สุรชาติ บำรุงสุข : 2017 ประชานิยมขวาจัด! ถึงเวลาต้องรู้จักกับพวกขวา

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข
AFP PHOTO / VALERY HACHE

“เวลาของรัฐประชาชาติกลับมาแล้ว”
มารีน เลอแปง
ผู้นำพรรคฝ่ายขวาของฝรั่งเศส

เธอเป็นผู้นำ “พรรคแนวร่วมแห่งชาติ” (The National Front) ซึ่งถือเป็นพรรคขวาจัดของฝรั่งเศส

หากภาพลักษณ์และวาทะของเธอในการเมืองฝรั่งเศสจะเป็นดังตัวแทนของกลุ่มขวาจัดยุโรปฉันใด ก็คงเปรียบได้กับภาพลักษณ์และวาทะของ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่เป็นตัวแทนของกลุ่มขวาจัดอเมริกันฉันนั้น

ปรากฏการณ์เช่นนี้ในบริบทของการเมืองโลกก็คือการแสดงให้เห็นถึงการปรากฏตัวของกลุ่มการเมืองปีกขวา

และต้องยอมรับว่าเป็น “ขวาจัด” ซึ่งได้เปิดการรณรงค์ทางการเมืองครั้งใหญ่ในเวทีโลกอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ภาพของการปรากฏตัวของกลุ่มการเมืองขวาจัดเช่นนี้ดูจะเป็นการบ่งบอกถึงทิศทางของการเมืองโลกในปี 2017 อย่างชัดเจนว่าโลกจะมีทิศทางไปแบบขวาจัดมากขึ้น

และขณะเดียวกันก็อยู่รูปลักษณ์ของความเป็น “ประชานิยมปีกขวา” (Right-wing Populists) อีกด้วย

มารีน เลอแปง (AFP PHOTO / ALAIN JOCARD)

ประชานิยมคืออะไร

นิยามของคำว่า “ประชานิยม” (Populism) ดูจะไม่มีความชัดเจนในตัวเอง หรือหลายครั้งเราจะพบว่านิยามของคำนี้เป็นไปอย่างหลวมๆ หรือบางทีก็เป็นไปอย่างไม่คงเส้นคงวามากนักในการนิยามความหมาย

แต่บางครั้งนิยามก็เป็นไปในทางลบ เพราะมีความหมายในลักษณะของนโยบายที่มาจากพวกปลุกระดมทางการเมือง มากกว่าจะเป็นการนำเสนอนโยบายที่จะให้เกิดผลได้อย่างแท้จริงในทางปฏิบัติ

อย่างไรก็ตาม ประชานิยมโดยทั่วไปแล้วมีความหมายถึงการนำเสนอวาทกรรมและ/หรือนโยบายในลักษณะของการดึงดูดความสนใจของประชาชน หรือเป็นการเสนอในลักษณะของ “การวิงวอน” ต่อประชาชนในสถานการณ์หรือในเหตุปัจจัยที่กำลังเกิดขึ้นและอยู่ในความสนใจของประชาชน

ในสภาวะเช่นนี้ เราอาจจะไม่ได้พิจารณาถึงความเป็นประชานิยมเพียงแต่ในบริบทของโครงการทางเศรษฐกิจ โครงการทางสังคม หรือผู้ออกเสียงเลือกตั้ง

หากแต่เราอาจพิจารณาพวกเขาในฐานะของการเป็นชุดความคิดทางการเมืองอีกชุดหนึ่งที่หมายถึง การรวมตัวของคนกลุ่มหลัก (ในความหมายของ “homogenous people”) ในการต่อต้านชนชั้นนำ หรือต่อต้าน “คนอื่น” ที่พวกเขารู้สึกว่าไม่ปลอดภัยและน่ากลัว

และการมาของคนกลุ่มนี้กำลังมีผลกระทบต่อสิทธิ ค่านิยม อัตลักษณ์ และความรุ่งเรืองของสังคม จนทำให้พวกเขาตัดสินใจที่จะมีพฤติกรรมทางการเมืองในลักษณะของการต่อต้านระบบการเมืองและเศรษฐกิจแบบเดิม และภายใต้กรอบของการเมืองในโลกตะวันตก

