วิกฤติศตวรรษที่ 21 | อีกปัจจัยในการตัดสินใจทำสงครามการค้าของสหรัฐ เพราะการคุกคามด้านสินค้าอุตสาหกรรมของจีน

สงครามการค้าสหรัฐ-จีน : สู่ขั้นใช้ยาแรง (18)

การสู้รบสหรัฐ-จีนด้านอุตสาหกรรมการผลิต

เหตุปัจจัยให้สหรัฐทำสงครามการค้าต่อจีนอีกประการหนึ่ง เนื่องจากสหรัฐเห็นว่าจีนเอาเปรียบทางการค้า ถึงขั้นเข้าทำลายฐานอุตสาหกรรมการผลิตของตน ขโมยเงินจากสหรัฐไปปีละหลายแสนล้านดอลลาร์

เป็นที่ทราบกันว่าการผลิตแบบอุตสาหกรรมการค้า การสร้างกำไรและการรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เป็นหัวใจของการเป็นชาติ และการกำหนดนโยบายหลักของสหรัฐมาช้านาน

การเพลี่ยงพล้ำต่อจีนในครั้งนี้จึงเป็นสิ่งที่ยากจะยอมรับได้โดยไม่ต่อสู้อย่างถึงที่สุด เพื่อให้เห็นภาพสิ่งที่ทรัมป์เรียกว่า “ทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง” ชัดขึ้น

จะกล่าวถึงความเป็นมาทางประวัติศาสตร์บางประเด็น

การปฏิวัติตลาดในสหรัฐ

สหรัฐตั้งตัวเป็นอิสระในสงครามปฏิวัติช่วงปี 1775-1783 ขณะที่ประเทศยังเป็นสังคมเกษตรกรรม มีการใช้แรงงานทาสอย่างกว้างขวาง

สหรัฐเริ่มการปฏิวัติอุตสาหกรรมของตนจริงจังในทศวรรษ 1820 หลังอังกฤษและยุโรปนานพอสมควร

แต่การมาภายหลังทำให้สหรัฐสามารถเก็บรับบทเรียน การเลียนแบบ สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมของตนได้อย่างรวดเร็ว และต่อยอดการปฏิวัติอุตสาหกรรมไปประสานกับการค้า เกิดการปฏิวัติตลาดในสหรัฐขึ้น

เป็นการปฏิวัติที่ทำให้สหรัฐก้าวล้ำชาติอื่นและเป็นผู้นำโลกจนถึงปัจจุบัน

การปฏิวัติอุตสาหกรรมโดยการเลียนแบบ เช่น แซมวล สเลตเตอร์ (1768-1835) ผู้เคยทำงานในโรงงานปั่นทออังกฤษ จนล่วงรู้เครื่องจักรและการทำงานอย่างทะลุปรุโปร่ง ได้เดินทางไปสหรัฐร่วมกับนายทุนสหรัฐตั้งโรงงานปั่นทอที่เลียนแบบของอังกฤษได้สำเร็จ

นักอุตสาหกรรมสหรัฐอื่นก็พากันทำตาม จนกระทั่งอุตสาหกรรมปั่นทอผ้าฝ้ายกลายเป็นเสาหลักของอุตสาหกรรมของสหรัฐไป

การพัฒนาอุตสาหกรรมอื่น ได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็ก การทำเหมืองถ่านหิน การสร้างทางรถไฟ (เปิดเส้นทางรถไฟข้ามทวีปจากนิวยอร์กไปซานฟรานซิสโก ปี 1869) การขุดคลองเออร์รี่ (เปิดใช้งานปี 1825 เปิดให้มีการขุดคลองอื่น และขยายการขนส่งโดยเรือกลไฟ) และเมื่อสหรัฐเปิดการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติกว้างขวาง จนถึงส่งออกน้ำมันในทศวรรษ 1860 สหรัฐก็เริ่มรุดหน้าไกลกว่าอังกฤษและยุโรป สหรัฐได้เป็นศูนย์การประดิษฐกรรมแห่งใหม่

เช่น การประดิษฐ์เครื่องเก็บเกี่ยว (ปี 1831) คันไถเหล็กกล้า (1837) โทรเลข (1844) ยางวัลคาไนส์ (1844) จักรเย็บผ้า (1846) การผลิตเหล็กกล้าจำนวนมาก (1856) โทรศัพท์ (1876) เครื่องบิน (1903)

