ต่างประเทศอินโดจีน : ความตายในหมอกควัน

สัปดาห์ที่แล้วเป็นเรื่องหมอกควัน สัปดาห์นี้ยังคงเป็นเรื่องหมอกควัน

หมอกควันที่สร้างความเสียหายทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมมากมายอย่างยิ่ง แต่สิ่งที่ทำให้หมอกควันที่เกิดขึ้นจนเป็นกิจวัตร เป็นฤดูกาลของทุกปีในหลายปีมานี้เป็นอันตรายสูงสุดคือ มันคือภัยคุกคามต่อชีวิต
หมอกควันที่ทำให้แม้แต่ดวงอาทิตย์ยังอับแสง

คำเตือนของผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรชำนัญพิเศษทางด้านนี้อย่างสำนักงานเฝ้าระวังบรรยากาศคอเปอร์นิคัส (The Copernicus Atmosphere Monitoring Service) อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสังเกตการณ์โลก (Earth observation programme) แห่งสหภาพยุโรป ก็คือว่า สถานการณ์ในปีนี้ดูจะเลวร้ายลงมากอย่างยิ่ง

เชื่อว่าเพราะภาวะโลกร้อนทำให้สภาพพื้นที่แห้งแล้งเป็นพิเศษ เกิดไฟง่าย และง่ายต่อการลุกลามมากเป็นพิเศษ

หมอกควันที่เกิดจากไฟป่าบนเกาะสุมาตรา และบางส่วนของเกาะบอร์เนียวของอินโดนีเซีย ประเมินแล้วอยู่ในระดับใกล้เคียงกับระดับเมื่อปี 2015 ที่เป็นระดับเลวร้ายสูงสุดในรอบ 2 ทศวรรษ

 

สํานักงานของอียูแห่งนี้บอกว่า นับตั้งแต่ต้นสิงหาคม เรื่อยมาจนถึง 18 กันยายนที่ผ่านมา ไฟป่าอินโดนีเซียปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่บรรยากาศแล้ว 360 เมกะตันโดยประมาณ เทียบกับสถานการณ์เมื่อปี 2015 แล้วใกล้เคียงจนน่าใจหาย ในปีนั้นไฟป่าอินโดนีเซียก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศถึง 400 เมกะตัน

1 เมกะตัน คือปริมาณเทียบเท่ากับ 1 ล้านตัน 360 เมกะตันจึงเท่ากับ 360 ล้านตัน

นั่นหมายความว่า ในแต่ละวันไฟป่าอินโดนีเซียก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกเกินกว่า 7 ล้านตัน

มากกว่าที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมดของสหรัฐอเมริกาปลดปล่อยก๊าซอันตรายสู่บรรยากาศต่อวันเสียอีก

เรื่องนี้น่ากังวลเพราะก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มมากขึ้นทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยบนโลกเพิ่มมากขึ้น หรือพูดง่ายๆ ว่าโลกร้อนขึ้น

โลกยิ่งร้อนขึ้น สุมาตราและบอร์เนียวยิ่งแล้งมากขึ้น ไฟป่าเกิดง่ายยิ่งขึ้นและลามได้มากขึ้น วนเวียนจนเป็นวัฏจักรของความตายในทุกๆ ปี

โดยที่ทวีความร้ายแรง ความน่าสะพรึงกลัวขึ้นเรื่อยๆ

 

พิษภัยของหมอกควัน ไม่เพียงคุกคามต่อชีวิตเท่านั้น ยังคุกคามเป็นพิเศษต่อชีวิตของผู้คนในวัยเยาว์ที่พวกเรารักและหวงแหนอีกด้วย

กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) เปิดเผยว่า กลุ่มประชากรที่เสี่ยงต่ออันตรายถึงชีวิตจากหมอกควันที่ปกคลุมเหนือท้องฟ้าและแผ่ซ่านไปทุกอณูของอากาศคือผู้เยาว์อายุตั้งแต่ 18 ปีลงมา จนกระทั่งถึงทารกที่ยังอยู่ในครรภ์มารดา

ในพื้นที่อย่างที่สุมาตรากับบางส่วนของบอร์เนียวที่ได้รับผลกระทบร้ายแรงที่สุดจากหมอกควันนี้นั้น มีประชากรที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงสุดนี้อยู่ด้วยเกือบ 10 ล้านคน

ราว 1 ใน 4 ของจำนวนนั้น อายุต่ำกว่า 5 ปี!

 

เดบอรา โคมินี ผู้เชี่ยวชาญจากยูนิเซฟบอกว่า คนกลุ่มนี้เปราะบางต่อมลภาวะในอากาศมากเป็นพิเศษ เพราะระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายยังไม่พัฒนาขึ้นมาเต็มรูปแบบ ต่างจากผู้ใหญ่เต็มวัยแล้ว

เด็กทารกในครรภ์มารดาเสี่ยงต่อการมีน้ำหนักแรกคลอดต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน แถมยังมีแนวโน้มสูงที่จะคลอดก่อนกำหนด

เด็กๆ ที่หายใจเอามลภาวะเข้าไปไม่ได้ส่งผลต่อสุขภาพในระยะสั้นๆ หรือการต้องหยุดเรียนเพียง 1-2 เดือนเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบไปตลอดชีวิตทั้งในส่วนสภาพร่างกายและต่อสมองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความจำและการตระหนักรู้

“คุณภาพอากาศที่ย่ำแย่ กำลังเป็นความท้าทายที่หนักหน่วงและร้ายแรงต่ออินโดนีเซียเองมากขึ้นเรื่อยๆ” เดบอรา โคมินี ย้ำ

อินโดนีเซียไม่เห็นแก่เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ของตนเองและเพื่อนบ้าน ก็ต้องเห็นแก่เด็กๆ เหล่านี้ที่เป็นอนาคตของชาติของตนเองกระมัง

มาตรการป้องกันเป็นการถาวรควรบังเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมได้แล้ว!