ลิขิตสงคราม-กับดักสงคราม อำนาจใหม่ปะทะอำนาจเก่า! | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“การเติบโตของเอเธนส์และความกลัวของสปาร์ตาทำให้สงครามเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้”

Thucydides, History of the Peloponnesian War

นักศึกษาในสาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือในสาขายุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ จะมีหนึ่ง “คำถามใหญ่” ของวิชานี้ที่ทุกคนจะต้องเรียนรู้ก็คือ อะไรคือสาเหตุของสงคราม?…

แน่นอนว่า คำถามนี้เป็นวิวาทะอย่างยาวนานในวงวิชาการ

แม้ว่านักวิชาการในสาขาดังกล่าวจะมีคำตอบแตกต่างกันออกไป แต่หนึ่งในคำตอบที่สำคัญกลับมาจากประวัติศาสตร์สงครามของยุคกรีก

เป็นไปได้อย่างไรที่สงครามในยุคกรีกในช่วงประมาณ 500 ปีก่อนคริสตกาลจะเป็นผู้ตอบคำถามนี้ให้แก่พวกเราซึ่งกำลังมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความท้าทายของศตวรรษที่ 21

ดังนั้น บทความนี้จะทดลองนำเสนอคำตอบว่าอะไรคือสาเหตุของสงครามจากประสบการณ์ของยุคกรีก

ในการนำเสนอนี้ ขออ้างอิงข้อมูลจากหนังสือของนักวิชาการอเมริกันคือ แกรม แอลลิสัน (Graham Allison) ซึ่งเป็นหนึ่งในหนังสือขายดีในยุคปัจจุบัน และเปิดประเด็นคำถามที่สำคัญของยุคสมัยคือ Destined for War : Can America and China Escape Thucydides” s Trap? (New York : Mariner Books, 2018) และหนังสือท้าทายอย่างมากว่า สหรัฐอเมริกากับจีนจะสามารถหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่เป็นสงครามในอนาคตได้หรือไม่ [ผู้เขียนอยากขอแปลชื่อหนังสือว่า “ลิขิตสงคราม”]

ดังที่กล่าวแล้วว่า ถ้าอยากเรียนรู้เรื่องสาเหตุของสงคราม เราอาจจะต้องเรียนรู้จากบันทึกการสงครามในยุคกรีก…

ถ้าเช่นนั้นสงครามกรีกจะตอบคำถามเรื่องความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีนว่าจะนำไปสู่การเป็นสงครามใหญ่หรือไม่…

ทูซิดิดิสกำลังหวนกลับมาอีกครั้งในศตวรรษที่ 21 หรือไม่

สงครามเพโลพอนนีเชีย

นายพลทูซิดิดิสเป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยทหารของนครรัฐเอเธนส์ แต่เขาถูกเนรเทศและถูกปลดยศ เนื่องจากไม่สามารถนำกำลังพลเข้ารักษาเมืองที่เป็นจุดสำคัญทางยุทธศาสตร์ของเอเธนส์ไว้ได้

แต่ผลจากการถูกเนรเทศกลายเป็นโอกาสอย่างดีที่ทำให้เขาสามารถเดินทางเก็บข้อมูลของสงครามที่เกิดขึ้นได้จากทั้งสองฝ่าย

เขากลายเป็นผู้เฝ้ามอง (ในความหมายของการวิจัยคือเขากลายเป็นผู้สังเกตการณ์ปรากฏการณ์)

สงครามที่เกิดจากการท้าทายของเอเธนส์ต่อการดำรงอำนาจของรัฐมหาอำนาจทางทหารขณะนั้นคือสปาร์ตา

เขาได้เห็นถึงการกำเนิดของความขัดแย้งที่กลายเป็นสงครามของรัฐมหาอำนาจทั้งสอง และที่สำคัญเขาได้เห็นความโหดร้ายของสงคราม

