คืนคำพิพากษา ให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรม ให้ประชาชน / ฉบับประจำวันที่ 11-17 ตุลาคม 2562

คืนคำพิพากษา

ให้ผู้พิพากษา

คืนความยุติธรรม

ให้ประชาชน

คือข้อความที่นายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดยะลา ได้โพสต์คำแถลงการณ์ของตนเอง ผ่านเฟซบุ๊ก พร้อมระบุ

“คำแถลงของผม อาจมีน้ำหนักเบาบางเหมือนขนนก แต่หัวใจผู้พิพากษาหนักแน่นปานขุนเขา จึงมอบหัวใจชั่งบนตราชู ยืนยันคำแถลง ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ทุกท่าน”
ได้รับความสนใจจากสังคมอย่างสูง
เนื่องจาก หลังเผยแพร่แถลงการณ์ ที่มีความยาว 25 หน้า
นายคณากรได้ใช้อาวุธปืนพกสั้นก่อเหตุพยายามฆ่าตัวตาย เป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส หลังพิพากษายกฟ้องคดียิงชาวบ้านใน อ.บันนังสตา จ.ยะลา เสียชีวิต 5 ราย ณ ห้องพิจารณา 4 ศาลจังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา
ในคำแถลงการณ์ดังกล่าว ได้เปิดเผยถึง “ใจความสำคัญ” ซึ่งระบุว่า “ถูกแทรกแซงอย่างหนักในการพิจารณาคดีครั้งนี้” และยังอ้างอิงถึงการพิจารณาคดีต่างๆ ก่อนหน้านี้อีกด้วย
ล่าสุด แม้โพสต์ทั้ง 2 ถูกลบทิ้งออกจากเฟซบุ๊กอย่างมีเงื่อนงำ
แต่ต่อมามีผู้บันทึกและเผยแพร่ต่อ
ยิ่งทำให้ทวีความสนใจขึ้นอีกหลายเท่า

อย่างไรก็ตาม การที่นายคณากรไม่เสียชีวิต
การเปิดรับเงินบริจาคให้ลูกสาว
การที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เปิดเผยนายคณากรได้นำเสนอเอกสารและความคิดผ่านมายังพรรคอนาคตใหม่
ทำให้เกิดข้อกล่าวหา กลับคืนกับจากนายคณากร จากคนจำนวนไม่น้อย
ว่านี่เป็นการจัดฉาก
และมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่
นำไปสู่วิวาทะอย่างดุเดือดจากคนในสังคม
ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
ทำให้คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (กต.) สั่งตั้ง 3 กต. เป็นอนุกรรมการวิสามัญ สอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ โดยให้เวลาสอบ 15 วัน
ซึ่งต้องรอผลสอบต่อไป
แต่ระหว่างนี้ 12 องค์กรภาคประชาสังคมชี้ว่า เรื่องที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงสภาพปัญหาการขาดความเป็นอิสระในการพิพากษาคดีของผู้พิพากษา
หากข้อเท็จจริงเป็นดังเช่นแถลงการณ์ของนายคณากร
ย่อมสร้างความเสียหายให้กับระบบกระบวนการยุติธรรมและก่อความเสียหายแก่ประชาชนอย่างร้ายแรง
จำเป็นต้องมีการ “ปฏิรูป” ระบบยุติธรรมโดยด่วน

กระนั้น นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม ยืนยันว่า การตรวจร่างคำพิพากษา ไม่ใช่การแทรกแซง
อธิบดีผู้พิพากษาภาคมีอำนาจในการตรวจร่างคำพิพากษาและทำความเห็นแย้งได้ตามกฎหมาย
ประธานศาลฎีกาได้ออกคำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติงานคดีตั้งแต่ปี 2555
และต่อมามีระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยมาตรฐานการรายงานคดีและการตรวจสำนวนคดีในสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค พ.ศ.2560
ซึ่งต่อมามีการแก้ไขในปี 2562 และประธานศาลฎีกาได้ลงนามเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2562
เป็นวิธีการควบคุมคุณภาพคำพิพากษาที่มีระเบียบปฏิบัติรองรับชัดเจน
โดยกำหนดให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคมีอำนาจตรวจสำนวนคดีสำคัญ
ถือเป็นความเห็นต่างจากองค์กรยุติธรรมเอง

กระนั้น การตัดสินใจของผู้พิพากษา “ยิงตนเอง” เพื่อให้สังคมได้ยินถึงความรู้สึกถึงการแทรกแซง
ก็ไม่อาจมองข้ามและดูดาย
เพราะว่าที่จริงนับตั้งแต่สังคมไทยเกิดวิกฤตการเมือง
กระบวนการยุติธรรมถูกมองว่า เป็นเครื่องมือของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดตลอด ทำให้เกิดวิกฤตศรัทธาอย่างรุนแรง
แต่มันก็ไม่ได้แตก “ปัง” ออกมาเหมือนเสียงปืนกระบอกนั้นของนายคณากร
ซึ่งเมื่อกระสุนลั่นออกไปแล้ว ย่อมทำให้สังคมช็อกและหันมาตั้งคำถามว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่
และคุ้มค่าถึงขนาดจะเสียสละชีวิตเลยเชียวหรือ
แม้ยังไม่มีคำตอบ
แต่ก็ดังก้องไปทั่วประเทศแล้ว