ฉัตรสุมาลย์ : Eco temple เมื่อศาสนสถานต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ในวงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และวงการที่ให้ความสนใจกับการตอบโจทย์เรื่องภาวะโลกร้อน เราได้ยินคำนี้มาหลายปีแล้ว Eco Temple หมายถึงวัดที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม สนใจกับการจัดการกับขยะ นำกลับมาใช้ให้ได้มากที่สุด เพื่อถนอมรักษาโลกให้มีอายุยืนยาวไปในอนาคต

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเคยรับสั่งมานานแล้วว่า เราต้องมีความรับผิดชอบที่จะส่งต่อโลกให้กับรุ่นลูกหลานของเราอย่างน้อย ก็ไม่น้อยกว่าที่เราได้รับมาจากรุ่นพ่อแม่ของเรา

วัตรทรงธรรมกัลยาณี เป็นวัดหนึ่งที่มีความพยายาม ไม่เพียงแต่จะจัดการกับสิ่งแวดล้อม จัดการกับขยะต่างๆ ในวัดของตัวเองเท่านั้น

แต่ยังนึกต่อไปด้วยว่า อยากจะจัดการดูแลสิ่งแวดล้อมภายในวัดให้เป็นวัดตัวอย่างที่วัดและโรงเรียนอาจจะพานักเรียนมาเรียนรู้ได้

การเรียนรู้เรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมนี้ ทันทีที่เรามีความสนใจ เราจะเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นที่ทำงานไปในทิศทางเดียวกัน

 

เริ่มต้นจากน้ำ ไฟ เรื่องใกล้ตัว ช่วงนี้หน้าฝน เราจะรองน้ำฝนไว้ใช้ ตั้งแต่ซักเสื้อผ้า ล้างถ้วยชาม ไปจนถึงรองไว้ทำความสะอาดในห้องน้ำ

เราลงทุนติดตั้งระบบเก็บพลังแสงอาทิตย์จากแผงโซลาร์เซลล์เพื่อจ่ายไปตามอาคารต่างๆ ภายในวัด ความคิดนี้ชัดเจนเมื่อผู้เขียนเดินทางไปอิสราเอลเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว ที่นั่นรัฐบาลออกเป็นกฎหมายใช้บังคับเลยว่า ทุกบ้านต้องติดตั้งระบบเก็บพลังงานจากแสงอาทิตย์มาใช้ในบ้านของตนเอง

ประเทศไทยก็เหมือนกับอิสราเอลตรงที่มีแสงอาทิตย์เหลือเฟือ ยังจำได้ว่า อิสราเอลเป็นประเทศหนึ่งที่มีน้ำร้อนอาบอย่างเต็มที่ ตอนเปิดน้ำก๊อกต้องระวัง มิฉะนั้น จะร้อนจนลวกผิวหนังได้

แต่ประเทศไทยไม่พัฒนาที่จะนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ เราตามหลังเขาหลายสิบปีมาก มิหนำซ้ำ ยังจะทำกลับกัน คือแทนที่จะสนับสนุนประชาชนให้ขวนขวายใช้พลังงานธรรมชาติที่มีเหลือเฟือ

กลับจะออกกฎหมายเก็บภาษีราษฎรที่มีความคิดดีๆ เช่นนี้

 

จากน้ำ ไฟ แล้วคราวนี้ ตื่นขึ้นมา ต้องต้มน้ำชงกาแฟ แล้วเราจัดการอย่างไรกับซองกาแฟ ที่ตอนนี้มาในรูปทรีอินวัน ใช้กรรไกรตัดตรงๆ เมื่อใช้กาแฟแล้วเก็บซองนี้ไว้ เก็บไว้เยอะๆ เอาไปส่งที่วัตรทรงธรรมฯ ก็ได้ สำหรับสมาชิกที่มาวัดเป็นประจำ ทางวัดจะแยกประเภทตามขนาด ตามสี แล้วจัดลงกล่องส่งไปที่มูลนิธิบ้านนกขมิ้น มีผู้เฒ่าผู้แก่ท่านมารวมตัวกันใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ พับและสานกระเป๋าและของใช้อื่นๆ กลับคืนสู่สังคมได้อีกต่อหนึ่ง

ที่บอกว่า เรามีเครือข่ายก็ในลักษณะนี้

ทีนี้ พอไปถึงโรงครัว มีเศษอาหารสด ขยะจากครัวต้องไม่ค้างคืน เพราะจะเป็นที่มาของบรรดาหนูและแมลงสาบ เราจัดเป็นเวรกัน นำเอาเศษอาหารไปลงหลุมที่เราขุดเตรียมไว้ที่สวนหลังวัด พอเต็มเราก็กลบ ให้เศษอาหารสด คืนสภาพเป็นปุ๋ยให้เราใช้ปลูกผัก ปลูกต้นไม้ต่อไป พื้นที่ว่างในวัดแทบทุกตารางนิ้ว ใช้เป็นหลุมฝังเศษอาหารสด หมุนเวียนกันในลักษณะนี้

