มุกดา สุวรรณชาติ : 6 ตุลา 19 หลังสิ้นกลิ่นยางไหม้และคาวเลือด กับ 43 ปี ยังค้นหาต่อไป

มุกดา สุวรรณชาติ

การดำเนินคดี 6 ตุลา
มีคนถูกจับ 3,226 คน
มีหลักฐานส่งฟ้องได้ 18คน

(ถูกจับเฉพาะในวันที่ 6 ตุลาคม 3,145 คน มีการนำคดี 6 ตุลาเข้าสู่ศาลทหาร ครั้งแรก 5 กันยายน 2520 สืบพยานฝ่ายโจทก์ 200 ปาก ดำเนินการมา 2 รัฐบาล เพราะเดือนตุลาคม 2520 รัฐบาลหอยถูกรัฐประหาร อีกครั้งโดยกลุ่มทหารเปลือกหอย คราวนี้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ขึ้นเป็นนายกฯ เอง)

หลังจากการสังหารหมู่ และจับผู้ชุมนุมไปขัง ต่อมาก็มีการไล่จับแบบกวาดล้างตามมหาวิทยาลัยทุกแห่ง มีการเข้าตรวจค้นทุกจุดไม่เว้นแม้แต่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้ผู้ต้องหาเพิ่มอีกเล็กน้อย รวมทั้งหมด 3,226 คน

ส่วนที่รอดไปได้ ก็หนีเข้าป่าหรือไปต่างประเทศ

คณะรัฐประหารและ CIA ถูกประณามจากนานาชาติว่าอยู่เบื้องหลังการกวาดล้างใหญ่ครั้งนี้ มีการขว้างระเบิด 4 ลูกเข้าใส่สถานทูตไทยโดยฝ่ายซ้ายอิตาลี ด้วยแรงกดดันต่างๆ จึงมีการให้ประกันผู้ที่ถูกจับกุม

ในเดือนมีนาคม 2520 ได้มีการสรุปสำนวนคดีและสั่งปล่อยผู้ต้องหา เนื่องจากหลักฐานไม่พอฟ้อง 3,080 คน (ซึ่งประกันและปล่อยตัวไปแล้ว)

สุดท้ายเห็นสมควรสั่งฟ้อง 18 คนที่อยู่ในคุก คือ

1.นายสุธรรม แสงประทุม 2.นายอภินันท์ บัวหะภักดี 3.นายสุรชาติ บำรุงสุข 4.นายประพนธ์ วังศิริพิทักษ์ 5.นายวิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ 6.นายมหินทร์ ตันบุญเพิ่ม 7.นายอารมณ์ พงศ์พงัน 8.นายประยูร อัครบวร 9.นางสาวสุชีรา ตันชัยนันท์ 10.นายอรรถการ อัปถัมภากุล 11.นายสุชาติ พัชรสรวุฒิ 12.นายธงชัย วินิจกุล 13.นายคงศักดิ์ อาษาภักดิ์ 14.นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล 16.นายโอริสสา ไอยราวัณวัฒน์ 17.นางสาวเสงี่ยม แจ่มดวง 18.นายเสรี ศิรินุพงษ์

ผู้ที่หลบหนีได้แต่ถูกออกหมายจับและมีการตั้งข้อหาร้ายแรง คือผู้นำนักศึกษา และแกนนำพรรคการเมือง จำนวน 32 คน เช่น 1.นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล 2.นายเกรียงกมล เลาหไพโรจน์ 3.นายสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ 4.นายธีรยุทธ บุญมี 5.นายพีระพล ตรียะเกษม 6.นายพินิจ จารุสมบัติ 7.นายเหวง โตจิราการ 8.นายสมาน เลือดวงหัด 9.นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ 10.นายตา เพียรอภิธรรม 11.นายวิรัตน์ ศักดิ์จิระภาพงษ์ 12.นายชีรชัย มฤคพิทักษ์ 13.นายชัชวาล ปทุมวิทย์ 14.นายสวาย อุดมเจริญชัยกิจ 15.นายวิจิตร ศรีสังข์ 16.นายประสาน สินสวัสดิ์ 17.นายพิเชียร อำนาจวรประเสริฐ 18.นายพลากร จิระโสภณ 19.นายบุญส่ง ชเลธร 20.นายก้องเกียรติ คงคา 21.นายจารุพงษ์ ทองสิน 22 นายจาตุรงค์ บุญยรัตนสุนทร ฯลฯ

