อะไรคือ “M&A” | ธุรกิจพอดีคำ

“M&A”

ถ้าคุณมีของที่มีมูลค่าสำหรับคุณ 10 บาท

มีคนมาขอซื้อของสิ่งนี้จากคุณ

คุณจะขายที่ราคาต่ำสุดเท่าไร

องค์กระดับโลกมากมาย

เวลาคิดจะทำธุรกิจใหม่ๆ ก็ทำได้หลายรูปแบบ

ไม่ว่าจะเป็นการวิจัย คิดเอง ทำเอง ราคาไม่แพงมาก

แต่ว่า อาจจะช้า

แถมล้มเหลวก็มีอยู่มาก

หรือว่า ไม่ลงทุนในบริษัทอื่นๆ

ลงไม่มาก ให้พอทำความรู้จักกัน

แล้วเอา “เทคโนโลยี” ของเขามาใช้

ลองปรับกับสิ่งที่บริษัทมีอยู่

นำไปเสนอลูกค้า

ลุยไปด้วยกัน

หรือวิธีสุดท้ายที่มีการทำการอย่างแพร่หลาย

แต่ก็ต้องบอกว่า ที่สำเร็จจริงๆ ก็ไม่ได้เห็นว่ามีอยู่เยอะ

เขาเรียกว่า “การควบรวมกิจการ”

หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “เอ็มแอนด์เอ (M&A)”

อันนี้คือ ใช้เงินซื้อของเลย

มาพร้อมกับธุรกิจใหม่ทั้งก้อน

ซึ่งก็ดูเหมือนจะไม่มีความเสี่ยง

เพราะของมันทำอยู่แล้ว เราซื้อมา

สําหรับการทำ M&A แล้ว

มีคำหนึ่งที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย

คือคำว่า “คำสาปของผู้ชนะ (Winner”s Curse)”

หมายความว่า ผู้ชนะที่ประมูลได้ของไป

หลายๆ ครั้งก็เหมือนโดนต้องคำสาป

เพราะจ่ายในราคาที่แพงจนเกินไป

ไม่สามารถสร้างมูลค่าได้เท่าจำนวนเงินที่เสียไป

ขาดทุนตั้งแต่วันแรก

แม้จะได้บริษัทที่ต้องการมาอยู่ในกำมือ

แต่กลับสร้างมูลค่าไม่ได้อย่างที่คิด

เป็นเพราะอะไรกัน

คำตอบอยู่ในคำว่า “การประสานพลัง (Synergy)”

M&A ใด ที่ไม่มี Synergy

ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ

มันหมายความว่าอย่างไรกัน

สมมุติว่า คุณมีของชิ้นหนึ่ง ที่คุณมองว่ามีมูลค่า 10 บาทสำหรับคุณ

แล้วบังเอิญมีคนอยากได้

คุณเสนอราคาขายที่เท่าไร

ถ้าคุณไม่ใช่นักบุญอะไรมากมาย

ราคาขายก็ควรจะเป็นราคาที่คุณทำกำไรได้

ถ้าไม่มองหน่วยสตางค์

อย่างต่ำที่สุด คุณควรจะเสนอราคาขายที่ 11 บาทขึ้นไป

ต่ำกว่า 11 บาท ก็ไม่ควรจะขาย

ทีนี้มามองมุมคนซื้อ

คุณเห็นของที่มีมูลค่า 10 บาทสำหรับคุณ

คุณจะเสนอซื้อที่ราคาเท่าไร

เช่นเดียวกัน ถ้าคุณเป็นคนปกติ

ของที่มีมูลค่า 10 บาท

คุณควรจะเสนอซื้อที่ราคาสูงสุดคือ 9 บาท

มากกว่านั้น ก็ถือว่าเท่าทุน

ซื้อหรือไม่ซื้อ ก็ไม่ต่างกัน

จะเห็นได้ว่า ของอย่างเดียวกัน มองมูลค่าเหมือนๆ กัน คือ 10 บาท

แต่คนขายกลับต้องตั้งราคาให้ได้กำไรที่ 11 บาท

และคนซื้อก็ควรซื้อในราคาที่ตัวเองมีกำไรอยู่บ้างเช่นกัน นั่นคือ 9 บาท

เอ๊ะ แล้วแบบนี้ทั้งสองจะลงเอยกันได้อย่างไร

เกมนี้ดูยังไงก็ไม่น่าจะมีคนชนะ

เว้นแต่ว่าจะมีการ “ประสานพลัง (Synergy)” เกิดขึ้น

คนขายก็เหมือนเดิม ของมูลค่า 10 บาท

แต่จะต้องขายที่ 11 บาท

หากแต่ว่า คนซื้อนี่แหละที่ควรจะมองมูลค่าของสิ่งเดียวกันนี้ ในมุมที่แตกต่างกันออกไป

เช่น ถ้าของสิ่งนี้มาอยู่ในมือฉัน ฉันสามารถทำให้ต้นทุนมันต่ำกว่านี้ได้

หรือ ฉันสามารถจะเพิ่มจำนวนลูกค้าให้ได้ทันที ทำให้กิจการเติบโตแบบก้าวกระโดด

มูลค่าของสิ่งนี้ เมื่ออยู่ในมือของผู้ซื้อ ก็มักจะมีมูลค่าสูงขึ้น

สมมุติว่า มองได้เป็น 15 บาท

ทีนี้จะเห็นแล้วว่า เราก็ควรจะซื้อที่ราคาสูงที่สุดคือ 14 บาท เพื่อให้เราได้กำไรบาทหนึ่ง

เห็นมั้ยครับว่า เกิดอะไรขึ้น

การประสานพลัง ทำให้ทั้งสองฝั่งมองมูลค่าของสิ่งนี้ต่างกันออกไป

ทำให้เกิดช่องว่า”ตรงกลาง สำหรับการต่อรองราคา

ก็คือระหว่าง 11 บาท ถึง 14 บาท

ไม่ว่าจะตกลงที่ราคาตรงไหนในช่วงนี้

ทั้งสองบริษัทก็จะกำไรทั้งคู่ เรียกว่าเป็น win-win ที่แท้ทรู

เมื่อการสนทนามีผู้ชนะทั้งคู่ ก็จะเป็นการต่อรองที่มีประสิทธิภาพ

แต่จะมีสิ่งนี้ได้ ผู้ซื้อเองจะต้องมองหา “การประสานพลัง (Synergy)” ให้เจอ

นี่แหละ เรื่องสำคัญที่สุดในการขยายกิจการอย่างรวดเร็ว

ผ่านการทำ M&A ที่บริษัททั่วโลกเขาทำกันอย่างจริงจัง

เพียงแต่ว่า ผู้แพ้ที่อยากได้กิจการใหม่จนw,jลืมหูลืมตา

ก็อาจจะต้องจ่ายราคาที่ทำให้ขาดทุนกันตั้งแต่วันแรก

ก็เป็นได้

ควบรวมกิจการ ไม่ใช่ขายผักขายปลา

คิดให้ถี่ถ้วนเถิด จะเกิดเป็นดอกผล