อนุสรณ์ ติปยานนท์ : ตากอากาศกลางสนามรบ

ผมเพิ่งกลับจากการเดินทางในเขมรหรือประเทศกัมพูชา ฝนตกตลอดเวลา ถนนเฉอะแฉะแต่นั่นไม่ใช่อุปสรรค

สิ่งเดียวที่รบกวนผมในการเดินทางครั้งนี้คือความทรงจำ

ไม่ใช่ความทรงจำของผมหรือความทรงจำของใคร

แต่เป็นความทรงจำร่วมกันของเราต่อเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น

สี่สิบปีผ่านไป ยาวนานพอที่ใครจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่นั่นก็ยังน่าสงสัยสำหรับประเทศกัมพูชา

พวกเขาหลายคนเริ่มต้นใหม่ได้แน่นอนโดยเฉพาะในคนที่ไม่มีความทรงจำ

การเดินทางครั้งนี้ผมเปลี่ยนเป้าหมายจากการสนใจในโบราณสถาน ศาสนวัตถุ ศิลปวัตถุ ไปสู่ผู้คน

ความตั้งใจแรกเริ่มคือการนั่งลงสนทนากับผู้คนชาวเขมรให้มากที่สุดถึงอาหารของพวกเขา

วิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับอาหารของพวกเขา

การกินอาหารตามฤดูกาลของพวกเขา

และเรื่องราวค้างคาใจจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นคำกล่าวที่ว่าอาหารเขมรนั้นหวานเกินไป

หรืออาหารเขมรนั้นมีอาหารประเภทใดที่ได้แลกเปลี่ยนอิทธิพลกันไปมากับอาหารไทย

ไปจนถึงจริงหรือที่ว่าปลากรอบเขมรนั้นมีรสชาติดีที่สุดในดินแดนแถบนี้

 

หลายคำตอบเหล่านั้นได้รับมาในสิบนาทีแรกหรือช่วงแรกของบทสนทนา

เจ้าของโรงแรมแห่งหนึ่งที่ผมเข้าพักในระหว่างเส้นทางไปพนมกุเลนเล่าว่า อาหารเขมรที่แท้หรือดั้งเดิมนั้นมีรสเค็ม

เกลือของเขมรเป็นเกลือที่ได้รับความนิยมมาก

โดยเฉพาะเกลือทะเลจากกำปอตที่มีการทำนาเกลือกันอย่างแพร่หลายและยาวนาน

อาหารของเขมรไม่ว่าจะเป็นปลาฮอกหรือปลาร้าจะมีรสเค็มเจืออยู่

ไม่นับบรรดาปลาแห้ง ปลาแดดเดียวจากทะเลสาบเขมร

แต่เพราะเหตุใดและเมื่อใดที่ความหวานและรสหวานเข้ามาโจมตีและครอบงำอาหารเขมรนั้น เธอไม่อาจตอบได้

อย่างไรก็ตาม เย็นวันนั้น ที่ลานหน้าโรงแรมเล็กๆ ของเรา

เธอลงมือสาธิตการทำอามกปลา หรือ Fish Amok หรือห่อหมกปลาในภาษาของพวกเราให้ผมทาน

กลิ่นหอมของเครื่องแกง ของกะทิ ของใบโหระพา ที่ผสมรวมกันในกระทะขนาดใหญ่ก่อนการตักใส่กระทงใบตองและนำไปนึ่งเรียกเพื่อนบ้านจำนวนมากให้พากันแวะเวียนมาดู

บางคนเพียงแค่ชะโงกหน้าทักทายทำนองว่า “วันนี้ทำอามกหรือ?”