หลังเหตุการณ์ใหม่ๆ มีการตั้งข้อกล่าวหาให้กับผู้ที่เสียชีวิต บาดเจ็บ และผู้ที่ถูกจับกุมด้วยข้อหาที่ร้ายแรงต่างๆ มีโทษถึงประหารชีวิต และจำคุกตลอดชีวิต

คำบรรยายฟ้องระบุความผิด ตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2516 – 6 ตุลาคม 2519 แสดงว่าชนชั้นปกครอง หลัง 14 ตุลาคม 2516 ยอมรับให้นักศึกษาเป็นวีรชนอยู่ไม่ถึง 3 เดือน ก็มองว่าแกนนำกลุ่มนี้เป็นคอมมิวนิสต์ เมื่อเสร็จศึกกำจัด 2 จอมพลได้ จึงกวาดล้างครั้งใหญ่ แบบที่เรียกว่า ตามจับ ตามฆ่า ล่าถึงบ้าน พวกที่หนีเข้าป่า ไม่เสียเปรียบ เพราะมีปืนพอสู้ได้ (ตอนนั้นเกิดสงครามจรยุทธ์เกือบทุกภาค แค่เดือนเมษายน 2520 ต้องทำพิธีศพเจ้าหน้าที่ถึง 553 คน พวกที่อยู่ในป่าไม่มีตัวเลขว่าเสียหายเท่าไร ในทางยุทธศาสตร์คือ สงครามกำลังขยายอย่างรวดเร็ว)

พวกที่จะสู้ข้อกล่าวหาในศาลทหาร มีทีมกฎหมายและทนายช่วย โดยใช้ความจริงมาสู้ ยืมปากพยานโจทก์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เปิดโปงความจริงต่อหน้าประชาชน และตัวแทนทูตจากนานาชาติ

 

เรามาดูคำให้การของพยานปากที่ 10 ที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และฝ่ายที่ถูกยิง ต่อ

พยานปากสุดท้ายได้ให้การว่า

“ขึ้นไปบนพิพิธภัณฑ์สังเกตการณ์แล้วกลับลงมาโดยไม่มีการยิงเข้าไปภายในมหาวิทยาลัย”

ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เดินทางไปก็ได้รับคำสั่งไประงับเหตุด้วยการกันไม่ให้ประชาชนเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่พยานยอมรับว่า การที่พยานนำกำลังบุกเข้าไปนั้น เป็นการกระทำที่ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา แต่ก็ไม่ได้ถูกตั้งกรรมการสอบสวนแต่อย่างใด

พยานให้การต่อไปว่า กำลังเจ้าหน้าที่ที่ไปอยู่ในเหตุการณ์มีประมาณ 200 คน

ส่วนเหตุการณ์ที่นักศึกษาที่ถูกจับถูกบังคับให้ถอดเสื้อรวมทั้งนักศึกษาหญิงด้วย เหตุการณ์ทารุณนักศึกษา เช่น การทุบตีจนตาย จับแขวนคอที่ต้นมะขามสนามหลวง พยานไม่เห็น แต่ทราบจากหนังสือพิมพ์

พร้อมเปิดเผยความรู้สึกว่า หากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นจริง นับเป็นการกระทำที่โหดร้ายทารุณ

กรณีที่มีข่าวว่าจับผู้ต้องหาที่เป็นชาวญวนและพบซากสุนัข พยานปฏิเสธว่าไม่พบตามคำกล่าวอ้างแต่อย่างใด (แสดงว่ายิงเสร็จก็ออกจากพื้นที่)

 

คำให้การของผู้รอดชีวิตจากการซุ่มยิง

1.เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงคือ หน่วยที่ลอบยิง ซุ่มอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจริง จึงมองเห็นนักศึกษาอยู่ที่ถนนบริเวณหอใหญ่จริง มีโต๊ะไม้เป็นที่กำบังจริง เราก็มองเห็นพวกเขา

