มองบ้านมองเมือง/ ปริญญา ตรีน้อยใส / มติรัฐมนตรี

ปริญญา ตรีน้อยใส

มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส

มติรัฐมนตรี

ในแต่ละสัปดาห์จะมีการประชุมคณะรัฐมนตรี ในการประชุมแต่ละครั้ง จะมีเรื่องพิจารณาและลงมติ ที่ส่งผลต่อการปฏิบัติงานของข้าราชการ และการดำเนินชีวิตของประชาชน
โดยมีโฆษกรัฐบาลออกมาชี้แจงแถลงผล ให้ผู้สื่อข่าวนำไปถ่ายทอด เผยแพร่สู่สาธารณชน
จากนั้นก็จะเป็นเวทีนักการเมืองและนักวิชาการขาประจำออกมาวิพากษ์วิจารณ์ เป็นที่สนุกสนาน
โดยไม่มีใครสนใจว่า มติดังกล่าวส่งผลอะไรกับประชาชนและบ้านเมือง เพราะทุกเรื่องจะค่อยๆ เงียบหายไปในที่สุด

เหมือนอย่างเรื่องที่จะมองครั้งนี้
คือเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2559 คณะรัฐมนตรีมีมติสนับสนุนให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อย ที่ไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยมาก่อน สามารถมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ในราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ผ่านโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชนของภาครัฐ โดยให้ธนาคารของรัฐ ได้แก่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย เข้าร่วมลงทุนด้วย
หลายคนอาจจำได้ว่า หลังจากวันนั้นมีทั้งคำชื่นชมและคำวิพากษ์วิจารณ์กันมากมาย
ส่งผลให้เดือนต่อมา เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ.2559 มีมติคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง เรื่อง โครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ ที่มุ่งจะช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย ให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง เป็นการชั่วคราว บนที่ดินราชพัสดุ ในราคาไม่เกินล้านบาท โดยเปิดให้ภาคเอกชนร่วมพัฒนาโครงการ และสถาบันการเงินของรัฐสนับสนุนด้วยสินเชื่อทั้งโครงการ และผู้มีรายได้น้อย
มติดังกล่าวยิ่งทำให้เป็นที่สนใจอย่างมากและกว้างขวาง ก่อนที่จะเงียบหายไปในเวลานี้

บังเอิญว่ามีโอกาสไปเป็นกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ระดับบัณฑิตศึกษา คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ของนางสาวศิฬินภา ศิริสานต์ เรื่อง การดำเนินงานโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ
นิสิตได้ติดตามผลการดำเนินงานตามมติดังกล่าว จนถึงวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2562 คือสามปีหลังจากมีมติดังกล่าว พบข้อมูลที่น่าสนใจหลายเรื่อง จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟังดังนี้
กรมธนารักษ์ได้นำที่ดินราชพัสดุ 6 แปลง ใน 4 จังหวัด ได้แก่ 2 แปลงในกรุงเทพฯ ส่วนเพชรบุรี เชียงใหม่ และเชียงราย จังหวัดละหนึ่งแปลง
มีบริษัทเอกชนสนใจจะเข้าร่วมโครงการมากถึง 88 ราย แต่ยื่นซองร่วมจริงเพียง 11 ราย ก่อนที่จะเหลือเพียง 5 รายที่ผ่านการพิจารณา
ผลการดำเนินงานนั้น โครงการที่จังหวัดเชียงราย ด้วยที่ตั้งอยู่ไกลจากชุมชน คือ อยู่นอกเขตเทศบาล จึงไม่มีผู้สนใจ
โครงการในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ที่เป็นการพัฒนาอาคารชุดพักอาศัย เป็นแบบเช่า ส่วนในเชียงใหม่ เป็นแบบเช่าซื้อนั้น ทั้งสองโครงการประสบปัญหาว่า ชาวบ้านที่อาศัยอยู่โดยรอบออกมาต่อต้าน เลยทำให้บริษัทขอยกเลิกโครงการ
อีกโครงการหนึ่งในกรุงเทพฯ เป็นอาคารชุดพักอาศัยและให้เช่าเช่นกัน มีปัญหาเรื่องทางเข้า-ออก และยังอยู่ในกระบวนการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม อีไอเอ จึงยังไม่ได้ลงมือก่อสร้าง
ที่ก้าวหน้ามากที่สุด คงจะเป็นสองโครงการที่เพชรบุรี โดยบริษัทเดียวกัน เป็นทาวน์เฮาส์แบบเช่าซื้อ รวม 640 หน่วย แต่ผลต่างกันคือ โครงการหนึ่งยังไม่เริ่มโครงการ เพราะมีผู้สนใจน้อยมาก
ส่วนอีกโครงการ ก่อสร้างแล้วเสร็จเพียง 43 หน่วย และมีผู้เข้าอยู่เพียง 4 หน่วยเท่านั้น
สรุปง่ายๆ ก็คือ ด้วยมติของคณะรัฐมนตรี เรื่องการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของข้าราชการ โครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐนั้น มีผลการดำเนินงานช่วยข้าราชการถึงสี่คน ในเวลาสามปี

ในวิทยานิพนธ์ นิสิตได้สรุปปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้น
ในการดำเนินงาน มีขั้นตอนและข้อกำหนดมากและยุ่งยาก (ตามระบบราชการ) นอกจากต้องใช้เวลาดำเนินการนาน ยังคัดเลือกบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ ที่ไม่มีประสบการณ์ เลยไม่รู้ว่าโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยต้องผ่านกระบวนการอีไอเอ เป็นต้น จึงไม่ได้วางแผนการดำเนินงาน หรือดำเนินงานถูกต้อง
แต่ที่สำคัญ มาจากนโยบายให้อยู่อาศัยชั่วคราวนั้น ข้าราชการผู้มีรายได้น้อยไม่สนใจ เพราะไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย
มองบ้านมองเมืองฉบับนี้ไม่ได้มีเจตนาอื่นใด นอกจากรายงานข้อเท็จจริงจากวิทยานิพนธ์ของนิสิตบัณฑิตศึกษา เพื่อไม่ให้วิทยานิพนธ์อยู่แค่บนหิ้ง
หากนำมาเผยแพร่เพื่อความรู้ความเข้าใจสิ่งที่เป็นไปในบ้านเมืองเท่านั้น