และบางคนถึงขนาดเปิดประตูมานั่งวิสาสะด้วย

กลิ่นของอาหารเรียกความคุ้นเคยกลับคืนมา

กลิ่นของอาหารเรียกมิตรภาพกลับคืนมา

และดูว่ามิตรภาพเหล่านั้นจะแน่นแฟ้นขึ้นเมื่ออามกปลาหลายกระทงที่ทำในเย็นนั้นถูกนำไปส่งมอบให้เพื่อนบ้านหลายต่อหลายหลังคาเรือน

 

และคืนนั้นเองที่คำถามว่าชาวเขมรทานอะไรเป็นอาหารหลักในอดีตเกิดขึ้น

“ก่อนหน้านั้น พ่อกับแม่ของคุณ ครอบครัวของคุณมีเมนูหรือสำรับที่สำคัญบ้างไหม?”

ผู้เป็นเจ้าของโรงแรมตอบว่ามีหลายเมนูที่เธอจดจำได้

ปลาร้าผัดที่ผัดจนเป็นสีน้ำตาลเข้ม ปลาต้มน้ำตาลและอีกหลายเมนู แต่ก่อนหน้านั้นขึ้นไปอีก ว่าตายกับยายของฉันกินอะไร ฉันไม่มีความรู้ หลังการยึดครองของเขมรแดง

พ่อกับแม่ของฉันรอดชีวิตมาได้ เป็นผู้รอดชีวิต ทั้งคู่พบรักกันและเกิดฉันกับน้องสาว

เรื่องราวก่อนนั้น พ่อกับแม่ของฉันไม่เคยเล่าให้ฉันฟังเลย

“เรื่องราวในช่วงชีวิตที่ผ่านมาของท่านในช่วงเขมรแดง พวกท่านไม่เคยเล่าเลยหรือ?” ผมถามย้ำ

“ไม่เลย ทุกครั้งที่ฉันถาม พวกท่านจะบอกเพียงว่ามันเป็นอดีตที่ผ่านไปแล้ว เรื่องราวทั้งหมดที่ฉันรู้เกี่ยวกับเขมรแดง ฉันดูจากสารคดีที่โรงเรียนในภายหลังเท่านั้น”

ผมเข้านอนในยามดึก มุ้งสีขาวสะท้อนแสงไฟจากหน้าต่างให้เป็นเงารางๆ

“มันจริงหรือว่าหากเราไม่พูดถึงมัน หากเรายอมรับว่ามันเป็นสิ่งที่ผ่านไปแล้ว เราจะสามารถลืมเลือนสิ่งนั้นไปได้ มันจริงดอกหรือที่หากเราตั้งใจจะลืมเลือนบางสิ่ง เราจะลืมเลือนสิ่งนั้นได้จริงๆ โดยเฉพาะบาดแผลในความทรงจำ”

 

เช้าวันรุ่งขึ้น ผมมุ่งหน้าลงใต้ ผ่านลงไปยังหมู่บ้านแถบบันทายสรี

ผู้หญิงหลายคนแต่งตัวงดงามซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ที่มีชายหนุ่มเป็นคนขับผ่านไปคันแล้วคันเล่า

พวกเธอมีเถาปิ่นโตในมือกันแทบทุกคน ผมถามคนขับรถตุ๊กตุ๊กของผมที่ทางเจ้าของโรงแรมช่วยจัดหามาว่าพวกเขากำลังเดินทางไปไหนกัน

“งานบุญประเพณีถวายของกิน ของใช้และสารพัดสิ่งให้กับบรรพบุรุษ นี่เป็นเทศกาลใหญ่มากของเรา ผมก็ขับรถถึงวันนี้เหมือนกัน พรุ่งนี้และอีกวันถัดไป ผมต้องไปวัดพร้อมกับแม่ วันนี้ปล่อยให้แม่ไปวัดคนเดียวก่อน”

“คุณมีอายุเท่าไหร่?” ผมถือโอกาสถามเขา ไม่ใช่ผู้หญิง ผมคงไม่เสียมารยาทมากนัก

“สามสิบเจ็ด” เขาตอบ ผมคำนวณอายุของเขา เป็นชาวเขมรอีกหนึ่งคนที่ถือกำเนิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์อันน่าสะพรึงกลัวครั้งนั้น

“ตอนนี้คุณอยู่กับแม่สองคนหรือ?”