2. บริเวณหน้าประตูหอใหญ่ยังไม่มีเหตุการณ์รุนแรง ยังไม่มีใครบุกเข้ามา หน่วย รปภ.ยังนั่งคุยกันทั้ง 2 หน่วย บางคนยืน บางคนนั่ง กำลังเจ้าหน้าที่ที่ซุ่มอยู่ในพิพิธภัณฑ์เมื่อหลายนาทีก่อนก็ยังยืนหรือนั่งตามปกติ แต่อยู่ดีๆ ก็มีเสียงปืนดังขึ้น รปภ.ก็ล้มลง

เมื่อมีการค้นคว้าสืบสวน กรณีนี้จึงมีวัดระยะจากจุดที่เห็นคนซุ่มยิง มายังเป้าหมายทั้งสองแนว ได้ประมาณ 30-40 กว่าเมตร ขึ้นอยู่กับว่าใครจะยืนอยู่ตรงไหน

3. มีคนช่วย ด้วยการยิงเตือน

หลังจากใช้เวลาค้นหา หน่วยที่ใช้อาวุธปืนยิงว่าเป็นใครและเห็นชนิดของอาวุธซึ่งเป็น HK 33 พวกเราซึ่งเคยผ่านการใช้อาวุธ ช่วงที่หลบหนีเข้าป่าและกลับมาย้อนดูเหตุการณ์ก็พบว่าระยะยิงจากชั้น 2 พิพิธภัณฑ์ถึงกลุ่ม รปภ.แถวที่ 1 น่าจะอยู่ที่ระยะไม่เกิน 35 เมตร แถวที่ 2 น่าจะอยู่ที่ระยะ 42 เมตร ผู้ใช้อาวุธมาจากหน่วย SWAT ฝึกมาเป็นอย่างดีใช้ปืนไรเฟิลอัตโนมัติ HK 33 สามารถตั้งแนวยิงได้ถนัด เป็นไปไม่ได้ที่จะยิงผิดห่างจากหัวเราไปถึง 1 เมตร ขนาดพวกเราซึ่งฝึกไม่เท่าไรยังสามารถยิงถูกเป้าระยะนี้ไม่ออกนอก 1 ตารางฟุตแน่

ดังนั้น จึงเห็นว่าคนยิงชุดแรกมีหลายคน ตั้งใจยิง รปภ.แถวแรกร่วงทันที อาจบาดเจ็บบางคนและเสียชีวิตบางคน พวกเขาล้มลง ในขณะที่เหนือแนวที่สอง ปืนอีกกระบอก ยิงใบไม้ขาดกระจุย จึงรู้ว่าถูกยิงแล้ว เรารีบหมอบขณะที่เห็นภาพแถวแรกล้มลง จากนั้นกระสุนชุดที่ 2-20 ก็ยิงเข้าใส่จนไม่อาจนับได้ว่าจำนวนเท่าใด แต่รู้ว่าหลายร้อยนัด มีความมุ่งหมายสังหาร ถ้าตายหมดก็ไม่มีใครเป็นพยาน แต่มีคนรอดตาย 4-5 คน

ผมไม่รู้ว่าคนที่ยิงตัดใบไม้เหนือหัวผม ตั้งใจยิงเตือนหรือมือสั่น หรือเป็นยอดฝีมือ แต่ถ้าต่ำลงมาอีก 1 เมตร พวกเรา 3-4 คนกระจุยแน่ สุดท้ายไม่ว่าจะเป็นเพราะอะไรก็ต้องแสดงความขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

 

วิเคราะห์

1.”ขึ้นไปบนพิพิธภัณฑ์สังเกตการณ์แล้วกลับลงมาโดยไม่มีการยิงเข้าไปภายในมหาวิทยาลัย”

ซึ่งขัดกับคำให้การของหน่วย รปภ.ที่รอดชีวิตมาและสภาพศพที่นอนตายอยู่บริเวณถนนและด้านข้างหอประชุมใหญ่ ในคดีนี้ไม่มีการพิสูจน์วิถีกระสุน รายละเอียดของคำให้การจากเจ้าหน้าที่บอกว่า ระยะที่นักศึกษาตั้งที่กำบังอยู่ห่างจากพิพิธภัณฑ์ 100-200 เมตรก็ไม่เป็นความจริง เพราะระยะจริงคือ 30 กว่า-50 เมตร

