ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4 - 10 ตุลาคม 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | โลกหมุนเร็ว |
เผยแพร่ |
โลกหมุนเร็ว/เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง [email protected]
24 กันยา วันมหิดล
วันนี้เป็นวันที่ 23 กันยายน เป็นวันแรกที่หมอนัดผู้เขียนมาทำกายภาพบำบัดหลังจากผ่าตัดใหญ่ไปเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่โรงพยาบาลศิริราช
หมอนัด 10.45 น. ผู้เขียนไปถึงที่ศิริราชเวลา 10.00 น. โดยรถแท็กซี่
รถจอดที่บริเวณชั้นล่างตึกคนไข้นอกซึ่งมีรถวีลแชร์และเตียงเปลสำหรับรับผู้ป่วย
อันที่จริงผู้เขียนเดินได้เป็นปกติดี แต่พอเห็นรถวีลแชร์ก็ไม่วายทำตัวเป็นคนไข้ให้เขาบริการเสียหน่อย เนื่องจากเจ้าหน้าที่ผู้ชายซึ่งที่นี่เรียกว่า “เวรเปล” มีเยอะแยะไปหมด
พวกเขาเป็นหนุ่มแน่น แต่งเครื่องแบบเรียบร้อย กระฉับกระเฉง ยิ้มแย้มแจ่มใส มีการสื่อสารที่ดี สังเกตจากการถามความต้องการของคนไข้ว่าต้องการไปที่ตึกไหน เนื่องจากศิริราชมีตึกแออัดซับซ้อน รับรองว่ามาสิบครั้งก็ยังงง นอกจากคนที่มีมันสมองล้ำเลิศ สามารถจำได้ว่าตึกไหนทะลุตึกไหน
เพราะฉะนั้น ก็บอกชื่อตึกที่เป็นจุดหมายและให้คุณ “เวรเปล” พาเราไปดีกว่า
ตอนแรกผู้เขียนก็ไม่ทราบว่าจุดหมายของผู้เขียนอยู่ไกลจากที่แท็กซี่มาส่งเท่าไหร่ แต่ปรากฏว่าคุณเวรเปลได้เข็นซอกแซกเข้าตึกโน้นออกตึกนี้อยู่นานทีเดียวกว่าจะถึงที่หมาย
รู้สึกว่าในศิริราชนั้นแทบจะเหมือนเมืองน้อยๆ ที่หากจะเขียนแผนที่เส้นทางแล้วละก็ ก็ออกจะยาก สู้ใช้บุคลากรนำไปไม่ได้
ที่นี่จึงต้องมีเจ้าหน้าที่ในส่วนนี้ค่อนข้างมาก แต่ทุกคนประสานงาน ส่งต่อคนไข้กันอย่างดี และบริการเต็มที่อย่างไม่แสดงความเหน็ดเหนื่อย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าชมเชยมาก
คิดเอาเองว่านอกเหนือจากเงินเดือนแล้วพวกเขาคงมีความพอใจอิ่มใจจากการได้ช่วยเหลือผู้ป่วยในแต่ละวันด้วย
แม้คนไข้จะมากมายเป็นพันๆ ในแต่ละวัน แต่ในท่ามกลางความวุ่นวาย มีการจัดระเบียบที่ดี ทุกคนรู้หน้าที่ แม่นยำในการเคลื่อนย้ายคนไข้ ใช้พื้นที่ว่างให้เป็นประโยชน์
ทุกคนทำงานทั้งด้วยสมองและจิตใจ
วันที่ 24 กันยายน ถัดจากวันที่ผู้เขียนไปพบหมอกายภาพหนึ่งวันเป็นวันมหิดล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ทรงวางพวงมาลาถวายราชสักการะพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุข ผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลศิริราช
พระบรมราชานุสาวรีย์นั้นตั้งอยู่ในพื้นที่ใจกลางโรงพยาบาล มีที่ว่างรอบๆ ได้จังหวะงดงาม มีที่นั่งรอบๆ ให้ประชาชนนั่งพัก ตลอดเวลาจะมีประชาชนซึ่งเป็นคนไข้และญาติไปถวายสักการะ
ผู้เขียนได้รับคำแนะนำอีกทั้งสำนึกได้ด้วยตนเองว่าก่อนผ่าตัดควรไปกราบที่พระบรมราชานุสาวรีย์ เพื่อนที่แนะนำซึ่งเคยเป็นคนไข้ที่นี่มาก่อนส่งสคริปต์มาให้เสร็จว่าต้องพูดว่าอย่างไรบ้าง
และเมื่อถึงวันที่ออกจากโรงพยาบาลกลับบ้านผู้เขียนก็นำพวงมาลัยไปกราบท่านอีกครั้ง
การกราบครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งแรก เนื่องจากเราผ่านการผ่าตัดที่สำคัญต่อชีวิต ผ่านมือหมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่ เครื่องไม้เครื่องมือที่มีราคาแพงและทันสมัย ในสถานที่ซึ่งสะอาด ปลอดภัย
ผู้เขียนไม่ต้องอาศัยสคริปต์ของเพื่อนเลย แต่ได้ร้อยเรียงคำพูดออกมาจากส่วนลึกของจิตใจมีเนื้อความกล่าวถึงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ไม่เพียงแต่ทรงก่อตั้งโรงพยาบาลแห่งนี้
แต่ยังทรงมอบจิตวิญญาณของความเสียสละ ความอาทร และความเป็นมืออาชีพให้กับบุคลากรของโรงพยาบาลทุกคน ทุกตำแหน่งหน้าที่
อันที่จริงสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก มิได้ทรงศึกษาวิชาแพทย์ตั้งแต่เริ่มต้น ทรงศึกษาวิชาทหารเรือและเข้ารับราชการในกระทรวงทหารเรือในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ปีกว่า
