หนุ่มเมืองจันท์ | สิ่งที่สำคัญกว่า “เงิน”

ผมเพิ่งลงจากเวทีเปิดตัวหนังสือ “เมื่อความจนเฆี่ยนตีผม” ที่โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง

บนเวทีมี “สุพจน์ ธีระวัฒนชัย” เจ้าของประวัติชีวิต

“พี่จอบ” วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์” ผู้เขียน ซึ่งเป็นหนึ่งในกัลยาณมิตรของ “พจน์”

และ “เฮีย” วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีน ที่สนิทกับ “พจน์” มาตั้งแต่เป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์

ส่วนผมรับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ

…สนุกมากครับ

หนังสือเล่มนี้จะอ่านเอา “แรงบันดาลใจ” ในการต่อสู้ชีวิตก็ได้

หรือจะอ่านเป็นหนังสือธุรกิจก็เหมาะมากสำหรับใครที่ทำธุรกิจร้านอาหาร

“พจน์” เริ่มค้าขายตั้งแต่อายุ 9 ขวบ ช่วยที่บ้านทำงานมาตลอด

ถามว่าตอนไหนที่รู้สึกว่า “จน” ที่สุด

เขาบอกว่าตอนที่กินข้าวกับพี่น้อง 5 คน

“กับข้าว” คือ “เกาเหลาลูกชิ้นปลา” 1 ถุง และ “บะหมี่น้ำ” 1 ถุง

พี่น้อง 5 คนตักข้าวคนละจาน

น้องๆ คนอื่นจะได้กินลูกชิ้นปลา

แต่ “พจน์” ตัก “ถั่วงอก” ใส่จานข้าวและราดน้ำ

“ภาพนั้นยังจำติดตา ผมคิดในใจว่าผมจะไม่ยอมให้ชีวิตเป็นแบบนี้อีก”

และนั่นคือที่มาของประโยคที่ “พจน์” บอกกับ “พี่จอบ” ในหนังสือเล่มนี้

“กูจะไม่ยอมยากจนอีกต่อไป”

แต่ “ภาพ” ในใจของ “พจน์” ในวัยเด็ก คำว่า “ไม่จน” ไม่ใช่โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง หรือ “คาราบาวแดง”

หากเป็นภาพของพี่น้องทุกคนได้กินก๋วยเตี๋ยวอย่างน้อยคนละชาม

วันนี้ “ปม” ในใจดังกล่าวทำให้ทุกครั้งที่ไปกินก๋วยเตี่ยว

“พจน์” จะเริ่มต้นด้วย “พิเศษ 1 ชาม”

ไม่กิน “ธรรมดา”

แต่ต้อง “พิเศษ” เท่านั้น

อีกเรื่องหนึ่งที่เพิ่งรู้บนเวที คือ ตอนที่ “พจน์” เพิ่งพ้นจากการเป็นหนี้ 29.8 ล้านบาท

และต้องระดมทุนบุกเบิกโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง

เขามีเงินโอดี และเงินก้อนสุดท้ายในบัญชีรวมกันประมาณ 4-5 ล้านบาท

ต้องการเงินอีก 11 ล้านบาท

“พจน์” มีลิสต์รายชื่อเพื่อนในกระเป๋าอยู่จำนวนหนึ่ง

เป็นบุคคลที่ “โชคดี”

เพราะเพื่อนกลุ่มนี้มี 2 สถานะ คือ 1.มีเงิน และ 2.เป็นเพื่อนสนิทที่เชื่อมือ “พจน์”

“พี่จอบ” มีคุณสมบัติครบถ้วน

คาถาในการยืมเงินของ “พจน์” ก็คือ “ถ้าเชื่อกูก็เอาเงินมาให้กู ถ้าไม่เชื่อก็ไม่ต้องให้”

ปรากฏว่าครึ่งหนึ่ง “ไม่ให้”

“ไม่ให้” เพราะไม่ใช่ว่าจะไม่เชื่อฝีมือ “พจน์”

หากแต่เป็นเพราะไม่เชื่อสภาวะเศรษฐกิจในวันนั้น

โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง เปิดสาขาแรกเมื่อเดือนกันยายน 2542

วิกฤต “ต้มยำกุ้ง” ลอยตัวค่าเงินบาท 2 กรกฎาคม 2540

ปี 2541 เขาว่า “เผาหลอก”

และปี 2542 … “เผาจริง”

แต่ “พจน์” เลือกเปิดโรงเบียร์ฯ ขนาด 600-700 ที่นั่งในวันที่ 9 กันยายน 2542

ครับ…เพื่อนบางคนเชื่อมือ “พจน์”

แต่ไม่เชื่อเรื่องภาวะเศรษฐกิจ

เขาจึงไม่ให้ยืม

เรื่องนี้ “พจน์” เข้าใจและไม่โกรธ

แต่ “พี่จอบ” เชื่อ!!!