นอกจากนี้ ยังเป็นผู้พัฒนาระบบการผลิต โรงงานอุตสาหกรรมที่เรียกว่าระบบอเมริกันขึ้นในช่วงปี 1850 เพื่อเพิ่มความสามารถในการผลิต โดยการใช้เครื่องจักรอย่างกว้างขวาง และการจ้างโรงงานขนาดเล็กจำนวนมากผลิตชิ้นส่วนที่สามารถสับเปลี่ยนกันได้ เพื่อนำมาประกอบในโรงงานแม่

ต่อมายังได้พัฒนา “การบริหารเชิงวิทยาศาสตร์” เรียกว่า “ทฤษฎีเทย์เลอร์” ตามชื่อผู้เสนอเฟเดอริก เทย์เลอร์ (1856-1915) เขาเผยแพร่หนังสือชื่อ “หลักการแห่งการบริหารแบบวิทยาศาสตร์” ในปี 1911 (แต่ได้พัฒนาทฤษฎีตั้งแต่ทศวรรษ 1880 และ 1890) เป็นความพยายามครั้งแรกๆ ในการใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ การประมวล วิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลเพื่อใช้ในการบริหารทางการผลิต

ช่วงใกล้กันนั้นมีนักอุตสาหกรรมคือเฮนรี่ ฟอร์ด ใช้หลักการเดียวกัน ประดิษฐ์รถยนต์ฟอร์ดรุ่นที่สามารถผลิตจำนวนมากในระบบสายพานในปี 1908

ช่วงทศวรรษ 1870 และ 1880 เศรษฐกิจสหรัฐเติบโตเป็นประวัติการณ์ เช่น ระหว่างปี 1865 และ 1898 ผลผลิตข้าวสาสีเพิ่มขึ้นร้อยละ 256 ข้าวโพดร้อยละ 222 ถ่านหินร้อยละ 800 ทางรถไฟเพิ่มขึ้นร้อยละ 567

เมื่อถึงทศวรรษ 1890 สหรัฐมีผลผลิตทางอุตสาหกรรมแซงหน้าอังกฤษเป็นครั้งแรก

เมื่อถึงต้นศตวรรษที่ 20 ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 สหรัฐได้กลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก มีรายได้ต่อหัวคิดเป็นสองเท่าของเยอรมนีและฝรั่งเศส และสูงกว่าของอังกฤษร้อยละ 50

การรุ่งเรืองอย่างรวดเร็วของสหรัฐในอดีตดังกล่าว กำลังเกิดขึ้นกับประเทศจีนในช่วงราว 30 ปีมานี้

เป็นเรื่องที่น่าตระหนกไม่น้อยสำหรับสหรัฐที่จะเห็นชาติอื่นวิ่งเลยหน้าไปครั้งแรกในช่วงกว่าร้อยปีมานี้

การปฏิวัติตลาดในสหรัฐเกิดจากความมุ่งมั่นที่จะร่ำรวยในการค้าของชาวอเมริกันทั่วไป ตามคำขวัญ “ชีวิต อิสรภาพและการแสวงหาความสุข” เป็นการสร้างสังคมทุนนิยมชัดแจ้งอย่างที่ไม่ปรากฏที่ใดมาก่อน สังคมแบบพออยู่พอกินในสมัยอาณานิคมสิ้นสุดลง เกิดเป็นประชาชาติแห่งการค้าขึ้นมาแทน

ในชนบทโดยเฉพาะทางตอนใต้ ชาวนาจำนวนมากเลิกการเพาะปลูกเพื่อบริโภคเองหรือแลกเปลี่ยนในท้องถิ่น แต่เพาะปลูกเพื่อการแสวงหากำไร

ในตอนเหนือ เกิดโรงงานอุตสาหกรรมและเมืองขยายตัวอย่างรวดเร็ว เกิดความมั่งคั่งมหาศาลและชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

เศรษฐกิจเปลี่ยนเป็นเศรษฐกิจเงินสด คนงานชายและหญิงจำนวนมากทำงานเพื่อแลกเงิน กลายเป็นแรงงานเสรีที่ไม่ได้มีพันธะกับเจ้านายคนใดคนหนึ่ง

กล่าวได้ว่า การปฏิวัติตลาดเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้สหรัฐก้าวล้ำหน้าอังกฤษและยุโรป จนชาวอเมริกันรู้สึกว่าตนเป็นประทีปของโอกาสหรือความเสมอภาคและเสรีภาพ ชาวยุโรปจำนวนมากก็เห็นเช่นนั้น พากันอพยพมาตั้งภูมิลำเนาในสหรัฐและรับเอาแบบวิถีดำเนินชีวิตแบบอเมริกันเป็นของตน