เราต้องแยกถุงพลาสติก ถ้าใช้ได้ ทำความสะอาด ตากให้แห้ง มัดชั่งกิโลขายทุกรอบเดือน เป็นรายได้กลับมาเป็นค่าน้ำในวัดได้อีก

ถุงพลาสติกที่เราได้จากการไปซื้อของเยอะมาก เอามาตัดเป็นเส้น ต่อกันยาวๆ ม้วนเป็นกลุ่ม แล้วเอามาถักเป็นกระเป๋า และของใช้ต่างๆ ได้ บางทีก็เอามาทอแบบทอเสื่อ

พลาสติก ทั้งถังน้ำ ขัน เก้าอี้ ที่แตกหักใช้ไม่ได้แล้ว รวบรวมชั่งกิโลขาย ไม่มีอะไรทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์

กระดาษทุกขนาด ทุกรูปแบบ เก็บขายได้หมด

 

ทางวัดจะบอกญาติโยมว่า เอาขยะมาทำบุญ ทันทีที่ญาติโยมคิดถึงวัด ก็จะเริ่มตระหนักว่าจะต้องแยกขยะ

คัดและแยกขยะเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับเปลี่ยนนิสัย ที่เราเริ่มมีความตระหนักรู้ว่า เราจะไม่สร้างขยะเพิ่มโดยไม่จำเป็น

จุดนี้สำคัญมากค่ะ

อยากให้รัฐออกกฎหมายให้บริษัทที่ผลิตสินค้าใดก็ตาม ต้องรับผิดชอบกับขยะที่เกิดจากสินค้านั้นๆ เอาจริงเสียทีเถิด

กระดาษหนังสือพิมพ์ แยกไว้กองหนึ่ง

กระดาษเอสี่ หากใช้แล้วเพียงหน้าเดียว แยกไว้เอากลับมาใช้ได้อีก ที่ใช้แล้วสองหน้ามัดรวมไว้ต่างหาก กระดาษทุกชนิดค่ะ รวมทั้งเศษเล็กเศษน้อยขึ้นตาชั่งได้หมด พอเราสร้างนิสัยอย่างนี้ได้ วิธีคิดของเราจะต่างไปจากเดิม

การเปลี่ยนแปลงเริ่มที่นี่แหละค่ะ

ที่ตัวเราเอง

กล่องกระดาษ ตอนนี้ เคอรี่บริษัทใหม่เข้ามาแย่งพื้นที่ไปรษณีย์ไทยไปอย่างสุดๆ กล่องที่เราส่งของไปมา ท่านธัมมนันทาจัดส่งแล้วส่งอีกได้หลายเที่ยวมาก เพียงเอากระดาษเอสี่ที่ใช้แล้วด้านหนึ่ง มาปิดที่ด้านหน้าของกล่อง จ่าหน้าที่อยู่ใหม่ ก็ส่งของได้อีกหลายเที่ยว ท่านไม่เคยเสียเงินซื้อกล่อง สมาชิกวัดที่อยู่ต่างจังหวัดก็ทำแบบเดียวกัน บางครั้งก็เป็นกล่องเดิมที่ตัวเองส่งไปนั่นแหละที่ส่งกลับมาใหม่

กล่องพวกนี้ จะส่งไปขึ้นตาชั่งขายเมื่อใช้จนหมดสภาพแล้ว

 

สมัยเด็กๆ ผู้เขียนเติบโตขึ้นมาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เราประหยัดกันจนเป็นนิสัย เสื้อผ้าที่เก่าแล้ว ก่อนทิ้ง ต้องตัดกระดุมออกก่อน เลาะซิปออกก่อน เพื่อเอาไปใช้กับตัวใหม่

เด็กสมัยนี้ มองหน้าแล้วทำหน้าเหวอ ไม่เข้าใจว่าทำทำไม เพราะสมัยนี้ไม่เคยใช้เสื้อผ้าจนถึงเก่า จะซื้อใหม่ไม่ใช่เพราะเก่าจนใช้ไม่ได้แล้ว แต่เป็นเพราะเบื่อ ไม่ชอบใส่ซ้ำ ไม่ทันแฟชั่น ไม่ทันสมัย เฮอ เฮอ จึงจนไม่เลิก

ปัญหาของสังคมสมัยนี้ จึงเป็นปัญหาที่ต่างไปจากเดิมมาก พอซื้อเสื้อผ้ามาล้นตู้ ก็ต้องซื้อตู้ใหม่ พอตู้แน่นห้อง ก็ต้องขยับขยายมีห้องเพิ่ม พอมีห้องเพิ่ม บ้านแคบไปแล้ว ซื้อบ้านใหม่

ขนาดตัวของเราก็เพียงนั้นแหละ กว้างศอก ยาววา หนาคืบ

แต่เราก็ไม่ค่อยพอที่จะจัดการกับตัวเราเอง

 

คราวนี้จึงเกิดธุรกิจเสื้อผ้ามือสอง

แต่ก่อนไม่มีนะคะ

ช่วงแรกๆ ในยุคของธุรกิจเสื้อผ้ามือสอง หลายคนยังรังเกียจ แต่ต่อมาก็กลายเป็นความนิยม จนกลายเป็นธุรกิจได้จริงๆ

เสื้อผ้ามือสองที่มาถึงวัด เราก็ออกร้านงานวัดสนุกสนานกันทุกปี แต่เสื้อผ้าที่โทรมมากๆ และตกยุคตกสมัย เราก็เอามาดัดแปลง เอามาตัดเป็นสี่เหลี่ยมเล็กๆ เย็บต่อกันเป็นผ้าห่มบ้าง ตัดเป็นเส้นยาวๆ ต่อกัน เอาไปถักทอเป็นพรมบ้าง

คิดเป็นทำเป็น ชีวิตไม่อับจน

ความคิดที่พึงมีพึงใช้แต่น้อย เท่าที่พอเพียง และความพยายามที่จะนำของที่ใช้แล้วกลับมาใช้อีก ไม่ใช่เรื่องใหม่ เรื่อง recycle ฟังดูว่าทันสมัย ที่แท้พระอานนท์มหาเถระ ผู้เป็นพระญาติ และพระอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้าทำให้ดูมาก่อนหน้านั้นแล้ว เมื่อพระมเหสีของพระเจ้าอุเทนทรงมีศรัทธานำผ้าจีวรมาถวายถึง 500 ผืน พระสวามีน่าจะทรงแอบคิดว่า เว่อร์ไป เมื่อมีโอกาสจึงได้ถามพระอานนท์ว่า เป็นพระเป็นสงฆ์เอาจีวรไปทำอะไรตั้งมากมาย

พระอานนท์อธิบายว่า ท่านได้แจกจ่ายไปในหมู่สงฆ์ที่ขาดแคลน

หลังจากนั้น พระเจ้าอุเทนก็ยังทรงติดพระทัยซักต่อว่าเมื่อหมดสภาพที่จะใช้งานเป็นจีวรแล้วเอาไปทำอะไรต่อ

 

ตรงนี้ ผู้เขียนเห็นจีวรของเจ้าอาวาสวัดพระทองที่พังงา แวบเข้ามา ตอนที่เกิดสึนามิ ท่านธัมมนันทาลงไปเยี่ยมชาวบ้านที่ประสบภัยจากสึนามิ พระเจ้าก็เดือดร้อน ท่านเจ้าอาวาสวัดพระทองท่านชี้ให้ดูจีวรของท่านมีรอยขาด ท่านปะ เย็บ ชุน เอง แทบจะทั้งผืน เป็นตัวอย่างที่ดีมากเลยค่ะ ต้องสารภาพว่าไม่เคยเห็นจีวรในสภาพนั้นมาก่อน มีคุณค่าทางใจมากเลย

เมื่อหมดสภาพจากเป็นจีวรแล้ว ก็เอาไปใช้เป็นผ้าดาดหลังคา จากนั้น ก็ใช้เป็นผ้าเช็ดพื้น และในท้ายที่สุด นำไปโขลกผสมดินเหนียวฉาบฝากุฏิ

นี่เป็นวิธีการนำจีวรกลับมาใช้ ที่ปรากฏในพระไตรปิฎก

ท่านทำตัวอย่างไว้ให้เราดูแล้ว

Eco temple จึงใช้พื้นที่วัดเป็นสถานที่แห่งการเรียนรู้ กินน้อย ใช้น้อย ใช้แล้วใช้อีก โดยที่เราตั้งเป้าหมายว่า เราจะสร้างพื้นที่ ของ Zero Waste คือไม่มีส่วนใดที่ทิ้งเสีย เปอร์เซ็นต์การทิ้งเสียเป็นศูนย์

ที่ต้องทิ้งให้มาก คือ ความยึดมั่นถือมั่นในตนต่างหาก

เราทำได้นะ มาลงมือทำด้วยกัน เอาวัดนี้แหละเป็นศูนย์กลาง เป็น Eco Temple