แมลงวันในไร่ส้ม / กอ.รมน.-7 ฝ่ายค้าน เปิดศึก ‘ฟ้องคดี’ การเมืองปริ่มน้ำ ‘ระอุ’

แมลงวันในไร่ส้ม

กอ.รมน.-7 ฝ่ายค้าน

เปิดศึก ‘ฟ้องคดี’

การเมืองปริ่มน้ำ ‘ระอุ’

บทบาทของมือกฎหมายของฝ่ายทหารในการแจ้งความดำเนินคดีกับฝ่ายที่มีแนวคิดตรงข้าม “คสช.” ห่างหายจากหน้าสื่อไปนานหลังจากเลือกตั้ง 24 มีนาคม
และกลับมาอีกครั้ง เมื่อวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา เมื่อ พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (ผอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) มอบหมายให้ พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้อำนวยการสำนักงานพระธรรมนูญทหารบก และผู้ชำนาญการสำนักงาน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า
เข้าแจ้งความต่อตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานีให้ดำเนินคดีกับแกนนำพรรคฝ่ายค้านและนักวิชาการ 12 คน หลังร่วมกันจัดเสวนา “พลวัตแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่” ที่หน้าศาลากลาง จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา
12 คนดังกล่าว ประกอบด้วย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนฯ, นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่, พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.), นางชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษรศาสตร์, นายสมพงษ์ สระกวี, นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ, นายมุข สุไลมาน, นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย, นายรักชาติ สุวรรณ, นายอสมา มังกรชัย, นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ และนายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ
ประเด็นที่ฝ่ายทหารเห็นว่าเป็นปัญหา ได้แก่ การอภิปรายของนางชลิตา กล่าวที่ต้นตอของปัญหาไฟใต้ และกล่าวถึงมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญ โดยในการแจ้งความ ฝ่ายทหารระบุว่า เป็นความผิดตามมาตรา 116 ของ ป.อาญาหรือข้อหายุยงปลุกปั่น
โดยถือว่าทุกคนเป็นผู้ร่วมกันกระทำความผิด และทุกคนสมัครใจมีส่วนร่วมในการจัดการเสวนาครั้งนี้ อีกทั้งพื้นที่จัดงานเสวนาก็เป็นพื้นที่ที่ยังคงประกาศใช้กฎหมายพิเศษอยู่ ซึ่งมีความเปราะบางต่อสถานการณ์เป็นอย่างมาก
เป็นการแจ้งความแกนนำฝ่ายค้าน ที่กำลังมีบทบาทเผชิญหน้ารัฐบาลในเรื่องต่างๆ และกำลังจะเข้าสู่วาระของการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2563 ซึ่งรัฐบาลมีความกังวลเรื่องเสียงสนับสนุนในสภา
และฝ่ายค้านยังมีแผนจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีในเดือนพฤศจิกายน หลังจากเปิดสมัยประชุมสามัญสมัยที่สองด้วย

อย่างไรก็ตาม ทางฝ่ายค้านไม่ยอมเป็นเป้านิ่ง วันที่ 6 ตุลาคม แกนนำ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ เข้าพบพนักงานสอบสวน บก.ป. เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับ พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.รมน.ภาค 4 พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้ชำนาญการ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ฐานแจ้งความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน พนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวน ทำให้ได้รับความเสียหาย
ฐานแจ้งความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาต่อพนักงานสอบสวน เพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องรับโทษ และฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137, 172, 174, 326 และ 328 กรณีที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีตามมาตรา 116 นำเสนอข้อมูลในลักษณะมีการบิดเบือนข้อเท็จจริงให้ประชาชนทั่วไปหลงเชื่อ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนกับ 7 พรรคการเมืองฝ่ายค้านและนักวิชาการ รวม 12 คนที่ได้จัดเวทีเสวนา “พลวัตแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่”
ถือว่าสถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ที่ผู้ถูกทหารดำเนินคดีลุกขึ้นมาตอบโต้ ด้วยการใช้สิทธิตามกฎหมายฉบับเดียวกัน ทำให้น่าจับตาว่า กระบวนการยุติธรรม ภายใต้ระบบที่ผ่อนคลายจากหลังรัฐประหารมาเป็นหลังเลือกตั้ง จะพิจารณาดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไร

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รวบรวมข้อมูล การใช้กฎหมาย ทั้งกฎหมายพิเศษ กฎหมายอาญา และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ขอนำข้อมูลบางส่วนมาเผยแพร่ต่อดังนี้
5 ปีที่ผ่านมา คสช.ได้ออกประกาศจำนวน 132 ฉบับ คำสั่ง คสช.จำนวน 214 ฉบับ และคำสั่งหัวหน้า คสช. ซึ่งออกตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 จำนวน 207 ฉบับ
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ตั้งขึ้นเองโดย คสช. ยังตรากฎหมายออกมาอีกจำนวน 444 ฉบับ ซึ่งหลายฉบับออกมาอย่างเร่งรัดและมีเนื้อหาลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ถือว่า การรัฐประหารที่เกิดขึ้นในปี 2557 เป็นรัฐประหารที่ออกกฎหมายมาบังคับใช้ต่อประชาชนจำนวนมาก เทียบกับ 19 กันยายน 2549 คณะทหารออกประกาศและคำสั่งเพียง 34 และ 18 ฉบับ ตามลำดับ ก่อนจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2549 แล้วไม่ได้ใช้อำนาจในการออกกฎหมายโดยตรงอีก
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รายงานตัวเลขอย่างละเอียด ถึงกรณีที่ประชาชนที่ถูก คสช.เรียกรายงานตัวและควบคุมตัวในค่ายทหาร หรือ “การปรับทัศนคติ” ประชาชนที่เจอข้อหาขัดขืนไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ถูกเจ้าหน้าที่ติดตาม หลายกรณีถูกติดตามถึงที่บ้านและเฝ้าจับตาอย่างต่อเนื่อง
การปิดกั้นกิจกรรมสาธารณะ การแทรกแซงกิจกรรมสาธารณะ
การปิดกั้นการแสดงออก การชุมนุม ของกลุ่มองค์กรชาวบ้าน ชุมชน หรือประชาสังคม ในประเด็นสิ่งแวดล้อม ป่าไม้ ที่ดิน แม่น้ำ เหมืองแร่ โรงไฟฟ้า สุขภาพ แรงงาน หรือนโยบายสาธารณะอื่น
ประชาชนที่ถูกตั้งข้อหาชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หลายคนถูกตั้งข้อหาในช่วงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญในปี 2559 และช่วงเรียกร้องการเลือกตั้งในปี 2561
ถูกตั้งข้อหา พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ที่ สนช.เห็นชอบและมีผลบังคับใช้ 13 สิงหาคม 2558 ข้อหานี้ร่วมกับคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558
ถูกตั้งข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการแสดงออกที่เกี่ยวกับการเมือง ทหารที่เข้าแจ้งความดำเนินคดีกล่าวอ้างว่าการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ในแต่ละกรณี ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ คสช. หรือเจ้าหน้าที่ทหาร
รวมถึงกรณี คสช.ใช้ศาลทหารดำเนินคดีพลเรือนในความผิด 4 ประเภท รวมถึงความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ส่วนใหญ่คือข้อหาตามมาตรา 116, ความผิดเกี่ยวกับอาวุธ และความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่ง คสช.
แม้จะมีคำสั่งยุติการใช้ศาลทหารพิจารณาคดีพลเรือน ตั้งแต่ 12 กันยายน 2559 แต่คดีที่การกระทำผิดเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 25 พฤษภาคม 2557-11 กันยายน 2559 ยังคงพิจารณาในศาลทหาร
พร้อมกับระบุถึงการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร นับพันคดี และยังมีอีกกว่า 300 คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลทหาร
นั่นคือภาพของการใช้กฎหมายและใช้อำนาจของฝ่ายทหารในห้วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมาหลังการรัฐประหาร
และยังต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน แม้การเลือกตั้งทั่วไปได้เกิดขึ้นแล้วเมื่อ 24 มีนาคม ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ภาวะปกติแล้วก็ตาม