นิธิ เอียวศรีวงศ์ | ลงพื้นที่

นิธิ เอียวศรีวงศ์

คงเป็นความเข้าใจผิดกันมานานแล้ว เพราะปรากฏในสื่อทั้งออนและออฟไลน์อยู่เสมอว่า นายกรัฐมนตรีควรลงพื้นที่ซึ่งประสบภัยพิบัติอย่างร้ายแรง เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ประชาชน

คนที่เป็นขวัญกำลังใจให้แก่ผู้ประสบภัยได้ดีกว่านายกฯ คือดารา อย่างน้อยก็ช่วยฟื้นฟูอารมณ์เบิกบานซึ่งหายไปในภัยพิบัติให้กลับคืนมาได้ แม้เป็นการชั่วคราวก็ตาม หากผมเป็นผู้ประสบภัยพิบัติ แล้วคุณชมพู่ อารยา ฮาร์เก็ต ลงพื้นที่บำรุงขวัญกำลังใจ ผมก็จะถือไม้เท้ายักแย่ยักยันไปรับขวัญกำลังใจจากคุณชมพู่อย่างแน่นอน

และคงเป็นความเข้าใจผิดเฉพาะของรัฐบาลปัจจุบัน ที่ไปคิด (หรืออ้าง) ว่า ระเบียบราชการบังคับให้ไม่สามารถระดมทรัพยากรในมือมาใช้ในยามฉุกเฉินได้ จริงอยู่ ข้าราชการประจำถูกระเบียบบังคับมากพอสมควร ถึงระดมมาได้ก็เป็นจำนวนน้อยไม่เพียงพอกับภัยพิบัติขนาดใหญ่ แต่ที่เรามีรัฐบาลก็ด้วยเหตุนี้ไง คือมีคนที่อยู่ในสายตาประชาชนได้อำนาจสั่งและอนุมัติทรัพยากรได้มากในยามฉุกเฉิน และเพราะมีอำนาจมากจึงต้องรับผิดชอบต่ออำนาจที่มากของตนด้วย

ไม่กล้ารับผิดชอบ หรือไม่มีทรัพยากรให้ระดมอย่างรีบด่วนกันแน่

รัฐบาลจัดการเรี่ยไรเงินก็ทำได้ แต่จุดมุ่งหมายที่แท้จริงของการเรี่ยไรไม่ใช่เพื่อเงิน เพราะไม่ว่าจะได้มาเท่าไรก็ตาม ก็จะเป็นเพียงกระผีกริ้นของทรัพยากรที่รัฐสามารถเข้าถึงได้อยู่แล้ว แต่เรี่ยไรก็เพื่อกระพือวิกฤตของพี่น้องร่วมชาติในพื้นที่หนึ่ง ให้เป็นที่ยอมรับว่าเป็นวิกฤตของส่วนรวม ที่เราทุกคนพร้อมจะเผชิญความลำบากร่วมกัน

เช่น ระดมทรัพยากรสาธารณะจากพื้นที่อื่น เพื่อเข้าไปช่วยคนในพื้นที่ประสบภัยให้สามารถดำเนินชีวิตได้สะดวกขึ้น แน่นอนย่อมกระทบกับชีวิตปกติของคนในพื้นที่อื่นบ้าง เช่น รถเมล์, เรือ, ไข่ไก่ ฯลฯ อาจลดน้อยลงชั่วคราว แต่ทุกคนก็ยอมรับและพร้อมจะดำเนินชีวิตอย่างติดๆ ขัดๆ ไปก่อน เพื่อช่วยให้ผู้ประสบภัยพอจะอยู่รอดได้โดยไม่ลำบากมากไปกว่าเดิม

เพราะเรามีรัฐบาลที่ทำงานไม่เป็น จึงทำให้ภัยพิบัติในพื้นที่หนึ่ง กลายเป็นภัยพิบัติของทั้งประเทศ สักวันหนึ่งเมื่อน้ำลดแล้ว รัฐบาลที่ทำงานไม่เป็นก็ยังอยู่เสียด้วย

แม้ว่าไม่เกี่ยวกับขวัญกำลังใจ แต่นายกฯ ก็ควรลงพื้นที่ซึ่งประสบภัยพิบัติขนาดใหญ่ เพื่อทำให้กลไกของรัฐถูกขับเคลื่อนไปในทางบรรเทาภัยพิบัติและฟื้นฟูชีวิตผู้คน กลไกของรัฐในที่นี้หมายถึงระบบราชการ ทั้งพลเรือน, ตำรวจ, ทหาร ปราศจากการขับเคลื่อน กลไกเหล่านี้ไม่ทำงานหรอกครับ