การเป็นผู้สังเกตการณ์สงคราม ในที่สุดแล้วนำไปสู่การเขียนบันทึกเรื่อง “สงครามเพโลพอนนีเชีย” (The Peloponnesian War) และกลายมาเป็นตำราเล่มสำคัญในปัจจุบัน ที่นักเรียนไม่ว่าจะในสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือสาขายุทธศาสตร์ระหว่างประเทศล้วนต้องอ่าน การเขียนบันทึกสงครามครั้งนี้แตกต่างจากงานบันทึกอื่นๆ

เพราะในด้านหนึ่ง ทูซิดิดิสเขียนถึงสงครามที่มนุษย์เป็นผู้กระทำ และทำในนามของนครรัฐ หรืออีกนัยหนึ่ง สงครามเป็นความขัดแย้งระหว่างนครรัฐ สงครามมิใช่เรื่องของเหล่าทวยเทพเช่นที่เราเห็นจากเทวตำนานกรีกในอีเลียดและโอดิสซี และมิใช่สาเหตุในแบบ “สงครามกรุงทรอย” ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากการแย่งชิงเทวีที่งดงามที่สุดคือ “เฮเลนแห่งกรุงทรอย”

ดังนั้น เมื่อทูซิดิดิสมองสงคราม เขาจึงพยายามตอบปัญหาความขัดแย้งหลักในการสงครามระหว่างรัฐ

และเขาระบุความขัดแย้งนี้เกิดจากการเติบโตของนครรัฐเอเธนส์ ที่ทำให้นครรัฐสปาร์ตากลัว

และความกลัวเช่นนี้ทำให้สงครามระหว่างนครรัฐที่เป็นมหาอำนาจเก่าและนครรัฐที่กำลังก้าวขึ้นสู่การเป็นมหาอำนาจใหม่นั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ทูซิดิดิสสรุปอย่างชัดเจนว่า รากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งคือ การแข่งขันระหว่างรัฐมหาอำนาจใหม่และเก่า

กล่าวคือ รัฐมหาอำนาจใหม่ที่กำลังเติบใหญ่ขึ้นย่อมมีความพยายามที่จะมีบทบาทเข้าแทนที่รัฐมหาอำนาจเก่า

หรืออีกนัยหนึ่ง ปัญหาเช่นนี้เป็น “ความขัดแย้งเชิงโครงสร้าง” ที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ

สำหรับนักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความขัดแย้งเชิงโครงสร้างที่เกิดจากสถานะของรัฐมหาอำนาจเช่นนี้ เป็นกฎที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ มากกว่าจะเป็นข้อยกเว้น และในที่สุดแล้วความขัดแย้งชุดนี้ย่อมนำไปสู่สงครามอย่างแน่นอน

ในอีกส่วนหนึ่งจะเห็นได้ว่าเอเธนส์นั้นเติบโตอย่างรวดเร็ว และมีความเจริญอย่างมากในฐานะของการเป็นศูนย์กลางอารยธรรม ดังจะเห็นได้จากมรดกที่เอเธนส์ได้มอบไว้ให้แก่คนรุ่นหลัง ไม่ว่าจะเป็นปรัชญา การละคร สถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ ประชาธิปไตย

และที่สำคัญคือตัวอย่างของความเป็นมหาอำนาจ

ดังนั้น การเติบโตของเอเธนส์จึงเป็นภัยคุกคามโดยตรง

ลิขิตสงคราม

การเติบโตของรัฐมหาอำนาจใหม่เช่นนี้ ทำให้นครรัฐเอเธนส์ต้องการการยอมรับ (หรืออาจจะเรียกว่าต้องการได้รับความเคารพ)

และขณะเดียวกันก็มีความคาดหวังว่า ตนจะมีส่วนต่อการปรับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐที่จะทำให้ตนมีบทบาทมากขึ้น หรือมากกว่าจะยอมให้ทุกคนอยู่ในอำนาจการจัดการของสปาร์ตาเท่านั้น