เป็นไปไม่ได้ว่าคนระดับผู้บังคับกองร้อยจะกลับลงมาข้างล่างและปล่อยให้ลูกน้องกว่าอีก 20 คน ยิงสังหารนักศึกษาที่เป็น รปภ.โดยไม่มีใครสั่งหรือใครรู้ใครเห็น ที่สำคัญในเวลา 7 โมงเช้า มีพยานคนอื่นได้พบเห็นผู้บังคับบัญชาระดับพลตำรวจโทสองคนอยู่ในบริเวณพิพิธภัณฑ์ คนที่ตัดสินใจภาคสนาม มียศสูงขนาดนี้ คนยิงจึงมั่นใจ กล้ายิง การขึ้นลงครั้งนี้น่าจะเป็นการไปรับคำสั่งที่ไม่กล้าสั่งทางวิทยุสื่อสาร

คำถามคือ ใครเป็นคนสั่งการให้ยิงนักศึกษาเหล่านั้น เพราะสถานการณ์ข้างหน้ายังไม่มีความรุนแรงใดๆ ไม่ได้มีการปะทะกัน งานแบบนี้ต้องมีคำสั่งพิเศษ

2. การยิงทำลายหน่วยรักษาความปลอดภัย ก็เพื่อเปิดทางให้หน่วยอื่นบุกเข้าไปในธรรมศาสตร์ คือจุดเปลี่ยนของสถานการณ์ที่ทำให้เกิดการสังหารโหดอย่างนองเลือดกลางเมือง ถ้าหากฝ่ายตำรวจไม่ต้องการให้เกิดเรื่องแบบนั้น ก็สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะฝ่ายนักศึกษาได้ตรึงกำลังตั้งแต่ช่วงกลางคืนจนถึงเช้าโดยไม่มีการปะทะกัน ทั้งยังเตรียมสลายการชุมนุมและมอบตัวอยู่แล้ว

ถ้ารัฐบาลส่งกำลังตำรวจมาและปฏิบัติการเหมือนเมื่อครั้งการประท้วงจอมพลประภาสในบ่ายวันที่ 22 สิงหาคม 2519 โดยปิดล้อมมหาวิทยาลัยและให้นักศึกษาเดินออกทางประตูท่าพระจันทร์ทั้งหมด เรื่องร้ายแรงก็จะไม่เกิดขึ้น

3. แต่การกระทำที่เกิดขึ้นวันนั้น เห็นชัดว่าเป็นเจตนาต้องการให้เกิดเรื่องเพื่อสร้างสถานการณ์รัฐประหารนั่นเอง ฝ่ายที่วางแผนหวังว่าจะเกิดเรื่องแล้วควบคุมได้ แต่การปลุกระดมทำไว้แรงเกินไป คุมไม่ได้ ผลเลวร้ายจึงออกมาประจานคณะปฏิรูปฯ ที่กลางสนามหลวง จนเกิดกระแสต่อต้านทั่วโลก

บันทึกของศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ.2519 เกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา ท่อนหนึ่งได้เขียนว่า…

มีพยานหลักฐานแสดงว่าผู้ที่ต้องการจะทำการรัฐประหารนั้นมีอยู่อย่างน้อย 2 ฝ่าย ฝ่ายที่กระทำรัฐประหารเมื่อเวลา 18 น. วันที่ 6 ตุลาคม กระทำเสียก่อน เพื่อต้องการมิให้ฝ่ายอื่นๆ กระทำได้ ข้อนี้อาจจะเป็นจริง

เพราะปรากฏว่า พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ นักทำรัฐประหารถูกปลดและไปบวชอาศัยกาสาวพัสตร์อยู่ที่วัดบวรนิเวศฯ เช่นเดียวกับจอมพลถนอม พล.ต.ท.วิฑูร ยะสวัสดิ์ ก็รีบรับคำสั่งไปประจำตำแหน่งพลเรือนที่ประเทศญี่ปุ่น

 

การนิรโทษกรรม
ที่เร็วที่สุดในโลก 24 ช.ม.จบ
เพื่อให้เลิกค้นหาความจริง
และไม่ให้คนยิง คนสั่ง มีความผิด

