องเลี้ยงดูลูกอ่อนที่ร้องไห้ทั้งคืนจนพ่อ-แม่แทบไม่ได้หลับไม่ได้นอน

ต้องแบ่งความสนใจไปให้ลูกตอนที่กำลังตั้งใจดูบอลอีก

ที่แย่ที่สุดคือลูกคลอดช้ากว่ากำหนดจนต้องเลือกระหว่างไปเฝ้าลูกคลอดหรือเชียร์ทีมชาติอังกฤษแข่งนัดสำคัญ

 

มีผู้ชายคนหนึ่งซึ่งน่าจะเคยผ่านประสบการณ์เป็นคุณพ่อมาแล้ว เข้ามาเสริมว่า

“ใครที่เคยเลี้ยงลูกจะทราบดีว่าเหตุการณ์ลักษณะนี้จะลงเอยด้วยการที่คุณพลาดเกมการแข่งขันไปครึ่งหนึ่ง เพราะต้องคอยสนใจดูแลลูก ต้องทนฟังเสียงลูกร้องไห้กลบเสียงพากย์บอลในทีวี

“และจะไม่ได้ออกไปพบปะเชียร์บอลกับเพื่อนๆ ในสปอร์ตบาร์ นี่เป็นไอเดียที่ห่วยแตกมากๆ”

นอกจากประเทศในยุโรปแล้ว ที่สหรัฐอเมริกาก็มีเหตุการณ์ที่พนักงานลาหยุดในช่วงของการแข่งขันกีฬารายการใหญ่ๆ อยู่เป็นประจำเหมือนกัน

จากการสำรวจของ OfficeTeam บริษัทจัดหางานของสหรัฐอเมริกา สอบถามพนักงานชาวอเมริกันอายุ 18 ปีขึ้นไปจำนวนกว่า 1,000 คน และผู้จัดการระดับอาวุโสของบริษัทในสหรัฐอเมริกาอีกกว่า 2,800 คน

พบว่า จำนวน 54% รู้จักหรือเคยเจอคนที่โทร.มาลาป่วยหรือหาข้ออ้างต่างๆ เพื่อจะได้ไม่ต้องมาทำงานในวันรุ่งขึ้นหลังจากการแข่งขันกีฬารายการใหญ่ เช่น Super Bowl

 

ถามเหล่าผู้จัดการระดับอาวุโสว่า ในช่วงการแข่งขันกีฬารายการใหญ่ๆ มีพฤติกรรมใดบ้างของพนักงานและลูกจ้างที่พวกเขารู้สึกรำคาญมากที่สุด

จำนวน 42% บอกว่า การโทร.มาลาป่วยหรือหาข้ออ้างอื่นๆ เพื่อจะได้ไม่ต้องมาทำงานในวันรุ่งขึ้น เป็นสิ่งที่น่ารำคาญมากที่สุด

18% ใช้เวลางานคุยเรื่องกีฬามากเกินไป

17% มาทำงานด้วยสภาพเหนื่อยล้าเซื่องซึม

15% ขาดน้ำใจนักกีฬา หรือชิงดีชิงเด่นมากเกินไป

และ 8% แต่งตัวมาทำงานด้วยชุดเชียร์ทีมกีฬาเยอะเกินเหตุ

ไม่ทราบว่า หน่วยงานของรัฐและเอกชนในเมืองไทยมีการทำสำรวจทำนองนี้หรือเปล่า เพราะยุคนี้แฟนกีฬา-โดยเฉพาะแฟนบอลบ้านเราที่อยู่ในวัยทำงานมีจำนวนมหาศาล