Disguise การจำแลงแปลงกาย เพื่อตั้งคำถามกับมายาคติในสังคมไทย

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
บังลีอยากจะเป็นปิเอตา (บทสนทนากับไมเคิลแองเจโล) (ภาพซ้ายมือ)

เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา เราได้ไปดูนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจมาอีกงาน

และบังเอิญว่านิทรรศการนี้เป็นของศิลปินที่เราเคยจับตามาตั้งแต่ครั้งที่เขาแสดงผลงานในเทศกาลศิลปะ RE/FORM/ING PATANI (https://bit.ly/2mwS1iL) ที่ปัตตานี

คราวนี้เราเลยถือโอกาสเก็บเอาเรื่องราวเกี่ยวกับนิทรรศการของเขามาเล่าสู่ให้อ่านกันตามเคย

นิทรรศการที่ว่านี้มีชื่อว่า

Disguise (ที่แปลเป็นไทยว่า “การจำแลงแปลงกาย”)

โดย อนุวัฒน์ อภิมุขมงคล

ศิลปินหนุ่มชาวปักษ์ใต้ ผู้อาศัยและทำงานในจังหวัดปัตตานี

อนุวัฒน์มุ่งเน้นในการนำเสนอความจริงบางอย่างจากมุมมองของเขา

และชวนให้คนถกเถียงและตีความ เพื่อสะท้อนเรื่องราวการสร้างมายาคติต่างๆ ในสังคมไทย

ทั้งในเรื่องเพศ เชื้อชาติ หรือแม้แต่การเมือง ที่สังคมไทยเราถือเป็นเรื่องเปราะบางและละเอียดอ่อนต่อการตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์

อนุวัฒน์หยิบยืมแรงบันดาลใจและเทคนิคการทำงานของจิตรกรชาวออสเตรีย เอกอน ชีเลอ (https://bit.ly/2mOedoK) ศิลปินคนสำคัญในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 มาใช้เป็นเครื่องมือถ่ายทอดประเด็นความคิด

โดยแสดงออกผ่านรูปกายของนายแบบชายไทยรักชายอย่าง “บังลี” เพื่อนรักของเขาที่ทำการเปลือยกาย จำแลงแปลงกาย แยกร่าง แสดงท่าทางต่างๆ นานา บ้างก็เลียนแบบผลงานของศิลปินชื่อดังของโลก อย่างภาพวาด The Third of May 1808 (1814) ของฟรานซิสโก โกยา (https://bit.ly/2mo07ug)

บังลีอยากจะเป็นปิเอตา (บทสนทนากับไมเคิลแองเจโล)

หรือรูปแกะสลัก Piet? (1498-99) ของไมเคิลแองเจโล (https://bit.ly/2kVj338) หากแต่เติมสัญลักษณ์แบบไทยๆ ลงไป ด้วยการให้ตัวละครบังลีมีดอกไม้ทัดหู, สวมชฎาหรือมงกุฎอยู่ด้วย

อนุวัฒน์เล่าถึงที่มาที่ไปของผลงานชุดนี้ว่า

“ผมทำงานในชุดนี้ขึ้นมาตั้งแต่ปี 2017 โดยเป็นการสร้างบทสนทนาพูดคุยกับเอกอน ชีเลอ ด้วยการใช้วิธีการวาดรูปและวาดเส้นที่เลียนแบบจากงานของเขามาเลย หรือแม้แต่ลายเซ็นของเขา ผมก็เลียนแบบมาด้วย โดยผมตั้งเป้าเอาไว้ว่า พอผมอายุ 28 ปี ก็จะเลิกคุยกับเอกอน เพราะว่าเขาตายตอนอายุ 28 ปี เมื่อถึงเวลานั้น งานในชุดนี้ทั้งหมดก็จะจบลง”

“ตัวละครในงานชุดนี้ทั้งหมดคือ บังลี เป็นรุ่นน้องที่ผมรู้จักตั้งแต่สมัยเรียนที่วิทยาลัยช่างศิลปนครศรีธรรมราช พอเริ่มสนิทกัน เขาก็ชอบเล่าเรื่องปัญหาของเขาให้ผมฟัง ทั้งเรื่องครอบครัว เรื่องการเป็น LGBT (กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ) ของเขา จนผมกลายเป็นที่ปรึกษาและเป็นเหมือนพี่น้องกัน”

