อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ / ระบอบอำนาจนิยมในอุษาคเนย์ : รากและแนวโน้ม

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

มีข้อเขียนของฝรั่งที่เขามองเห็นว่าระบอบอำนาจนิยมในอุษาคเนย์กำลังเติบโตและเข้มแข็ง

แต่แปลกตรงที่ฝรั่งท่านนั้นอ้างอิง Domino Theory แบบเก่า ซึ่งแต่เดิมเชื่อว่าเป็นแนวคิดเพื่อสร้างความชอบธรรมให้สหรัฐอเมริกาแทรกแซงการเมืองในเวียดนามในยุคสงครามเย็น

พวกที่เชื่อทฤษฎีนี้เห็นว่า หากสหรัฐอเมริกาพ่ายแพ้ในสงครามเวียดนาม ระบอบคอมมิวนิสต์จะแพร่กระจายจากเวียดนาม กัมพูชา และลาว อีกทั้งยังเข้าไปโค่นล้มบรรดาพันธมิตรของสหรัฐอเมริกา ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ จนถึงอินโดนีเซีย1

ตอนนั้นและในความเป็นจริง สหรัฐอเมริกาพ่ายแพ้ในสงครามเวียดนาม สหภาพโซเวียตสมัยนั้นและสาธารณรัฐประชาชนจีนต่างสนับสนุนให้เวียดนาม กัมพูชา และลาว ปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ แต่ไทย สิงคโปร์ และอินโดนีเซียก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเป็นระบอบคอมมิวนิสต์

ผมขออนุญาตไม่ขยายความในประเด็นหลัง เพราะไม่ใช่ประเด็นหลักของบทความนี้

 

ระบอบอำนาจนิยมและราก

ความจริงจากแนวความคิดของฝรั่งท่านนั้น เวียดนาม กัมพูชา และลาว มีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจเป็นระบบการวางแผนจากส่วนกลาง มีระบบทุนนิยมพวกพ้อง (crony capitalism) ระบบพรรคการเมืองเดียว (one-party states) อาจไม่เกี่ยวข้องโดยตรง

แต่ระบบอำนาจนิยมก็พัฒนาขึ้นในประเทศพันธมิตรของสหรัฐอเมริกา ได้แก่ ไทยและฟิลิปปินส์

ในความเห็นของผม ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลไทยและฟิลิปปินส์มีอยู่จริง แต่มีพวก ‘เสรีนิยม’ ด้วย

หากถูกเหมารวมว่าเป็นการครอบงำของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งว่ากันตามจริง เป็นพรรคคอมมิวนิสต์ที่เดินทางตามลัทธิเหมา (Maoism) มากกว่า

 

ประเทศภาคพื้น

การตีความว่า ประเทศภาคพื้นในอุษาคเนย์ได้แก่ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ราชอาณาจักรกัมพูชา และ สปป.ลาว มีโครงสร้างการเมืองในระบอบอำนาจนิยม นับว่าพูดได้ใกล้เคียง เพราะมีการวางแผนจากส่วนกลาง มีระบบพรรคเดียวและมีระบบทุนนิยมพวกพ้องอันสัมพันธ์กับกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับพรรคคอมมิวนิสต์

รัฐวิสาหกิจเป็นของรัฐ แต่มีการบริหารใหม่ทั้งแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ขายกิจการ ยกเว้นกิจการที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติซึ่งพรรคและรัฐบาลยังดูแลอย่างเหนียวแน่น และเวลานี้มีการขายกิจการให้ต่างชาติร้อยเปอร์เซ็นต์

ต้นทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลาย ประเทศสังคมนิยมและพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลกต่างดำเนินการในแนวทางของตัวเอง

ในอุษาคเนย์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามประกาศนโยบาย ‘โดเม่ย’

สปป.ลาวประกาศนโยบาย ‘จินตนาการใหม่’

สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามเข้าเป็นสมาชิกของอาเซียนเป็นอันดับที่ 6 หรือเป็นสังคมนิยมประเทศแรกที่เป็นสมาชิก กรอบความร่วมมือภูมิภาคที่เกิดขึ้นทั้ง ASEAN+3 การก่อตั้ง China-ASEAN การทำ FTA-EU การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับสหรัฐอเมริกาพร้อมทั้งการเดินทางเยือนเวียดนามโดยประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาถึง 2 คน การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับไทย เป็นต้น

ล้วนมีส่วนให้ศักยภาพทางเศรษฐกิจของสาธารณรัฐเวียดนาม ได้แก่ ตลาดที่มีขนาดใหญ่ แรงงานในวัยทำงาน ทรัพยากรธรรมชาติช่วยให้เศรษฐกิจสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามเติบโตอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ระบบทุนนิยมพวกพ้อง ความสัมพันธ์ของนักลงทุนของเวียดนามและต่างชาติก็ยังดำรงอยู่

ส่วน สปป.ลาว จินตนาการใหม่ เป็นนโยบายและแรงดึงดูดการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจและนักลงทุนจากต่างชาติ ที่สำคัญ การลงทุนในการผลิตกระแสไฟฟ้าของ สปป.ลาวโดยต่างประเทศได้สร้างรายได้ให้แก่ประเทศเป็นอันดับ 1

ที่น่าสนใจ เรายังแบ่งสายปฏิรูป (reformist) สายอนุรักษนิยม (conservative) สายนิยมฝรั่ง สายนิยมโซเวียต สายนิยมจีนไม่ชัด แต่ความน่าสนใจคือ โครงสร้างการเมือง สปป.ลาวมีลักษณะการเมืองเรื่องครอบครัว (family politics) คือมีการแต่งงานระหว่างตระกูล มีการส่งเสริมและขัดแย้งกันบ้างระหว่างกลุ่ม

