Mr.ดีล

ทบทวนปูมประวัติ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กันอีกรอบ

เพื่อที่จะตอบคำถามว่า ไฉน เขาถึงถูกมองว่า เป็น “Mr.ดีล”

เริ่มกันที่ ความสัมพันธ์กับตระกูล “ชินวัตร”

ว่ากันว่า เดิมนั้น พล.อ.ประวิตร สนิทกับ คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ แห่งบ้านจันทร์ส่องหล้ามาก

ถึงขนาดมี เกร็ดอำ แบบสะเก็ดข่าวว่า คุณหญิงอ้อ พจมาน เคยจะจับคู่ให้แต่งงานกับเพื่อนหญิงรุ่นใหญ่ที่ใกล้ชิด เช่นที่เคยจับคู่ คุณลูกน้ำ สลิลลาวัลย์ กับ พล.อ.อ.คงศักดิ์ วันทนา ผบ.ทอ. พ่อม่าย สำเร็จมาแล้ว

แต่กรณีของ พล.อ.ประวิตร นั้น ไม่สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อสมัยเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น คิดจะเปลี่ยนตัว บิ๊กตุ้ย พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ญาติผู้พี่ จากผู้บัญชาการทหารบก ที่นั่งมาแค่ปีเดียว แต่ทำงานไม่เข้าตา จึงจะโยกให้ไปเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด

พล.อ.ประวิตร ซึ่งมีแต้มความสนิทสนมกับ คุณหญิงอ้อ พจมาน จึงถูกเลือกให้นั่ง “ผู้บัญชาการทหารบก” อย่างสมภาคภูมิ

จึงทำให้ พล.อ.ประวิตร ถูกมองมาตลอดว่า มีเยื่อใยกับตระกูล “ชินวัตร” อยู่ลึกๆ

ขณะเดียวกัน ในส่วนของพรรคเพื่อไทย พล.อ.ประวิตร ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

ดังนั้น หากมีความจำเป็น ความสัมพันธ์ในอดีต อาจทำให้ พล.อ.ประวิตร สามารถคุยกับตระกูลชินวัตรและพรรคเพื่อไทยได้

ข้ามไปยังพรรคประชาธิปัตย์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ถูกเลือกให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม คุมกองทัพร่วมกับน้องๆ บูรพาพยัคฆ์ ทั้ง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปราบปรามคนเสื้อแดง เมื่อพฤษภาคม 2553

ทำให้ พล.อ.ประวิตร ทวีความสนิทสนมกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ อย่างยิ่ง

อาจจะเหนือกว่าพรรคเพื่อไทยและตระกูลชินวัตร เสียอีก

เช่นเดียวกับพรรคภูมิใจไทย แม้ นายเนวิน ชิดชอบ จะประกาศยังไม่กลับมาสู่แวดวงการเมือง แต่เครือข่ายในสายการเมืองนี้ก็น่าสนใจเพราะนายเนวิน สนิทชิดชอบกับ นายวิชัย ศรีวัฒนประภา เจ้าพ่อคิงเพาเวอร์ อย่างมาก เพราะต่อเชื่อมสายสัมพันธ์ไปยัง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา

ทำให้พรรคภูมิใจไทย ภายใต้การนำของ อนุทิน ชาญวีรกูล ถูกมองว่าอาจเป็นพรรคสีเขียว ที่เคลื่อนไหวสอดคล้องกับ พล.อ.ประวิตร อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน

นอกจากนี้ “พี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์” ยังอยู่ในฐานะ “แกนกลาง” ของ “เซนต์คาเบรียลเน็ตเวิร์ก” ที่เชื่อมโยงกับคนดังๆ มากมาย

ทางด้านนักธุรกิจก็เช่น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล นายศิริธัช โรจนพฤกษ์ นายบัณฑูร ล่ำซำ นายสันติ ภิรมย์ภักดี

ส่วนคนในแวดวงการเมือง ก็มีทั้ง นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นายกร ทัพพะรังสี ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา นายพ้อง ชีวานันท์ และ ฯลฯ

ขณะที่ “มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก” ที่ พล.อ.ประวิตร ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องนั้น

นอกจากปึ้กกับทหารจำนวนมากแล้ว

ยังมี คณะกรรมการมูลนิธิฯ ในสายพลเรือน ที่ปรากฏชื่อคนดัง ทั้งบิ๊กข้าราชการ นักธุรกิจทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จำนวนมาก

