ต่างประเทศ : 1 ปีการสังหารคาช็อกกี ความยุติธรรมที่ยังคลุมเครือ

2 ตุลาคม ปี 2018 ที่ผ่านมา “จามาล คาช็อกกี” คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ ชาวซาอุดีอาระเบียหายตัวไปในสถานกงสุลซาอุฯ ในนครอิสตันบูล ประเทศตุรกี ขณะที่จะเข้าไปขอเอกสารเพื่อใช้ในการแต่งงาน

“คาช็อกกี” ชาวซาอุดีอาระเบียที่ขอลี้ภัยในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2017 ปรากฏตัวในภาพจากกล้องวงจรปิดขณะเดินเข้าไปในสถานกงสุล และหายตัวไปนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

สุดท้ายมีการเปิดเผยข้อเท็จจริงว่า “คาช็อกกี” ถูกฆาตกรรมในสถานกงสุลดังกล่าว และถูกหน่วยปฏิบัติการพิเศษซาอุฯ จำนวนหนึ่งหั่นศพและนำร่างออกมาจากสถานกงสุลในวันเดียวกันนั้น

หลังจากทางการซาอุฯ ปฏิเสธข่าวดังกล่าวในช่วงแรก สุดท้ายในวันที่ 20 ตุลาคมปีเดียวกัน ทางการซาอุฯ ยอมรับว่านายคาช็อกกีเสียชีวิตในสถานกงสุลจริง แต่เป็นการเสียชีวิตจากความผิดพลาดโดยเจ้าหน้าที่ซาอุฯ ซึ่งทำเกินกว่าเหตุ

อย่างไรก็ตาม สื่ออย่าง “วอชิงตันโพสต์” ในสหรัฐอ้างแหล่งข่าวใกล้ชิดสำนักข่าวกรองกลาง หรือซีไอเอของสหรัฐสืบสวนเชื่อมโยงว่าคดีคาช็อกกีนั้นอาจเชื่อมโยงไปถึงตัว “มกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน” ผู้นำซาอุดีอาระเบียทางพฤตินัยด้วย

ข้อกล่าวหาซึ่งทางการซาอุดีอาระเบียปฏิเสธมาโดยตลอด

 

เวลาผ่านไป 1 ปี ความไม่พอใจเกี่ยวกับคดีดังกล่าวจากทั่วทุกมุมโลกเงียบเสียงลง แต่ความยุติธรรมที่จะเกิดขึ้นในคดีดังกล่าวยังคงดูมืดมัว ท่ามกลางการดำเนินคดีอันคลุมเครือ ขณะที่รัฐบาลซาอุฯ ยังคงปราบปรามผู้เห็นต่างที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างต่อเนื่อง

ซาอุดีอาระเบียพยายามอย่างยิ่งที่จะแก้ไขปัญหาวิกฤตทางการทูตของประเทศที่หนักหนาสาหัสที่สุดครั้งหนึ่งนี้ ด้วยการนำตัวผู้ต้องสงสัยที่ไม่มีการระบุตัวตน 11 คนเข้ารับการไต่สวนแบบปิด ที่เริ่มต้นเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาในข้อหาร่วมก่อเหตุฆาตกรรม ในจำนวนนี้ 5 คนมีโทษถึงประหารชีวิต

อย่างไรก็ตาม รายงานก่อนหน้านี้ระบุว่าผู้เกี่ยวข้องในการฆาตกรรมมีมากถึง 15 คน ส่งผลให้เกิดคำถามตามมาว่า บุคคลที่เหลืออยู่ที่ไหน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไม่ปรากฏตัวของ “ซาอุด อัล-คาห์ทานี” อดีตที่ปรึกษาราชสำนักซาอุดีอาระเบีย ผู้ที่เคยทำหน้าที่ที่ปรึกษากฎหมายให้กับกษัตริย์ซัลมาน และที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์สื่อให้กับมกุฎราชกุมาร ที่ถูกปลดจากตำแหน่งฐานเกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าว

นายคาห์ทานีมีบทบาทสำคัญกับการขึ้นสู่อำนาจของมกุฎราชกุมารซัลมาน และเป็นผู้ที่สร้างความหวาดกลัวในราชอาณาจักรด้วยการบัญชาการกองทัพไซเบอร์ในการปกป้องภาพลักษณ์มกุฎราชกุมารในโลกออนไลน์