เขาให้ “พจน์” ยืม 1 ล้านบาท

ตอนนั้น “พี่จอบ” ก็สงสัยว่าเพิ่งบาดเจ็บมาจากการใช้หนี้ก้อนโต ทำไมคิดการณ์ใหญ่

ทำร้านอาหารขนาด 40-50 ที่นั่งพอรับได้

แต่ทำไมต้องทำร้านอาหารขนาด 600-700 ที่นั่ง

คำตอบของ “พจน์” ก็คือ ทำเล็กทำใหญ่เหนื่อยเท่ากัน

แต่เดิมพันนั้นแตกต่างกันมหาศาล

“พจน์” เพิ่งมารู้ตอนหลังว่าเงิน 1 ล้านบาท คือเงินก้อนสุดท้ายที่ “พี่จอบ” ขายหุ้นทั้งหมดมาร่วมลงทุนกับเพื่อน

เป็นไงเป็นกัน

และ “คำตอบ” ที่ได้รับก็คือ ก็ “รวย” สิคร้าบ

โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง เปิดมาได้ไม่ถึงเดือนก็กลายเป็น “ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์”

ต้องจองคิวกันยาวนาน

ศุกร์-เสาร์ ต้องจองโต๊ะกันข้ามเดือน

ความร้อนแรงของโรงเบียร์ฯ ในยุคนั้นทำให้ผมเดือดร้อน

เพราะมีคนรู้ว่าผมเป็นเพื่อน “สุพจน์”

ขอให้ช่วยจองโต๊ะให้หน่อย

ตามปกติ ถ้าเพื่อนเปิดร้านอาหาร เราพาคนไปกิน เพื่อนจะต้องขอบคุณเรา

แต่ไม่ใช่สำหรับโรงเบียร์ฯ

ทุกครั้งที่ผมโทร.ไปจองโต๊ะ

กลายเป็นว่าผมต้องขอบคุณ “พจน์”

ขอบคุณที่ช่วยหาโต๊ะให้

ตอนแรก มีคนโทร.หาผมเพื่อให้จองโต๊ะโรงเบียร์ฯ

ชื่อ “ตุ้ม มติชน” ตอนนั้นดังมากในโรงเบียร์ฯ

เพราะบนไวต์บอร์ดที่เขียนคิวจองโต๊ะจะมีชื่อนี้อยู่เป็นประจำ

ตอนหลังๆ หนักกว่า

เพราะเริ่มไม่มีคนโทร.หาผม

แต่ใช้ชื่อ “ตุ้ม มติชน” โทร.จองเอง

บางคืนมีชื่อผมอยู่ 4 โต๊ะโดยที่ผมไม่รู้เรื่อง

จน “พจน์” ต้องโทร.มาถามว่า “เอ็งทำไมจองเยอะจัง”

นั่นคือ ความร้อนแรงของโรงเบียร์ฯ ในยุคนั้น

ประโยคหนึ่งที่ผมชอบมาก

และหลายคนก็ประทับใจ

“พจน์” บอกว่า จากการระดมทุนจากเพื่อนๆ ตอนตั้งโรงเบียร์ฯ ทำให้เขาค้นพบสัจธรรมข้อหนึ่ง

สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตไม่ใช่เรื่อง “เงิน”

“แต่เป็นกัลยาณมิตร”

เขามี “คนรู้จัก” เยอะ

แต่มี “เพื่อน” ไม่มาก

“เฮีย” เขียนคำนิยมในหนังสือเล่มนี้ได้ชัดมาก

เขาบอกว่า “พจน์” เป็นคนตระหนี่…

ตระหนี่เรื่อง “ใจ”

ไม่ยอมให้ “ใจ” ใครง่ายๆ

“ให้ใจพวกเรามาแล้วก็ยึดพวกเราไว้ตลอดชีพ”

ภาพหนึ่งที่ “เฮีย” ประทับใจก็คือ วันหนึ่งที่รุ่นพี่ชมรมศิลปะการแสดงล้มละลายและป่วยเป็นมะเร็งขั้นสุดท้าย

“พจน์” จัดการติดต่อโรงพยาบาล ได้หมอ ได้เตียง

ครั้งหนึ่ง เขาไปเยี่ยมไข้ คนไข้ไม่ได้สติเพราะเมามอร์ฟีนที่ฉีดระงับอาการปวด

แทนที่จะกลับไปทำธุระ “พจน์” กลับนั่งเฉยๆ อยู่เป็นเพื่อนยาวนาน

“ซาบซึ้งมาก”

วันนั้นคงมีคนสงสัยว่าทำไมวันนั้น “พจน์” ถึงไม่ยืมเงินผม

แต่เลือกยืม “พี่จอบ”

นึกย้อนเวลากลับไป ปี 2542 ผมเป็นบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์มติชน

ตอนนั้น “มติชน” ก็หนักหนาสาหัส รัดเข็มขัดเต็มที่

เงินประจำตำแหน่ง-ค่ารถ-ค่าเวร โดนตัดหมด

ขืน “พจน์” เดินมาแล้วท่องคาถา

“ถ้าเชื่อกูก็เอาเงินมาให้กู ถ้าไม่เชื่อก็ไม่ต้องให้”

ผมคงยิ้มอ่อนให้เพื่อนแล้วบอกว่าไม่ใช่ไม่เชื่อ แต่ไม่มี

ว่าแต่…

“พจน์…ตอนนี้มีให้ยืมก่อนไหม”

ผมคาดว่า “พจน์” ประเมินแล้วว่านอกจากไม่ได้เงิน

อาจจะเสียเงินก็ได้

เรื่องนี้พิสูจน์ชัดเจน

“พจน์” เป็น “คนฉลาด”

รู้ว่าอะไรควร-ไม่ควร