เครือข่ายของ พล.อ.ประวิตร จึงกว้างขวางทั้ง ทุนสื่อสาร พลังงาน นายธนาคาร บิ๊กทหารผู้คุมอำนาจกองทัพ ตำรวจ นักการเมือง พรรคการเมือง สื่อมวลชน

 

นี่เอง ทำให้เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ขึ้นมา

โดย 1 ใน 4 คณะย่อย ป.ย.ป. คือคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับผิดชอบ

โฟกัสจึงพุ่งไปยัง พล.อ.ประวิตร ว่าจะ “ปรองดอง” อย่างไรทันที

จะใช้เครือข่ายหรือคอนเน็กชั่น เข้ามาเชื่อมให้เกิดความสามัคคีอย่างไร

ทั้งนี้ ระหว่างเตรียมการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินงาน

คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษารวบรวมความเห็นวิเคราะห์ประเด็นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และการสร้างความปรองดองทางการเมือง ในคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ซึ่งมี นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการ ก็ได้ออกมาชิงเสนอให้ พล.อ.ประวิตร ยึดนโยบายและมาตรการของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่เคยใช้สมัยเป็นนายกฯ คือคำสั่งที่ 66/23 และ 66/25

แต่ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ได้ปัดข้อเสนอดังกล่าวแทบจะทันที โดยอ้างว่าเป็นเรื่องต่างกรณีกัน

โดยเรื่องปรองดองที่ทำจะไม่เอาเรื่องกฎหมายมาเกี่ยวข้อง จะไม่ละเมิดกฎหมาย และไม่ได้ยกเลิกโทษใคร

พูดง่ายๆ ว่าจะไม่นิรโทษกรรมตามแนวทาง 66/2523 อย่างแน่นอน

AFP PHOTO / CHRISTOPHE ARCHAMBAULT

เมื่อไม่เลือกทางนิรโทษกรรม

ก็เริ่มมีการประเมินไปในทางแบบ “ดักคอ” หรือตีปลาหน้าไซ

โดยเฉพาะจากฝ่ายที่ไม่สุกงอมกับการเปิดทางให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย กลับมามีพื้นที่ในทางการเมืองอีกครั้ง

มีการประโคมว่า พล.อ.ประวิตร อาจจะใช้ “คอนเน็กชั่น” ที่มีกับฝ่ายการเมืองต่างๆ มาเป็นแนวทางในการปรองดอง

นั่นคือ จะล็อบบี้ให้พรรคการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย ยอมจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ หลังจากมีการเลือกตั้งทั่วไป

โดยเปิดเก้าอี้สำคัญไว้สำหรับคนกลาง

นั่นคือ นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ซึ่งก็คงเป็นใครอื่นใดไม่ได้

นอกจาก พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร

ถือเป็น วิน-วิน ทางการเมือง ที่จะเอื้อประโยชน์ให้ทุกฝ่าย ภายใต้ “ดีล” ของคนที่ชื่อ พล.อ.ประวิตร

 

กระแสข่าวนี้ ดูเหมือนจะสร้างความไม่พอใจให้ พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.ประยุทธ์ อย่างมาก

จะเพราะ “รู้ทัน”

หรือถูกมองว่าเป็นการเล่นเกม “ดักคอ” ล่วงหน้า ที่ไม่น่าจะเป็นผลดีต่อการ “ปรองดอง” นัก

โดย พล.อ.ประวิตร ตอบโต้การคาดหมายดังกล่าว ว่าไม่มีแน่นอน

“ใครจะไปทำอย่างนั้น อีกทั้งยังไม่ทราบว่าจะไปเจอกับใครและที่ไหนอย่างไร รวมถึงไม่รู้จะไปเจอเพราะอะไร ไม่ว่าใครทั้งนั้น ไม่เคยเจอ มาพูดอย่างนี้ทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐบาลและในภาพรวม”

“อย่ามาเพ้อเจ้อเพราะมันเลยคำว่ามโนไปแล้ว ไปเขียนแล้วไม่รับผิดชอบ คนที่ทำเรื่องปรองดองมาได้ฟังแบบนี้จะเสียใจเพราะตั้งใจทำทุกอย่าง คนที่อ่านแล้วเชื่อก็มีเยอะ”

“ผมไม่ได้โกรธหรือเกลียดอะไร แต่มันเป็นไปไม่ได้ ถ้ารัฐบาลจะให้ใครไปดีลกับพรรคการเมือง จะไปดีลอย่างไรผมมองไม่ออก เพราะไม่รู้ว่าแต่ละคนจะแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะอย่างไร เขียนกันไปเรื่อยจนทำให้เกิดความเสียหายในภาพรวมของประเทศ ไปเขียนในทางที่ไม่ดีว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไปคุม ไม่ให้มีอิสระ มันไม่ใช่แบบนั้น” พล.อ.ประวิตร ระบุ

