ส่องปฏิกิริยา-วาทะผู้นำ ตรรกะวิบัติตรงไหน ไปหาคำตอบจาก ศ.โสรัจจ์ ปรัชญา จุฬาฯ

“เธอต้องเชื่อฉัน ไม่งั้นฉันจะตีหัวเธอ”

คือตัวอย่างที่เด่นชัดที่สุดในการอธิบายเรื่องตรรกะวิบัติกับสังคมไทยภายใต้รัฐบาลของ คสช. ศ.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบาย

อาจารย์โสรัจจ์อธิบายว่า เมื่อเทียบกับในตำรา การใช้อำนาจเข้าข่ม เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญ เพราะการที่ผู้พูด (ในเวลาคนจะถกหรืออภิปรายกัน) จากที่เคยมีพื้นเพอำนาจทางทหารมาก่อนชอบใช้แบบนี้ เพราะเขาไม่ค่อยเห็นความสำคัญของเรื่องเหตุ-ผล เขาเห็นความสำคัญของกระบองที่อยู่ในมือเขา

“เธอต้องเชื่อฉัน ไม่งั้นฉันจะตีเธอ” มันเป็นตรรกะวิบัติชัดเจนแน่นอน เพราะว่ามันไม่ได้เป็นตัวการันตีว่า การที่ฉันต้องเชื่อเธอ มันสมควรเชื่อเพราะเป็นไปตามหลัก-ผล แต่กลายเป็นว่าต้องยอมเชื่อเพราะว่ากลัวโดนตี

ศ.โสรัจจ์อธิบายเพิ่มเติมว่า เราจะสังเกตเห็นได้ชัดเจนในตอนแรกที่เข้ามาควบคุมอำนาจใหม่ๆ มีหลายคนโดนจับเข้าค่ายทหาร เปรียบได้กับการมีกระบองอยู่ในมือ นัยยะก็คือว่า การเข้าค่ายจะเป็นตัวอย่างให้คนอื่นๆ กลัว ให้รู้ว่าข้าพเจ้ามีอำนาจ อย่าพูดอะไรเกินเลยออกไป ซึ่งบางครั้งไม่ได้เป็นการพูดอะไรที่เกินเลย บางข้อมูลที่นักวิชาการนำมาเสนอเป็นประโยชน์แก่ประเทศโดยรวมด้วยซ้ำไป

หากจะกล่าวถึงภาพใหญ่ๆ รวมๆ ไม่ได้พูดถึงแค่ตัว พล.อ.ประยุทธ์เพียงคนเดียว เมื่อเราพิจารณาดูถึงหลักการ มักจะมีการทำให้เกิดความเข้าใจตัวเองผิดไปว่า อะไรที่เป็นผลดีแก่ตัวเอง จะกลายเป็นผลดีต่อประเทศชาติด้วย

แล้วอะไรที่เสียแก่ตัวเอง ก็กลายเป็นผลเสียต่อประเทศ กลับกลายเป็นว่ามองตัวเองเป็นประเทศไทยไปเฉยเลย

เพราะฉะนั้น นักวิชาการหรือนิสิต-นักศึกษาที่มาโจมตีนโยบายรัฐบาลหรือภาวะบุคลิกภาพของผู้นำ ของนายกฯ ก็เลยถูกมองไปว่าทำให้ประเทศเสียความมั่นคง ซึ่งมันคนละอย่าง


ภาษาวิชาการในทาง Logic คือ “การทำให้เป็นสถาบัน” ทำให้เป็น “สิ่งของ” หมายความว่า อะไรที่ทำให้ตัวประยุทธ์เสียความมั่นคง ก็จะกลายเป็นว่าทำให้ประเทศเสียความมั่นคง เท่ากับว่า ตัวเอง = ประเทศ ซึ่งมันไม่ใช่ และเป็นอะไรที่ประชาชนต้องระวัง

มีภูมิคุ้มกันเอาไว้

สําหรับ “ตรรกะวิบัติ” อธิบายอย่างสั้นๆ คือ การใช้เหตุผลที่มันผิดหลัก มีอยู่หลายแบบ อย่างที่ ศ.โสรัจจ์สอนวิชาการใช้เหตุผลหรือการคิดเชิงวิจารณ์เป็นหัวข้อใหญ่ ตัวอย่างเช่น เธอพูดอะไรไม่น่าเชื่อถือ เพราะว่าเธอเรียนไม่เก่ง นี่คือตรรกะวิบัติ เป็นการโจมตีที่ตัวบุคคล คือการที่เราไม่อยากจะเชื่อข้อสรุปของการอ้างเหตุผลนั้น ซึ่งในหลักการผิดหลักมีวิธีเยอะมาก