ยิ่งสืบพยานมากไปเท่าใด แทนที่ฝ่ายนักศึกษาจะเพลี่ยงพล้ำ กลับกลายเป็นความจริงถูกเปิดเผยมากขึ้น ใครมาจากหน่วยไหน ใช้อาวุธอะไร มาล้อมฆ่านักศึกษา ถ้าได้สืบพยานต่อ ความจริงจะต้องถูกเปิดเผยออกมาแน่ ว่าคนสั่งแต่ละชั้นเป็นใคร และจะต้องถูกดำเนินคดี

พ.ร.บ.นิรโทษกรรม 6 ตุลาคม ผ่านสภา 3 วาระรวด ในวันเดียว

14 กันยายน กำลังสืบพยานที่ศาลถึงจุดสำคัญ นอกศาล รัฐบาลก็แก้เกม 15 กันยายน 2521 พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีก็ได้นำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม คดี 6 ตุลาคม 2519 เข้าสู่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติ

โดยอ้างว่าการพิจารณาคดี 6 ตุลายืดเยื้อ กลัวว่าจำเลยจะเสียอนาคตในการศึกษา และการชุมนุมดังกล่าว เกิดจากความไม่เข้าใจเพราะเยาว์วัยและขาดประสบการณ์ รัฐบาลนี้ประสงค์จะให้เกิดความสามัคคี จึงสมควรให้อภัย เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่ถูกดำเนินคดีและผู้ที่หลบหนีกลับมาร่วมทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติต่อไป

ผลการลงมติวาระที่ 1 รับหลักการ 208 ไม่รับหลักการ 1 ไม่ออกเสียง 58 การแปรญัตติในวาระที่ 2 ใช้เวลาแก้ไขถ้อยคำเพียงแค่ 10 นาที แล้วก็ลงมติในวาระที่ 3 ด้วยคะแนน 180 ต่อ 1 นอกนั้นไม่ออกเสียง

ในค่ำวันที่ 15 พล.อ.เกรียงศักดิ์ก็บินไปยังพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ทูลเกล้าฯ ถวายให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงลงพระปรมาภิไธย พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พล.อ.เกรียงศักดิ์ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี 6 ตุลาคม 2519 ว่า…

“ความผิดความถูกนั้นก็ไม่รู้ว่าใครผิด แต่อย่าไปนึกถึงดีกว่า เพราะยังก้ำกึ่ง ทุกคนอาจผิดก็ได้ในวันนั้น ศาลยังไม่ได้ตัดสิน แต่ทุกคนเห็นแล้วว่า การกระทำที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการกระทำต่อบ้านเมือง และการนิรโทษกรรมก็หมายถึงเลิกกันหมด ทั้งคนในป่า ทั้งประชาชน ทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ทำตามกฎหมายบ้านเมือง…”

16 กันยายน 2521 ผู้ต้องหาที่ได้รับนิรโทษกรรมก็ได้รับการปล่อยตัวให้เป็นอิสระ

ความจริงถูกฝังไว้กับความจำของแต่ละคน

 

ทำไมจึงเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

ในวันที่ 6 ตุลาคม มีการสังหารหมู่กลางเมืองและการรัฐประหาร 2 เหตุการณ์นี้เกี่ยวข้องกัน การก่อเรื่องสังหารหมู่ในตอนเช้าเพื่อที่จะทำให้เกิดความวุ่นวาย เป็นข้ออ้างในการรัฐประหารในตอนเย็น สาเหตุนั้นมีหลายข้อ

1. สถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ

สงครามเวียดนามยุติลง เวียดนามเหนือเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ อเมริกาต้องถอนกำลังกลับประเทศและถอนกองทัพออกจากประเทศไทย ประเทศรอบบ้านของไทยคือเวียดนาม กัมพูชา และลาว ที่ว่าตกอยู่ในมือของฝ่ายคอมมิวนิสต์ ทฤษฎีโดมิโนที่ว่าประเทศข้างเคียงจะเปลี่ยนเป็นคอมมิวนิสต์ด้วย ทำให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ชนชั้นนำ