AFP PHOTO / JEFF PACHOUD

การแสดงออกจึงกระทำผ่านกระบวนการเลือกตั้ง ที่มีนัยถึงการลงเสียงให้แก่ผู้สมัครที่นำเสนอนโยบายในทิศทางดังกล่าว เช่น การต่อต้านชนชั้นนำเดิม การต่อต้าน “คนอื่น” ที่มาจากภายนอก หรืออาจจะเรียกว่าการสนับสนุนนโยบายต่อต้านต่างชาติ (นโยบายแบบ Xenophobia) เป็นต้น

ถ้าประชานิยมมีความหมายถึง การนำเสนอนโยบายที่ต้องการให้สอดรับกับความต้องการของประชาชน หรือเป็นการนำเสนอในแบบของการเรียกร้องหาเสียงตอบรับจากประชาชนแล้ว ประชานิยมอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ “เลวร้าย” ในทางอุดมการณ์การเมืองเสียทั้งหมด

และหากประชาธิปไตยควรจะเป็นระบบการเมืองที่สะท้อนความต้องการของประชาชนแล้ว นโยบายประชานิยมก็อาจถือได้ว่าเป็นผลผลิตของระบอบประชาธิปไตยตัวแทน (Representative Democracy) ที่นโยบายถูกสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน

ฉะนั้น หากพิจารณาประชานิยมในมุมมองเช่นนี้แล้ว ประชานิยมในตัวเองก็อาจเป็นชุดความคิดทั้งของฝ่ายขวาหรือฝ่ายซ้ายก็ได้

แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วสำหรับการเมืองยุโรป คำว่าประชานิยมนั้นมีนัยถึงการเมืองของฝ่ายขวา

หรืออาจกล่าวในมุมมองการเมืองยุโรปได้ว่า ประชานิยมเป็นพวกขวา และมักออกไปในทางเป็น “ขวาจัด” เสียด้วย

แม้นว่าในความเป็นจริงแล้ว พวกประชานิยมอาจจะไม่พึงพอใจนักต่อการถูกจัดให้เป็นขวาหรือซ้ายในแบบที่เราคุ้นเคยในทางการเมืองก็ตาม

เพราะสำหรับพวกเขาแล้ว “ประชานิยมคือประชานิยม”

AFP PHOTO / PATRIK STOLLARZ

การจำแนก

ดังได้กล่าวแล้วว่าชุดความคิดแบบประชานิยมอาจมองได้ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ เส้นแบ่งระหว่างการ “ปลุกระดมผู้คนในสังคมให้ตอบรับกับนโยบาย” ของตน กับการ “นำเสนอนโยบายที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้คน” โดยส่วนใหญ่นั้น อาจจะขีดเส้นแยกจากกันได้ยาก

ซึ่งเส้นแบ่งเช่นนี้ในด้านหนึ่งอาจจะขึ้นอยู่กับความเชื่อทางการเมืองของบุคคลนั้นๆ

เช่น นักการเมืองอาจจะมองว่าประชานิยมไม่ใช่เรื่องน่าเสียหายแต่อย่างใด เพราะในการเลือกตั้ง พรรคการเมืองจะต้องเสนอขายนโยบายที่มีลักษณะ “โดนใจ” ประชาชนในฐานะของผู้เลือกตั้ง

แต่สำหรับผู้ที่ต่อต้านนโยบายเช่นนี้ พวกเขามองว่าประชานิยมเป็นเพียง “การขายฝัน” ด้วยการนำเสนอนโยบายที่เป็นไปไม่ได้ หรือเป็นนโยบายที่ไม่มีเหตุผล หรือเป็นนโยบายที่จะนำมาซึ่งปัญหาในอนาคต

เช่น ปัญหาเสถียรภาพในกระบวนการทางการเมือง เป็นต้น ซึ่งว่าที่จริงแล้ว ข้อโต้แย้งของสองฝ่ายเช่นนี้เป็นเรื่องที่ไม่มีจุดจบ และอาจไม่สามารถตัดสินชี้ขาดได้ว่าข้อโต้แย้งของฝ่ายใดมีความถูกต้องมากกว่า

การทำความเข้าใจกับเรื่องประชานิยมอาจจะเป็นประโยชน์มากกว่าการโต้แย้งเรื่องนี้ในมิติเชิงบวกหรือเชิงลบ โดยเราอาจหาทางจำแนกความเป็นประชานิยมที่เกิดขึ้น และพบว่าประชานิยมเกิดขึ้นใน 3 รูปแบบหลักๆ

