เกษียร เตชะพีระ : อ่านชาวนาการเมือง (4)

เกษียร เตชะพีระ
AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

ตอน 1 2 

หากดำเนินรอยตามเหตุผลข้อถกเถียงของ ปาร์ธา ฌัตเตอร์จี ที่ แอนดรู วอล์คเกอร์ ยืมมาใช้ในหนังสือ ชาวนาการเมือง : อำนาจในเศรษฐกิจชนบทสมัยใหม่ของไทย แล้ว

ต่อจากเรื่อง 1) การสะสมทุนขั้นปฐมภูมิ (the primitive accumulation of capital) การทำความเข้าใจสังคมของชาวนาการเมืองในเอเชียและไทยยังต้องอาศัยแนวคิด 2) ทุนที่ไม่ใช่เป็นของบรรษัท/ทุนนอกบรรษัท (non-corporate capital) 3) เศรษฐกิจนอกระบบ (informal economy) และ 4) สังคมการเมือง (political society)

การที่เศรษฐกิจชาวนาเปลี่ยนสภาพจากการผลิตเลี้ยงตนเอง มาเป็น → การบูรณาการเข้ากับตลาดและเพาะปลูกผลิตเพื่อขาย ย่อมทำให้ → การผลิตของชาวนามากหลายอยู่ใต้การกํากับของทุนและ→ ก่อเกิดเป็นสายใยเชื่อมโยง…

[การเพาะปลูกพืชผลของชาวนา+เครือข่ายการค้าพืชเศรษฐกิจ+เครือข่ายสินเชื่อ+เครือข่ายขนส่ง คมนาคม+อุตสาหกรรมและบริการรายย่อยในตลาดชนบทและอําเภอ] เข้าด้วยกันเป็นหน่วยซับซ้อนองค์เดียว

หน่วยซับซ้อนองค์เดียวที่ว่านี้ก็คือ เศรษฐกิจนอกระบบ (informal sector of the economy) อันเป็นที่ตั้งที่อยู่ที่ยืนหลักอันใหม่ของชาวนาเอเชียและไทยนั่นเอง

วิธีนิยามจําแนกเศรษฐกิจแบบแผนทางการ/ในระบบ (formal sector) ออกจากเศรษฐกิจนอกระบบ (informal sector of the economy) ของฌัตเตอร์จีน่าสนใจเพราะเขาใช้ชนิดของทุนเป็นปัจจัยหลักในการจําแนก กล่าวคือ :

การจําแนกแยกแยะเศรษฐกิจในระบบกับเศรษฐกิจนอกระบบทุกวันนี้ ตั้งอยู่บนความแตกต่างระหว่างทุนบรรษัท (corporate capital) กับ ทุนนอกบรรษัท (non-corporate capital) นั่นเอง

แล้วอะไรคือทุนบรรษัท กับ ทุนนอกบรรษัทล่ะ?

ฌัตเตอร์จีนิยามว่า ทุนบรรษัทได้แก่ทุนที่ดําเนินการตามตรรกะมูลฐานแห่งการสะสมทุน ที่สําคัญคือกําไรสูงสุด

ขณะทุนนอกบรรษัทได้แก่ทุนที่แม้จะเอากําไร แต่ตรรกะหลักที่ครอบงําการดําเนินการของทุนดังกล่าวกลับเป็นการสนองตอบความจําเป็นด้านชีวิตความเป็นอยู่/ชีวปัจจัยของผู้ทํางานอยู่ในหน่วยการผลิตทุกคน กล่าวคือ ยังไงก็ต้องให้สมัครพรรคพวกทุกคนมีพออยู่พอกินเอาตัวรอดได้ก่อน

ฉะนั้น ลักษณะร่วมของทุนนอกบรรษัทคือการรวมตัวของผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อยทั้งหลาย จัดตั้งกันขึ้นเป็นสมาคมเพื่อเคลื่อนไหวต่อรองกับเจ้าหน้าที่รัฐหรือกลุ่มทุนในตลาด และคอยกํากับควบคุมคนหน้าใหม่ที่จะเข้ามาร่วมสังกัดสมาคมให้พอเหมาะพอสม ไม่ให้คนนอกกลุ่มแห่เข้ามาแย่งอาชีพในเขตพื้นที่จนระสํ่าระสายไปไม่รอดกันทั้งหมด ในแบบแผนพฤติกรรมทำนองเดียวกับหาบเร่แผงลอยข้างถนน, วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง, หรือกิจการวิ่งรถตู้รถสองแถวนั่นเอง

อันเป็นกิจกรรมในลักษณะกักตุนโอกาส/ปิดกั้นทางสังคม (opportunity hoarding/social closure) ไว้เฉพาะกลุ่มพรรคพวกตัวเองตามทฤษฎีชนชั้นในตลาดของ Max Weber แบบหนึ่งนั่นเอง

ข้อเสนอของฌัตเตอร์จีเรื่องนี้คือสังคมชาวนาปัจจุบันดําเนินงานอยู่ใต้ทุนนอกบรรษัทเป็นหลัก และฉะนั้นจึงมีพลวัตขับเคลื่อนไปสู่การเป็นสังคมการเมือง (political society) อยู่ในตัว