ดังนั้น จึงมองว่า พรรคการเมืองที่มีแนวสังคมนิยม เช่น พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย พรรคแนวร่วมสังคมนิยม พรรคพลังใหม่ รวมทั้งขบวนการนักศึกษาถูกหมายหัวว่าเป็นแนวร่วมกับคอมมิวนิสต์ ดังนั้น จึงต้องทำลายล้าง ใช้วิธีลอบสังหารผู้นำกรรมกรชาวนา แม้แต่เลขาฯ พรรคสังคมนิยม ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน

จนมาถึงการขว้างระเบิดใส่ขบวนนักศึกษาที่เดินขบวนต่อต้านฐานทัพอเมริกา มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายคนที่หน้าสยามสแควร์

เหล่านี้เป็นปรากฏการณ์ต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2518 จนถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เป็นจุดระเบิด แตกหัก พี่ฝ่ายขวาตัดสินใจกวาดล้างฝ่ายซ้ายที่อยู่ในเมืองทั้งหมด

ในยุคนั้นมีคำกล่าวถึงฝ่ายขวาว่าเป็นนายทุน ขุนศึก ศักดินา และจักรวรรดินิยม อเมริกา

ความหวาดกลัวของคนกลุ่มนี้ทำให้เกิดการสังหารหมู่และการรัฐประหารขึ้น เพื่อปกป้องฐานะทางชนชั้น ทรัพย์สินและอำนาจของชนชั้นนำในประเทศไทย

สำหรับอเมริกา ไทยยังมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ที่เป็นแนวป้องกันหลักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ให้เปลี่ยนเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ ดังนั้น อเมริกาจะต้องสนับสนุนรัฐบาลที่เป็นฝ่ายขวาเอาไว้ให้ได้

2. การชิงอำนาจ

เพื่อเติมช่องว่างของอำนาจทางการเมืองในประเทศที่เกิดจากการล้มระบอบการปกครองแบบเผด็จการของจอมพลถนอม-จอมพลประภาสในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เพราะหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ยังไม่มีกลุ่มใดขึ้นมามีอำนาจอย่างแท้จริง

มีกลุ่มคนซึ่งไม่มีกำลังก้าวเข้ามาแย่งชิงตามระบอบประชาธิปไตยซึ่งเป็นเพียงเริ่มต้นและพรรคการเมืองยังไม่เข้มแข็ง

การชิงอำนาจทางทหารโดยเฉพาะในตำแหน่ง ผบ.ทบ. จึงเป็นที่หมายตาและต่อสู้กันมากในหมู่ผู้นำทหาร

3. ผลประโยชน์ของอเมริกาเป็นเรื่องสำคัญ

เหตุผลที่สำคัญทางเศรษฐกิจอีกอันหนึ่งก็คือ บริษัทของอเมริกายังต้องการกอบโกยทรัพยากรคือแร่ดีบุกของไทย ซึ่งในขณะนั้นคนไทยและรัฐบาลยังไม่รู้ว่า เมื่อถลุงเอาแร่ดีบุกไปใช้ก็จะเหลือขี้ตะกรันซึ่งมีแร่โมนาไซต์และแทนทาไลต์ปนอยู่ บริษัทไทยซาโก้ของอเมริกามาผูกขาดซื้อแต่ผู้เดียวมานานมากแล้ว

แร่โมนาไซต์เมื่อนำไปสกัดจะได้ทอเรียมซึ่งเป็นสารที่มีกัมมันตภาพรังสีใช้ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทอเรียม 1 ตันใช้งานได้เท่ากับถ่านหิน 3 ล้านตัน

ส่วนแทนทาไลต์เมื่อนำไปสกัดได้แทนทาลัมจะใช้ทำเป็นชิ้นส่วนของ “ไมโครชิพ” และใช้เคลือบทำหัวจรวดยานอวกาศเพราะทนความร้อนได้สูงเป็นยุทธภัณฑ์ แร่ดีบุกของไทยนี้มีปริมาณเนื้อแร่แทนทาลัมมากที่สุดในโลกประมาณร้อยละ 27 ของแทนทาลัมในโลก

ขี้ตะกรันถูกทำเป็นถนนบ้าง ทิ้งไปบ้าง แล้วก็มีผู้นำไปขายให้บริษัทผูกขาดของอเมริกาชื่อ ไทยซาร์โก้ ซึ่งรับซื้อในราคาถูกตั้งแต่ปี 2506 และไม่ยอมบอกชาวบ้านว่าเอาไปทำอะไร