“จากนั้นผมก็เริ่มใช้บังลีเป็นตัวละครหลักในผลงานของผม โดยใช้ตัวเขาบอกเล่าถึงประเด็นต่างๆ ในสังคม ที่สำคัญ บังลีเป็นคนกล้าแสดงออก ถึงแม้สังคมรอบข้างเขาจะมีแรงกดทับบางอย่าง การได้วาดรูปเขาทำให้ผมรู้สึกเหมือนเราได้แสดงออกเช่นเดียวกัน ถึงแม้จะไม่ได้ผ่านตัวเรา แต่ผ่านทางตัวเขาก็ตาม”

อนุวัฒน์มองการให้ความหมายสิ่งต่างๆ อันเป็นอุดมคติที่คนไทยเราคุ้นชิน จนกลายเป็นความเชื่อที่สืบต่อกันมาโดยไม่รู้ถึงความหมายที่แท้จริงของสิ่งเหล่านั้น

ไม่ว่าจะเป็น ชาติ ศาสนา วัฒนธรรม เพศสภาพ หรือการเมือง

รายละเอียดผลงานบังลีในวันที่ 3 พฤษภาคม 2562 (บทสนทนากับโกย่า)

สิ่งเหล่านี้ส่งผลทำให้สภาพความเป็นอยู่ของบ้านเมืองเต็มไปด้วยความวุ่นวาย ความขัดแย้ง และการแบ่งแยกฝักฝ่าย

อนุวัฒน์ยังสะท้อนแนวความคิดที่ว่า การจะอยู่รอดในสภาพสังคมเช่นนี้ บางครั้งต้องอาศัยการตบตา ซ่อนเร้น อำพราง หรือปลอมแปลงความจริงบางอย่างเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ตนเอง ความพลุ่งพล่านของเส้นสายและสีสันที่แฝงอยู่ในฝีแปรงบนร่างกายอันเปล่าเปลือยของตัวละคร

บังลีในภาพวาดของอนุวัฒน์ สะท้อนความต้องการพังทลายการปิดกั้นซ่อนเร้นตัวตนของตัวละคร (และตัวศิลปินเอง)

และยังชวนให้คิดและตั้งคำถามว่าเราจะอยู่ร่วมกันในสังคมที่เต็มไปด้วยการลวงหลอกเช่นนี้ได้จริงๆ หรือ?

“ผลงานภาพวาด “บังลีในวันที่ 3 พฤษภาคม 2562 (บทสนทนากับโกย่า)” เกิดจากการที่ในช่วงเวลาที่ผ่านมา บ้านเมืองเรามีความวุ่นวายทางการเมือง จนเกิดวาทกรรมในสังคมไทยต่อคนที่คิดต่างว่า “ไม่ใช่คนไทย” บ้าง “ไม่รักสถาบัน” บ้าง”

“คนที่มีแนวคิดชาตินิยมมักจะใช้วาทกรรมเหล่านี้ในการสร้างความขัดแย้งเพื่อทำลายคนที่คิดต่าง”

“ผมเลยเอาแนวคิดนี้นำเสนอผ่านการจำแลงผลงาน The Third of May 1808 ของโกยา ที่นำเสนอถึงความโหดร้ายรุนแรงที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางการเมือง ชฎาและมงกุฎสีทองที่ตัวละครที่ถือปืนสวมอยู่เป็นตัวแทนของมายาคติชาตินิยมที่เราชอบสวมหัว และคิดว่ามีคุณค่า มีความสำคัญ”

“ทั้งที่จริงๆ แล้วเป็นสิ่งสมมุติจอมปลอมทั้งนั้น”

“ส่วนตัวหนังสือที่อยู่บนฉากหลังของภาพ ผมหยิบเอามาจากเพลง “หนักแผ่นดิน” ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ลัทธิชาตินิยมใช้สร้างมายาคติและวาทกรรมเหล่านี้ขึ้นมา”

“ผมยังหยิบเอาหนังสือ “ชาตินิยม” (Nationalism) ของรพินทรนาถ ฐากูร ที่เป็นแรงบันดาลใจของผลงานชิ้นนี้มาทำเป็นผลงานแสดงเคียงกันด้วย”