AFP PHOTO/Christophe ARCHAMBAULT

อาจกล่าวเป็นสูตรสำเร็จเพื่อทำความเข้าใจง่ายๆ ขั้นต้นได้ว่า : สังคมการเมืองของชาวนาชนบทแตกต่างจากสังคมชาวนาแบบเดิมตรงมัน ไม่ใช่อุปถัมภ์, ไม่ใช่กบฏชาวนา, ไม่ใช่การเมืองภาคประชาชน, และไม่ใช่ประชาสังคม (civil society หรือ “สังคมประชา” ตามสำนวนแปลของ อ.จักรกริช สังขมณี) อันเป็นการปฏิเสธข้อวิเคราะห์ตีความการเมืองของสังคมชาวนากระแสหลักต่างๆ ที่ผ่านมาทั้งหมด กล่าวคือ :

– สังคมชาวนาไม่ได้อยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ (patron-client relationship) แบบดั้งเดิม (ระหว่างเจ้าที่ดินกับลูกนา) หรือแบบใหม่ (ระหว่างเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพล-นายทุนท้องถิ่น-นักการเมือง-รัฐราชการ กับ ชาวนา) เพราะเงื่อนไขเศรษฐกิจสังคมเปลี่ยนไปแล้ว, ชนชั้นขูดรีดเดิมออกไปแล้ว, ตลาดและทุนเข้ามาแล้ว (การสะสมทุนขั้นปฐมภูมิได้พรากชาวนาจากปัจจัยการทํางานอันได้แก่ที่ดินไปมากพอควรแล้ว), รัฐเข้ามาแล้ว (รัฐเข้ามาดําเนินนโยบายโอบอุ้มประคับประคองชาวนา สวนทวนกระแสผลลัพธ์ของการสะสมทุนขั้นปฐมภูมิแล้ว), ชาวนาเปลี่ยนไปแล้ว

– สังคมชาวนาไม่ได้เป็นเศรษฐกิจเลี้ยงตนเองพึ่งตนเอง (subsistence economy) อีกต่อไป แต่เชื่อมผนึกกับตลาด/ทุนเป็นหนึ่งเดียว เพาะปลูกผลิตเพื่อขายเป็นหลัก ไม่ใช่เพื่อไว้กินเอง เพียงแต่มันเป็นเศรษฐกิจนอกระบบ (ไม่ใช่ในระบบ) และทุนนอกบรรษัท (ไม่ใช่ทุนบรรษัท)

เพราะฉะนั้น ปัญหาหลักของชาวนาจึงไม่ใช่มีไม่พอกิน แต่คือความเหลื่อมล้ำไม่เสมอภาคในมิติต่างๆ (เช่น เมืองกับชนบท, ระหว่างภูมิภาคต่างๆ, หรือภายในหมู่บ้านเอง) ในเงื่อนไขดังกล่าว จึงไม่มีเอกภาพหนึ่งเดียวระหว่างชาวนาผู้ใช้แรงงานกับปัจจัยการทํางาน, ไม่มีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงแบบชุมชนสมานฉันท์ท้องถิ่นในหมู่ชาวนาอีกต่อไป, ไม่มีเศรษฐกิจศีลธรรม (moral economy), และดังนั้น จึงไม่มีกบฏชาวนาอีก

– สังคมชาวนาแบบนี้ส่วนใหญ่จึงไม่มีการเมืองภาคประชาชน (people”s politics แบบสมัชชาคนจน และชุมชนที่รวมตัวต่อสู้เพื่อปกป้องฐานทรัพยากรในที่อื่นๆ) เพราะในข้อเท็จจริง พวกเขาส่วนใหญ่ไม่ได้อาศัยทํามาหากินบนฐานทรัพยากรร่วมกันอีกต่อไปแล้ว (อาชีพเปลี่ยนและหลากหลาย รายได้ส่วนใหญ่มาจากนอกภาคเกษตรกรรม, ในเศรษฐกิจนอกระบบต่างๆ)

การเมืองภาคประชาชนกล่าวให้ถึงที่สุดจึงเป็นการเมืองของคนชนบทส่วนน้อย ไม่อาจเป็นตัวแทนการเมืองสังคมชาวนาทั้งประเทศได้

– แต่ขณะเดียวกัน การดํารงอยู่และเคลื่อนไหวทางการเมืองของสังคมชาวนา ก็ไม่ใช่ประชาสังคม/สังคมประชา (civil society) แบบคนชั้นกลางในเมือง กล่าวคือ :

พร้อมกับเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ที่เติบโตอย่างรวดเร็วในเอเชียในสามทศวรรษที่ผ่านมา ทุนบรรษัทและชนชั้นนายทุนบรรษัทได้ขึ้นกุมอํานาจนําเหนือประชาสังคม