ความสำคัญในการมองว่าตรรกะวิบัติตรงไหน มีประโยชน์อย่างมาก เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นพลเมืองที่ดี ในสังคมสมัยใหม่ในระบอบประชาธิปไตย เราจะต้องมี “ภูมิคุ้มกันจากการถูกหลอก” โดยมีผู้ทำให้หลงเชื่อ ซึ่งมีคนพยายามทำให้เราเชื่อนั่นเชื่อนี่โดยวิธีการไม่ต้องใช้ความคิด-เหตุผลอะไรมากมาย หรือการใช้อารมณ์นำ ก็เกิดผลเสียในภาพรวม เพราะว่าเราตกเป็นเครื่องมือ ของใครต่อใครที่มีวาระซ่อนเร้นอยู่

ยกตัวอย่างคลาสสิค เช่น “การอ้างเรื่องความสงบ” มักจะมีการอ้างว่า ถ้าผมไม่เข้ามา ป่านนี้สังคมจะ… อ.โสรัจจ์ มองว่า มีความเป็นจริงระดับหนึ่งในช่วงต้นสถานการณ์ กรณีถ้ามีการรบกัน มีคนตายจำนวนมากเกิดความรุนแรงมหาศาล ก็อาจจะอ้างได้

แต่ไม่ใช่ว่าการที่เข้ามาอยู่นานถึง 5 ปี ชุดเหตุผลข้อนี้ที่อ้างตั้งแต่ตอนแรก มันควรจะจบไปนานแล้ว

ทีนี้การที่อ้างอยู่เรื่อย ๆ มันเป็นการอ้างเหตุผลผิดอีกแบบหนึ่งตามหลักของนักตรรกวิทยา เพราะเป็น “การสร้างความกลัว” หรือ “สร้างตัวเลือกที่ผิด” หรือ false Dilemma

คือการทำให้เชื่อว่า โลกนี้มีทางเลือกอยู่แค่ 2 ทางแค่นั้น หมายความว่า ถ้าไม่ใช่ประยุทธ์ ก็จะมีการรบกัน ไม่มีความสงบ ต้องมีคนตายจำนวนมาก

คนก็เกิดความกลัวและถูกทำให้เชื่อว่ามีทางเหลืออยู่แค่นี้ ก็เลยต้องเลือกเขา

การอ้างเหตุผลในลักษณะนี้ การใช้คำพูดแบบนี้บ่อยๆ ศ.โสรัจจ์มองว่ามันเป็นวิธีการของผู้ที่ชอบใช้อำนาจ หรือทหาร ที่หาเหตุผลในการดำรงอำนาจของตัวเองต่อ ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะแค่ในประเทศไทย ชุดความคิดแบบนี้มีอย่างยาวนาน มีมาตั้งแต่ 2-3 พันปีที่แล้ว ที่มีจอมเผด็จการ หรือผู้ที่ยึดอำนาจก็อ้างในลักษณะนี้ ว่าจะเลือกอย่างไหนระหว่างความไม่สงบสงครามกลางเมืองรบกัน หรือตัวของข้าพเจ้า

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง มันจะต้องมีทางเลือกที่ 3 ที่ 4 อยู่เสมอ

เพียงแต่ว่าประชาชนถูกทำให้เชื่อด้วยวิธีการต่างๆ มีคนมาพูดซ้ำๆ มีลิ่วล้อตอกย้ำ มีการออกกฎหมาย ห้ามคนอื่นพูด คนพยายามเสนอทางเลือกที่ 3 ก็โดนจับไป มันก็เลยทำให้คนเกิดความหวาดกลัวขึ้นมา และถูกทำให้เชื่อว่ามีทางนี้ทางเดียว

มันเป็นเทคนิคยอดฮิตมาอย่างยาวนานเป็นพันๆ ปี

สำหรับหน้าที่ของพลเมืองก็ต้องแยกแยะให้ออกว่าอะไรคือ “ข้อเท็จจริง” อะไรคือ “ข้อคิดเห็น” ซึ่งจุดนี้ไม่ง่ายเท่าไหร่ เพราะอะไรก็ตามที่เป็นข้อเท็จจริง เอาแค่สื่อแต่ละสำนักก็เสนอไม่ค่อยจะเหมือนกัน

ทีนี้เราก็ต้องดูความน่าเชื่อถือของสำนักข่าว ให้ดูจากชื่อเสียงในอดีตเป็นอย่างไร เขาเสนอข่าวแบบไหนมา มีเครดิตชื่อเสียงแบบไหนในภาพรวมที่ปรากฏแก่คนทั่วๆ ไป

