เศรษฐกิจ / เศรษฐกิจไทยปี 2562 หลังค่อม ไม่ไว้หน้าแพ็กเกจกระตุ้นจีดีพี คว่ำงบฯ ’63 เดิมพันอนาคตรัฐบาล

เศรษฐกิจ

เศรษฐกิจไทยปี 2562 หลังค่อม

ไม่ไว้หน้าแพ็กเกจกระตุ้นจีดีพี

คว่ำงบฯ ’63 เดิมพันอนาคตรัฐบาล

เริ่มก้าวเข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 แล้ว โดยมีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจของไทยในปีนี้จะไปไม่ถึง 3% อย่างที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้

แม้จะมีการอัดฉีดมาตรการกระตุ้นครั้งใหญ่อีกครั้งเมื่อช่วงเดือนสิงหาคม วงเงินกว่า 3.16 แสนล้านบาท แต่ผลของมาตรการคงยังไม่ออกฤทธิ์ ทั้งเอกชนและหน่วยงานของรัฐเอง แข่งกันหั่นตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจลงแทบทุกเดือน

หลายฝ่ายประเมินว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 3/2562 ซึ่งจะประกาศโดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ช่วงเดือนพฤศจิกายน จะไม่แตกต่างจากไตรมาส 1 ที่เติบโตเพียง 2.3% เป็นอัตราเติบโตต่ำสุดรอบ 19 ไตรมาส 2557 โดยตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2 ต่ำกว่าไตรมาส 1 ที่เติบโต 2.8%

ถ้าเป็นไปตามนี้ เศรษฐกิจเฉลี่ย 3 ไตรมาสไม่น่าจะเกิน 2.5%

ตัวเลขเป้าหมายจีดีพีในปีนี้ ภาครัฐและเอกชนมองไปในทิศทางเดียวกัน โดยในส่วนของคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกาศตัวเลขเมื่อต้นเดือนตุลาคม ซึ่งปรับลดประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2562 เหลือ 2.7-3.0% จากเดิม 2.9-3.3% ส่งออกปีนี้อยู่ที่ -2.0% ถึง 0.0% จากเดิม -1.0% ถึง 1.0%

ส่วนตัวเลข 3 หน่วยงานภาครัฐ มองไม่ต่างจากเอกชน ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ปรับลดคาดการณ์จีดีพีในปีนี้ เหลือ 2.8% จากเดิม 3.3% และปรับลดจีดีพีในปี 2563 เหลือ 3.3% จากคาดการณ์เดิม 3.7% ส่วนการส่งออก กนง.คาดว่า -1.0% จากคาดการณ์เดิม 0% และในปี 2563 คาดว่าส่งออกจะขยายตัว 1.7% จากคาดการณ์เดิม 4.3%

ในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้เป็นรอบของการปรับจีดีพีของกระทรวงการคลัง คาดว่าจะปรับลดลงจากเคยประเมินไว้เมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 ว่าเศรษฐกิจจะโต 3% ส่งออก ลบ 0.9%

ส่วน สศช.ประเมินตัวเลขเศรษฐกิจเมื่อเดือนสิงหาคมว่าจีดีพีจะโต 3% และส่งออกติดลบ 1.2% โดย สศช.ประเมินตัวเลขใหม่ในเดือนพฤศจิกายน พร้อมกับประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3 มีแนวโน้มปรับลดคาดการจีดีพีลงเช่นกัน

ยิ่งในปีนี้งบประมาณประจำปีล่าช้า จากการเลือกตั้งล่าช้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยปกติงบประมาณจะเริ่มใช้วันที่ 1 ตุลาคม ปีนี้คาดว่าเลื่อนออกไปเป็นช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563

ทำให้การใช้จ่ายงบฯ รัฐ เคยเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาต้องชะลอออกไป โดยเฉพาะงบฯ ในโครงการใหม่ จะสามารถนำมาใช้ได้เมื่อกฎหมายประกาศบังคับใช้อย่างเป็นทางการ

ยังไม่แน่ว่างบประมาณในปี 2563 จะสามารถนำมาใช้ได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 อย่างที่รัฐบาลวางปฏิทินไว้หรือไม่ เพราะขณะนี้ฝ่ายค้านตั้งธงเรื่องกฎหมายงบประมาณ ให้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เพราะเรื่องงบประมาณถือเป็นกฎหมายสำคัญ หากสภาโหวตแล้วไม่ผ่าน รัฐบาลต้องรับผิดชอบ ด้วยการลาออก หรือยุบสภา

ถ้าเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นมาจะทำให้งบประมาณในปี 2563 ล่าช้าออกไปอีก แม้ขณะนี้จะไม่เกิดภาวะชัตดาวน์ เพราะสามารถใช้งบฯ ปี 2563 โดยอ้างอิงกรอบงบฯ ในปี 2562 แต่มีเงื่อนไขคือใช้ได้แค่ 50% ของวงเงินงบประมาณของปีก่อน ซึ่งในปีงบฯ 2562 กำหนดงบประมาณรายจ่ายไว้ 3 ล้านล้านบาท เท่ากับว่ามีงบฯ ใช้ในปี 2563 เพียง 1.5 ล้านล้านบาท โดยเป็นงบฯ สำหรับเงินเดือนข้าราชการ รายจ่ายงบฯ ลงทุนที่ผูกพันไว้แล้วเท่านั้น

ส่วนรายจ่ายลงทุนใหม่ๆ ต้องรองบประมาณจะมีผลบังคับใช้!!!