แต่ในข้อดีดังกล่าว ก็มีจุดอ่อนและความขัดแย้งรุนแรงที่แก้ไม่ตก

ได้แก่

ประการแรกคือ การพัฒนาที่ไม่สม่ำเสมอในทางพื้นที่ แม้ว่าต่างต้องอิงกันและกัน เห็นได้ว่าทางตอนเหนือมีการพัฒนาอุตสาหกรรมโรงงานเป็นอันมาก ได้แก่ โรงงานปั่นทอผ้าฝ้าย และโรงงานเหล็กกล้า เป็นต้น โรงานปั่นทอผ้าฝ้ายใช้แรงงานรับจ้าง ต้องการฝ้ายปริมาณมากเพื่อป้อนโรงงาน พื้นที่ปลูกฝ้ายอยู่ทางตอนใต้และใช้แรงงานทาส

ในที่สุดฝ่ายใต้ที่ต้องการรักษาการใช้แรงงานทาส ประกาศแยกตัวเป็นอิสระ ฝ่ายเหนือไม่ยินยอม เกิดเป็นสงครามกลางเมืองระหว่างปี 1861-1865 ฝ่ายเหนือชนะ ยกเลิกแรงงานทาส เกิดแรงงานเสรีทั่วประเทศ ทำให้การปฏิวัติตลาดมั่นคงขึ้นอีก

ทุกวันนี้ยังพบความขัดแย้งเชิงพื้นที่ทำนองนี้ในประเด็นใหม่ ได้แก่ พื้นที่ชายฝั่งทั้งด้านตะวันออกและตะวันตก มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจไปสูงกว่า มีความมั่งคั่งกว่า มีแนวคิดไปในทางเสรีนิยมโลกาภิวัตน์

ส่วนที่อยู่ลึกเข้าไปในพื้นที่ข้างใน มีแนวคิดแบบชาตินิยมผสมเชื้อชาตินิยม จนกระทั่งมองกันว่า อาจเกิดสงครามกลางเมืองใหม่ขึ้นอีกครั้ง

ขณะที่ประธานาธิบดีทรัมป์เดินแนวทางชาติ-เชื้อชาตินิยมอยู่

จุดอ่อนข้อต่อมาได้แก่ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ระหว่างลูกจ้างแรงงานและนายทุนผู้ประกอบการละเมิดต่อหลักการเสมอภาคที่เป็นหัวใจของชาติและพลังในการปฏิวัติอุตสาหกรรมในสหรัฐ คนงานรับจ้างซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอเมริกันผู้อพยพและผู้ยากจน ได้รับค่าจ้างต่ำ ทำงานยาวนานในสภาพการทำงานที่เลวร้าย

แม้จะมีการสัญญาว่าจ้างที่ดูเหมือนเสมอภาค แต่ในทางปฏิบัติมีการขีดเส้นแบ่งและจัดอันดับชั้นชัดเจน

นั่นคือ นายจ้างมีความมั่นคงทางการเงิน และมีอำนาจทางการเมือง

ส่วนลูกจ้างต้องประสบกับความไม่แน่นอน และการไร้อำนาจในโรงงาน (ดูหัวข้อ The Market Revolution ใน americanyawp.com)

ในสถานการณ์เช่นนี้ พวกคนงานซึ่งจำนวนไม่น้อยเป็นสตรีในโรงงานปั่นทอผ้า และโรงงานผลิตไม้ขีดไฟ เป็นต้น ได้รวมตัวจัดตั้งเป็นสหภาพแรงงาน เคลื่อนไหวเพื่อทวงสิทธิผลประโยชน์อย่างดุเดือดและต่อเนื่อง

ได้แก่ การลดชั่วโมงทำงาน การคุ้มครองเด็กในโรงงาน และเพิ่มค่าจ้าง แต่ถูกปราบปรามด้วยความรุนแรง เกิดเหตุการณ์ที่กลายเป็นวันสตรีสากล เพื่อระลึกถึงคนงานสตรีกว่าร้อยคนที่ชุมนุมในโรงงานต้องเสียชีวิตเนื่องจากโรงงานถูกลอบวางเพลิงในวันที่ 8 มีนาคม 1857

การต่อสู้ของเหล่าคนงานก่อผลในระดับที่ทำให้มีการจ้างงาน สวัสดิการ และสภาพการทำงานที่ดีขึ้น แต่ไม่มากพอที่จะทำให้ความคิดสังคมนิยมตั้งมั่นในสหรัฐ ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของอเมริกาที่ต่างกับประเทศพัฒนาแล้ว