หรืออีกนัยหนึ่ง เอเธนส์ต้องการให้สปาร์ตายอมรับถึงสถานะแห่ง “ความเป็นจริงของอำนาจ” ในความสัมพันธ์ระหว่างนครรัฐกรีกในขณะนั้น

และแน่นอนว่าในสภาวะของความเติบโตเช่นนี้ เอเธนส์มีความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น

และที่สำคัญ เชื่อมั่นในพลังอำนาจทางทหารของตัวเองมากขึ้นด้วย

สำหรับรัฐมหาอำนาจเก่าอย่างสปาร์ตานั้น ข้อเรียกร้องของเอเธนส์เป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุผล และไม่ควรที่จะได้รับความใส่ใจ

ขณะเดียวกันสปาร์ตาก็กังวลว่าสภาวะแวดล้อมจะกลายเป็นปัจจัยที่เอื้อให้เอเธนส์เติบโตมากขึ้น ในภาวะเช่นนี้ สปาร์ตาซึ่งเริ่มมีความไม่มั่นคง ทั้งมีความกลัวเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงตัดสินใจอย่างมุ่งมั่นที่จะปกป้อง “สถานะเดิม” (status quo) ในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ

แอลลิสันเรียกสภาวะเช่นนี้ว่า “กับดักของทูซิดิดิส” (Thucydides”s Trap) อันหมายความว่าการแข่งขันระหว่างรัฐมหาอำนาจสองฝ่ายจะนำไปสู่สงครามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (หรือหมายถึง rising power vs. ruling power ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ)

และกับดักเช่นนี้จะเป็นแรงผลักดันให้ความความขัดแย้งในเชิงโครงสร้างจะต้องใช้สงครามเป็นเครื่องมือของการแก้ปัญหา หรือในอีกมุมหนึ่งผู้เขียนอยากขอเรียกเงื่อนไขเช่นนี้ว่าเป็นดัง “ลิขิตสงคราม” ที่รัฐมหาอำนาจสองฝ่ายไม่อาจหลีกหนีไปได้

ฉะนั้น สงครามจึงกลายเป็นกฎ เมื่อรัฐมหาอำนาจใหม่ต้องการทะยานตัวขึ้นและมีบทบาทเข้าแทนที่รัฐมหาอำนาจเก่า ในขณะที่รัฐมหาอำนาจเก่าอยู่ด้วยความกลัวและมองการขึ้นสู่อำนาจของรัฐมหาอำนาจใหม่ว่าเป็นภัยคุกคาม

ในสภาวะเช่นนี้สงครามจึงกลายเป็นดัง “ลิขิต” ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะการทดแทนเพื่อสร้างความเป็นผู้นำของรัฐมหาอำนาจนั้น มักจะอาศัยสงครามเป็นเครื่องมือ

สำหรับรัฐมหาอำนาจใหม่นั้น สงครามเป็นเครื่องมือของการ “จัดสถานะใหม่” ในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ

ในขณะที่สำหรับรัฐมหาอำนาจเก่า สงครามเป็นเครื่องมือในการ “รักษาสถานะเดิม” ในความสัมพันธ์เช่นนี้บอกอย่างชัดเจนว่า การแข่งขันชุดนี้ถูกลิขิตให้รัฐสองฝ่ายต้องเดินเข้าสู่สนามรบ

หรืออีกนัยหนึ่งสงครามเป็นผลลัพธ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจ

พยานจากประวัติศาสตร์

ในเชิงการอธิบายสาเหตุของสงครามในเวทีโลกนั้น สมมุติฐานของทูซิดิดิสถูกใช้อธิบายความขัดแย้งของรัฐมหาอำนาจใหม่ในสงครามโลกครั้งที่ 1 มาก่อนที่หนังสือของแอลลิสันจะออกมา

เพราะนักเรียนในวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศถูกสอน (จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม) ว่า ความขัดแย้งระหว่างจักรวรรดิเยอรมนีกับจักรวรรดิอังกฤษนั้น คือภาพสะท้อนที่ชัดเจนระหว่างการแข่งขันที่เกิดจากความเป็นรัฐมหาอำนาจใหม่ของเยอรมนีที่กำลังเติบโตขึ้นในระบบระหว่างประเทศ

ในขณะที่อังกฤษอยู่ในฐานะที่เป็นมหาอำนาจเก่า และต้องการรักษาระบบเก่าด้วยการคง “สถานะเดิม” และจะไม่อนุญาตให้รัฐมหาอำนาจใหม่ขยับตัวขึ้นมาท้าทายเป็นอันขาด

แน่นอนว่าความขัดแย้งในเชิงโครงสร้างของระบบระหว่างประเทศเช่นนี้ นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี 1914

และยิ่งมองกลับไปในประวัติศาสตร์ ก็ยิ่งตอกย้ำลิขิตสงครามชุดนี้ เพราะเมื่อปรัสเซียมีอำนาจทางทหารมากขึ้น จนเชื่อว่ารัฐตนมีความเข้มแข็งมากพอแล้ว ปรัสเซียจึงตัดสินใจทำสงครามกับฝรั่งเศส (1870-1871)

สงครามครั้งนี้จบลงด้วยชัยชนะของปรัสเซีย และเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมชาติของชาวเยอรมัน อันนำไปสู่การกำเนิดของประเทศเยอรมนีในเวลาต่อมา

ในมุมมองของฝรั่งเศสกับรัสเซียแล้ว การก่อตัวของเยอรมนีที่มีสถานะเป็นรัฐมหาอำนาจใหม่ของยุโรปไม่สามารถอธิบายเป็นอื่นได้ นอกจากมองว่าเยอรมนีเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อฝรั่งเศสและรัสเซีย และหลังจากสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซียแล้ว เยอรมนีเริ่มสร้างบทบาทความเป็นรัฐมหาอำนาจด้วยการประกาศสร้างพันธมิตรสามฝ่าย (The Triple Alliance) ในปี 1882

การรวมกลุ่มนี้ได้แก่ เยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี และอิตาลี การสร้างพันธมิตรในยุโรปที่มีเยอรมนีเป็นผู้นำนั้น เป็นคำตอบในตัวเองได้ทันทีว่าเยอรมนีกำลังก้าวขึ้นสู่ความเป็นรัฐมหาอำนาจยุโรปอย่างแท้จริง

การตอบโต้ในทางการเมืองจากฝ่ายมหาอำนาจเก่าอาจจะไม่ได้เป็นไปอย่างรวดเร็ว

กล่าวคือ อีก 12 ปีถัดมา ฝรั่งเศสกับรัสเซียจึงลงนามเป็นพันธมิตรต่อกันในปี 1894 และนานถึง 10 ปีถัดมา อังกฤษจึงลงนามเป็นพันธมิตรร่วมกับฝรั่งเศสในปี 1904

อีก 3 ปีต่อมา อังกฤษได้ลงนามเป็นพันธมิตรกับรัสเซียในปี 1907 การจัดสร้างระบบพันธมิตรเช่นนี้ชี้ให้เห็นว่า ระบบของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐในยุโรปได้แตกออกเป็นสองค่ายทางการเมืองแล้ว ค่ายหนึ่งมีเยอรมนีที่เป็นรัฐมหาอำนาจใหม่เป็นผู้นำ

และอีกค่ายมีอังกฤษที่เป็นรัฐมหาอำนาจเก่าเป็นผู้นำ

เส้นทางสู่สงคราม

การเมืองระหว่างประเทศที่มีการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหม่เป็นองค์ประกอบหลักนั้น ยังเห็นได้ในอีกส่วนคือการแข่งขันสะสมอาวุธ การแข่งขันทางด้านอาวุธของสองฝ่ายเช่นนี้ เมื่อกองทัพเรืออังกฤษประสบความสำเร็จในการสร้างเรือรบในชั้น Dreadnought และปล่อยลงน้ำในตอนต้นปี 1906 แล้ว เรือรบทั้งหมดที่มีอยู่ในขณะนั้นก็กลายเป็นเพียง “เรือเก่า” ในการสงครามไปทันที