“ใช่ครับ ผมเคยมีภรรยา แต่เลิกรากันไปแล้ว มีลูกสาวด้วยกันหนึ่งคน พรุ่งนี้ก็ว่าจะพาไปวัดด้วย”

“งานแบบนี้ เวลาไปทำบุญต้องเอารูปบรรพบุรุษไปด้วยไหม?”

“ถ้ามีก็เอาไป แต่ไม่ค่อยมีใครมีกัน ผมเองก็เหลือแต่รูปพ่อ รูปคนเก่าแก่ก่อนนั้น ผมเคยถามแม่ แม่บอกว่าหายไปหมดนับแต่ช่วงสงคราม หาไม่ได้แล้ว แม่บอกว่าอาจมีที่ป้า แต่ป้าผมอพยพไปอเมริกานับแต่หลังสงครามในฐานะคนอพยพ นานๆ เขาจึงจะกลับมาที่เขมรเสียที”

 

อีกหนึ่งความทรงจำที่ถูกลบ ผมนึกในใจ หลายปีก่อนผมเคยอ่านบทความที่เล่าถึงชาวเขมรอพยพหลังสงครามกลางเมือง หลายคนที่ทันเห็นความโหดร้ายของเขมรแดงก่อนการอพยพประสบกับปัญหาสายตาพร่ามัวในภายหลัง

จู่ๆ พวกเขาก็เริ่มมองเห็นสิ่งต่างๆ อย่างไม่ชัดเจน

จู่ๆ พวกเขาก็มองเห็นสิ่งต่างๆ อย่างพร่ามัว

จักษุแพทย์ไม่พบความผิดปกติที่ข้องเกี่ยวกับประสาทตา เป็นเวลาหลายปีกว่าจะพบว่าอาการดังกล่าวเกิดขึ้นจากอาการจิตใจที่เรียกว่า Post-War Trauma

หลายคนได้รับการเยียวยาจนพวกเขามีสายตาปกติเมื่อใช้ชีวิตทั่วไป

แต่เมื่อใดก็ตามที่ความทรงจำเกี่ยวกับเขมรแดงและความโหดร้ายที่ตัวเขาและครอบครัวได้รับ ความมืดจะเข้าปกคลุมดวงตาของพวกเขาโดยฉับพลัน

ผมถึงบันทายสรีในยามบ่าย ตลอดทางมีต้นตาลและการเคี่ยวน้ำตาลเป็นระยะๆ

ผมหยุดพูดคุยกับแม่ค้าน้ำตาลคนหนึ่ง เธอเล่าว่า สมัยก่อนน้ำตาลจากบันทายสรีหรือเสียมเรียบเป็นสินค้าส่งออกชั้นดี ทั้งส่งไปไทยและเวียดนาม

แม่ของเธอเล่าว่า อาจมีการหยุดผลิตเพื่อส่งออกในช่วงของเขมรแดงบ้าง

แต่เมื่อสงครามยุติลง ชาวบ้านกลับมายังบ้านของตนเอง

ต้นตาลยังคงยืนต้นและพวกเขาเริ่มผลิตมันอีกครั้ง

ผมไม่ได้ไถ่ถามเธอต่อว่า วิธีการทำยังเป็นแบบเดิมไหม

และเรื่องราวของหมู่บ้านแห่งนี้ในช่วงเวลาสงครามเป็นอย่างไร

เธอมีอายุน้อยมากราวยี่สิบต้นๆ

และแน่นอนเธอคงไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับเรื่องนี้

 

กัมพูชากำลังสร้างอนาคตขึ้นใหม่ ปีที่ศูนย์หรือ Year Zero อันเป็นปี 1975 ที่พอล พต ผู้นำเขมรแดงสถาปนาให้เป็นปีเริ่มต้นแห่งกัมพูชาอาจไม่มีอีกต่อไปแล้ว

