โฟกัสพระเครื่อง / เหรียญรุ่นแรก 2488 หลวงพ่อโบสถ์น้อย วัดอมรินทราราม ธนบุรี

เหรียญหลวงพ่อโบสถ์น้อย รุ่นแรก

โฟกัสพระเครื่อง–(ฉัตรชัย สุนทรส)

เหรียญรุ่นแรก 2488
หลวงพ่อโบสถ์น้อย
วัดอมรินทราราม ธนบุรี

โคมคำ
[email protected]

ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา (พ.ศ.2484-2488) เครื่องบินข้าศึกเข้ามาทิ้งระเบิดเพลิงตามจุดยุทธศาสตร์ต่างๆ รวมถึงสถานีรถไฟธนบุรี ที่บางกอกน้อย ทำให้วัดอมรินทราราม ซึ่งอยู่ติดกันได้รับความเสียหายอย่างหนัก
แม้แต่พระอุโบสถซึ่งเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อโบสถ์น้อย ก็ได้รับความเสียหายด้วย
เมื่อสงครามยุติลงในปี พ.ศ.2488 จากความรุนแรงของระเบิด เป็นผลให้เศียรของหลวงพ่อโบสถ์น้อยที่ปั้นด้วยปูนถึงกับหักพังลงมา
ทางวัดจึงเริ่มดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ปูชนียวัตถุและเสนาสนสถานต่างๆ พร้อมประกอบพิธีต่อเศียรจนเป็นที่เรียบร้อยในปี พ.ศ.2488
ในการนี้ วัดอมรินทราราม ได้จัดสร้างวัตถุมงคลหลวงพ่อโบสถ์น้อย ประกอบด้วย เหรียญ, พระเนื้อดิน และพระเนื้อผง เป็นที่ระลึกแก่ผู้บริจาคทรัพย์สมทบทุนบูรณปฏิสังขรณ์
ส่วนพระเนื้อผง สร้างแบบสามเหลี่ยมและสี่เหลี่ยม สำหรับคณะกรรมการเท่านั้น
เหรียญหลวงพ่อโบสถ์น้อย พ.ศ.2488 ถือเป็นเหรียญปั๊มรุ่นแรกของวัด
ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ หูเชื่อม ยกขอบแบบเส้นลวดแบนทั้งหน้าและหลัง
ด้านหน้า ตรงกลางเป็นรูปจำลองหลวงพ่อโบสถ์น้อย ประทับนั่งเหนืออาสนะฐานหน้ากระดาน 5 ชั้น ห่มจีวรริ้วแบบพาดสังฆาฏิ พระพักตร์คมชัด พระรัศมีเป็นแบบเปลวเพลิง มีอักขระขอมโดยรอบ คั่นกลางด้วยวงกลมซ้อนกัน 2 วง
ด้านบนอ่านว่า “สัง วิ ธา ปุ กะ ยะ ปะ” ซึ่งเป็น ‘หัวใจพระอภิธรรม’ ด้านล่างอ่านว่า “อะ สัง วิ สุ โล ปุ สะ พุ ภะ” อันเป็น ‘หัวใจนวหรคุณ’
ด้านหลัง ตรงกลางเป็น “ยันต์เฑาะว์สมาธิ” โดยรอบมีอักษรไทยแบ่งครึ่งด้วยวงกลมเช่นกัน ด้านบนจารึกพระนาม “หลวงพ่อโบสถ์น้อย” ด้านล่างเป็นชื่อวัด “วัดอมรินทราราม (บางว้า)”
ประการสำคัญ วัตถุมงคลทั้งหมดได้รับการปลุกเสกโดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดังในยุคนั้น อาทิ หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก, หลวงพ่อจาด วัดบางกะเบา, หลวงพ่อโชติ วัดตะโน, หลวงพ่อแฉ่ง วัดบางพัง, หลวงพ่อพริ้ง วัดบางปะกอก และหลวงพ่อเส่ง วัดน้อยนางหงส์ เป็นต้น
“เหรียญหลวงพ่อโบสถ์น้อย รุ่นแรก” ได้รับการยกย่องให้เป็นเหรียญพระพุทธยอดนิยม เหรียญของเมืองไทย

