เครื่องเคียงข้างจอ / วัชระ แวววุฒินันท์ / เสียงเงียบจากหัวใจ

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์

เสียงเงียบจากหัวใจ

เมื่อความตายมาพรากคนที่รักในครอบครัวไป แน่นอนว่าเราต้องเสียใจ และบางคนก็จะติดหล่มของความโศกเศร้าอาดูรไปอีกระยะเวลาหนึ่งทีเดียวกว่าจะคลายลงได้

คงเคยได้อ่านเรื่องราวของสามีผู้ตรอมใจตายตามภรรยาที่จากไปในระยะเวลาไม่ห่างกัน

ยิ่งหากเป็นการจากไปแบบไม่ทันตั้งตัว ย่อมเกิดอาการช็อก และทำร้ายหัวใจดวงน้อยๆ ได้อย่างชะงัด

ในกรณีนี้ แม้ผู้ที่จากไปจะไม่ได้เป็น “คนในครอบครัว” แต่หากเป็น “สัตว์เลี้ยง” ที่สำหรับหลายคนแล้ว เปรียบเสมือนเป็น “สมาชิกหนึ่งของครอบครัว” เช่นกัน ก็สร้างความรันทดเสียใจได้ไม่แพ้กัน

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา ได้มีการจัดงานหนึ่งขึ้นมา ณ หอศิลปวัฒนธรรม แห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน ชื่องานว่า The Sound of Silence จัดขึ้นโดยมูลนิธิเพื่อนร่วมโลกของเจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย

ที่ชื่องานว่า The Sound of Silence นั้นหมายถึงเสียงที่เคยเงียบในหัวใจ ที่ขอพูดออกมาดังๆ เสียที

และแน่นอนเสียงที่ว่านั้นคือเสียงของ “สัตว์เลี้ยง” ที่เป็นเหมือนสมาชิกของครอบครัวนั่นเอง

มูลนิธิเพื่อนร่วมโลกของเจ เอส แอล มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้กับสังคมไทยและโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา รักษาพยาบาล การสร้างอาชีพ การให้โอกาส ตลอดจนการเยียวยาช่วยเหลือ และ “สัตว์เลี้ยง” ก็ถือว่าเป็นเพื่อนร่วมโลกที่เราควรให้ความสำคัญเช่นกัน

ให้ความสำคัญในการดูแลเอาใจใส่ ให้ความรัก ให้การรักษาพยาบาล การคุ้มครองในฐานะที่เป็น “สิ่งมีชีวิตเช่นเดียวกับมนุษย์”

หลายคนนั้นมีหมา มีแมว เหมือนเป็นเพื่อนชีวิต ผู้สูงวัยบางคน ลูกหลานเติบโตแยกย้ายกันไปมีชีวิตส่วนตัว ก็ได้เจ้าสัตว์เหล่านี้แหละที่เป็นเพื่อนแก้เหงา ให้ได้แสดงความรัก ให้ได้รู้สึกผูกพัน สร้างความสุขทางใจได้ไม่น้อย บางทีห่วงเจ้าเหมียวมากกว่าห่วงลูกหลานเสียอีก

จุดเริ่มต้นที่เป็นประกายในการจัดงานนี้ขึ้นมา ต้องยกเครดิตและความเสียใจต่อการสูญเสีย “สมาชิกในครอบครัว” ที่เป็นสุนัขพันธุ์ลาบราดอร์อายุร่วม 12 ปี ที่ชื่อ Journey ชื่อเล่นว่า “เจ้าเจ๋อ” ของ จุ๊-ธิษณา เดือนดาว แห่งบริษัท มายด์ แอนด์ แมทเทอร์ จำกัด

จุ๊ ธิษณานั้นเลี้ยงเจ้าเจ๋อมาตั้งแต่อายุ 3 เดือนครึ่ง จุ๊มักจะพาไปทำงานตามสถานที่ต่างๆ ด้วย หรือแม้แต่นั่งประชุมที่บริษัทก็พลอยหนีบเจ้าเจ๋อไปด้วย

