กรองกระแส / การเมืองในอดีต อดีตเมื่อ 2516 เมื่อ 2535 การเมืองปัจจุบัน

กรองกระแส

การเมืองในอดีต
อดีตเมื่อ 2516 เมื่อ 2535
การเมืองปัจจุบัน

ถามว่าสถานการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2516 กับสถานการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 มีพื้นฐานมาจากปัจจัยอะไรในทางการเมือง
คำตอบ 1 มาจาก “รัฐธรรมนูญ”
ชนวนสำคัญอันทำให้เกิดสถานการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2516 เริ่มจากการจับกุม “กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ” และทำให้สังคมรู้สึกว่าเป็นการจับกุมที่ไม่เป็นธรรม
จึงได้เกิดการชุมนุมขึ้นที่บริเวณลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรมศาสตร์
ขณะเดียวกัน ชนวนสำคัญอันทำให้เกิดสถานการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 เริ่มจากความไม่พอใจที่แกนนำสำคัญของ รสช.เข้าดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี แม้ว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 จะเปิดทางให้อย่างเต็มที่ก็ตาม
คำตอบ 1 ซึ่งสำคัญคือ รัฐบาลในเดือนตุลาคม 2516 มีพื้นฐานมาจากการทำรัฐประหาร รัฐบาลในเดือนพฤษภาคม 2535 มีพื้นฐานมาจากการทำรัฐประหาร
เมื่อทำรัฐประหารยึดอำนาจแล้วก็ร่างรัฐธรมนูญเพื่อเปิดทางให้การสืบทอดอำนาจของตนเอง

บทเรียนตุลาคม 2516
ระบอบถนอม กิตติขจร

รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร มีรากฐานมาจากรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีรากฐานมาจากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2500 และรัฐประหารซ้ำเมื่อเดือนตุลาคม 2501
จากปี 2501 จึงมีรัฐธรรมนูญในเดือนมิถุนายน 2512
จึงมีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญที่ร่างผ่าน “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” อันเป็นมรดกจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มายังจอมพลถนอม กิตติขจร
ไม่แปลกที่จอมพลถนอม กิตติขจร สามารถสืบทอดอำนาจได้
แต่จอมพลถนอม กิตติขจร ก็ไม่สามารถทนกับระบอบที่มีรัฐสภาจากการเลือกตั้งของประชาชนได้ ในที่สุดก็ตัดสินใจทำรัฐประหารในเดือนพฤศจิกายน 2514 แล้วฉีกรัฐธรรมนูญ พ.ศ 2512 ทิ้ง และอยู่ภายใต้ธรรมนูญการปกครอง
จากสภาพการณ์ทางการเมืองเช่นนี้เองจึงก่อให้เกิด “กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ” และนำไปสู่การจับกุมและกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์
นั่นเองนำไปสู่การเคลื่อนไหวในเดือนตุลาคม 2516 เพื่อขับจอมพลถนอม กิตติขจร

พฤษภาคม 2535
บทเรียนจาก รสช.

การยึดอำนาจของ รสช.เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534 ก็เช่นเดียวกับการยึดอำนาจอื่นๆ ในกาลอดีต นั่นก็คือ ไม่เพียงแต่จะโค่นรัฐบาล หากแต่ยังฉีกรัฐธรรมนูญและจัดการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ นั่นก็คือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534
เมื่อผ่านการลือกตั้ง สถานการณ์ทำให้ รสช.มีความชอบธรรมในการสืบทอดอำนาจ แต่การสืบทอดอำนาจก็สร้างความไม่พอใจเป็นอย่างสูงในหมู่ประชาชน
1 ไม่พอใจการรัฐประหาร 1 ไม่พอใจรัฐบาล 1 ไม่พอใจรัฐธรรมนูญ
จึงเกิดการประณามในเรื่องการตระบัดสัตย์ จึงเกิดการชุมนุมเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี รสช.พ้นจากตำแหน่ง จึงนำไปสู่ความต้องการในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง ให้อำนาจของสภาผู้แทนราษฎรเป็นใหญ่เหนือกว่าวุฒิสภา
เมื่อรัฐบาลดำเนินการจับกุมและปราบปรามอย่างรุนแรง การต่อต้านก็ขยายกรอบและขอบเขตออกไปอย่างกว้างขวาง
ในที่สุดนายกรัฐมนตรีที่มาจาก รสช.ก็ต้องลาออก ในที่สุดก็มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ในที่สุดสถานการณ์ก็ยกระดับไปสู่การเรียกร้องรัฐธรมนูญใหม่ รัฐธรรมนูญอันมาจากการยกร่างโดยประชาชนอย่างแท้จริง
นั่นก็คือ รากฐานอันเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540

บทเรียนจากอดีต
สถานการณ์ปัจจุบัน

ไม่จำเป็นต้องผ่านสถานการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2516 ไม่จำเป็นต้องผ่านสถานการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 ก็สามารถสัมผัสได้ว่าสถานการณ์ในปัจจุบันมีหลายอย่างที่มีลักษณะร่วมอย่างเดียวกันกับสถานการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2516 และสถานการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535
เพียงแต่เมื่อเดือนตุลาคม 2516 อำนาจอยู่ในมือของจอมพลถนอม กิตติขจร เพียงแต่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 อำนาจอยู่ในมือของ รสช.
ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบัน อำนาจอยู่ในมือของ คสช.
ไม่มีใครตอบได้ว่ารัฐบาลซึ่งสืบทอดมาจาก คสช. สืบทอดมาจากอำนาจรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 จะมีวิถีดำเนินไปอย่างไร แต่ที่แน่นอนอย่างที่สุดมีสภาพการณ์หลายสภาพการณ์ที่กำลังจะซ้ำรอยกับสภาพการณ์ของปี 2516 และสภาพการณ์ของปี 2535
แต่ละสภาพการณ์ที่บังเกิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงภายหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 เป็นสัญญาณอันเด่นชัดยิ่งในทางการเมือง
และเตือนอย่างเด่นชัดว่าภายหลังฟ้าแลบแปลบปลาบ ที่ตามมาคือฟ้าร้องและฝนตกใหญ่