หลวงพ่อโบสถ์น้อย

หลวงพ่อโบสถ์น้อย เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สมัยสุโขทัย ปางมารวิชัย วัสดุทองสำริด หน้าตักกว้าง 4 ศอก 22 นิ้ว สูง 7 ศอก 21 นิ้ว
ปัจจุบันประดิษฐานภายในพระอุโบสถน้อย วัดอมรินทรารามวรวิหาร เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ
หลวงพ่อโบสถ์น้อย ไม่ปรากฏหลักฐานความเป็นมาแน่ชัดว่าใครเป็นผู้สร้างและสร้างในสมัยใด แต่จากคำบอกเล่าสืบต่อกันมาว่า เดิมเป็นพระพุทธรูปที่หล่อด้วยทองสำริด มีขนาดไม่ใหญ่นัก แต่จะมีขนาดเท่าใดและเป็นพระพุทธรูปสมัยใดนั้นไม่ปรากฏแน่ชัด
สันนิษฐานว่าหลวงพ่อโบสถ์น้อยคงจะเป็นพระพุทธรูปสำคัญที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ชาวบ้านจึงมีความเลื่อมใสศรัทธาและอัญเชิญมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ
แต่ด้วยเหตุที่องค์พระพุทธรูปมีขนาดเล็ก ไม่สมกับพระอุโบสถที่มีความกว้างขวางใหญ่โต
ดังนั้น ชาวบ้านจึงได้คิดหากลอุบายด้วยการปั้นปูนพอกทับอำพรางองค์จริงเอาไว้ เพื่อให้มีขนาดที่เหมาะสมกับพระอุโบสถ ซึ่งขณะนั้นมีขนาดยาวถึง 4 ห้อง
ครั้นต่อมาถึง พ.ศ.2441 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตัดเส้นทางรถไฟสายใต้ เริ่มจากปากคลองบางกอกน้อยไปทางนครปฐม มีผลให้พื้นที่ด้านหน้าวัดอมรินทราราม ตรงปากคลองบางกอกน้อย ถูกตัดตอนเป็นทางรถไฟ วางรางรถไฟเฉียดผ่านพระอุโบสถของวัด จนถึงกับต้องรื้อด้านหน้าของพระอุโบสถออกไปเสียห้องหนึ่ง เหลือเพียง 3 ห้องเท่านั้น
ทำให้พระอุโบสถมีขนาดเล็กลง ชาวบ้านจึงเรียกว่า “โบสถ์น้อย” และคงจะเรียกชื่อพระประธานในพระอุโบสถโดยอนุโลมว่า “หลวงพ่อโบสถ์น้อย” ด้วย

ต่
อมาเมื่อเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาขึ้น เครื่องบินข้าศึกได้มาทิ้งระเบิดเพลิง เพื่อทำลายย่านสถานีรถไฟธนบุรี แต่เนื่องจากสถานีรถไฟกับวัดมีเขตติดต่อกัน จึงทำให้ปูชนียวัตถุและเสนาสนสถานต่างๆ ภายในวัดอมรินทรารามถูกไฟเผาทำลายเป็นส่วนมาก
แม้แต่พระอุโบสถซึ่งเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อโบสถ์น้อย ก็ได้รับความเสียหายในครั้งนี้ด้วย เป็นผลให้พระเศียรที่ปั้นด้วยปูนถึงกับหักพังลงมา
ในครั้งนั้นทางวัดได้นำพระเศียรของหลวงพ่อโบสถ์น้อยไปฝากไว้ยังวัดอรุณราชวรารามเป็นการชั่วคราว
เมื่อสงครามยุติลง วัดอมรินทรารามอยู่ในสภาพที่ชำรุดทรุดโทรมมาก ทางวัดจึงได้เริ่มดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ปูชนียวัตถุและเสนาสนสถานต่างๆ ให้กลับมีสภาพดีดังเดิม
ส่วนพระอุโบสถหลังเก่าอยู่ในสภาพเสียหายมาก จึงดำเนินการก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้นแทน พ.ศ.2504 พระอุโบสถหลังเก่า ซึ่งเรียกกันว่า “โบสถ์น้อย” ยังคงเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อโบสถ์น้อยดังเดิม

ในส่วนการซ่อมแซมองค์พระพุทธรูป ทางวัดได้อัญเชิญพระเศียรของหลวงพ่อโบสถ์น้อยกลับคืนมา เพื่อหวังที่จะต่อเข้ากับองค์พระพุทธรูป แต่เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าพระเศียรของหลวงพ่อแตกร้าวเป็นส่วนใหญ่ จึงตกลงที่จะปั้นพระเศียรขึ้นใหม่โดยให้คงเค้าพระพักตร์เดิมไว้
เล่ากันว่า ครั้งนั้นทางวัดได้เชิญบรรดาท่านผู้เฒ่าในบ้านช่างหล่อมาหลายท่าน เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการดำเนิน การปั้นพระเศียรหลวงพ่อขึ้นใหม่
ในที่สุดจึงเห็นควรให้นายช่างโต ขำเดช เป็นผู้รับผิดชอบในการปั้นพระเศียร เนื่องจากเป็นผู้ที่เคยอุปสมบทในวัดอมรินทรารามมาหลายพรรษา จึงมีความคุ้นเคยในเค้าพระพักตร์หลวงพ่อโบสถ์น้อยมากกว่าผู้ใด
ต่อมาใน พ.ศ.2523 ได้มีการบูรณะหลวงพ่อโบสถ์น้อยขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากองค์พระพุทธรูปมีสภาพชำรุดหลายแห่ง ครั้งนั้นได้ฉาบปูนลงรักปิดทองใหม่หมดทั้งองค์ พร้อมกันนี้ก็ได้บูรณะพระอุโบสถโดยการเปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคาและซ่อมแซมส่วนต่างๆ ที่ชำรุดทรุดโทรมในคราวเดียวกันเมื่อแล้วเสร็จจึงได้มีการเฉลิมฉลองสมโภช
ประเพณีงานนมัสการหลวงพ่อโบสถ์น้อยประจำปี ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จัดในเดือนเมษายน (ราวกลางเดือน 5) แต่ในปัจจุบัน กำหนดให้เป็นวันที่ 29 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันนมัสการประจำปี
เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญที่หลวงพ่อโบสถ์น้อยถูกภัยทางอากาศ ในสงครามโลกครั้งที่ 2