“เวลาเราเหนื่อยๆ แล้วเห็นแค่มันเอาคางมาเกย แล้วส่งสายตาจ้องมา ก็พลอยทำให้เรามีพลังขึ้นมาได้”

หรือถ้ามีโอกาสก็พาไปเที่ยวด้วยตามต่างจังหวัดก็หลายหน ไม่เพียงแต่จุ๊ แต่คนในครอบครัวก็ตกหลุมรักเจ้าเจ๋อกันทุกคน ไม่เว้นแม้แต่เพื่อนบ้านในละแวกเดียวกัน

สาเหตุแห่งการสูญเสียเจ้าเจ๋อ เกิดจากเพียงว่า จุ๊ให้เจ้าเจ๋อว่ายน้ำทุกอาทิตย์เพื่อสุขภาพแข็งแรง และได้รับคำแนะนำจากสัตวแพทย์ว่า น่าจะพาเจ้าเจ๋อไปตรวจเช็กหัวใจหน่อยก็ดีเพราะมันก็อายุมากแล้ว จุ๊จึงได้พาไปเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลสัตว์มีชื่อแห่งหนึ่ง ที่ถ้าเอ่ยชื่อมาทุกคนย่อมรู้จักดี และที่เลือกไปที่นี่ก็เพราะเรื่องชื่อเสียงของโรงพยาบาลนี่แหละ

โดยไม่รู้มาก่อนเลยว่าจะเป็นการนำส่งเจ้าเจ๋อสู่อีกภพหนึ่งในเวลาต่อมา

จากการตรวจร่างกาย มีลักษณะบางอย่างที่บ่งว่าเจ้าเจ๋อน่าจะเป็นเนื้องอกที่ปอด ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้พูดคุยถึงการรักษา ซึ่งจุ๊ได้บอกกับหมอว่า จุ๊ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของเจ๋อ ไม่ได้หมายความว่าต้องรักษาให้หาย เพราะเข้าใจว่ามันอายุมากแล้ว แต่จะรักษาอย่างไรให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด อาจจะเป็นแค่การประคองก็ได้

 

สิ่งที่หมอแจ้งมาคือ ถ้าผ่าตัดตอนนี้เจ้าเจ๋อมีโอกาสอยู่ได้อีก 2 ปี แต่ถ้าไม่ผ่าก็เตรียมใจไว้ได้เลย ลงอย่างนี้เป็นใครก็ต้องตกใจว่ามันซีเรียสขนาดนั้นเลยหรือ ทั้งที่ตอนพาเข้ามาแค่ให้มาเช็กหัวใจเท่านั้น

จึงสอบถามถึงความเสี่ยงในการผ่าตัด ก็ได้รับข้อมูลแต่ในทางที่ดี เช่น ไม่มีอะไรที่เสี่ยงเลย ผ่าตัดด้วยการส่องกล้องทำได้ไม่ยาก เครื่องมือที่นี่ก็จัดเต็ม จุ๊ก็ย้ำไปว่ามันแก่แล้วนะ จะเสี่ยงไหม ก็ยังคงพูดแต่ในแง่ดี ไม่มีข้อมูลไหนที่จะทำให้เราคิดว่า งั้นไม่ผ่าดีกว่าเลยสักนิด

จากข้อมูลที่ได้รับ จุ๊จึงตัดสินใจ “ผ่าก็ผ่า” โดยไม่รู้เลยว่านั่นเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดอย่างมหันต์

จุ๊มาบอกทีหลังว่า ถ้าพูดถึงความผิดพลาดอะไรบ้างในกรณีนี้ ก็ต้องบอกเลยว่า ความผิดพลาดแรกคือ “เราตัดสินใจผิด”

แต่ที่ออกมาเรียกร้องคือ มันเป็นการตัดสินใจบนข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนครอบคลุมเพียงพอ

จุ๊บอกว่า หมาของเธอเดินเข้าห้องผ่าตัดเอง โดยไม่รู้เลยว่ามันกำลังเดินสู่ความตาย ก่อนประตูห้องผ่าตัดจะปิด มันยังหันหน้ามาส่งสายตาให้เจ้านายของมันเป็นครั้งสุดท้าย…ครั้งสุดท้ายจริงๆ

เพราะจากนั้นอีกเพียง 2-3 ชั่วโมง หมอก็ออกมาบอกว่า เจ๋อเสียชีวิตแล้ว

จุ๊ช็อกทันที…

หมอบอกว่า ยังไม่ทันได้ทำการรักษาใดๆ เลย แค่จรดมีดผ่าตัดลงไป แต่ไปโดนเส้นเลือดดำที่ไปเลี้ยงหัวใจ จึงทำให้มันเสียชีวิต

นี่คืออะไร…ฟังดูเหมือนง่ายๆ แต่มันไม่ง่ายเลยในความรู้สึกของคนเป็นเจ้าของ

หลังจากนั้น สิ่งที่ได้รับจากสถานพยาบาลคือ เหมือนคำแก้ตัว ในใบรายงานที่ส่งมาให้ก็เป็นอีกอย่างหนึ่งเลย บอกว่ามีความเสี่ยงสูง…อะไรกันนี่ และลงว่าเจ้าเจ๋อเสียชีวิตด้วยภาวะความเสี่ยงจากการผ่าตัดแบบส่องกล้อง

จุ๊บอกว่า ที่ลุกขึ้นมาพูดดังๆ และฟ้องร้องนั้น ไม่ได้ทำให้สุนัขที่ตนเองรักฟื้นขึ้นมาได้ แต่หวังว่าจะสามารถหยุดน้ำตาของเจ้าของหมาคนต่อไปได้

ถ้าในภาพกว้างระดับรัฐบาลและนโยบาย ทำอย่างไรที่จะให้เกิดมีมาตรฐานในการรักษาและมีจรรยาบรรณของสถานพยาบาลเพียงพอ

ไม่ใช่พอมีเรื่องอะไรหน่อยก็เงียบหายไป หรือแค่ชดใช้ค่าเสียหายเท่านั้น

งานวันนั้นมีทั้งคนที่เลี้ยงสัตว์และไม่ได้เลี้ยงไปร่วมกันอย่างอบอุ่น นอกจากการเสวนาเชิงวิชาการด้านในหอศิลป์แล้ว ที่ลานด้านหน้าตอนค่ำยังมีการจุดเทียนรำลึกถึงสัตว์เลี้ยงที่จากไป โดยเฉพาะที่จำต้องจากด้วยเหตุไม่อันควร

บรรยากาศความเศร้า ถูกสร้างขึ้นด้วยเสียงเพลง “เสียงที่เคยเงียบในหัวใจ” จากการร้องของลูกหว้า-พิจิกา จิตตะปุตตะ ประกอบกับภาพสัตว์เลี้ยงทั้งที่จากไปและยังมีชีวิตอยู่

เสียงเล็กๆ ในวันนั้น ถ้ามันดังจนเกิดพลังที่สร้างการเปลี่ยนแปลงได้พอ ก็นับว่าเป็นช่วงเวลาที่คุ้มค่าจริงๆ

เจ้าเจ๋อ หรือ Journey จะเดินทางไปสู่ดวงดาวไหนแล้วก็ไม่รู้

แต่ถ้ากรณีตัวอย่างของเจ้าเจ๋อและสัตว์เลี้ยงตัวอื่น จะสร้างการเปลี่ยนแปลงกับความเลวร้ายที่เกิดจากฝีมือและหัวใจของมนุษย์ได้

พวกมันคงเห่าด้วยเสียงแห่งความขอบคุณกลับมาแน่นอน