ได้แก่

1)ประชานิยมกับเกษตรกร

ประชานิยมในแบบนี้เน้นการทำนโยบายที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรกร เช่น ขบวนการที่เน้นในเรื่องของผลผลิตของเกษตรกร ได้แก่ The People”s Party ซึ่งเป็นพรรคการเมืองในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ในสหรัฐอเมริกาที่พยายามเสนอนโยบายทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับบรรดาชาวนา หรือ The Eastern European Green Rising Movement ซึ่งเป็นขบวนการชาวนาในยุโรปที่เปิดการเคลื่อนไหวในช่วงหลังจากยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 หรือในบางลักษณะ อาจจะอยู่ในรูปของขบวนปัญญาชนที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับกลุ่มชาวนา เช่น กลุ่ม Narodniki ในรัสเซีย เป็นต้น

2)ประชานิยมกับคนงาน

ประชานิยมอีกส่วนที่ทำงานกับคนระดับล่าง ได้แก่ กลุ่มที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับบรรดาคนงาน ซึ่งนักประชานิยมที่ทำกิจกรรมในลักษณะนี้มักจะเป็นกลุ่มปีกซ้าย เช่น ตัวแบบของ ฮวน เปรอง ประธานาธิบดี 2 สมัยแห่งอาร์เจนตินา (1946-1955) หรือผู้นำเม็กซิโกในอดีตอย่าง ลาซาโร คาร์เดนัส (Lazaro Cardenas) ที่นิยมแนวคิดแบบฝ่ายซ้าย จนชักชวนให้ เลออน ทรอตสกี (Leon Trotsky) เข้ามาลี้ภัยในเม็กซิโก

หรือตัวแบบของประชานิยมปีกซ้ายในยุคปัจจุบัน คือ ฮูโก ชาเวซ (Hugo Chavez) ผู้นำของเวเนซุเอลา ที่เสียชีวิตไปในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

3)ประชานิยมกับการเมือง

ประชานิยมในส่วนที่เป็นมิติทางการเมืองนั้น สามารถจำแนกออกในรายละเอียดเป็น 4 ส่วน คือ

(1) ประชานิยมประชาธิปไตย (Populist Democracy) ประชานิยมในรูปแบบนี้เรียกร้องให้ขยายการมีส่วนร่วมของประชาชนให้กว้างขวาง เพราะเชื่อว่าการขยายฐานการมีส่วนร่วมเช่นนี้จะทำให้เกิดสภาวะที่การเมืองเป็นของคนส่วนใหญ่ และทำให้วาระทางการเมืองไม่ถูกผูกติดอยู่กับการเสนอของพรรคการเมืองหรือนักการเมืองเท่านั้น

(2) ประชานิยมของนักการเมือง (Politicians” Populism) ประชานิยมในรูปลักษณ์เช่นนี้ไม่จำเป็นต้องมีการจำแนกในทางอุดมการณ์ เพราะอาจเป็นได้กับกลุ่มการเมืองทุกฝ่าย (ทั้งซ้ายและขวา) ประชานิยมแบบนี้เป็นการเรียกร้องให้เกิดการสนับสนุนจากประชาชนในวงกว้าง ด้วยการนำเสนอประเด็นทางการเมืองที่สอดรับกับความรู้สึกและ/หรือความต้องการของคนส่วนใหญ่

(3) ประชานิยมของพวกปฏิกิริยา (Reactionary Populism) ประชานิยมในลักษณะเช่นนี้เป็นผลผลิตของกลุ่มการเมืองปีกขวา ที่พยายามนำเสนอนโยบายแบบ “ปฏิกิริยา” เพื่อต่อต้านความเปลี่ยนแปลง หรือการเสนอนโยบายที่สนับสนุนการแบ่งแยกสีผิว เป็นต้น หรืออาจเรียกคนในกลุ่มนี้จากการนำเสนอความคิดในเชิงนโยบายว่าเป็น “ประชานิยมปีกขวา” นั่นเอง

(4) ประชานิยมแบบเผด็จการ (Populist Dictatorship) ประชานิยมในรูปแบบเช่นนี้สะท้อนให้เห็นได้จากความพยายามของผู้นำรัฐบาลเผด็จการที่ขึ้นสู่อำนาจในละตินอเมริกา โดยมีตัวอย่างจากรัฐบาลของประธานาธิบดีวาร์กัส (Get?lio Vargas) ที่ด้านหนึ่งเป็นรัฐบาลเผด็จการ แต่อีกด้านก็มีนโยบายในการช่วยเหลือคนจน จนเขาได้รับสมญาว่าเป็นดัง “บิดาของคนจน” (The Father of the Poor) ของประเทศบราซิล เป็นต้น

การจำแนกดังกล่าวในข้างต้นอาจจะไม่สามารถครอบคลุมรายละเอียดของแนวความคิดแบบประชานิยมได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็ทำให้เห็นภาพโดยสังเขปถึงตัวแบบของความเป็นประชานิยมเช่นที่เกิดขึ้นในเวทีโลก

AFP PHOTO / CLEMENS BILAN

ประชานิยมกับฟาสซิสต์นิยม

สําหรับนักรัฐศาสตร์บางส่วนมีความกังวลเพิ่มเติมถึงความเกี่ยวพันทางความคิดระหว่างประชานิยมกับการก่อตัวของลัทธิฟาสซิสต์ (Fascism) โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพิจารณาจากบริบทของประวัติศาสตร์แล้ว เราอาจจะพบว่า ขบวนการประชานิยมเป็นพื้นฐานอย่างดีที่รองรับต่อการกำเนิดของชุดความคิดแบบฟาสซิสต์นิยม

ดังเช่น ความไม่พึงพอใจต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองของบรรดาชนชั้นกลางในเยอรมนีในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สนับสนุนนโยบายและแนวคิดแบบประชานิยมของพรรค “สังคมชาตินิยม” (National Socialism) มีส่วนอย่างมากต่อการนำพาฮิตเลอร์ขึ้นสู่การเป็นผู้นำของเยอรมนีในช่วงก่อนสงครามโลก

ดังจะเห็นได้ว่า ฮิตเลอร์ได้ตอบสนองต่ออาการโหยหาความมั่นคงของชนชั้นกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคของเขาได้ตอบโต้อย่างเข้มแข็งกับการปลุกระดมของนักลัทธิมาร์กซ์

และขณะเดียวกันพรรคได้แสดงบทบาทของการเป็นตัวแทนของสาธารณชนชาวเยอรมันที่ถูกทรยศและถูกทอดทิ้งจากนโยบายของรัฐบาลในขณะนั้น

อีกทั้งฮิตเลอร์ได้แสดงออกถึงการเป็น “ผู้ทำลายสิ่งกีดขวางทางสังคม” ด้วยการพยายามรวมชาวเยอรมันไม่ว่าจะอยู่ในชนชั้นใด หรือในสถานะทางสังคมแบบใด ให้ยอมรับ “อุดมคติของประชานิยมนาซี” ร่วมกัน

ซึ่งการใช้นโยบายเช่นนี้ทำให้พรรคสังคมชาตินิยมประสบความสำเร็จในการคุมอำนาจทางการเมืองในเยอรมนีก่อนสงคราม

ดังนั้น ในบริบทสมัยใหม่จึงทำให้มีความพยายามจะเชื่อมโยงให้เห็นมิติประวัติศาสตร์ว่า ประชานิยมขวาจัดนั้นอาจจะไม่แตกต่างกับประชานิยมของลัทธิฟาสซิสต์

ซึ่งในสภาพเช่นนี้ทำให้เกิดการจับตามองอย่างมากถึงความสำเร็จของกระแสประชานิยมขวาจัดที่ก่อตัวขึ้นในยุโรป

จนต้องยอมรับว่าความสำเร็จของพรรคแนวร่วมแห่งชาติภายใต้การนำของ มารีน เลอแปง ในฝรั่งเศส

จนถึงความสำเร็จของการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกาที่พา โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นสู่อำนาจนั้น กำลังส่งสัญญาณถึงการก่อตัวของ “กระแสขวาจัด” ในการเมืองโลกคล้ายคลึงกับปรากฏการณ์ที่เคยเกิดขึ้นแล้วในยุโรปก่อนการกำเนิดของสงครามโลกครั้งที่ 2

การกล่าวเช่นนี้มิได้หมายความว่า เลอแปงหรือทรัมป์กำลังพาโลกเข้าสู่สงครามเช่นที่ฮิตเลอร์ได้เคยตัดสินใจทำมาแล้ว หากแต่เป็นการนำเสนอในมุมมองเปรียบเทียบถึงความสำเร็จของการนำเสนอขายนโยบายประชานิยมในอดีตกับในปัจจุบัน

อีกทั้งขณะเดียวกันก็เห็นได้ชัดเจนว่า ประชานิยมของปีกซ้าย (Left-wing Populism) นั้น อยู่ในภาวะของความถดถอยเป็นอย่างยิ่ง

วิกฤตการณ์ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจในเวเนซุเอลาปัจจุบัน เป็นคำตอบที่ดีในกรณีนี้!