ต่อมาชะตาชีวิตพลิกผันให้ทรงเรียนต่อด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้วยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาชัยนาทนเรนทร ผู้บัญชาการโรงเรียนราชแพทยาลัยได้กราบบังคมทูลพระองค์ทอดพระเนตรกิจการโรงเรียนแพทย์และโรงพยาบาลศิริราช เมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นความทุกข์ยากลำบากของคนไข้ ทำให้ทรงตระหนักว่าวิชาแพทย์และสาธารณสุขกำลังเป็นสิ่งสำคัญในขณะนั้น
ทรงตัดสินพระทัยเดินทางไปศึกษาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ที่ Harvard Medical School ระหว่างการศึกษาทรงตระหนักถึงค่าครองชีพที่สูงในสหรัฐอเมริกา และทรงเลือกที่จะอยู่ในย่านของชนชั้นกลาง อพาร์ตเมนต์ที่ทรงเช่ามีห้องนอนห้องเดียวและมี 2 เตียง
ทรงมีผู้ติดตาม 2 คน คนหนึ่งนอนในห้องทรงพระอักษรที่มีเตียงพับซ่อนอยู่ ทำให้อีกคนหนึ่งต้องนอนในห้องเดียวกับพระองค์ ทรงไม่ยินยอมเมื่อเขาขอออกไปนอนข้างนอก
ทรงรับสั่งว่า “นี่เป็นประเทศอเมริกา เขาเป็นประชาธิปไตย ทำอะไรต้องทำตามมติ”
ไม่ใช่เรื่องธรรมดาที่เจ้านายระดับเจ้าฟ้าจะมีสามัญชนมานอนอยู่บนเตียงเคียงกันในห้องเดียวกัน แต่การที่ได้ทรงรับการศึกษาในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยทำให้ทรงดูดซับการไม่แบ่งชั้นวรรณะไว้ในพระทัย
คราวหนึ่งทรงอบรมนักเรียนทุนที่มาเรียนแพทย์ที่สหรัฐอเมริกาโดยทุนของรัฐบาลว่า “เงินที่ฉันออกมาเรียนเป็นเงินของราษฎร เงินที่เธอใช้เรียนก็เป็นเงินของราษฎรเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ต้องตั้งใจเรียนเพื่อกลับไปรับใช้ประเทศชาติ การใช้จ่ายก็เหมือนกัน ต้องประหยัดเพื่อจะได้มีเงินเหลือให้อีกหลายคนได้เรียน”
เมื่อจบการศึกษาได้เดินทางกลับมาทรงงานด้านการแพทย์และการสาธารณสุข สร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับศิริราชทั้งด้วยกำลังความสามารถและกำลังทรัพย์ของพระองค์เอง
ก้าวสำคัญของการพัฒนาศิริราชเริ่มขึ้นเมื่อทรงเป็นผู้แทนรัฐบาลสยาม ทำความตกลงกับมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ในการปรับปรุงการศึกษาแพทย์ของประเทศสยาม มูลนิธิส่งศาสตราจารย์ 6 คนเข้ามาจัดหลักสูตร และปรับปรุงการสอนในวิชากายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยา พยาธิวิทยา อายุรศาสตร์ ศัลยศาสตร์ สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา ของคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล มูลนิธิให้ทุนค่าก่อสร้างและซื้ออุปกรณ์เป็นเงิน 130,000 เหรียญ โดยทางรัฐบาลสยามต้องออกเงินสมทบประมาณเท่ากัน
คำว่า “เงินของรัฐบาลสยาม” นี้ ในที่สุดก็เป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ที่สละออกมาเพื่อพัฒนาการแพทย์นั่นเอง
พระองค์พระราชทานทุนการศึกษาให้แพทย์และพยาบาล พระราชทานเงินเดือนแพทย์และพยาบาล พระราชทานทุนสร้างตึกมหิดลบำเพ็ญ สร้างตึกอำนวยการ ทรงซื้อโรงเรียนกุลสตรีวังหลัง และพระราชทานเงินซ่อมแซม แล้วพระราชทานให้เป็นโรงเรียนพยาบาล และที่พักพยาบาลของศิริราช
พระราชทานเงินสำหรับจ้างพยาบาลชาวต่างประเทศมาช่วยสอน และปรับปรุงโรงเรียนพยาบาล พระราชทานเงินตั้งเป็นทุนสอนและค้นคว้าในคณะ
ทรงกราบทูลขอความช่วยเหลือจากพระบรมวงศานุวงศ์ให้ช่วยกัน “ลงขัน” พัฒนาศิริราช พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 180,000.00 บาท สร้างตึก 2 หลัง สำหรับแผนกสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา แล้วพระราชทานชื่อว่า “ตึกตรีเพชร” และ “ตึกจุฑาธุช”
สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าพระราชทานเงินสร้างท่อประปาข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาจากฝั่งพระนครมายังศิริราช รวมทั้งท่อระบายน้ำ และยังพระราชทานทุนให้นิสิตแพทย์และพยาบาล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ต่างก็ประทานเงินสร้างหอพัก สร้างตึกเด็ก เป็นต้น
ศิริราชพัฒนาขึ้นตามลำดับ และจิตวิญญาณของสมเด็จพระบรมชนกนาถยังคงดำรงอยู่ชั่วนิรันดร์