เพราะบางสำนักข่าว หากเราอ่านลีลาการเขียนข่าวเขาแล้วเราจะรู้เลยว่า เขาจงใจที่จะบรรลุเป้าหมายอะไรบางอย่าง

และเป้าหมายนั้นไม่ใช่เพียงแค่การเสนอข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น มันมักจะมีอะไรซ่อนอยู่

ศ.โสรัจจ์ยกตัวอย่าง ไปตรวจน้ำท่วมอุบลราชธานี พล.อ.ประยุทธ์พูดหลายประโยคทอง เช่น การแซะ ส.ส.เพื่อไทยไม่มาต้อนรับ, บางคนน้ำท่วมไม่พ้นขาหมาก็ทำมาลงพื้นที่ ฯลฯ

อ.โสรัจจ์มองว่า ไม่รู้อะไรอยู่ในใจของนายกรัฐมนตรีเวลาเขาพูดประโยคเหล่านี้ออกมา ซึ่งอาจจะต้องไปถามนักจิตวิทยา หรือแพทย์

แต่จากตัวคำพูดที่ออกมามันแสดงว่าเขาไม่เข้าใจบทบาทของ ส.ส.

ส.ส.ไม่ใช่ลูกน้อง ไม่เหมือนนายอำเภอ ที่เมื่อผู้บริหาร คณะรัฐมนตรีไปแล้วต้องไปต้อนรับ (ซึ่งผมเองก็ไม่ค่อยเห็นด้วยกับระบบต้อนรับในราชการบ้านเรา) ซึ่งบางครั้งผู้บริหารระดับจังหวัดอาจจะมีภารกิจสำคัญอยู่แต่ต้องหยุดภารกิจนั้น เพื่อมาต้อนรับนายกฯ และ ครม. ซึ่งเขาอาจจะกำลังช่วยชาวบ้านอยู่ก็ได้ ดันต้องทิ้งงานนั้นมายืนต้อนรับ เพื่อเป็นเกียรติแก่นายกฯ ถ้ามอง “เป้าหมาย” คือการแก้น้ำท่วม แก้ปัญหาให้ชาวบ้าน ก็ไม่จำเป็นที่ต้องพูดแบบนี้

พิจารณาดูสายงานบังคับบัญชา ส.ส.ก็ไม่ได้อยู่ใต้บังคับบัญชาของนายกฯ และนายกฯ ก็ถูกกำเนิดมาจากสภาด้วยซ้ำไป ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งผมไม่รู้เขาลืมหรือเปล่า เขาเพิ่งกำลังหัดเป็นนายกฯ ใต้รัฐธรรมนูญ แต่ก่อนนี้เป็นอีกแบบหนึ่ง สั่งได้หมด

กล่าวโดยสรุปก็คือ อาจจะมาจากความไม่เข้าใจของเขา แล้วก็มาจากอารมณ์หงุดหงิดจึงแสดงออกถึงความไม่พอใจ เพราะก่อนลงพื้นที่นี้เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก แต่เรื่องนี้จะต้องวิเคราะห์ในเชิงจิตวิทยา แต่เราต้องมองในเชิงเหตุผลวิบัติ ซึ่งมีหลายประโยค หลายกรณี

เช่น กรณีไปพูดกับคนไทยที่สหรัฐเรื่องไม่กล้าไปไหนคนเดียวกลัวถูกชกหน้า มันก็แสดงถึงความไม่มั่นใจที่ประชาชนจะต้อนรับเขาดีแค่ไหน

ตัวอย่างชัดเจนที่สุด ในเรื่องตรรกะวิบัติมีหลักการสำคัญอันหนึ่งคือ “ความคงเส้นคงวา” ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือกรณีการแสดงออก “เรื่องบัตร 30 บาท” ที่อดีต 4-5 ปี นายกฯ ก่อนโจมตีอย่างหนัก ตอนที่เขามีอำนาจใหม่ๆ มีความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงระบบ 30 บาท

มีข้อเสนอให้ประชาชนร่วมจ่ายเป็นเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเยอะมาก ถ้าค่าใช้จ่ายเป็นแสน ประชาชนก็จ่ายเป็นหมื่น

แต่การไปพูดที่นิวยอร์กที่ต้องไปโชว์ในแง่ประสบความสำเร็จ อวดชาวโลกได้ ก็ต้องลืมเรื่องพวกนี้ไป ก็ไปพูดเชิงบริการประชาชนได้รับบริการเท่ากัน ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

