มนัส สัตยารักษ์ : จะเดินไปตามโรดแม็ป อย่าลืมเดินตามรอยพระยุคลบาทของพระองค์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว​ภูมิพลอดุลยเดช *** Local Caption *** ภาพ​สแกน​จาก​ฐาน​ข้อมูล​ห้องสมุด​ภาพ

ผมเกลียดทุกรัฐบาลมาตั้งแต่เป็นวัยรุ่น ด้วยเห็นว่ารัฐบาลและผู้มีอำนาจในบ้านเมืองไม่ตระหนักถึงพระอัจฉริยภาพทางด้านดนตรีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ของเรา ทำให้ประเทศไทยอยู่ในลักษณะเดียวกับ “ลิงได้แหวน” หรือ “ไก่ได้ทอง”

ถูกเหมาเป็นพวก “ไม่มีดนตรีการ มีสันดานเป็นคนชอบกลนัก” ไปโดยปริยาย

ผมเข้าใจว่าเป็นเพราะผู้นำในแต่ละยุคที่ผ่านมานั้น โดยพื้นฐานแล้วเป็นพวกที่มีความคิดและค่านิยมอยู่ในระดับต่ำถึงต่ำมาก แม้บางคนจะร่ำเรียนมาสูงแต่เป้าหมายหลักในชีวิตของพวกเขาคืออำนาจและความมั่งคั่ง

ดั่งคำที่ผู้ใหญ่มักพูดสอนเด็กและเยาวชนว่า “เรียนเพื่อเป็นเจ้าเป็นนายคน” ไม่มีใครตั้งเป้าหมายเป็นอย่างอื่นที่สร้างสรรค์กว่า

นอกจากมุ่งแต่แสวงหาอำนาจและความร่ำรวยให้ตัวเองถ่ายเดียวแล้ว คนรัฐบาลยังไม่ค่อยมีความคิดที่จะพัฒนาสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่บ้านเมืองและประชาชนอีกด้วย

เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ของเราต้องทรงตรากตรำพระวรกายเพื่อชาติและประชาชนของพระองค์ จนไม่มีเวลาสำหรับสร้างผลงานดนตรีจากพระอัจฉริยภาพที่มีค่าต่อโลก

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เราซึ่งเป็นพสกนิกรจะรู้สึกชิงชังรังเกียจคนไม่มีดนตรีการ เสมือนหนึ่งไม่ตระหนักรู้ในพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

พระอัจฉริยภาพทางด้านดนตรีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวโลกตลอดมา ในปี 2503 ครั้งเสด็จเยือนประเทศสหรัฐอเมริกา ในระหว่างงานถวายเลี้ยงพระกระยาหารค่ำที่วอชิงตัน เพลส ทรงได้รับการกราบบังคมทูลเชิญให้ร่วมบรรเลงดนตรีกับวงดนตรีที่จัดแสดงถวายหน้าพระที่นั่ง โดยไม่ได้ทรงเตรียมพระองค์มาก่อน สร้างความประทับใจแก่ผู้ร่วมงานในวันนั้นเป็นอย่างยิ่ง

ต่อมาพระองค์ได้เสด็จไปทรงดนตรีที่บ้านของ เบนนี่ กู๊ดแมน (Benny Goodman) ยอดนักดนตรีแจ๊ซของอเมริกา ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของเขา

การทรงดนตรีครั้งนี้ก็เป็นข่าวดังไปทั่วโลก เป็นปรากฏการณ์ของ “The Jazz King & King Of Swing”

นักดนตรีแจ๊ซอเมริกันที่มีชื่อเสียงต่างชื่นชมในพระปรีชาสามารถทางดนตรีของพระองค์เป็นอย่างสูง ทรงใช้เครื่องเป่าได้อย่างคล่องแคล่วทุกชนิด พวกเขาเห็นว่าทรงเป็นนักดนตรีแจ๊ซที่มีพระอัจฉริยภาพสูงส่ง

“ทรงพระสำราญมากในคืนนั้น ทรงเป็นกันเองกับพวกเรามาก” นักดนตรีที่ได้ร่วมวงกล่าว “เป็นวาระที่พวกเราจะจดจำไปชั่วชีวิต”

ในการเสด็จเยือนสหรัฐอเมริกาครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับดนตรีแก่นักข่าวอเมริกันในรายการเสียงแห่งวิทยุอเมริกา

“ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของข้าพเจ้า จะเป็นแจ๊ซหรือไม่แจ๊ซก็ตาม ดนตรีล้วนอยู่ในตัวคนทุกคน เป็นส่วนที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตคนเรา สำหรับข้าพเจ้า… ดนตรีคือสิ่งประณีตงดงาม และทุกคนควรนิยมในคุณค่าของดนตรีทุกประเภท เพราะว่าดนตรีแต่ละประเภทต่างมีความเหมาะสมตามแต่โอกาสและอารมณ์ที่แตกต่างกันไป…”

ทรงเห็นว่า ดนตรีนอกจากจะให้ความบันเทิงแล้วควรจะเป็นสื่อสร้างสรรค์ชักนำให้คนเป็นคนดีของประเทศชาติและสังคมด้วย

ในปี 2507 สถาบันการดนตรีและศิลปะการแสดงแห่งกรุงเวียนนา ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนสถานะเป็นมหาวิทยาลัย (The University of Music and Performing Arts Vienna) ได้ถวายพระเกียรติให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกกิตติมศักดิ์ หมายเลข 23 ดังปรากฏพระปรมาภิไธย “ภูมิพลอดุลยเดช” จารึกบนแผ่นหินอ่อนของสถาบันเก่าแก่ของยุโรปแห่งนี้

พระองค์ทรงเป็นชาวเอเชียคนแรกและคนเดียวที่ได้รับการถวายพระเกียรติยศอย่างสูงสุดทางดนตรีในขณะที่ทรงมีพระชนมพรรษาเพียง 37 พรรษา สถาบันถือว่าพระองค์ทรงมีบทบาทสำคัญยิ่ง ณ ศูนย์กลางแห่งการดนตรีในทวีปยุโรป

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงใช้ดนตรีเป็นสื่อกระชับสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศกับนานาประเทศได้อย่างแน่นแฟ้น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชนิพนธ์บทเพลงไว้ทั้งหมด 48 เพลง เพลงแรกคือเพลง “แสงเทียน” (พ.ศ.2489) ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์เมื่อพระชนมายุ 18 พรรษา และยังทรงดำรงพระยศเป็นพระอนุชาธิราชของรัชกาลที่ 8

ในจำนวน 48 เพลงนี้ ที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองและคำร้องภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เองมี 5 เพลง นอกจากนั้น เป็นเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองให้ผู้อื่นประพันธ์คำร้อง กับที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองขึ้นเพื่อใส่ในคำร้องที่มีผู้ประพันธ์ไว้แล้ว

เพลงพระราชนิพนธ์ทำนองนี้ที่พวกเรารู้จักกันดีก็คือ เพลง “ความฝันอันสูงสุด”

เพลงมีหลายสไตล์ ทั้งแจ๊ซ บลูส์ คลาสสิค มาร์ช และวอลซ์ แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบแจ๊ซที่เป็นสากล ซึ่งมีเสียงสูงมากและต่ำมาก บางเพลงมี “เสียงครึ่ง” (sharp / flat) แตกต่างไปจากเพลงไทยทั่วไป เป็นเพลงที่ไพเราะ แต่อาจจะเป็นปัญหากับนักร้องสมัครเล่น หรือนักร้องที่ไม่ได้เรียนดนตรีและไม่ได้ซ้อมมาก่อน

กล่าวคือ อาจจะเพี้ยนและล่มได้

 

ผมรวบรวมและเรียบเรียง “พระอัจฉริยะทางด้านดนตรี 48 เพลงพระราชนิพนธ์” เพื่อวางเรียงเคียงกับ “โครงการตามพระราชดำริ 4,000 โครงการ” ซึ่งทั้งสองพระราชกรณียกิจล้วนได้รับการแซ่ซ้องสรรเสริญจากทั่วโลก

แล้วประจักษ์ชัดว่า… เพลงพระราชนิพนธ์ทั้ง 48 เพลง ไม่มีใครทำได้นอกจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

ส่วนโครงการ 4,000 โครงการนั้น เป็นโครงการเพื่อราษฎรทั้งประเทศ ควรจะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลและข้าราชการ แต่ทั้งนักการเมือง (ที่มาเป็นรัฐบาล) ทั้งข้าราชการ ต่างก็มัวแต่แสวงหาอำนาจและความมั่งคั่งกันอยู่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จึงทรงทำเองตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ครองราชย์

หลายโครงการยังไม่เสร็จ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสก่อนเสด็จสวรรคตว่า “งานยังไม่เสร็จ”

ใครที่เฝ้ารอจะเดินไปตามโรดแม็ป อย่าลืมเดินตามรอยพระยุคลบาทของพระองค์ด้วย