แต่กระนั้นมันก็มีอยู่ในฐานะของการเริ่มต้นใหม่จากโศกนาฏกรรมครั้งนั้น

เย็นวันนั้น ผมพบกับนักข่าวชาวอังกฤษคนหนึ่งที่ร้านอาหารของผู้สื่อข่าวในเสียมเรียบ

เรื่องราวที่เขาเล่าให้ผมฟังเกี่ยวกับอนาคตของกัมพูชานั้นน่าสนใจ

หลายเมืองในกัมพูชาได้ถูกทำให้เป็น Little China ทีละน้อย

“คุณต้องเดินทางไปที่สีหนุวิลล์ ร้านอาหาร โรงแรมที่นั่น ล้วนมีเจ้าของเป็นคนจีน ใช้พนักงานจีน มีแต่คนพูดภาษาจีนที่นั่น นักท่องเที่ยวจีนเดินทางมากัมพูชาก็จริง แต่ไม่มีรายได้ใดเกิดขึ้นที่นี่ พวกเขาใช้บริการของคนจีน ทัวร์ศูนย์เหรียญที่แท้จริง”

“นั่นเกิดขึ้นเฉพาะในเมืองที่ท่องเที่ยวใช่ไหม?” ผมถาม

“อย่างน้อยเราก็ยังป้องกันการระบาดของทุนจีนได้ในที่อื่น”

“ผิดถนัด ในที่ที่ไม่มีชุมชนจีน ทุนจีนก็ทำหน้าที่แบบอื่น รอบนอกของเมืองใหญ่ โดยเฉพาะแถบฝั่งตะวันตกของเขมร ถ้าคุณมีโอกาส ลองขับรถผ่านไปดู คุณจะเห็นไร่อ้อยจำนวนมาก สุดลูกหูลูกตา ไม่ได้มีอุตสาหกรรมน้ำตาลอะไรใหญ่โตหรอก พวกเขาใช้สัมปทานไร่อ้อยบังหน้า ลึกลงไปบนแผ่นดิน พวกเขากำลังตามหา ขุดหาพลอยต่างหาก นั่นเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้นบนแผ่นดินนี้”

เพื่อนนักข่าวของผมเดินไปหาเจ้าของร้าน ไม่นานนัก เสียงเพลงแร็พเพลงหนึ่งก็ดังขึ้นมา

“นั่นคือเพลงของ Sangkum Nis หรือ This Society ของ Dymey Cambo ศิลปินแร็พชาวเขมร” เพื่อนนักข่าวของผมกล่าว

“ผมขอให้เขาเปิดให้คุณฟัง เพลงนี้พูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในเขมรและหาฟังไม่ได้ง่าย มันถูกลบและถูกแบนจากรัฐบาล เนื้อหาในเพลงทำให้ชาวเขมรคิดถึงความจริงอันเจ็บปวดในสังคม คุณลองนึกดูสิว่า ในขณะที่รัฐบาลกำลังปล่อยให้ทุนจากจีนและเกาหลีครอบครองหลายสิ่งในประเทศนี้ ชาวเขมรที่เป็นพลเมืองของประเทศกลับต้องดิ้นรนไปขายแรงงานในประเทศไทย มันไม่มีความยุติธรรมใดเลย”

“พวกเขากำลังลุกขึ้นสู้ใช่ไหมในความไม่ยุติธรรมเหล่านี้ แม้จะยากลำบากก็ตาม” ผมถาม

“ใช่ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น สังคมที่ไม่มีความทรงจำต้องสร้างความทรงจำใหม่ขึ้นมา อย่างน้อยมันก็เป็นสิ่งที่พวกเขากระทำได้ ณ นาทีนี้เลย”

เสียงเพลงดังขึ้นอีกรอบ แต่ตอนนี้เราทั้งคู่ไม่มีบทสนทนาใดอีกต่อไป