กล่าวคือ ตรรกะแห่งการสะสมทุน (แสวงหากําไรสูงสุด) ซึ่งเรียกร้องให้เศรษฐกิจแห่งชาติเติบโตในระดับสูงและความต้องการของทุนบรรษัทสําคัญเหนือสิ่งอื่น ได้ขึ้นครองอํานาจนําเหนือประชาสังคมแห่งคนชั้นกลางชาวเมือง

ความทะยานอยากทางการศึกษา วิชาชีพและสังคมของคนชั้นกลางเหล่านี้ผูกพันเป็นหนึ่งเดียวกับความเจริญมั่งคั่งของทุนบรรษัท จากนี้แนวโน้มหลักในประชาสังคมจึงเป็นการยืนกรานสิทธิตามกฎหมายของพลเมือง, ให้มีการจัดระเบียบพลเมืองในสถานที่และสถาบันสาธารณะต่างๆ, มองความสับสนวุ่นวายไร้ระเบียบของเศรษฐกิจนอกระบบและสังคมการเมืองของชาวนา/คนรากหญ้า (เช่น หาบเร่แผงลอยบนทางเท้าข้างถนน, ม็อบชาวนาชาวไร่ปิดถนนเรียกร้องประกันราคาผลผลิตหรือที่ทำกิน ฯลฯ) อย่างอิดหนาระอาใจ, เชื่อว่าหากเศรษฐกิจโตเร็ว ก็จะแก้ปัญหาความยากจนและเหลื่อมล้ำทางโอกาสได้ทุกประการ

ส่วนเศรษฐกิจนอกระบบของชาวนาชนบท/คนรากหญ้าก็จําต้องมีการจัดตั้งรวมตัวกันขึ้นเพื่อดูแลจัดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างทุนนอกบรรษัทของพวกเขากับรัฐและตลาดซึ่งมีกฎเกณฑ์ของมันเอง รูปการจัดตั้ง/รูปแบบการปกครองดังกล่าวซึ่งมีทั้งมิติทางเศรษฐกิจและมิติทางการเมืองด้วยในขณะเดียวกัน ก็คือสังคมการเมือง (political society) นั่นเอง

AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

สังคมการเมืองของชาวนาชนบท คือรูปแบบการปกครองของคนที่อยู่ปริ่มๆ ตรงชายขอบกฎหมาย (ต่างจากประชาสังคมซึ่งเป็นพื้นที่ของพลเมืองผู้ทรงสิทธิตามกฎหมายชัดเจน) มันมีลักษณะเป็นกรณียกเว้น ไม่ปกติ ที่ยืนยงคงอยู่ได้ด้วยนโยบายเฉพาะพิเศษและมาตรการผ่อนปรนโอนอ่อนของรัฐและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องซึ่งคอยเอื้อเฟื้อโอบอุ้ม, บรรดาสมาชิกของสังคมการเมืองนี้จึงต้องเจรจาต่อรองทางการเมืองกับรัฐ/เจ้าหน้าที่รัฐตลอดเวลา, เพราะภาวะเงื่อนไขแห่งการดํารงอยู่ของพวกเขาไม่นิ่ง ไม่แน่นอนตายตัว ไม่ใช่ค้ำจุนรองรับด้วยสิทธิมั่นคงตามกฎหมายอย่างประชาสังคม, การจัดตั้งรวมตัวเป็นสมาคมต่างๆ แบบทางการ/กึ่งทางการจึงเป็นเงื่อนไขจําเป็นแห่งการดํารงอยู่ของพวกเขาเพื่อบริหารจัดการทุนนอกบรรษัทของตน ในอันที่จะประกันการสนองตอบความจําเป็นด้านชีวปัจจัย/การดํารงชีพของสมาชิกทุกคน ท่ามกลางกฎระเบียบของตลาดและรัฐราชการ

นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ, นโยบายคืนภาษีรถคันแรก, นโยบายจํานําข้าวทุกเมล็ด, นโยบายประกันราคายางและพืชผลเศรษฐกิจสารพัดชนิด, นโยบายให้ชาวนาชาวไร่ไร้ที่ทำกินได้เข้าใช้ที่ป่าสงวนฯ เสื่อมโทรมรกร้างเพาะปลูกทำกิน, มาตรการจัดสรรพื้นที่ผ่อนปรนให้หาบเร่แผงลอย คิวรถตู้ บนถนน/ทางเท้าบางสายบางช่วงเวลา ฯลฯ เหล่านี้ล้วนมีฐานที่มาทางการเมืองจากสังคมการเมืองของชาวนาชนบทนี่เอง

อันเป็นเหล่านโยบายที่ส่วนใหญ่กำลังถูกยกเลิกเพิกถอนไปตามลำดับด้วยอำนาจพิเศษประการต่างๆ ภายใต้รัฐบาล คสช. เพื่อสร้างสภาวะยกเว้นของการปลอดการเมืองขึ้นเป็นการถาวร (a permanent state of depoliticized exception) ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อสังคมการเมืองของชาวนาและคนรากหญ้าในเศรษฐกิจนอกระบบโดยตรงที่สุด

(ต่อสัปดาห์หน้า)