 

ระบอบอำนาจนิยมในประเทศคาบสมุทร

โดยโครงสร้างเศรษฐกิจการเมือง มาเลเซียหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษปกครองโดยระบบรัฐสภา แต่ปกครองด้วยพรรคการเมืองเดียว ที่นำโดยพรรคอัมโน นโยบายภูมิบุตรและการพัฒนาอุตสาหกรรมของมาเลเซีย ทั้งการจัดตั้งเขตอุตสาหกรรม การผลิตเพื่อการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ทำให้มาเลเซียน่าจะเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ หรือ Newly Industrialization Countries-NICS

แต่ไม่ควรลืมว่า มาเลเซียมีโครงสร้างการเมืองระบบพวกพ้องที่เข้มแข็งมาก ความร่วมมือของชนชั้นนำในกลุ่มคนมาเลย์และคนจีนที่ร่ำรวยเป็นประจักษ์พยานในเรื่องนี้ได้

การพ่ายแพ้การเลือกตั้งของพรรครัฐบาลที่นำโดยนายนาจิบ ราซัก และความร่ำรวยที่มาจากการถูกกล่าวหาเรื่องโครงการใช้เงินกองทุนของรัฐไปลงทุนในกิจการส่วนตัวของครอบครัวเป็นทั้ง ‘อาการและระบบ’ ทุนนิยมพวกพ้อง การปฏิรูปการเมืองเป็นเพียงคำขวัญอันสวยหรูของประชาชน

การลิดรอนเสรีภาพทางการแสดงออกของประชาชนและสื่อมวลชนยังคงมีอยู่อย่างเข้มข้น

พรรคการเมืองฝ่ายค้านเริ่มแตกแยกและมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง

แต่จริงๆ เป็นการเมืองของคนชั้นสูง (elite politics) อันเรียกได้ว่าระบอบอำนาจนิยมก็ได้

 

ไทย รัฐประหารและอำนาจนิยม

การเมืองของคนชั้นสูงของมาเลเซียเป็นต้นแบบของประเทศในอุษาคเนย์มิใช่เพราะมีพรมแดนติดกัน หรือการเมืองคนชั้นสูงและระบอบอำนาจนิยมมีลักษณะข้ามพรมแดน หากแต่เป็นที่โครงสร้างและอุดมการณ์ทางการเมืองที่ดำรงอยู่

โครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองมีลักษณะของระบอบอำนาจนิยม การเมืองและเศรษฐกิจเสรีนิยมถูกแรงกดดันจากภายนอกและการปรับตัวของ ‘เทคโนแครต’ ในช่วงการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย การกระจายอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองเป็นหอการค้าจังหวัด

พรรคการเมืองของท้องถิ่นเพิ่งเติบโตต้นยุคทศวรรษ 1990 อันเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยมีอัตราการเติบโตที่ต่อเนื่อง ส่วนประเทศในภาคพื้นทวีปยังบอบช้ำจากพิษของสงคราม

มีหลายคนบอกแก่ผมว่า โครงการ Eastern Sea Board เป็นจุดเปลี่ยนเศรษฐกิจไทยให้เป็นประเทศผู้ผลิตอุตสาหกรรมสิ่งทอ อุปกรณ์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการส่งออก เป็นฐานประกอบรถยนต์เพื่อการส่งออก ซึ่งผมก็เห็นด้วยตามนี้ ช่วงเวลาเดียวกันการขยายตัวของตลาดหลักทรัพย์ในฐานะแหล่งระดมทุนเพื่อการลงทุนก็เป็นปัจจัยหนึ่งด้วย

สิ่งหนึ่งที่ควรพิจารณาด้วยคือ การมีส่วนร่วมทางการเมือง การมีบทบาทของภาคประชาสังคม (civil society) เช่น เรื่องสิทธิเสรีภาพ สิ่งแวดล้อม สื่อก็เติบโต อีกทั้งเราควรมองด้วยว่า การเมืองของนักธุรกิจกลุ่มใหม่ที่ไม่ต้องการอยู่ภายใต้กลไกอำนาจรัฐเดิมก็เกิดขึ้นด้วย ทั้งสองฝ่ายต่อสู้กันทั้งในรัฐสภา นอกรัฐสภา บนท้องถนน โลกออนไลน์ในช่วงปี 2004-2016 หรือประมาณ 12 ปีอย่างเข้มข้น อันนำมาสู่การรัฐประหาร 2006 และ 2014

น่าสนใจว่า หลังจากนั้นระบอบอำนาจนิยมกลับมาสู่ประเทศไทยด้วยคณะรัฐประหาร ด้วย ม.44 ด้วยโครงสร้างรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจ ส.ว.สนับสนุนรัฐบาล ด้วยการก่อตั้งและออกกฎหมาย cyber crimes พร้อมทั้งการสั่งซื้อและแถมอาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งจากสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐประชาชนจีน

อาจกล่าวได้ว่า มหาอำนาจภายนอกช่วยกันประกอบสร้างระบอบอำนาจนิยมในไทย ส่วนการเมืองของคนชั้นสูงที่ทำงานร่วมกับกลุ่มธุรกิจไทย-จีนใน EEC รถไฟความเร็วสูงและ Thailand 4.0 ก็เสริมความแข็งแกร่งของระบอบอำนาจนิยม

ผมเริ่มเห็นทิศทางระบอบอำนาจนิยมในไทยแล้ว

——————————————————————————————————————-

1Ben Barber, “Authoritarianism Gains in Southeast Asia” The Foreign Service Journal (May 2018):51-53.