ในช่วงที่รอกระบวนการงบประมาณ สิ่งที่รัฐบาลทำได้คืออัดแพ็กเกจด้านเศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนเพิ่มอีก

ไตรมาส 4/2562 มีมาตรการเพิ่มเติม เช่น แพ็กเกจ 100 บาทเที่ยวทั่วไทย กับเที่ยววันธรรมดาราคาช็อกโลก รวมถึงมาตรการชิมช้อปใช้ แม้เฟสแรกยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ เพราะมีกำหนดถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2562 แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงการคลังดำเนินการชิมช้อปใช้เฟส 2 ต่อทันที

นายสมคิดยอมรับว่า ขณะนี้ส่งออกไม่ดี การเมืองโจมตีกันไปมา ดังนั้น การท่องเที่ยวจะเป็นตัวสำคัญ เพราะไตรมาส 4 เป็นฤดูการท่องเที่ยว รัฐบาลอยากให้ไตรมาส 4 เป็นไตรมาสแห่งการเปลี่ยนแปลง เพราะคาดว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 คล้ายๆ กับไตรมาส 2

มาตรการชิมช้อปใช้ในเฟสแรกมีเงินจากภาครัฐลงไปประมาณ 1-2 หมื่นล้านบาท ซึ่งรัฐบาลหวังให้ประชาชนควักเพิ่มอีกประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ถ้าเป็นไปตามเป้าหมายจะมีเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจช่วงไตรมาส 4 อีกประมาณ 6 หมื่นล้านบาท มีผลต่อเศรษฐกิจประมาณ 0.2%

ดังนั้น หากกระตุ้นให้เกิดชิมช้อปใช้เฟส 2 เงินที่จะลงสู่ระบบเศรษฐกิจน่าจะเพิ่มขึ้น

แม้รัฐพยายามออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม แต่คงไม่สามารถชดเชยกับการส่งออกไทยปีนี้มีแนวโน้มติดลบได้ โดยการส่งออกมีสัดส่วนกว่า 70% ของจีดีพี

ตัวเลขการส่งออกช่วงจาก 8 เดือนแรกปีนี้ติดลบแล้ว 2.2% แม้กระทรวงพาณิชย์คงเป้าไว้ 3% นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ยอมรับว่า เป็นไปได้ยาก สอดคล้องกับเอกชนมองว่าส่งออกจะติดลบ 1-2%

การส่งออกของไทยได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐและจีนที่ยืดเยื้อ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และการแข็งค่าของเงินบาท โดยการส่งออกไทยส่อแววติดลบอีกครั้งในรอบ 4 ปี นับจากปี 2558 หากต้องการคงส่งออกทั้งปีเท่าปีกับ 0% ต้องผลักดันการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีเฉลี่ย 21,000 เหรียญสหรัฐต่อเดือน

หากจะให้ขยายตัว 3% ต้องส่งออกเฉลี่ยต่อเดือน 23,600 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งล่าสุดในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ตัวเลขส่งออกติดลบถึง 4% มีมูลค่า 21,915 ล้านเหรียญสหรัฐ

สําหรับแผนการดูแลเศรษฐกิจในระยะปานกลางและระยะยาว นอกจากผลักดันโครงสร้างพื้นฐาน ในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) รถไฟฟ้าความเร็วสูง สร้างทางด่วน สร้างถนน สร้างรถไฟฟ้าเพิ่มเติมแล้ว

ล่าสุดรัฐบาลชุดนี้เริ่มรุกหนักในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ด้วยการดึงหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สภาเกษตรกรแห่งชาติ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ผุด “ประชารัฐสร้างไทย”

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดไอเดียประชารัฐสร้างไทยว่า เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้เกิดความยั่งยืน เป็นการพัฒนาแบบองค์รวม คือทุกหน่วยงานช่วยกัน เช่น ธ.ก.ส. ออมสิน หนุนเงินทุน การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กรมธนารักษ์ และปั๊มน้ำมัน ปตท. ดูเรื่องตลาดสร้างรายได้ให้ชุมชน ททท.ช่วยพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว สภาเกษตรกรฯ ธ.ก.ส.ช่วยพัฒนาภาคเกษตร โดยพฤศจิกายนนี้นำร่องกับชุมชนภาคเหนือ

“การกลับมามองเรื่องเศรษฐกิจฐานรากเพราะต้องการทำให้เศรษฐกิจไทยเข้มแข็งจากภายใน เวลามีปัญหาจากเศรษฐกิจโลก ไทยจะไม่ได้รับผลกระทบมาก ขณะนี้เศรษฐกิจไทยยังพึ่งพาส่งออก ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจโลกมีปัญหาย่อมกระทบส่งออกไทย ก่อปัญหาต่อเศรษฐกิจรวม ซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐสร้างไทยต้องใช้เวลาเป็นปีกว่าจะเห็นผล” นายอุตตมกล่าว

      จากนี้ คงต้องเอาใจช่วยรัฐบาล ว่าจะทำอย่างไรให้ตัวเลขจีดีพีที่ไม่แค่ปีนี้ต้องไปรอด แต่ต้องรอดยาวในปีถัดๆ ไป หากปล่อยเศรษฐกิจไทยเตี้ยลงๆ อาจสั่นคลอนรัฐบาล