สมหมาย ปาริจฉัตต์ : เยี่ยมครูดีที่กัมพูชา… กราบสมเด็จพระสังฆราช (จบ)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

“ถ้าพ่อ-แม่ผู้ปกครองไม่เชื่อมั่นว่าบุตรหลานมาเรียนกับครูแล้ว ลูกจะมีความรู้ ประสบความสำเร็จ เขาก็จะไม่ส่งลูก-หลานมาเรียนกับเรา วิธีที่จะช่วยเด็กเรียนอ่อน นอกจากสอนด้วยใจแล้ว ต้องสอนให้ง่าย Train them to do simple”

ผมคิดถึงคำของครูลอยเมื่อวันวาน ก่อนภารกิจเยี่ยมเยียนและยืนยันผลงานครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีของกัมพูชาผ่านลุล่วงไปด้วยดี

รุ่งขึ้น 17 กรกฎาคม 2562 ตรงกับวันเข้าพรรษาพอดี ก่อนเดินทางกลับประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ พาเข้ากราบนมัสการสมเด็จพระสังฆราชกัมพูชาฝ่ายมหานิกาย เพื่อเป็นสิริมงคลชีวิต

กัมพูชามีผู้นำสูงสุดของคณะสงฆ์เป็นสมเด็จสังฆราช 2 องค์ ทั้งมหานิกายและธรรมยุติกนิกาย หน้ากำแพงวัดมีรูปทั้งสององค์เคียงคู่กันให้ประชาชนที่ผ่านไปมาได้กราบไหว้

ตำแหน่งทางการฝ่ายมหานิกายคือ สมเด็จพระอัครมหาสังฆราชาธิบดีเทพวงษ์ สถิตวัดอุณาโลม อายุ 89 ปี พรรษา 73 (บวชอายุ 16 ปี)

ในกุฎีที่ประทับมีภาพสมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน และภาพถ่ายคู่กับท่านเจ้าคุณพระพรหมบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ติดอยู่บนฝาผนัง สะท้อนความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างผู้นำคณะสงฆ์ไทยกับกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง เดินทางไปเยี่ยมเยียนกันเรื่อยมา

บทบันทึกของ ดร.กฤษณพงศ์ หัวหน้าคณะถ่ายทอดสาระบรรยากาศการสนทนากับสมเด็จพระสังฆราช น่าอ่านทีเดียว

 

วัดอุณาโลมอยู่ริมแม่น้ำโตนเลสาบ ห่างจากพระราชวังเขมรินทร์สองสามร้อยเมตร มีสิ่งก่อสร้างใหญ่ประณีตสวยงาม ทาด้วยสีทอง (เหมือนเมียนมา แต่ที่นั่นปิดทองหรือหุ้มทอง) หลังกำแพงหน้าวัดด้านในมีฆ้องใหญ่เส้นผ่านศูนย์กลางหลายเมตร สร้างถวายโดยคณะสงฆ์ไทย

ทูลถามสมเด็จพระสังฆราชหลายประเด็น ทรงเล่าว่า สมัยเขมรแดง ท่านถูกบังคับให้สึก แต่ยังถือศีล

ก่อนกลับมารื้อฟื้นพุทธศาสนาใหม่จนเป็นประธานสงฆ์ปี 1979 เป็นสมเด็จพระสังฆราชปี 1996 การรื้อฟื้นพุทธศาสนาหลังยุคเขมรแดงใช้การบวชสงฆ์และอยู่ด้วยกัน เริ่มในพนมเปญก่อนและขยายไปที่อื่น

ทรงเน้นว่ามีศาสนาเพื่อความร่มเย็น ไม่เบียดเบียน ไม่มีสงคราม ขณะเดียวกันได้ขอความช่วยเหลือจากศาสนาอื่น ทั้งอิสลาม คริสต์ ยิว

ปัจจุบันมีสงฆ์รวมสองนิกาย กว่า 60,000 รูป ในเขมรมีสตรีที่ถือศีลเท่าพระภิกษุเหมือนภิกษุณีไทย เป็นเรื่องศรัทธาส่วนบุคคล