มองได้ว่า มันก็เป็นการแสดงภาวะผู้นำ ว่ามีการกลั่นกรองคำพูดที่จะออกมาจากปากอย่างไร มีวิสัยทัศน์อย่างไร ต่อให้มีกุนซือก็ช่วยบรีฟได้แค่ระดับหนึ่ง แต่หัวใจคือคำพูดต่างๆ ที่ออกมาจากความคิดของเขาเอง

การวิเคราะห์ในเชิงตรรกวิทยากรณีนี้ มันจะมีแนวคิดพื้นฐานหลักการอยู่ข้อหนึ่งคือเรื่องของความคงเส้นคงวา ซึ่งเป็นพื้นฐานมากๆ ในตรรกวิทยา คือบอกอย่างหนึ่ง ในวันนั้นก็ควรจะเป็นอย่างนั้นไป

ไม่ใช่ว่าวันหนึ่งพูดอย่างหนึ่ง อีกวันหนึ่งกลับพูดอะไรขัดกับที่เคยพูดมา คนก็สงสัย ความขัดแย้งตีกันกับอดีตที่มีจุดยืนอีกแบบ ขัดกันเอง คนก็เลยสงสัยว่าตกลงแล้วต้องเชื่อแบบไหน

ตกลงว่า 30 บาทดีหรือไม่ดี คงงงกันหมด

มันคงเป็นเรื่องของภาวะผู้นำแบบไหนที่เราควรจะฝากผีฝากไข้ ไว้ใจให้บริหารประเทศต่อไปได้

ตรรกะโซเชียลด่ารัฐบาล

ก็อย่าเอาเงินโครงการ “ชิม ช้อป ใช้” สิ

นี่เป็นตัวอย่างที่น่าถก


ผมขอตอบโดยยกตัวอย่างเปรียบเทียบ เช่น ผมทำงานในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ผมเองก็วิจารณ์เรื่องราวในมหาวิทยาลัยมานาน เป็นที่รู้กันในวงการ

สมมุติมีคนมาต่อว่าผมว่ารับเงินเดือนจากจุฬาฯ ทุกเดือน ทำไมยังมาด่าจุฬาฯ อีก

ก็เพราะผมเป็นอาจารย์ที่นี่และรักมหาวิทยาลัยแห่งนี้ไง ผมถึงแสดงความเห็น

การที่ผมรับเงินเดือนที่นี่ ยิ่งทำให้ผมรู้สึกต้องยิ่งพูดอะไรออกมา

เช่นเดียวกัน การรับเงินจากรัฐ ยิ่งต้องมี “หน้าที่ต่อรัฐ” ซึ่งมันเป็นคนละเรื่องกับจุดยืนต่อตัวบุคคล ต่อตัวผู้นำ เช่น พล.อ.ประยุทธ์ เราต้องแยกตัวผู้นำ กับส่วนรวม หรือรัฐ หรือประเทศออก เพราะรัฐหรือประเทศจะดำรงอยู่ แต่ตัวผู้นำจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ

ดังเช่น การที่ผมรับเงินรับงบประมาณแผ่นดินของรัฐมาทำวิจัย ซึ่งผลวิจัยหลายเรื่องก็ออกมาในแนววิพากษ์โครงการของรัฐบาล มันจำเป็นต้องทำ

ลองคิดดูว่า โครงการไหนเอาเงินรัฐบาลมาแล้วต้องอวยตลอด ประเทศไทยไม่สามารถพัฒนาเจริญก้าวหน้าไปไหนได้ เพราะเป็นการเอาเงินมาปิดปากนักวิจารณ์ว่า เธอรับเงินจากฉัน ต้องพูดดีเสมอไป แม้ฉันจะทำผิด สร้างความเสียหายให้ประเทศอย่างไรก็ห้ามพูดแง่ลบ

ซึ่งสำหรับหน้าที่ของ “ปรัชญา” ต่อสังคมไทยในวันนี้ สำคัญมากที่จะช่วยไม่ให้คนจะกลายเป็นซอมบี้ ผีดิบเดินได้ไปหมด กลายเป็นคนไม่มีความคิด โดนกรอกหู ถูกผู้มีอำนาจชักจูงไปทางไหนก็ได้ ปรัชญาจะเข้ามาช่วยทำหน้าที่คิด-พิจารณาเองได้ โดยฟังความรอบด้าน ไตร่ตรอง สิ่งนี้จริงไหม สิ่งนั้นใช่ไหม คือเป้าหมายสำคัญของการเรียนปรัชญา

ซึ่งเราพยายามผลักดัน ว่าควรจะมีการเรียนปรัชญาตั้งแต่ระดับประถมมา

แต่ทว่าผู้นำทางนโยบายการศึกษาบ้านเรายังมองไม่ค่อยเห็นความสำคัญ!

ชมคลิป