และยืนยันว่า

“รัฐบาลนี้ตั้งใจทำให้เกิดความปรองดองพร้อมให้มีอิสระในการแสดงความเห็นของทุกภาคส่วน เพราะเรื่องในอนาคตไม่มีใครรู้ว่าจะมีความปรองดองได้หรือไม่ แต่หากมีกติกาที่ชัดเจน ทุกฝ่ายมาร่วมกันก็อาจมีแนวทางที่เกิดขึ้นต่อไปในอนาคต เราไม่มั่นใจว่าตลอด 3 เดือนการพูดคุยนั้นจะเป็นอย่างไร เพราะทุกคนตอบรับว่าจะมา ขอท้าคนที่เห็นผมไปพูดคุยหรือดีลกับพรรคการเมืองใดๆ ขอให้ออกมาพูด”

“ไม่มีแน่นอน เพราะไม่เคยใช้ใคร แล้วจะมีปัญญาอะไรไปประสานงานกับเขาได้ทุกคน ถ้าไปคุยแล้วจะไปตกลงอย่างไรก็ยังไม่มีใครรู้ และไม่ได้ตกลงอะไรให้ คสช. เพราะไม่เกี่ยวกัน การทำแบบนี้เป็นการบั่นทอนกำลังใจกัน เป็นการดิสเครดิตลดความน่าเชื่อถือของสื่อด้วยกันเอง บางคนก็เขียนดีและเขียนเป็นกลาง แต่มาเจออย่างนี้ทำให้ลดความน่าเชื่อถือจากประชาชนไปมาก ใครเขียนข่าวมาอย่างนี้ต้องรับผิดชอบด้วย”

เช่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า

“ใครจะมาดีลกับผมแล้วดีลเรื่องอะไร ผมยืนยันด้วยคำสัตย์ของผม ผมไม่ได้ดีลกับใครทั้งสิ้น อะไรก็ตามที่พูดกันไปมาในสื่อใครพูดก็แล้วแต่ ถ้าผมไม่ได้พูดเรื่องนั้นจากปากของผมจะไม่เกิดขึ้นทั้งสิ้น เพราะผมเป็นคนตัดสินใจ เข้าใจหรือยัง มันก็มีการพูดกันไปมาว่าการสร้างความปรองดองขึ้นเพื่อจะมาวางอนาคตทางการเมืองของผมหรือของรัฐบาล มันไม่ใช่ของผม วันหน้าจะเกิดอะไรก็เรื่องของวันหน้า ผมไม่ต้องการไปสู่เรื่องการเมืองทั้งสิ้น การเมืองคือการเมืองก็ว่ากันไป ผมก็อยู่ของผมตรงนี้ก่อนที่จะทำงานตรงนี้ให้เสร็จโดยเร็ว อย่าเอามาพันกันเลย ถ้ายังตีกันอยู่เรื่องปรองดองมันทำอย่างอื่นได้หมดเพราะทุกคนจะลุกมาพูดโน่นพูดนี่ และไปกันใหญ่โต”

นับแต่ปัดการใช้นโยบาย 66/2523

มาจนถึงการปฏิเสธ เรื่องดีลทางการเมือง เพื่อจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ

ทำให้ ณ เวลานี้

ยังไม่รู้ว่า โมเดล “ปรองดอง” ที่แท้จริงของ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร จะออกมาในรูปแบบไหน

คงต้องติดตามกันต่อไป

โดยรัฐบาลยืนยันว่า ภายใน 3 เดือน น่าจะมีคำตอบ

ส่วนจะเป็นคำตอบที่น่าพึงใจหรือไม่–ยากจะประเมิน และที่สำคัญ แต่ละฝ่าย “สุกงอม” เพียงใด ที่จะให้การปรองดองเกิดขึ้น

แต่ดูท่าที จุดยืน ข้อเสนอ รวมถึงการออกข่าวแบบดักคอหรือตีปลาหน้าไซ ของแต่ละฝ่ายในขณะนี้

ทำให้เห็นว่า เรื่อง “ปรองดอง” ยังเป็นเกมที่ต่างฝ่ายต่างยังชิงการได้เปรียบกันอยู่–ยังไม่เห็นแนวโน้มว่าจะปรองดองจริงๆ ได้อย่างไร!