และคาดเดาไม่ยากว่า เมื่ออังกฤษประสบความสำเร็จในการเอาเรือรบเหล็กทั้งลำลงน้ำแล้ว กองทัพเรือเยอรมันไม่มีทางเลือกอื่นเหลืออยู่ นอกจากจะต้องเร่งสร้างเรือรบเหล็กทั้งลำเช่นในแบบของอังกฤษ

สิ่งที่เกิดตามมาจากสภาวะเช่นนี้ก็คือ “การแข่งขันสะสมอาวุธทางทะเล” ระหว่างสองจักรวรรดิใหญ่

ในอีกส่วนหนึ่งการแข่งขันระหว่างสองมหาอำนาจที่มีแรงสนับสนุนอย่างสำคัญจากการแข่งขันทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม

ความสำเร็จของการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษนั้น มีส่วนโดยตรงต่อการสร้างความเข้มแข็งทางทหารให้แก่รัฐ

ผลจากความสำเร็จเช่นนี้ทำให้อังกฤษมีความก้าวหน้าและเป็นผู้นำในทางเทคโนโลยีของโลก

ฉะนั้น ถ้าเยอรมนีจะแข่งขันให้ชนะแล้วก็จะต้องผลักดันให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมเช่นในแบบของอังกฤษ

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นทำให้เยอรมนีเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจแข่งกับอังกฤษด้วย และในอีกด้านของความสำเร็จนี้ เปิดโอกาสให้เยอรมนีมีความพร้อมในเงื่อนไขทางวัตถุ (material condition)

ขณะเดียวกันเยอรมนีก็มีเศรษฐกิจใหญ่ที่จะรองรับต่อการทำสงครามใหญ่ของรัฐด้วย เพราะสงครามใหญ่ระหว่างประเทศจำเป็นต้องสร้าง “เศรษฐกิจสงคราม” (war economy) รองรับ ซึ่งกระบวนการเช่นนี้ก็คือ การสร้างความพร้อมรบของรัฐมหาอำนาจใหม่

การเติบโตของเยอรมนีในความเป็นรัฐมหาอำนาจใหม่เช่นนี้แสดงให้เห็นถึงการเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อสถานะของอังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซีย

ดังนั้น เมื่อฟางเส้นสุดท้ายสำหรับผู้นำรัฐบาลในยุโรปหลังจากการลอบปลงพระชนม์มกุฎราชกุมารของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีที่เมืองซาราเยโวในวันที่ 28 มิถุนายน 1914 สถานการณ์ที่เหลือก็กลายเป็นเพียง “การเดินเข้าสงคราม” ของรัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

จุดสุดท้ายก่อนการเกิดสงครามคือเหตุการณ์ที่เมืองซาราเยโว แต่จุดตั้งต้นของสงครามคือการทะยานตัวขึ้นเป็นมหาอำนาจใหม่ ที่เห็นได้ชัดเจนทั้งสงครามระหว่างฝรั่งเศสกับปรัสเซีย และจากการสร้างระบบพันธมิตรชุดใหม่ของยุโรป

และหลังจากนี้แล้วการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจสองฝ่ายคือการปูทางเข้าสู่สงครามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สถานการณ์เช่นนี้ อาจกล่าวได้ว่าสงครามโลกครั้งที่ 1 สะท้อนให้เห็นการกลับมาของทูซิดิดิสในปี 1914 หรือดังที่กล่าวแล้วว่า คำตอบเรื่องสาเหตุของสงครามนั้นถูกอธิบายจากสงครามในยุคกรีกนั่นเอง