ในสมัยเขมรแดง ศาสนาถูกทำลาย พระถูกฆ่า อพยพและหนีตายไปประเทศที่สามโดยเฉพาะไทย เมื่อฟื้นประเทศในทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา ความยากจนสูง คนมีความรู้ถูกฆ่าหรือหนีตายไปหมด การต่อสู้ทางการเมืองเปลี่ยนจากขับไล่เขมรแดง มาขับไล่เวียดนาม รบกันเองระหว่างเขมรสามฝ่ายจนทำให้ระบบการปกครองอ่อนแอ

รัฐบาลหลังจากนั้นก็อาจไม่มีศรัทธาในพุทธศาสนา

 

เนื่องจากทรงบวชมานาน และเป็นพระสังฆราชนานจึงทรงรู้จักสมเด็จพระสังฆราชไทยหลายองค์ และพระเถระชั้นสูงหลายรูป ทรงพูดถึงสมเด็จพระญาณสังวรและสมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน

ในวัดเขมรยังมีเด็กวัด วัดไทยในเมืองไม่มีเด็กวัดอีกแล้ว เพราะนักเรียน นักศึกษามาอยู่หอพัก บางวัดทางราชการจัดทหารเกณฑ์ไปอยู่กับพระแทน เมื่อก่อนไม่มีหอพัก เด็กชายชนบทมาเรียนในเมืองจะมาเป็นเด็กวัด สิ่งนี้หมดไปสิบปีที่ผ่านมา เด็กวัดชายตัวเล็กๆ จึงไม่ค่อยเห็นอีก

ผมเปิดกูเกิล อ่านความเป็นมาและเป็นไปของพุทธศาสนาในกัมพูชากับการจัดระบบการศึกษาของคณะสงฆ์กัมพูชา ปรากฏในวิทยานิพนธ์เรื่อง การศึกษาของคณะสงฆ์ในราชอาณาจักรกัมพูชา ของพระสุเธีย สุวณณเถโร (ยนต์) ปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ.2553 มีเรื่องราวชีวิตและการต่อสู้เพื่อพุทธศาสนาของสมเด็จพระสังฆราชเทพวงษ์ น่าตื่นเต้นทีเดียว ท่านใดสนใจในเชิงลึก เปิดอ่านเพิ่มเติมได้เลยนะครับ

บทสนทนาเรื่องราวของพุทธศาสนาและคณะสงฆ์กัมพูชาจบลง ก่อนกราบลาสมเด็จ ผมกระมิดกระเมี้ยนถามผ่านเลขาฯ สมเด็จว่า หลวงพ่อหล่อรูปเหรียญไว้บูชาบ้างมั้ยครับ ทุกคนในคณะยิ้มใหญ่ มีหวังได้ของดีแน่

สมเด็จยิ้ม “เพิ่งให้ญาติโยมมาทำบุญที่วัด หมดไปไม่กี่วันนี่เอง”

จากยิ้มแห่งความหวังกลายเป็นยิ้มแห้ง แต่ทุกคนในคณะก็รู้สึกอบอุ่น สดชื่นที่มีโอกาสมากราบพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ศูนย์รวมจิตใจพุทธศาสนิกชนกัมพูชา ก่อนกราบลาเดินทางกลับด้วยความอิ่มเอมใจ

เรียนซันเฮย ลาก่อน กัมพูเจีย

 

ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี รุ่นที่ 3 มีกำหนดการเข้าร่วมพิธีรับพระราชทานรางวัลพร้อมกันวันที่ 15 ตุลาคม 2562 ที่กรุงเทพฯ ครูไทย กัมพูชา เป็นใคร รายงานไปแล้วเมื่อตอนแรก ที่เหลืออีก 9 คน มีดังนี้