โดยหลังเกิดคดีสังหารนายคาช็อกกี นายคาห์ทานีก็ไม่ปรากฏตัวต่อสาธารณะอีกเลย โดยที่ไม่มีใครรู้ว่าอดีตที่ปรึกษาใกล้ชิดรายนี้ไปอยู่ที่ไหน

และนั่นทำให้เกิดการคาดเดากันไปว่านายคาห์ทานีอาจได้รับการปกป้องโดยราชสำนัก หรืออาจถูกแยกตัวไปลงโทษโดยเฉพาะก็เป็นได้

 

ในการไต่สวนล่าครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ญาติคนหนึ่งของนายคาช็อกกียื่นอุทธรณ์ต่อศาล เรียกร้องให้มีการเรียกตัวนายคาห์ทานีมาสอบสวน

แม้จะไม่ชัดเจนว่าเพราะเหตุใดจึงมีการอุทธรณ์ในเรื่องดังกล่าวขึ้นมา และไม่ชัดเจนว่าศาลจะรับอุทธรณ์หรือไม่ แต่นั่นนับเป็นพัฒนาการมากที่สุดในคดีซึ่งคาดกันว่าจะถูกควบคุมจากรัฐอย่างเข้มข้น

มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่จากสหรัฐอเมริกาที่ทำการคว่ำบาตรนายคาห์ทานีที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการที่นำไปสู่การฆาตกรรมดังกล่าว เคยร้องขอให้มกุฎราชกุมารซัลมานตัดสัมพันธ์กับอดีตที่ปรึกษารายนี้ ทว่าก็ถูกมองเช่นกันว่าสิ่งนี้อาจไม่เกิดขึ้นเนื่องจากคาห์ทานีกุมความลับอันอ่อนไหวของประเทศเอาไว้ด้วยเช่นกัน

การไต่สวนนั้นยังคงถูกมองว่ามีแต่ความคลุมเครือเมื่อคณะทูตจากประเทศสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ อย่างอังกฤษ จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงประเทศที่เกิดเหตุอย่างตุรกี ได้รับการเปิดโอกาสให้เข้าสังเกตการณ์การไต่สวนที่ดำเนินการด้วยภาษาอารบิกทั้งหมด

โดยไม่อนุญาตให้มีล่ามเข้าร่วมฟังและมักจะได้รับการแจ้งล่วงหน้าด้วยเวลาอันสั้น

 

ด้านครอบครัวของคาช็อกกีเองที่ได้รับอนุญาตให้เข้าฟังการไต่สวนออกมาปฏิเสธกระแสข่าวว่ามีการพูดคุยไกล่เกลี่ยยอมความในคดีดังกล่าวกับรัฐบาลซาอุฯ

โดยซาลาห์ คาช็อกกี ลูกชายของนายคาช็อกกี ออกมายืนยันผ่านทวิตเตอร์ว่า ตนเชื่อมั่นในระบบยุติธรรมของซาอุดีอาระเบีย พร้อมทั้งโจมตี “ศัตรูในตะวันออกและตะวันตก” ที่พยายามใช้คดีของพ่อตนในการทำลายซาอุดีอาระเบีย และผู้นำซาอุดีอาระเบียเอง

ด้านมกุฎราชกุมารซัลมานให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “60 มินิตส์” ออกอากาศผ่านสถานีโทรทัศน์ซีบีเอสของสหรัฐอเมริกา ปฏิเสธว่าตนมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีฆาตกรรมที่สถานกงสุลในนครอิสตันบูล แต่ก็ระบุว่าตนต้องรับผิดชอบในฐานะผู้นำของซาอุดีอาระเบียด้วยเช่นกัน

แอ็กเนส คอลลามาร์ด ผู้เสนอรายงานพิเศษให้กับองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กรณีการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม ที่การสืบสวนอิสระก่อนหน้านี้พบ “หลักฐานที่น่าเชื่อถือ” เชื่อมโยงมกุฎราชกุมารซัลมานกับการฆาตกรรมและการปกปิดซ่อนเร้นศพครั้งนั้น ไม่เชื่อข้อแก้ตัวของมกุฎราชกุมาร

“เขาเพียงรับผิดชอบกับอาชญากรรมดังกล่าวในฐานะรัฐเท่านั้น” คอลลามาร์ดระบุ

แม้ว่าซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศที่ชื่อเสียงไม่ดีนักในฐานะประเทศที่จัดการกับนักเคลื่อนไหวหรือผู้เห็นต่างที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล แต่คงต้องติดตามกันต่อไปว่าคดีช็อกโลกคดีนี้จะจบลงอย่างไร และเมื่อใด