หลัง 14 ตุลาคม 2516 เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องทรัพยากรของกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติ ทั้งนักศึกษาและประชาชน สุดท้ายก็เห็นว่าการให้สัมปทานกับบริษัทเหมืองแร่ของอเมริกาเป็นการเสียเปรียบมากจึงมีการเสนอยกเลิกสัมปทาน เกิดการต่อสู้กันอย่างหนัก นักอนุรักษ์เสียชีวิตไปหลายคน

ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ดร.ธวัช มกรพงศ์ เสนอให้ยกเลิกสัมปทานของบริษัทอเมริกา และมายกเลิกในเดือนมีนาคม 2518

แม้ทูตอเมริกาจะทำหนังสือทบทวนแจ้งว่าเรื่องนี้จะทำให้เป็นอุปสรรคขัดขวางความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ

แต่ภายหลังไม่นานเทมโก้ก็แฝงตัวเข้ามาในรูปของการรับจ้างขุดให้กับองค์การเหมืองแร่ในทะเลเพราะไทยไม่มีเรือขุดแร่ ขณะนั้นดีบุกในอ่าวพังงายังมีอยู่อีกมาก แต่อยู่ในทะเลส่วนใหญ่

หลังการรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 เพียง 2 เดือนกว่า บริษัทอเมริกาก็แอบต่อสัญญา 5 ปี และกวาดทรัพยากรออกไปจนเกลี้ยง ไม่มีใครรู้ว่ามูลค่าของดีบุก แทนทาไลต์ โมนาไซต์ จริงๆ แล้วคิดเป็นเงินได้กี่แสนล้านในยุคนั้น

แต่ไทยได้ผลประโยชน์เพียง 1.25 เปอร์เซ็นต์จากการทำสัญญาแบบเสียค่าโง่ทันที

 

2524 ไทยมาตื่นตัวเรื่องแทนทาลัมหลังจากไม่มีขี้แร่มาขายแล้ว ต้องไปขุดถนน สวน พื้นบ้าน เพื่อเอาขี้ตะกรันซึ่งถมไว้ ขายให้บริษัทแทนทาลัมจนเกิดเรื่องเกิดราว เผาโรงงานกัน ซึ่งเป็นเหตุการณ์หลังรัฐประหารประมาณ 10 ปี เมื่อทรัพยากรหมดเกลี้ยงไปจากประเทศไทยแล้ว

มีคนกล่าวว่า เบื้องหลังการต่อสู้ที่โหดเหี้ยม เบื้องหลังการสังหารหมู่ประชาชน มักจะมีผลประโยชน์ขนาดใหญ่ซ่อนอยู่ ไม่มีใครลงทุนทำรัฐประหารหรือฆ่าคนโดยไม่ได้ผลตอบแทน การกวาดทรัพยากรในครั้งหลัง ทางบริษัทอเมริกาไม่ได้ถลุงแร่ในประเทศไทยด้วยซ้ำ ขนแร่ออกไปถลุงที่ต่างประเทศเกือบทั้งหมด

กลุ่มที่ต่อต้านสัมปทานบริษัทอเมริกาก็คือกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติ นักศึกษาของทุกสถาบันในประเทศไทย นี่คือหัวหอกที่เข้มแข็งที่สุด

นี่แหละคือคำตอบว่าทำไมพวกเขาต้องถูกฆ่า เช่นเดียวกับที่ชิลี ก็เพราะเหมืองทองแดง ประธานาธิบดีอัลเยนเด ก็ถูกรัฐประหารและฆ่าทิ้งในปี 2516

กรณี 6 ตุลา กลุ่มนายทุน ขุนศึก ศักดินา ถูกหลอกทำงานให้คนฉลาดแกมโกงโดยได้ผลประโยชน์เหมือนเศษอาหารเล็กๆ จะเรียกว่ากระดูกยังไม่ได้เลย แต่เสียประวัติ เสียเกียรติ จนเดี๋ยวนี้ เราก็ยังหาผู้ประกาศตัวเป็นวีรชน หรือผู้รับผิดชอบของพวกขวาจัดไม่ได้เลย