ความเหลื่อมล้ำ การแตกแยกภายในชาติยังคงดำรงอยู่จนถึงทุกวันนี้ ในเดือนกันยายน 2019 คนงานบริษัทเจเนอรัลมอเตอร์ส ของสหรัฐจำนวนหลายหมื่นคนก่อการนัดหยุดงานครั้งใหญ่ เรียกร้องให้มีการทำสัญญาจ้างงานที่เป็นธรรม

ความคิดแนวสังคมนิยมเริ่มเป็นที่ยอมรับในหมู่สาธารณชนอเมริกันมากขึ้น โดยเฉพาะในวัยหนุ่มสาว

จุดอ่อนอีกประการหนึ่งของการปฏิวัติตลาดและการแปรทุกอย่างเป็นเชิงพาณิชย์ ได้แก่ การเพิ่มบทบาทของธุรกิจเอกชนและบรรษัทต่างๆ ในช่วงเริ่มการปฏิวัติอุตสาหกรรมของสหรัฐต้องอาศัยการขับเคลื่อนหลักจากการหนุนของรัฐบาลและเงินทุนจากยุโรป รัฐมีบทบาทการสร้างสาธารณูปโภค เช่น โรงเรียนและโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การขุดคลอง สร้างถนน ทางรถไฟ

ในการนี้ได้อนุญาตให้จัดตั้งบริษัทขึ้น มีฐานะเป็นนิติบุคคล ทำให้นักลงทุนผู้ประกอบการไม่ต้องรับผิดชอบต่อหนี้สินที่เกิดขึ้น รัฐบาลยังสนับสนุนการตั้งธนาคารทั้งในระดับรัฐและระดับประเทศ การออกใบอนุญาตนี้มีด้านที่เป็นการควบคุม และมีด้านที่สนับสนุนให้การค้ำประกัน

การปฏิวัติตลาดที่สร้างความมั่งคั่งมหาศาล ได้สร้างความร่ำรวยแก่เศรษฐีนายทุนสหรัฐอย่างรวดเร็วด้วย บรรษัทต่างๆ ได้เริ่มการฮั้วตั้งราคาและการประมูล มีการควบรวมกิจการในแนวตั้ง กระทั่งสามารถเข้าควบคุมตลาดได้ ทางรัฐบาลต้องออกกฎหมายป้องกันการผูกขาดที่สำคัญ 3 ฉบับ ปี 1890 หนึ่งฉบับ ปี 1914 อีกสองฉบับ

ในด้านการธนาคาร รัฐบาลได้จัดตั้งธนาคารกลางขึ้นครั้งแรกช่วงปี 1791-1811 แต่ถูกไม่ไว้วางใจเนื่องจากเกรงว่าจะขึ้นมาครอบงำรัฐบาล ต้องล้มลุกอยู่หลายครั้ง จนกระทั่งสถาปนามั่นคงในปี 1913 ทำหน้าที่ควบคุมการเงินของประเทศ มีด้านที่เป็นเหมือนองค์กรของรัฐบาลที่เป็นผู้แต่งตั้งผู้ว่าการ และรับผลกำไรจากการประกอบการประจำปี

แต่ก็มีด้านที่เป็นเหมือนธนาคารเอกชนที่ดำเนินนโยบายเป็นอิสระ ปัจจุบันกิจการสำคัญทุกอย่างในสหรัฐถูกผูกขาดโดยผู้ประกอบการน้อยราย วิเคราะห์กันว่าทุนการเงิน ทุนอุตสาหกรรม-การทหาร-ความมั่นคงได้ขึ้นมาครอบงำรัฐบาล เป็นรัฐบาลลึกเร้นอยู่เบื้องหลังรัฐบาลจากการเลือกตั้งอีกทีหนึ่ง เป็นอันตรายต่อสิทธิประชาธิปไตยของชาวอเมริกัน

สงครามการค้านี้เป็นเรื่องของชนชั้นนำสหรัฐ สาธารณชนอเมริกันถูกชักใยไปต่างๆ

การเป็นจักรวรรดิของสหรัฐกับสงครามการค้า

การเป็นจักรวรรดิของสหรัฐสืบเนื่องจากการปฏิวัติตลาด ขณะเดียวกันก็ได้กลายเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล ตั้งแต่ประกาศตัวเป็นอิสระ ทำให้สหรัฐกลายเป็นประเทศแห่งสงครามและการใช้กำลังทางทหารอย่างไม่รู้จบ

