อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : ลาว-จีนในแง่มุมหนึ่ง

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

ในช่วงระหว่างยุคอาณานิคม ประเทศลาวต้อนรับกลุ่มคนจีนโพ้นทะเล (oversea Chiness) กลุ่มเล็กที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขณะนั้น

ชุมชนชาวจีนโพ้นทะเลกลุ่มนั้นเกือบสูญหายไป หลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์ลาวยึดอำนาจในลาวในปี ค.ศ.1975

ทั้งด้วย สปป.ลาวเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทางทะเล (Land lock country) ที่มีพื้นที่ติดกับสาธารณรัฐประชาชนจีน

อีกทั้ง สปป.ลาวยังได้มีประสบการณ์ร่วมในการเป็นส่วนหนึ่งของ “คาราวานการค้า” ระหว่างมณฑลยูนนานกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป

การที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank-ADB) ได้ชุบชีวิตเส้นทางการค้า in land ในประวัติศาสตร์ เป็นเหตุให้มีคนจีนอพยพหลายหมื่นคนเดินทางเข้ามาตามเส้นทางการค้าใหม่ๆ ของ สปป.ลาว

โดยผ่านเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor) เชื่อมโยงเมืองคุนหมิงถึงกรุงเทพฯ

 

ลาว-จีนใน 2 แง่มุม

จากพัฒนาการความเชื่อมโยงทางพื้นที่และการค้า รวมทั้งการเปลี่ยนโฉมหน้าสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะถนนของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียดังกล่าว

กลุ่มหนึ่งมองว่า ความเชื่อมโยงระหว่าง สปป.ลาวกับสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ส่งสัญญาณเตือนทั้งนักวิชาการและนักวางแผนพัฒนาทั้งคนลาวและชาวต่างประเทศ บางคนกล่าวว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็น “ประเทศเงา” (shadow state) คุกคามอธิปไตยและดินแดนของ สปป.ลาว

ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งมองว่า เรามีความจำเป็นต้องมองข้ามทัศนะที่มองว่า สปป.ลาวเป็น “รัฐอ่อนแอ” (weak state) เป็นประเทศที่ตกเป็นเหยื่อของโลกาภิวัตน์ และโดยเฉพาะตกเป็นเหยื่อของสาธารณรัฐประชาชนจีน

คนกลุ่มนี้มองว่า “การแสดงตน” เข้ามาของสาธารณรัฐประชาชนจีนใน สปป.ลาวไม่ได้ลดบทบาทของระบอบการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์ลาว

แต่การเกี่ยวข้องของสาธารณรัฐประชาชนจีนอนุญาตให้ สปป.ลาวจัดการปัญหาและสิ่งท้าทายจากโลกาภิวัตน์และรักษาอำนาจของ สปป.ลาวเอาไว้

มุมมองดังกล่าวมองกันคนละด้าน ด้านหนึ่งมอง บทบาทและการปรากฏตัวของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่นำมาสู่ สปป.ลาว อีกกลุ่มหนึ่งมองด้านการพัฒนาที่เกิดขึ้นใน สปป.ลาวแม้จะเกิดจากหลายประเทศและหลายองค์กรระหว่างประเทศ

แต่เมื่อดูน้ำหนักแล้ว นับตั้งแต่ยุค 2000 นโยบายมุ่งใต้ (Go South policy) และบทบาทที่เพิ่มมากขึ้นหลายด้านของมณฑลยูนนานและพื้นที่สาธารณรัฐประชาชนจีนด้านตะวันตกเฉียงใต้ (southwest region) ซึ่งติดกับเมียนมา สปป.ลาวอันเชื่อมต่อกับอินเดียและไทยจนถึงสิงคโปร์

การบูรณาการทางเศรษฐกิจภายใต้กรอบภูมิภาคได้แก่ China-ASEAN ก็มีความสำคัญและพัฒนาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม เราปฏิเสธโครงการรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว (China-Lao PDR hi speed train) ไม่ได้

 

โครงการรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว
(China-Lao PDR hi speed train)

7เมษายน 2010 รัฐบาล สปป.ลาวได้ลงนามในข้อตกลงกับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งในแง่เงินทุนและการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (ความยาว 420 กิโลเมตร) เชื่อมเมืองหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาวกับตะวันตกเฉียงใต้ของสาธารณรัฐประชาชนจีน

ภายใต้แผนการเริ่มต้นดังกล่าว สาธารณรัฐประชาชนจีนสนับสนุนเงินทุน 70% ของโครงการมูลค่า 7.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ

การก่อสร้างเริ่มเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2011 เพื่อฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตครบรอบ 50 ปีสาธารณรัฐประชาชนจีน-สปป.ลาว

อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ได้ถูกเลื่อนออกไป หลังจากมีการกล่าวหาเรื่องการคอร์รัปชั่นและโยกย้ายรัฐมนตรีรถไฟของสาธารณรัฐประชาชนจีนในเดือนกุมภาพันธ์ 2011

หลังจากนั้น บริษัทจีนต่างๆ ได้ถอนตัวออกจากโครงการและการร่วมทุน เพราะกลัวว่าการเชื่อมโยงรถไฟความเร็วสูงจะไม่สร้างกำไรเพียงพอ

รัฐบาล สปป.ลาวได้แก้ปัญหาโดยรับเป็น “เจ้าของโครงการทั้งหมด” รัฐบาล สปป.ลาวและสาธารณรัฐประชาชนจีนยังคงสนับสนุนทางการเงิน โดยมีการทำข้อตกลงต่างๆ ในข้อตกลงเงินกู้กับ China EXIM Bank ในทางตอบแทนกัน

สาธารณรัฐประชาชนจีนจะเป็น “ผู้รับประกัน” การส่งออกสินแร่ราว 5 ล้านตันต่อปีซึ่งส่วนใหญ่เป็นแร่โพแทส (Potash) จนถึงปี 2020 พร้อมด้วยวัตถุดิบอื่นๆ เช่น ไม้สักและผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งจะขนส่งไปทางเรือเข้าสาธารณรัฐประชาชนจีน นี่เป็นแถลงการณ์ของกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ของ สปป.ลาว (1)

เพื่อยุติข่าวลือต่างๆ เกี่ยวกับการยกเลิกโครงการรถไฟความเร็วสูงสาธารณรัฐประชาชนจีน-สปป.ลาว นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ท่านทองสิง ทำมาวงค์ ยืนยันว่า โครงการยังเป็นวาระ (agenda) ระหว่างการเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน เดือนเมษายน 2014 (2)

 

นัยยะสำคัญ

มีนักวิชาการบางท่านเห็นว่า การลงทุนของสาธารณรัฐประชาชนจีนรวมทั้งความช่วยเหลือด้านต่างๆ ต่อต่างประเทศไม่ใช่เรื่องใหม่ รวมทั้งการลงทุนและความช่วยเหลือต่อหลายประเทศในแอฟริกา อันเห็นได้ว่า เป็นในแง่ผู้ช่วยเหลือและการพัฒนาให้ประเทศเหล่านี้ รวมทั้ง สปป.ลาวไม่ได้ตกเป็น “เหยื่อ” ของโลกาภิวัตน์ มีประเด็นที่น่าพิจารณาคือ

ประการแรก โครงการลงทุนและก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว มีประเด็นการกล่าวหาเรื่องการคอร์รัปชั่น เป็นประเด็นของผู้บริหารระดับสูง

ประการที่สอง เป็นที่น่าสังเกตว่า ประเทศเล็กและกำลังพัฒนาเป็นผู้ลงทุนในโครงการมูลค่า 7.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ โครงการขนาดใหญ่ใน สปป.ลาว เช่น โครงการก่อสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ รัฐบาล สปป.ลาวกลับเป็นเพียงผู้ร่วมลงทุน และเป็นนักลงทุนรายน้อย

ประการที่สาม การเป็นประเทศผู้รับซื้อสินแร่โพแทส วัตถุดิบคือ ไม้สักและผลผลิตทางการเกษตรน่าจะตีความได้อีกอย่างว่า “ไม่ใช่ผู้รับซื้อ” แต่เป็นการแลกเปลี่ยนสินค้าและสินแร่ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนมีความต้องการ ซึ่งเช่นเดียวกับสินแร่ ข้าวและพืชเกษตรในทวีปแอฟริกาและที่อื่นๆ

ประการที่สี่ รถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว เป็น “โครงสร้างพื้นฐานหลัก” ที่ทันสมัยและสำคัญเชื่อมต่อเขตล้าหลัง เขตที่มีชนกลุ่มน้อย เขตที่เป็นปัญหาความมั่นคงของสาธารณรัฐประชาชนจีนทางตะวันตกเฉียงใต้ ตรงกันข้าม เป็นเส้นทางเชื่อมต่อมณฑลยูนนานกับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง จนกระทั่งไปสู่สิงคโปร์

เป็นไปได้หรือ ที่โครงการสำคัญนี้เป็นการยกระดับการพัฒนาและจัดการกับโลกาภิวัตน์ของ สปป.ลาวเท่านั้น แต่มีนัยยะสำคัญต่อสาธารณรัฐประชาชนจีนทางเศรษฐกิจและการเมืองในภูมิภาคด้วย

เรื่องนี้เป็นเรื่องภูมิภาค

——————————————————————————————————-
(1) Wall Street Journal 2012
(2) Radio Free Asia, August 2014