หนังสือ“ชาตินิยม” (Nationalism) ของรพินทรนาถฐากูรแรงบันดาลใจของผลงานบังลีในวันที่ 3 พฤษภาคม 2562 (บทสนทนากับโกย่า)

“ส่วนงานชิ้นอื่นๆ ก็จะพูดถึงประเด็นของมายาคติเกี่ยวกับ LGBT ในบ้านเรา โดยมีบังลีเป็นตัวละครต้นแบบ ซึ่งหลายคนอาจมองว่าในปัจจุบัน LGBT และความหลากหลายทางเพศเป็นที่ยอมรับกันแล้ว แต่ในความเป็นจริงก็ยังถูกกดทับอยู่ บางครั้งถูกกดด้วย LGBT ด้วยกันเองก็ยังมี”

กับคำถามที่ว่า การทำงานลักษณะนี้ในพื้นที่ที่มีสถานการณ์ตึงเครียดอย่างจังหวัดปัตตานีนั้นมีผลกระทบอะไรต่อศิลปินอย่างเขาบ้าง อนุวัฒน์ตอบเราว่า

“หลายคนอาจจะมองว่าในพื้นที่นี้มีความตึงเครียดอยู่ แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว คนในพื้นที่ก็มีความยืดหยุ่น ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันมาก อย่างก่อนหน้านี้ผมก็ทำงานวิดีโออาร์ตชิ้นหนึ่งที่ให้บังลีทำศิลปะแสดงสด ในวันฮารีรายอ หรือวันเฉลิมฉลองในศาสนาอิสลาม โดยทำการแสดงกันตรงริมชายหาดที่เต็มไปด้วยคนในพื้นที่ทั้งหมดเข้ามาชม”

“ตอนทำก็รู้สึกห่วงว่าจะเกิดความขัดแย้งหรือผลกระทบอะไรหรือเปล่า แต่พอทำเสร็จ ปรากฏว่าไม่มีใครลุกขึ้นมาโกรธเคืองหรือต่อต้านเลย ทุกคนดูยิ้มแย้มมีความสุข”

“ถามไถ่ว่าเราทำงานเกี่ยวกับอะไร ไม่ได้มีอคติด้านลบกับงานเราเลย ถึงแม้บางคนอาจจะไม่เห็นด้วยกับประเด็นของเราในเชิงศาสนา แต่เขาก็มีความเปิดกว้างและยอมรับอยู่บางส่วน ไม่ได้ปิดกั้นตัดขาดเสียทีเดียว ตัวผมเองก็ไม่ใช่คนอิสลาม แต่เป็นคนไทยพุทธด้วยซ้ำไป”

การจำแลงแปลงกายสวมบทบาทต่างๆ ของชายรักชายอย่างบังลีในผลงานของอนุวัฒน์ชุดนี้ น่าจะเป็นการสะท้อนถึงความกดดัน เก็บกด และปิดกั้นความรู้สึกภายใน ไม่เพียงแค่ของเหล่าบรรดากลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ

บังลีบนพื้นที่สีม่วง

หากแต่รวมถึงเหล่าบรรดาผู้คนที่มีความคิดที่แตกต่างจากค่านิยมและอุดมการณ์ชาตินิยมกระแสหลัก

อีกทั้งยังเป็นการตั้งคำถามต่อสังคมและประเทศของเราเกี่ยวกับการตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงและการยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย ทั้งทางกายภาพ เพศสภาพ การเมือง และความคิด ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เพราะท้ายที่สุดแล้ว เราทุกคนต่างก็มีมุมมืดในการจำแลงแปลงกายของตัวเองอยู่ทุกคน

นิทรรศการ Disguise โดยอนุวัฒน์ อภิมุขมงคล จัดแสดงที่ VS Gallery โครงการ N22 ซ.นราธิวาส 22 (สาธุประดิษฐ์ 15) ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน – 24 พฤศจิกายน 2019 สอบถามรายละเอียดได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 08-9013-9966 หรือเพจเฟซบุ๊ก @VSGalleryBangkok

ขอบคุณภาพจาก VS Gallery ข้อมูลจากบทความประกอบนิทรรศการโดยภัณฑารักษ์ของนิทรรศการ พิเชษฐ์ เปียร์กลิ่น