ไม่ใช่เพราะระบบราชการทำได้แต่เช้าชามเย็นชามนะครับ แต่เพราะระบบราชการก็เหมือนจักรกลอันหนึ่ง ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อทำงานอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่มีใครในโลกนี้สร้างระบบราชการเพื่อเผชิญน้ำท่วมใหญ่, สึนามิ, แผ่นดินไหว, หรือโรคระบาดอย่างใหญ่ เพราะถือว่าเรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องจร ซึ่งนานๆ จะเกิดขึ้นที จึงไม่คุ้มที่จะสร้างและรักษากลไกที่นานๆ ต้องใช้งานที ดังนั้น เมื่อเกิดภัยพิบัติขนาดใหญ่ขึ้น ระบบราชการของรัฐต่างๆ จะงันทันทีเหมือนกันหมด มีเงินไม่พอจะจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นประเด็นนิดเดียวของเหตุทั้งหมดที่ทำให้ระบบราชการต้องงัน

แต่ภัยพิบัติขนาดใหญ่เป็นเรื่องที่ทุกรัฐต้องใช้กลไกระบบราชการที่ไม่พร้อมนี้แหละ เพื่อแก้ปัญหาโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะไม่มีกลไกอื่นให้ใช้ เครื่องมือที่งุ่มง่ามเพราะไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อการนี้ทำงานได้อย่างไร ตอบง่ายๆ ก็ทำด้วยกระบวนการที่ไม่ปกติล่ะสิครับ เพราะกระบวนการปกติไม่ได้มีไว้แก้ปัญหาภัยพิบัติ

บทบาทในการลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรีก็อยู่ตรงนี้ไงครับ คือเข้าไปอำนวยการหรือก่อให้เกิดการอำนวยการระบบราชการให้ทำงาน “นอกกระบวนการ” ของราชการ เพื่อให้เกิดผลบรรเทาสาธารณภัยและฟื้นฟูความเสียหายได้อย่างมีประสิทธิภาพ, เร็ว และเป็นธรรม

ส่วนจะใส่บู๊ตกันน้ำไปลุย, หรือลงไปตรวจสถานที่ภัยพิบัติต่างๆ, พบปะเยี่ยมเยือนผู้ประสบภัย ฯลฯ เป็นเรื่องที่พึงทำเพื่อผลทางการเมืองเท่านั้น ไหนๆ ก็ลงพื้นที่แล้ว ก็ควรทำ แต่ต้องเข้าใจว่านั่นไม่ใช่งานหลัก

นายกฯ ไทยจำนวนไม่น้อยมักทำอย่างนี้ แต่ไม่ได้ขับเคลื่อนตัวจักรกลของระบบราชการเลย ลงพื้นที่ไปก็ไม่มีประโยชน์

พูดถึงระบบราชการในฐานะกลไกการแก้ปัญหาแล้ว ก็อยากพูดเลยจากนี้ไปด้วยว่า ระบบราชการของทุกรัฐ (กระมัง) ล้วนถูกสร้างและรักษาไว้เพื่อทำงานเฉพาะบางอย่าง เมื่อทำงานสำเร็จ (ในระดับหนึ่ง) แล้ว ระบบราชการก็มักยังยืนยันจะทำงานเก่าอยู่สืบไปไม่สิ้นสุด ยกตัวอย่างระบบราชการแบบใหม่ของไทยก็ได้ ถูกสร้างขึ้นในสมัย ร.5 เพื่อขยายการปกครองของส่วนกลางออกไปทั่วแว่นแคว้นต่างๆ เพื่อแสดงอธิปไตยของกรุงเทพฯ เหนือแว่นแคว้นเหล่านั้นแข่งกับมหาอำนาจตะวันตก ในขณะเดียวกันก็ประมวลทรัพยากรของทุกแว่นแคว้นเหล่านั้นให้เข้ามาอยู่ภายใต้การจัดการของกรุงเทพฯ เพื่อเพิ่มรายได้แก่รัฐบาลกลาง

ภารกิจนี้เสร็จสิ้นไปนานแล้ว แต่ระบบราชการก็ยังอยากทำทุกอย่างเหมือนกับที่เคยทำ “สำเร็จ” มาแล้ว ทั้งๆ ที่นับวันปัญหาที่ไทยต้องเผชิญย่อมแตกต่างไปจากสมัย ร.5 อย่างมาก เสียงเรียกร้องให้ปฏิรูประบบราชการจึงดังให้ได้ยินอยู่เสมอ

แต่ระบบราชการที่ไหนๆ ก็ปฏิรูปตัวเองไม่ได้หรอกครับ ส่วนนักการเมือง (รวมที่มาจากการรัฐประหารด้วย) ซึ่งน่าจะเป็นพลังภายนอกของระบบราชการ ก็มักปฏิรูประบบราชการเพียงการเปลี่ยนชื่อกระทรวง ไม่มีใครเริ่มจากการตั้งคำถามว่า อะไรคือปัญหาใหญ่สุดที่ไทยต้องเร่งแก้ให้ได้โดยเร็วในช่วงนี้ แล้วจัดระบบราชการให้เป็นกลไกใหม่สำหรับทำงานเพื่อเป้าหมายอันเดียวกันนั้น

สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นผู้ที่ปรับเปลี่ยนระบบราชการมากที่สุดคนหนึ่ง ก็เลือกที่จะไม่ปรับปรุงแก้ไขระบบราชการทั้งระบบ ถึงรู้ว่าระบบนี้ไม่อาจตอบสนองการพัฒนาอันเป็นเป้าหมายของตนได้ จึงทำงานโดยไม่พึ่งระบบราชการเก่า แต่สร้างหน่วยงานใหม่ขึ้นในระบบราชการเพื่อทำงานเฉพาะตอบสนองนโยบายพัฒนาของตนเอง

ในระยะยาวระบบราชการไทยก็กลืนเอาเป้าหมายการพัฒนาเข้าไปอยู่ในจักรกลของตนด้วย แต่ประเทศไทยปัจจุบันแตกต่างจากสมัยสฤษดิ์ไปลิบลับแล้ว เป้าหมายและกระบวนการงานพัฒนาของระบบราชการก็ยังเหมือนเดิม

การขับเคลื่อนระบบราชการให้ทำงานนอกเป้าหมายที่มีอยู่ ยังรวมถึงการตั้งเครือข่ายการสื่อสารที่แม่นยำและรวดเร็ว เพื่อให้นายกฯ ซึ่งอย่างไรเสียก็ต้องกลับกรุงเทพฯ ได้รู้สถานการณ์และแก้ไขได้ทันท่วงทีตลอดเวลา

นอกจากนี้ นายกฯ ยังต้องเป็นหัวเรือใหญ่ของระบบราชการในการฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย

การขับเคลื่อนระบบราชการไม่ได้หมายความว่าระบบราชการทำงานคนเดียว องค์กรท้องถิ่นในรูปต่างๆ ทั้งที่ราชการกำกับอยู่หรือเป็นองค์กรเอกชนนอกกำกับก็ตาม กลับมีบทบาทสำคัญทั้งในการบรรเทาทุกข์และการฟื้นฟู เพราะองค์กรท้องถิ่นมีข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการของชาวบ้านได้ตรงและชัดเจนกว่าระบบราชการอย่างเทียบกันไม่ได้

แต่ในขณะเดียวกัน จุดอ่อนของระบบราชการไทย คือร่วมงานกับองค์กรท้องถิ่นไม่เป็น เพราะระบบราชการไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ทำงานร่วมกับท้องถิ่นและองค์กรประชาชน นายกฯ ลงพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนระบบราชการให้ทำงาน “นอกแบบ” ในเรื่องนี้ด้วย ระบบราชการมีทรัพยากรในมือมากแต่ขาดข้อมูล ในขณะที่องค์กรท้องถิ่นมีข้อมูลมากแต่ขาดทรัพยากร

หากนายกฯ สามารถขับเคลื่อนให้สองฝ่ายนี้ร่วมมือกันได้ โดยต่างฝ่ายต่างเป็นผู้นำในสิ่งที่ตนมีสมรรถภาพ ก็จะเกิดพลังอย่างมโหฬารในการแก้ปัญหา

สรุปก็คือ นายกรัฐมนตรีควรลงพื้นที่ซึ่งเกิดภัยพิบัติขนาดใหญ่ เพื่อทำให้ระบบราชการทำงานอย่างที่ระบบราชการไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ทำ ความเทอะทะของระบบราชการมักทำให้ระบบราชการเน้นกระบวนการทำงานตามระเบียบ มากกว่าผลสำเร็จของงานที่ทำ

กระบวนการก็มีความสำคัญเหมือนกัน ปราศจากกระบวนการตามระเบียบแบบแผน ระบบราชการก็ประสานงานกันไม่ได้ แต่กระบวนการเพียงอย่างเดียวแก้ปัญหาอะไรไม่ได้สักอย่าง จำเป็นต้องมีเป้าหมายใหญ่ร่วมกัน ซึ่งต้องเป็นเป้าหมายที่ชัดเจน เป็นไปได้ และเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ในขณะเดียวกันก็มีพลังบันดาลใจที่จะขับเคลื่อนระบบราชการให้ร่วมกันทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ปราศจากพลังบันดาลใจเช่นนี้ ระบบราชการที่ไหนๆ ก็จะเช้าชามเย็นชามทั้งนั้น

ที่เรามีรัฐบาลก็เพื่อสิ่งนี้ และที่เรียกร้องรัฐบาลประชาธิปไตยก็เพราะโอกาสที่จะได้รัฐบาลซึ่งให้แรงบันดาลใจมีมากกว่าระบอบอื่น