การดำเนินนโยบายจักรวรรดิของสหรัฐปรากฏชัดหลังสงครามกลางเมือง โดยการที่สหรัฐใช้แสนยานุภาพของตน เพื่อการรักษาผลประโยชน์ทางการค้าทั่วโลก เช่น นักธุรกิจอเมริกันเริ่มสนใจคิวบา เข้าผูกขาดน้ำตาลที่นั่น ในปี 1894 สินค้าออกของคิวบาร้อยละ 90 ส่งไปยังสหรัฐ มีมูลค่ามากกว่าส่งไปขายที่สเปนประเทศเมืองแม่ถึง 12 เท่า และร้อยละ 40 ของสินค้านำเข้าของคิวบามาจากสหรัฐ สงครามอเมริกา-สเปน (ปี 1898) ทำให้สหรัฐได้คิวบา เปอร์โตริโก กวม และฟิลิปปินส์มาอยู่ใต้การปกครอง และได้อเมริกาใต้มาอยู่ในเขตอิทธิพลการค้าของตน

สำหรับการค้าทางด้านแปซิฟิก สหรัฐส่งเรือมายังประเทศจีนตั้งแต่ปี 1784 แม้ว่ามีการค้าระหว่างกันไม่มาก ในปี 1854 ได้ส่งกองเรือมาบังคับให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศรับการค้า

ในปี 1899 เมื่อสหรัฐเห็นว่ามหาอำนาจอย่างเช่นญี่ปุ่น อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี และรัสเซีย เตรียมตัดแบ่งจีนออกเป็นเขตอิทธิพลของตน สหรัฐได้เข้าขวางโดยเสนอนโยบายเปิดประตู เรียกร้องให้มหาอำนาจตะวันตกทุกประเทศสามารถเข้าถึงตลาดจีนอย่างเท่าเทียมกัน

ในปี 1900 สหรัฐได้ส่งกองทหารเข้าร่วมทัพพันธมิตรในการปราบกบฏนักมวยเพื่อร่วมควบคุมตลาดจีน ประธานาธิบดีแม็กคินลีย์ ผู้ส่งกองทหารสหรัฐออกรบครั้งนั้น กระทำไปโดยไม่ได้ปรึกษากับสภาคองเกรส เป็นแบบปฏิบัติจนถึงปัจจุบัน สหรัฐยังได้เข้ายึดครองเกาะต่างๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก ที่สำคัญได้แก่หมู่เกาะฮาวาย

นอกจากนั้น สหรัฐยังได้สนใจไปลงทุนค้าขายในตะวันออกกลาง เริ่มต้นจากการใช้มิชชันนารีเคลื่อนไหวทางการศึกษา วิทยาศาสตร์และการช่วยเหลือทางมนุษยธรรม จนหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งจึงได้เข้าไปปักหลักในธุรกิจน้ำมัน โดยบริษัทสแตนดาร์ดออยล์ได้รับสัมปทานขุดสกัดน้ำมันทางภาคตะวันออกของซาอุดีอาระเบีย ในปี 1933

ในสมัยประธานาธิบดีธีโอดอร์ โรสเวลต์ ผู้สืบทอดตำแหน่งจากแม็กคินลีย์ (ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 1901-1909) สหรัฐแสดงบทบาทเป็นจักรวรรดิอย่างเปิดเผย

เขาดำเนิน “การทูตแบบใช้แสนยานุภาพ” ผสมกับการทูตแบบหว่านเงินดอลลาร์ แสดงตัวเป็นตำรวจแห่งซีกโลกใต้ โดยการใช้กองทัพเรือขัดขวางการปิดล้อมเวเนซุเอลาของอังกฤษและเยอรมนี ในปี 1903 และการหว่านล้อมเพื่อขุดคลองปานามา (ดูหัวข้อ American Empire ใน americanyawp.com)

เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง ประธานาธิบดีทรูแมนประกาศว่าสหรัฐจะแสดงบทบาทเป็นตำรวจโลก การทำตัวเป็นตำรวจโลกได้กัดกร่อนสหรัฐอย่างมาก ถึงสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ ใจหนึ่งอยากเลิก ใจหนึ่งอยากกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง สหรัฐจำต้องทำสงครามรูปแบบต่างๆ ต่อไป

ฉบับหน้าจะกล่าวถึงสงครามเศรษฐกิจดิจิตอลที่มีลักษณะชี้ขาด