E-DUANG : ​​กัมปนาท เสียงปืน จากยะลา ผลสะเทือนจาก “รัฐประหาร”

เสียงปืนอันดังขึ้นที่ศาลจังหวัดยะลากำลังดังกึกก้องไปในขอบเขต ทั่วประเทศ กระทบอย่างลึกซึ้งถึงขบวนการ”ตุลาการ”

ยิ่งมีความพยายามทำให้การลั่นกระสุนที่ศาลจังหวัดยะลา

“ด้อยค่า”มากเพียงใด ยิ่งสะท้อนความขัดแย้ง ความแตกแยกที่ดำรงอยู่ในสังคมไทย

เกิดคำถามถึงกระบวนการ”ตุลาการภิวัฒน์“อันปรากฏขึ้นตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

เป็นคำถามว่าส่งผลดีหรือส่งผลเสียกันแน่ เป็นคำถามด้วยความวิตกว่าเหตุใดจึงมากัมปนาทขึ้นในเดือนกันยายน 2562

สะท้อนถึงความกังขาต่อพื้นที่แห่ง”อำนาจตุลาการ”

 

สังคมจะไม่สามารถเข้าใจถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่รุกเข้าไปในพื้นที่ตุลาการได้อย่างเด็ดขาด หากไม่ตอบคำถามถึงสภาพการณ์ ใกล้เคียงกันนี้อันเกิดกับทหารและกองทัพ

รู้สึกหรือไม่ว่าก่อนการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 ได้มีการเอ่ยถึงทหารและกองทัพอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

สัมผัสได้ผ่านนโยบาย”ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร”

สัมผัสได้ผ่านนโยบายการตัดทหารออกจากวงจรของการเมืองเพื่อตัดวงจรของ”รัฐประหาร”

สัมผัสได้ผ่านความอ่อนไหวต่อการซื้อยุทโธปกรณ์

ไม่ว่ากรณีอุทยานราชภักดิ์ ไม่ว่ากรณีจีที 200 ไม่ว่ากรณีรถหุ้มเกราะยูเครน ไม่ว่ากรณีเรือเหาะที่ไม่สามารถเหาะได้ ไม่ว่ากร ณีการซื้อเรือดำน้ำ

เป็นผลสะเทือนจากการที่ทหารเข้าไปมีบทบาทในการรัฐประ หารเมื่อเดือนกันยายน 2549 เป็นผลสะเทือนจากการที่ทหารเข้าไปมีบทบาทในการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

ทั้งหมดจึงติดอยู่กับตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

คำถามที่ว่าทำไมจึงเกิดปฏิกิริยาและผลสะเทือนต่อกระบวนการทำงานของอำนาจตุลาการ ก็ต้องตอบคำถามที่ว่าทำไมทหารจึงตกเป็นเป้าในการวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างสูง

ส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์ก่อนรัฐประหารปี 2549

ส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 และส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นผลพวงจากขบวนการ”รัฐประหาร”