บรูไน นางฮาจะฮ์ บินติ ฮาจี อัสปาร์ ครูใหญ่โรงเรียนประถมศึกษาลัมบัก กานัน จารัล 49 และรับผิดชอบพัฒนากระบวนการเรียนการสอน นิเทศและติดตามการสอนของครูในโรงเรียน รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาด้านมาตรฐานของครูบรูไน

อินโดนีเซีย นายรูดี ฮาร์ยาดี ครูผู้สอนเทคโนโลยีไร้สายในระดับอาชีวศึกษา State Vocational Secondary School Cimahi จาร์วาตะวันตก ผู้ไม่หยุดที่จะเรียนรู้ หาความรู้เพิ่มเติมในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องเพื่อเชื่อมโยงกับการสอน พัฒนาหลักสูตร รวมถึงช่วยเพิ่มสมรรถนะครูในสาขาอาชีวศึกษา

ลาว นายไพสะนิด ปันยาสะหวัด หัวหน้าสาขาวิชาภาษาลาวและวรรณคดี และรองหัวหน้าฝ่ายวิชาการ โรงเรียนมัธยมศึกษาสันติภาพ หลวงพระบาง มีผลงานด้านสารคดีเกี่ยวกับความขาดแคลนของ จ.พูคูน และได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติระดับประเทศจำนวนมาก

มาเลเซีย นางเค เอ ราซียะฮ์ ครูผู้เชี่ยวชาญการศึกษาพิเศษ ด้านการบกพร่องทางการเรียนรู้ โรงเรียนมัธยมศึกษาปันหยี โกตาบารู รัฐกลันตัน พัฒนาหลักสูตรวิชาเพื่อเด็กพิเศษตั้งแต่ระดับอนุบาล มัธยมศึกษา และอาชีวศึกษา เมื่อปีที่ผ่านมาได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 50 รายชื่อครูผู้รับรางวัล “Global Teacher Award” คัดเลือกโดย Varkey Foundation ประเทศอังกฤษ

เมียนมา นายหม่อง จ๋าย ครูสอนภาษาอังกฤษและเกษตร โรงเรียนจ่อ เม แคว้นมัณฑะเลย์ ก่อนมาประจำที่โรงเรียนจ่อ เม เคยทำงานที่กระทรวงศึกษาธิการ ในส่วนการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ฟิลิปปินส์ นายสาดัท บี มินันดัง ครูประถมศึกษา โรงเรียนประถมศึกษาอมิรัล เมืองโคตาบาโต ผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งโครงการ FaithMALU (ศรัทธาก่อให้เกิดพลังความร่วมมือ) และสร้างความตระหนักเรื่องการค้ามนุษย์เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของชุมชน

สิงคโปร์ นางแองจิลิน ชาน สิ่วเวิ่น หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ โรงเรียนแองโกไชนีส แผนกประถมศึกษาและหัวหน้าครูการสอนเด็กพิเศษ จากประสบการณ์การดูแลนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษได้ถูกถ่ายทอดผ่านช่องทางออนไลน์ของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นครูพี่เลี้ยงในการประเมินและการใช้ไอซีทีในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียน

ติมอร์-เลสเต น.ส.ลูร์เดส รันเจล กอนซัลเวซ ครูประถมศึกษา โรงเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานเมืองมาตาตา ในเมืองเอเมร่า ผู้ร่วมเขียนและพัฒนาหลักสูตรระดับประถมศึกษาปีที่ 1-6 และหลักสูตรการรู้หนังสือ มีความมุ่งมั่นในการพัฒนานักเรียนทั้งร่างกายและจิตใจแบบองค์รวม และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน

เวียดนาม นายเล ทัน เลียม ครูสอนวิชาฟิสิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศ โรงเรียนมัธยมชนเผ่าฮิม ลาม จ.เหิ่วซาง ด้วยนักเรียนส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อยชาวกัมพูชา ฐานะยากจน ครูเลได้ก่อตั้งชมรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและกระตุ้นให้ใช้หลักคิดทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

เป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนาชุมชน