วรศักดิ์ มหัทธโนบล : สงคราม “สุย-โกกูรยอ” เหตุสู่จุดอวสานราชวงศ์

สุยในช่วงปลาย (ต่อ)

สุดท้ายคือ โกกูรยอ (Goguryeo) (1) หรือเกาหลีในปัจจุบัน ซึ่งเวลานั้นเป็นหนึ่งในสามรัฐที่ถูกแบ่งออกเป็นสามรัฐของเกาหลี โกกูรยอเป็นรัฐอิสระที่แข็งแกร่งและเคยเผชิญหน้ากับจีนในยุคสุยเหวินตี้มาก่อน โดยที่สุยมิอาจหักเอาได้

ตราบจน ค.ศ.607 สุยหยังตี้ได้เสด็จไปเยือนเมืองหลวงของทูเจี๋ว์ยตะวันออกที่ขึ้นต่อจีน การเยือนครั้งนี้ได้สร้างความยุ่งยากใจให้แก่คากาน (ข่าน) ของทูเจี๋ว์ยเรื่องหนึ่งคือ การแนะนำทูตของโกกูเรียวต่อสุยหยังตี้ เพราะทั้งจีนและโกกูรยอมีภาวะที่เป็นศัตรูกันอยู่

คากานจึงปรึกษาปัญหานี้อย่างลับๆ กับขุนนางของสุยหยังตี้ แต่กลับได้คำแนะนำเชิงสั่งสอนว่า ให้ทูตผู้นี้กลับไปยังโกกูเรียวแล้วก็แจ้งแก่กษัตริย์ของตนว่า ให้เร่งแสดงความสวามิภักดิ์ต่อราชสำนักสุยโดยพลัน หาไม่แล้วจีนจักใช้กองกำลังเติร์ก (ทูเจี๋ว์ย) เข้าตีโกกูเรียวเพื่อเป็นการลงโทษ

คากานที่ตกเป็นเบี้ยล่างของจีนอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงจึงแจ้งแก่ทูตของกูโกเรียวไปตามนั้น

ทูตของโกกูเรียวจึงกลับไปรายงานเรื่องนี้แก่กษัตริย์ของตน แต่กษัตริย์โกกูรยอไม่ยอมจำนนต่อจีน ซึ่งสำหรับจีนที่ถือตนเป็นอาณาจักรกลางแล้วย่อมเห็นว่าท่าทีเช่นนี้ของโกกูเรียวคือการเย้ยหยัน และเพื่อเป็นการตอบโต้ท่าทีดังกล่าว ก็ได้นำมาซึ่งการทุ่มกำลังเท่าที่มีของจีนเข้าตีโกกูเรียว เพียงเพื่อจะกำราบคนนอกรีตในทัศนะของตน

การศึกที่มีกับโกกูรยอจึงเกิดขึ้นด้วยเหตุนี้ คือด้วยเหตุที่สุยหยังตี้เพียงต้องการสร้างชื่อและสำแดงเดชานุภาพของตนโดยไม่จำเป็น

 

จากเหตุดังกล่าว เมื่อจะกรีธาทัพเข้าทำศึกกับโกกูรยอแล้ว สุยหยังตี้จึงทรงนำทัพด้วยตนเองทุกครั้งจากการศึกที่มีอยู่สามครั้ง ครั้งแรกเริ่มใน ค.ศ.610 ครั้งที่สอง ค.ศ.613 และครั้งที่สาม ค.ศ.614 แต่ละครั้งสุยได้ทุ่มกำลังอย่างมหาศาล เช่น ในครั้งแรกนั้นสุยใช้ทั้งทัพบกและทัพเรือ มีกำลังพลทั้งหมด 1,130,000 นาย รวมเป็น 24 กองพล เมื่อบุกเข้าตีจะแบ่งกองพลเป็นปีกซ้ายและขวาข้างละ 12 กองพล เป็นต้น

จนการศึกครั้งที่สาม โกกูรยอจึงยอมจำนนเมื่อทัพสุยบุกเข้าถึงเมืองหลวงที่ซึ่งปัจจุบันคือเปียงยาง

แต่ชัยชนะจากศึกโกกูเรียวทั้งสามครั้งนี้จีนได้ทุ่มทรัพยากรไปอย่างมหาศาล เมื่อรวมกับที่ทุ่มให้กับโครงการคลองขุดและสร้างกำแพงเมืองจีนด้วยแล้ว ชัยชนะที่มีต่อโกกูเรียวจึงทำให้สุยอ่อนแอลงอย่างหนัก สมบัติที่สุยเหวินตี้สะสมมาด้วยความสมถะมัธยัสถ์ได้มลายหายไปโดยสุยหยังตี้เช่นนี้เอง

จากสถานการณ์ต่างๆ ที่สุยหยังตี้ทรงก่อขึ้นจึงค่อยๆ นำความเสื่อมมาให้แก่สุยในที่สุด ชัยชนะที่มีต่อโกกูเรียวที่แม้จะสร้างชื่อและเดชานุภาพให้แก่สุยหยังตี้ แต่เอาเข้าจริงกลับเป็นชัยชนะที่ไร้ความหมาย

 

วาระสุดท้ายของสุย

“ผู้ใดหนอที่จักบั่นศอเศียรอันงามสง่านี้”

วาทะประวัติศาสตร์ประโยคนี้เป็นของสุยหยังตี้ที่ทรงกล่าวกับมเหสีขณะทรงส่องตนอยู่หน้าคันฉ่อง วาทะที่ไม่เป็นสิริมงคลนี้สื่อให้รู้ว่า สุยหยังตี้ทรงรู้ดีว่าเสนามาตย์บางกลุ่มบางคนและราษฎรกำลังเคืองแค้นตน และพร้อมที่จะสังหารตนเมื่อไรก็ได้

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะสุยหยังตี้ได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่ไพร่พลและราษฎรอย่างแสนสาหัส เป็นความเดือดร้อนที่มิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์อันใด นอกจากสนองตอบต่อชีวิตที่เสพสุขและมายาคติของสุยหยังตี้เท่านั้น

ความเสื่อมของสุยที่มาจากน้ำมือของสุยหยังตี้นี้สะสมมาอย่างยาวนาน เป็นความเสื่อมที่เกิดจากโครงการคลองขุดเพื่อให้สุยหยังตี้หาความสำราญ การสร้างขยายกำแพงเมืองจีน หรือการทำศึกกับโกกูเรียว เป็นต้น ล้วนต้องใช้แรงงานและทหารเกณฑ์จำนวนมหาศาล

จนเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาคการเกษตรอย่างหนัก เนื่องจากแรงงานในชนบทเหลือแต่เด็ก สตรี และคนชรา ผลผลิตที่ได้จึงลดลงอย่างมาก ซ้ำร้ายเมื่อฐานะการคลังของสุยเริ่มสั่นสะเทือน ราษฎรยังถูกขูดรีดภาษีและต้องแบ่งผลผลิตให้ทางการมากขึ้น

ถึงตอนนั้นจีนทั้งแผ่นดินก็ตกอยู่ในวิกฤตอย่างหนักจนมีคำกล่าวเปรียบเปรยว่า ทางเหนือของแม่น้ำเหลืองไร้ควันไฟ (จากการหุ่งหาอาหารของราษฎร) สองฟากฝั่งแม่น้ำฉัง (แยงซีเกียง) และแม่น้ำฮว๋ายหญ้าขึ้นรกร้าง

เมื่อความเลวร้ายเช่นนี้สะสมมากขึ้นเรื่อยๆ การกบฏก็เกิดขึ้นโดยทั่วไป กล่าวกันว่า ตราบจน ค.ศ.616 แผ่นดินจีนกว่า 2 ใน 3 ได้ตกเป็นเขตอิทธิพลของกบฏกลุ่มต่างๆ ซึ่งในสายตาของสุยหยังตี้กลับมองกบฏเหล่านี้เป็นเพียง “กลุ่มโจร” เท่านั้น

เหตุดังนั้น แม้สุยหยังตี้จะทรงรู้ตนว่ากำลังเป็นที่เกลียดชัง แต่ที่ตีค่าขบวนการกบฏต่ำเช่นนั้นจึงไม่ต่างกับการประมาท

 

กบฏขบวนการแรกๆ เริ่มก่อตัวขึ้นใน ค.ศ.611 หลังจากนั้นการกบฏอื่นก็เกิดตามมาอีกราว 50 ขบวนการ ในบรรดานี้มีห้าขบวนการที่โดดเด่น พอเวลาผ่านไปก็เหลือสามขบวนการที่ขับเคี่ยวกัน โดย 1 ใน 3 ขบวนการที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ หวากั่ง

แต่แรกเริ่มเดิมทีกบฏหวากั่งก็เหมือนกบฏทั่วไปที่มีผู้ก่อตั้งและหัวหน้าขบวนการ แต่อยู่มาวันหนึ่งกบฏนี้ได้รับเอาบุคคลหนึ่งชื่อ หลี่มี่ (ค.ศ.582-619) เข้ามาในขบวนการ หลี่มี่มีภูมิหลังมาจากตระกูลผู้ดี ทั้งบิดาของเขาและตัวเขาเองต่างเป็นขุนศึกของสุย

จนถึงช่วงที่สุยหยังตี้เข้าสู่ความเสื่อมนั้น เขาและผู้บังคับบัญชาของเขาได้ก่อการกบฏขึ้น แต่ถูกทัพของสุยหยังตี้ตีแตกจนพ่ายแพ้ ส่วนตัวเขาหนีรอดมาได้ และร่อนเร่พเนจรหนีการจับกุมของทางการราวสองปี จนต้องขอเข้าร่วมกับกบฏหวากั่ง

นับแต่ที่ร่วมกับกบฏหวากั่งนั้น หลี่มี่ได้แสดงความสามารถของเขาให้เป็นที่ประจักษ์ จนได้เลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้นเป็นระยะ ความสามารถของเขาทำให้กำลังกบฏเข้มแข็งมากขึ้น ถึงตอนนี้หลี่มี่จึงได้สังหารหัวหน้ากบฏและยึดอำนาจนำมาเป็นของตน

การที่หลี่มี่กระทำเช่นนี้ได้ทำให้กบฏหวากั่งแตกแยกกันอย่างรุนแรง แต่ในระหว่างนี้เองขุนศึกของสุยที่มีชื่อว่า อี่ว์เหวินฮว่าจี๋ (มรณะ ค.ศ.619) ได้ใช้เชือกรัดพระศอของสุยหยังตี้จนสิ้นพระชนม์ที่เจียงตูใน ค.ศ.618

หลังเหตุการณ์นี้เสนามาตย์ของสุยหยังตี้กลุ่มหนึ่งได้เชิญชวนหลี่มี่ให้มาเข้าร่วมด้วย โดยเสนอว่าจะให้ตำแหน่งขุนนางชั้นสูงแก่หลี่มี่ ฝ่ายหลี่มี่ซึ่งมีแรงปรารถนาในลาภยศเป็นพื้นเดิมอยู่แล้วจึงตอบรับคำเชิญชวนนั้น มิไยที่เสนามาตย์ข้างกายจะทัดทานสักปานใดก็ตาม เขาก็หาฟังไม่

จนเมื่อเข้าร่วมแล้วหลี่มี่จึงนำกำลังของตนเข้าทำศึกกับกำลังของอี่ว์เหวินฮว่าจี๋ การศึกครั้งนี้แม้ทัพของหลี่มี่จะเป็นฝ่ายชนะ แต่ก็ได้รับความเสียหายอย่างหนักเช่นกัน

จากนั้นหลี่มี่จึงนำทัพกลับเพื่อไปรับตำแหน่งที่เมืองลว่อหยัง แต่การณ์กลับปรากฏว่า เสนามาตย์ที่เชิญชวนให้เขาเข้าร่วมได้ถูกกบฏอีกกลุ่มหนึ่งสังหารเสียแล้ว

และกบฏกลุ่มนั้นก็กำลังนำทัพมาทำศึกกับทัพหวากั่งของเขา

 

การศึกคราวนี้ทัพของหลี่มี่พ่ายแพ้อย่างย่อยยับ หลี่มี่จึงนำกำลังที่เหลืออยู่ไม่กี่สิบนายหนีไปยังบริเวณกวานจงหรือแอ่งลุ่มแม่น้ำเว่ย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ราบภาคกลาง แล้วไปยอมจำนนต่อกบฏอีกขบวนการหนึ่งภายใต้การนำของผู้ที่มีชื่อว่า หลี่ยวน ผู้ซึ่งจะพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์จีนในกาลต่อไป

ในที่สุดราชวงศ์สุยก็ล่มสลายลงเมื่อสุยหยังตี้ถูกปลงพระชนม์ใน ค.ศ.618 โดยเศียรของพระองค์มิได้ถูกบั่นดังที่เคยตรัสเป็นลางสังหรณ์ และโดยทั้งก่อนและหลังสิ้นพระชนม์นั้นการกบฏยังคงเกิดขึ้นโดยทั่ว แต่ที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติคือ หลังสุยหยังตี้สิ้นพระชนม์ไปแล้ว บรรดาเสนามาตย์ที่ยังจงรักภักดีต่อสุยยังคงสถาปนาจักรพรรดิขึ้นมาสืบต่อ

แต่โดยทั่วไปแล้วก็มิได้นับในเชิงอำนาจ เนื่องเพราะอำนาจนั้นมิได้มีอยู่จริง

—————————————————————————————————

(1) โกกูรยอเป็น 1 ใน 3 รัฐของเกาหลีในยุคที่เรียกว่า สามอาณาจักรแห่งเกาหลี (Three Kingdoms of Korea) ซึ่งจัดอยู่ในห้วงระหว่าง 57 ปีก่อนคริสตกาล ถึง ค.ศ.668 อีกสองรัฐคือ แพกเจ (Baekje) และซิลลา (Silla) ชื่อของสามรัฐนี้มีนัยเดียวกับชื่อราชวงศ์ โดยชื่อของโกกูรยอนี้ต่อมาถูกเรียกกร่อนเป็นโกรยอ (Goryeo) และเรียกสลับกับอีกเสียงหนึ่ง โคเรียว (Koryeo) ชื่อที่ถูกเรียกกร่อนนี้คือที่มาของคำว่า เกาหลี ในเวลาต่อมา